เรื่องการเกษียณนี่ผมว่าเป็นเป้าหมายทางการเงินตัวสำคัญใหญ่สุดละครับ เป้าหมายอันอื่นพลาดได้ยังแก้ไขทัน แต่ถ้าเรื่องเกษียณถึงเวลารู้ตัวว่าพลาดก็ไม่ทันละครับชีวิตลำบากแน่นอน หัวข้อนี้เรามีพูดถึงคร่าวๆไปตั้งแต่หัวข้อปรับจูนแผนการออมไปละ แต่วันนี้เดี๋ยวเรามาพูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการวางแผนการเกษียณเพิ่มเติมกัน
“ฉันจะเกษียณได้ตามเป้ามั้ย”
อันนี้เป็นคำถามสำคัญที่สุดอันหนึ่งเลยแหละ แต่มันเป็นอะไรที่ตอบยาก เพราะสถานการณ์แต่ละคนไม่เหมือนกัน ตั้งแต่ขั้นตอนการออมไปจนถึงวัยเกษียณ, การใช้เงินหลังเกษียณ, มันเป็นอะไรที่แล้วแต่คน แล้วยังมีผลตอบแทนการลงทุนของสินทรัพย์ต่างๆทั้งช่วงระหว่างออมไปจนถึงช่วงที่เกษียณ หรือคำถามว่าเราจะมีชีวิตอยู่กี่ปีหลังเกษียณ เป็นอะไรที่เราไม่มีทางรู้ชัดเจนได้เลย
สิ่งที่เราทำได้คือการประมาณคร่าวๆเอาจากเงินออมปัจจุบัน, เงินที่จะออมเพิ่มในอนาคต และคาดการณ์การใช้จ่ายหลังเกษียณ ผมจะแนะนำการใช้เครื่องมือต่างๆ แล้วเดี๋ยวเราไปใส่ตัวแปรตามสถานการณ์แต่ละคนเอา
สำหรับคนที่ยังไม่เกษียณ และกำลังเตรียมเกษียณ
-
รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการเกษียณก่อน หลักๆเลยก็ต้องมี
- เงินออมปัจจุบันที่เราจัดสรรไว้สำหรับเตรียมเกษียณมีอยู่แล้วเท่าไหร่ ?
- เงินออมที่ตั้งใจจะจัดสรรไว้สำหรับเตรียมเกษียณเพิ่มเติมต่อปี ปีละเท่าไหร่ ?
- คาดการณ์จะเกษียณเมื่อไหร่ ?
- ตอนเกษียณมีรายได้มาจากทางอื่นอีกมั้ย มีเท่าไหร่ ?
-
ดูว่าปัจจุบันเราจัดสรรการลงทุนสำหรับเกษียณไว้อย่างไร
ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่เราไว้ใช้ประมาณการณ์ว่าผลตอบแทนการลงทุนจะเป็นกี่ % ต่อปี พยายามแยกให้ได้ว่ามีสินทรัพย์ใกล้เคียงเงินสด, ตราสารหนี้, หุ้น, อสังหาริมทรัพย์ เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ เอาเฉพาะเงินทุนส่วนที่กันไว้สำหรับการเกษียณนะ ส่วนที่กันเอาไว้ทำอย่างอื่นไม่เกี่ยว
ประมาณผลตอบแทนการลงทุนของหุ้นกับตราสารหนี้ เราอาศัยผลตอบแทนของกองทุนรวมประเภทนั้นๆกะเอาก็ง่ายดี โดยโหลดเอาจากเวปของ AIMC ก็ได้ เลือกใช้กองทุนที่ทำได้กลางๆผลตอบแทนระดับเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 50th เป็นเกณฑ์ http://oldweb.aimc.or.th/21_infostats_mf_report.php
ส่วนผลตอบแทนของสินทรัพย์อย่างอสังหาริมทรัพย์ อ้างอิงจากมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยเอาละกันครับ https://drive.google.com/open?id=19dOOzBHWP-gpO9rglDHRmVDoFL8WtJaw
สมมติว่าการลงทุนของเราเป็นผสมตราสารหนี้ 70% หุ้น 30% ผลตอบแทนคาดหวังคือ
(70% × 2.51%)+(30% × 9.38%) = 4.57%
2.51% เอามาจากเฉลี่ยผลตอบแทน 10 ปีย้อนหลังของกองทุนประเภท Mid Term General Bond
9.38% เอามาจากเฉลี่ยผลตอบแทน 10 ปีย้อนหลังของกองทุนประเภท Equity General
-
ใส่ข้อมูลลงไปในเครื่องมือคำนวณ
ก็มีแนะนำถ้าเป็นออนไลน์ ใช้ของ Vanguard ก็ใช้ง่ายดี ของเค้าจะมีกราฟแท่งสองอันเปรียบเทียบให้ดูว่า แล้วเราใส่ข้อมูลของเราลงไป สามารถปรับจูนเอาเองได้ด้วยhttps://retirementplans.vanguard.com/VGApp/pe/pubeducation/calculators/RetirementIncomeCalc.jsf
หรือลองใช้ของผมดูด้วยก็ได้ แต่มันจะเป็นไฟล์ excel ทำเอง ดูยุ่งนิดนึงแต่ก็ไม่มีอะไรยาก แค่ใส่เป้าหมายที่ต้องการเมื่อเกษียณ, ข้อมูลส่วนตัว, ข้อมูลการออม ที่เพิ่มเติมคือมีคิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวมข้าไปให้ด้วย เวลาใช้ก็คือใส่ข้อมูลในช่องสีเขียวให้ครบเท่านั้นเอง https://drive.google.com/open?id=1TP7t5aJmyoEr15vuB676_dIjMLdXl_AK
พวกเครื่องมือพวกนี้ต้องเข้าใจว่ามันมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ดังนั้นถ้าให้ดีก็ลองทำทั้งสองอันแหละ
-
ปรับแผนให้เหมาะสมกับเรา
เวลาใช้พวกเครื่องมือคำนวณ การลองปรับตัวแปรต่างๆจะทำให้เราเห็นภาพว่าผลกระทบของตัวแปรต่างๆมีผลต่อเป้าหมายการออมเราขนาดไหน ทีนี้สมมติเราพบว่าด้วยสถานการณ์ปัจจุบันของเราจะออมได้ไม่ถึงเป้าหมายเกษียณที่เราตั้งไว้ เราอาจจะลองหาวิธีปรับดูว่าเราต้องทำอย่างไรเราถึงจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้
ตัวแปรสำคัญที่เราจะสามารถปรับได้ และมีผลมากต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของเป้าหมายเกษียณ มีดังต่อไปนี้
-
จำนวนเงินที่จะใช้ต่อเดือน / ปีเมื่อเกษียณอายุ
ตัวเลขนี้ยิ่งสูง การออมให้ถึงเป้าหมายก็ยิ่งทำได้ยากขึ้น ลองพิจารณาดูจริงๆจังๆว่าตัวเลขนี้สำหรับตัวเราแล้วจะต้องมีอย่างน้อยสุดเท่าไหร่กันแน่ หาต่ำที่สุดให้เจอก่อน บางคนอาจจะตั้งสูงเกินไปด้วยความเคยชินกับไลฟ์สไตล์ช่วงที่ยังมีรายได้จากงาน การตั้งเป้าหมายไม่ได้แปลว่าเราต้องใช้ชีวิตแบบอนาถา เราอาจจะตั้งตัวเลขที่สูงกว่าตัวเลขขั้นต่ำที่สุดก็ได้ แต่ลองปรับน้อยลงดูนะ จะเห็นว่าแผนการออมจะง่ายขึ้นเยอะเลย
-
อายุเกษียณ
การทำงานแล้วเกษียณตอนอายุมากขึ้นมีประโยชน์ 3 อย่าง หนึ่งเลยคือคนที่ทำงานเกษียณช้ากว่ามีเวลาสะสมทรัพย์สินเยอะกว่า สองคือมีเวลาให้ทรัพย์สินที่ออมไว้สำหรับเกษียณมีเวลาโตทบต้นนานขึ้น และสามเลยคือเหลือจำนวนปีที่เราจะดึงเงินเกษียณมาใช้น้อยลง ทั้งสามอย่างนี้มีผลเยอะมากต่อแผนเกษียณของเรา
-
คาดการณ์อายุขัย
เรากะอายุตัวเองน้อยไปหรือมากไปหรือเปล่า บางคนอาจจะไม่รู้ว่าถ้าสมมติเราอายุถึงวัยเกษียณ 60 ปี หลังจากนั้นเราน่าจะมีชีวิตอยู่อีกกี่ปี แน่นอนไม่มีใครรู้หรอกแต่ใช้ค่าเฉลี่ยประเทศไทยเอาก็ได้ครับ ผมก็ไม่ทราบว่าตัวเลขของที่ไหนเชื่อถือได้มากสุดนะ แต่ลองใช้ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลเอาละกัน http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsr/Contents/Documents/Gazette/Population_Gazette2017-TH.pdf
-
ผลตอบแทนคาดหวัง
เราจะปรับผลตอบแทนคาดหวังได้ก็คือมาจากเราปรับสัดส่วนของสินทรัพย์ที่เราลงทุนเป็นหลัก เราเป็นคนกลัวความเสี่ยงจนเกินไปหรือเปล่า เป็นไปได้มั้ยว่าเราจะปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้นมากขึ้น ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับหุ้นดีกว่าครับ อย่ากลัวไปก่อนหรือไปเข้าใจผิดว่าหุ้นเป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงมากเพราะจริงๆแล้วมันแค่เป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนมากเฉยๆ ถ้าเรามีเวลาหลายปี ในระยะยาวแล้วผลตอบแทนของหุ้นโดยเฉลี่ยก็จะเท่ากับอัตราการเติบโตของบริษัทนั้นๆน่ะแหละ ถ้าเราลงทุนในกองทุนหุ้นซึ่งคือลงทุนในหุ้นหลายบริษัทในไทย ผลตอบแทนเราก็จะพอๆกับการเติบโตของธุรกิจในไทยน่ะครับ
ในความเห็นส่วนตัวผม ถ้าเรามีเวลาเกิน 20 ปีกว่าเราจะเกษียณ ลงทุนกองทุนหุ้น 80%-100% ไปเลยก็ได้นะ แล้วเวลาใกล้เกษียณค่อยปรับสัดส่วนหุ้นน้อยลงก็ได้ ผลตอบแทนที่คาดหวังของเราจะดีขึ้นเยอะเลย เพิ่มโอกาสที่เราจะเกษียณได้ตามแผนมากขึ้นครับ
-
อัตราการออม
อันนี้แหละที่เป็นตัวส่งผลเยอะที่สุดเลย โดยเฉพาะถ้าเริ่มต้นออมได้ตอนอายุยังน้อย ผลของดอกเบี้ยทบต้นจากเงินออมที่สูงขึ้นจะมีเยอะมาก ลองปรับแผนดูว่าสามารถออมเพิ่มขึ้นเดี๋ยวนี้เลยได้มั้ย ถ้าเป็นไปได้อย่าวางแผนลักษณะว่าจะไปออมเยอะขึ้นตอนปีท้ายๆใกล้เกษียณ เพราะทำแบบนั้นเวลาให้เงินงอกเงยมันน้อย เป็นไปได้กระจายเกลี่ยให้เท่าๆกันตลอดดีกว่า หรือถ้ายิ่งดีให้เทมาออมเยอะๆตอนอายุน้อยจะดีมาก
ยังไงไปลองทำกันดูครับ