เรื่องนี้จริงๆก็น่าสนใจอยู่ วันนี้เดี๋ยวผมพูดถึงคร่าวๆก่อนว่าปกติเค้าเถียงกันเรื่องนี้เค้าพูดอะไรกัน แล้วก็เล่ามุมมองส่วนตัวผมด้วยว่าสำหรับผมมีปันผลหรือไม่มีปันผลดีกว่ากัน
ก่อนอื่นเข้าใจคอนเซปของปันผลก่อนครับ เงินปันผลเป็นการจัดสรรกำไรวิธีหนึ่ง เวลาบริษัททำธุรกิจกำไรมา เค้ามี 2 ทางเลือกหลักๆ หนึ่งคือจ่ายเงินที่กำไรออกมาเป็นเงินสดคืนให้กับผู้ถือหุ้น (เจ้าของ) ซึ่งก็คือปันผล (dividend) หรือทางเลือกสองคือ เก็บกำไรที่ได้มาไว้ในบริษัทเพื่อเอาไว้ทำอย่างอื่น จะเก็บไว้จ่ายคืนหนี้สิน, ซื้อหุ้นบริษัทอื่น, ลงทุน หรืออะไรก็แล้วแต่ เรียกว่ากำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร (retained earnings)
โดยปกติบริษัทเลือกได้ สมมติมีกำไร 100 บาท
- ว่าจะจ่ายปันผลทั้งหมดเลย 100 บาท เรียกว่าอัตราการจ่ายปันผลต่อกำไร 100%
- หรือไม่จ่ายปันผลเลย จ่าย 0 บาท เก็บอย่างเดียว เรียกว่าอัตราการจ่ายปันผลต่อกำไร 0%
- หรือจ่ายบางส่วนเก็บบางส่วนก็ได้ เช่นจ่ายออกมา 60 บาท เรียกว่าอัตราการจ่ายปันผลต่อกำไร 60%
นักลงทุนบางกลุ่มชอบหุ้นที่ไม่มีปันผลเลยด้วยเหตุผลหลักๆคือ
อย่างแรกเลย เพราะว่าเหตุผลทางภาษี ปันผลต้องเสียภาษีเงินได้ ในขณะที่กำไรส่วนต่างราคาไม่ต้องเสียภาษีเลย จากมุมมองของเค้าคือกำไรที่ไม่ได้จ่ายออกมาสามารถเอาไปลงทุนอย่างอื่นได้ ทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น และตอบแทนผู้ถือหุ้นด้วยการที่ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นดีกว่า เพราะพอจ่ายปันผลออกมาปุ๊บ ราคาหุ้นก็จะตก และเงินที่จ่ายออกมานั้นเองก็ต้องไปเสียภาษีเงินได้อีก ไม่พอยังเป็นภาระผู้ถือหุ้นต้องเอาเงินปันผลที่ได้ไปหาที่ลงทุนเพิ่มเติมเองด้วย
อย่างที่สอง ยิ่งไปกว่าแค่เรื่องภาษี บางคนมองว่า การจ่ายปันผล เป็นเหมือนสินบนที่บริษัทจ่ายเพื่อดึงดูดนักลงทุน เพื่อให้บริษัทที่จริงๆอาจจะเติบโตช้ามองดูน่าลงทุนมากขึ้น เป็นบริษัทที่ไม่มีปัญญาจะเอาเงินไปทำอะไรมีประโยชน์แล้วถึงเอามาจ่ายปันผล มันแสดงออกถึงบริษัทที่อิ่มตัวแล้วหรือเปล่า
ส่วนกลุ่มที่ชอบให้มีปันผลมีเหตุผลประมาณนี้
อย่างแรกเลย การจ่ายปันผลเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดแล้วจากผู้บริหาร เป็นการแสดงออกว่าบริษัทพร้อมที่จะตอบแทนผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ตอบแทนผู้บริหารโดยการเก็บเงินไว้ในบริษัท แล้วก็ไม่รู้เอาไปทำอะไรบ้าง เป็นการแสดงออกถึงเสถียรภาพความมั่นคงของสถานะภาพทางการเงินของบริษัท เพราะบริษัทที่กำไรไม่สม่ำเสมอหรือไม่แน่นอน ย่อมจ่ายปันผลสม่ำเสมอไม่ได้
อย่างที่สอง การต้องจ่ายปันผลเป็นระยะๆด้วยอัตราส่วนที่ชัดเจน เป็นการบังคับผู้บริหารให้ต้องมีวินัยทางหนึ่ง ให้มีการจัดสรรเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะขยายหรือจะทำอะไรก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นว่าต้องทำแล้วคุ้ม เป็นการบังคับให้ทีมผู้บริหารวางแผนไปในอนาคตไกลขึ้น เพราะรู้ตัวว่ามีพันธะสัญญาต้องจ่ายปันผลอยู่เสมอ
อย่างที่สาม หุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูงระดับหนึ่ง นักลงทุนที่ซื้อหุ้นเหล่านี้โดยปกติให้ความสนใจกับรายได้ที่เข้ามาสม่ำเสมอ ดังนั้นตราบที่การจ่ายปันผลยังสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่ราคาหุ้นของบริษัทพวกนี้มักจะผันผวนรุนแรงน้อยกว่าตลาด มีเสถียรภาพมากกว่า
โดยสรุปมันก็มีเหตุผลทั้งสองฝ่ายแหละ สมัยเด็กๆผมชอบให้ไม่ต้องมีการจ่ายปันผลเลยนะ แล้วมันก็มีตัวอย่างบริษัทระดับโลกที่ไม่จ่ายปันผลแล้วลงทุนได้ดีมาก ทำให้มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นสิบๆเท่าก็มี อย่าง Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett ก็เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ไม่จ่ายปันผลเลย แต่มูลค่าหุ้นบริษัทโตเป็น 100 เท่าตัว
แต่หลังๆมานี้ผมชอบหุ้นที่มีการปันผลบ้างดีกว่าครับ ด้วยเหตุผลหลักเลยคือ จริงอยู่ ถ้าเป็นบริษัทในอุดมคติ ผู้บริหารนิสัยดีน่ารักไว้ใจได้สุดๆ การไม่ปันผลเลย ปล่อยให้เค้าเอาไปลงทุนเพิ่ม สร้างกำไรเพิ่มต้องดีกว่าแน่นอน แต่ปัญหาคือโลกความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะสิ อย่าว่าแต่ไว้ใจได้สุดๆเลยครับ ผู้บริหารที่โกงเงินผู้ถือหุ้นด้วยวิธีต่างๆยังมี หรือสร้างความเสียหายต่อเงินลงทุนก็เยอะ ออกหุ้นให้พวกเดียวกันในราคาที่ต่ำกว่าตลาดบ้าง ระดมทุนออกหุ้นเพิ่มบ่อยๆบ้าง มันเลยทำให้เราไว้ใจไม่ค่อยได้ เพราะสุดท้ายพวกนี้เราก็ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่ญาติสนิทอะไรกับเรา
แต่โอเคล่ะ ปันผลมากไปเช่น อัตราการจ่ายปันผลต่อกำไร >60% อันนี้ส่วนตัวผมก็ว่าเกินไปละ เพราะสุดท้ายเราต้องการให้กิจการที่เราเป็นเจ้าของเติบโต ทำได้ดีขึ้นกำไรดีขึ้น ไม่ได้อยู่เท่าตลอด และการเติบโตต้องมีการใช้เงินทุน กำไรที่บริษัททำได้มา ถือเป็นแหล่งเงินทุนที่ราคาถูกที่สุดแล้ว ดังนั้นผมว่าบริษัทก็ควรมีการเก็บกำไรสะสมไว้ลงทุนต่อด้วย ไม่ใช่จ่ายปันผลเน้นจ่ายเยอะอย่างเดียว ถ้าบริษัทโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปันผลที่เป็นสัดส่วนของกำไรที่โตขึ้นมาหลายเท่าตัวมันก็เยอะเองแหละครับ
ดังนั้นโดยสรุป ผมว่าเราเลือกหุ้นที่จ่ายปันผลบ้างดีกว่าครับ ไม่ต้องถึงขนาดไม่จ่ายเลยก็ได้ อันนั้นน่ากลัวไปหน่อยนะ
Please note: I reserve the right to delete comments that are offensive or off-topic.