เสริมสร้างฐานะทางการเงิน 11 – แผนสำหรับคนที่เกษียณแล้วล่ะเป็นอย่างไร

Improve your financial life 11 – How Retirees Can Estimate How They're Doing

dont-worry-retire-happy

ถ้าสมมตินี่เราเกษียณแล้วและกำลังเริ่มดึงเงินจากส่วนที่สะสมไว้ยามเกษียณมาใช้  มาถึงตรงนี้จะพูดภึงการออมอะไรก็ไม่ทันแล้ว  สิ่งที่ทำได้หลักๆเลยคือการควบคุมอัตราการดึงเงินสะสมมาใช้  คำถามสำคัญคือเราใช้จ่ายได้เท่าไหร่ถึงจะไม่ทำให้เงินเกษียณหมดเร็วเกินไป

จริงๆเรื่องนี้ถ้าจะเอาให้ดีเราอาจจะต้องหาที่ปรึกษาทางการเงินมาช่วยวางแผน  เพราะสถานการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  แต่โอเควันนี้เราจะพูดถึงหลักการพื้นฐานที่ทุกคนควรจะต้องรู้เกี่ยวกับอัตราการดึงเงินสะสมมาใช้  เราจะคำนวณมันอย่างไร  แล้วโดยปกติมันควรจะเป็นเท่าไหร่ดี

  1. คำนวณหาอัตราการดึงเงินสะสมมาใช้ปัจจุบันของเรา

คำนวณโดยการรวบรวมรายจ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในรอบปี  จะทำการประมาณการเอาหรือจะใช้ของจริงเลยได้ก็ยิ่งดี  จากนั้นหักรายได้ที่ได้ประจำจากแหล่งอื่นที่ไม่เป็นการดึงเงินจากส่วนที่สะสมไว้เกษียณมาใช้  เช่นเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคม, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, บำนาญจากประกันชีวิต, รายได้จากปล่อยเช่าห้องคอนโด, ฯลฯ  พอหักส่วนนี้ออก  ตัวเลขที่ได้คือส่วนของค่าใช้จ่ายที่เราจะต้องดึงเงินเก็บจากส่วนที่สะสมไว้มาใช้  เอาเลขตัวนี้ตั้งจากนั้นหารด้วยมูลค่าของเงินที่สะสมไว้ทั้งหมดก็จะได้อัตราการดึงเงินสะสมมาใช้ของเรา

สมมติคนเกษียณต้องมีเงินใช้ปีละ 240,000 บาท  ได้รับเงินบำนาญจากประกันสังคมปีละ 60,000 บาท  เหลือส่วนที่ต้องดึงออกมาจากเงินที่สะสมไว้ปีละ 180,000 บาท  ถ้าเค้ามีเงินสะสมไว้สำหรับเกษียณ 4,000,000 บาท  แปลว่าคนนี้ก็จะมีอัตราการดึงเงินสะสมมาใช้ปีละ 4.5%  แต่สมมติต้องดึงเงินมาใช้ปีละ 400,000 บาท  อัตราการดึงเงินสะสมมาใช้ก็จะเป็นปีละ 10%

  1. ดูว่าอัตราการดึงเงินสะสมมาใช้ของเรามันสูงไปมั้ย

โดยปกติตัวเลขที่นิยมใช้กันเป็นมาตรฐานคือเริ่มต้นปีแรกที่ 4%  แล้วจากนั้นค่อยๆปรับการใช้ตามความจำเป็นของเงินเฟ้อขึ้นไปในแต่ละปี  มีงานวิจัยศึกษาหลายอันที่พูดถึงและยืนยันตัวเลขนี้ว่าเป็นตัวเลขอัตราการดึงเงินสะสมมาใช้ที่ค่อนข้างปลอดภัย

เหตุผลหลักคือสมมติคิดแบบหยาบๆใช้ปีละ 4% กว่าจะหมดก็ใช้เวลา 25 ปี  ถ้าเราเกษียณตอนอายุ 60 ปี  ก็จะหมดตอนอายุ 85 ปี  หรือถ้าเกษียณเร็วอายุ 55 ปี  เงินก็จะหมดตอนอายุ 80 ปี  ซึ่งโดยคร่าวๆก็เป็นอายุเฉลี่ยของเราพอดี

เหตุผลที่สองคือ 4% เป็นตัวเลขที่ไม่สูงเกินไป  ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเงินสะสมในแต่ละปีจะช่วยทดแทนส่วนที่เราใช้ไปได้บ้าง  เพื่อให้เห็นภาพดูตัวอย่าง

ตัวอย่าง 1

ถ้าหลังเกษียณเราลงทุนเงินสะสมทั้งก้อน 100% ไว้ในกองทุนตราสารหนี้ทั่วไป  ซึ่งคาดหวังผลตอบแทนประมาณ 2.5%

ต้นปีจากเงิน 100 บาท  เราถอนออกมาใช้ 4 บาททุกปีตามแผน  มันจะเหลือ 96 บาท

เงิน 96 บาทต้นปี  ในระหว่างปีลงทุนผลตอบแทนได้มา 2.5% ของ 96 บาทคิดเป็นเงิน 2.4 บาท

ปลายปีจะเรามีเงิน 98.4 บาท

ตัวอย่าง 2

ถ้าหลังเกษียณเราลงทุนเงินสะสม 80% ตราสารหนี้  20% หุ้น  ผลตอบแทนคาดหวังจะเป็นประมาณ 3.87%

ต้นปีจากเงิน 100 บาท  เราถอนออกมาใช้ 4 บาททุกปีตามแผน  มันจะเหลือ 96 บาท

เงิน 96 บาทต้นปี  ในระหว่างปีลงทุนผลตอบแทนได้มา 3.87% ของ 96 บาทคิดเป็นเงิน 3.71 บาท

ปลายปีจะเรามีเงิน 99.71 บาท

จะเห็นว่าเงินของเรามันจะหายไปช้าลงถ้าเราลงทุนได้ผลตอบแทนดีขึ้น

  1. ปรับอัตราการดึงเงินสะสมมาใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของเรา

มาตรฐานที่บอก 4% มันก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคนซะทีเดียว  เราอาจจะปรับการดึงเงินมาใช้ของเราขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆอย่างอื่นเช่น

  • ระยะเวลาที่เหลือ

แผน 4% มันออกแบบมาสำหรับคนที่คาดว่าจะใช้ชีวิตเกษียณอยู่ต่อประมาณ 25-30 ปี  ดังนั้นสมมติว่าถ้าเราคาดว่าเราจะมีชีวิตอยู่นานกว่านั้นไปอีก  แปลว่าเราอาจจะต้องใช้น้อยกว่าปีละ 4%  หรือสมมติถ้าเราอายุ 75 ปีแล้ว  เราก็อาจจะไม่ต้องกังวลมากนัก  ใช้เยอะขึ้นกว่า 4% ก็ได้

  • ลงทุนในอะไรหลังเกษียณ

แผน 4% จริงๆแล้วเค้าตั้งสมมติฐานว่าคนลงทุนผสม  มีทั้งตราสารหนี้และหุ้น  ไม่ใช่ตราสารหนี้อย่างเดียว  เพราะเค้าต้องการจะเผื่อว่าเรามีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินหรืออะไรนอกเหนือจากที่ดึงไปใช้ปกติด้วย

ถ้าเราตั้งใจจะลงทุนตราสารหนี้อย่างเดียว  เราอาจจะต้องดึงออกมาใช้น้อยกว่า 4%

  1. เข้าใจไว้เสมอว่าแผนอาจจะต้องมีการปรับ โดยเฉพาะถ้าผลตอบแทนการลงทุนเปลี่ยนแปลง

อย่างสมมติถ้าคนเกษียณโชคร้ายดันไปเจอปีที่หุ้นตกรุนแรงตอนปีแรกๆที่เริ่มเกษียณพอดีแล้วไม่ได้ปรับลดการดึงเงินออกมาใช้  เงินกองทุนที่สะสมไว้มันลดไปเร็วกว่าที่คาด  แล้วเหลือเงินสะสมน้อยลงสำหรับปีที่ตลาดฟื้นตัว  ทำให้ในระยะยาวอาจจะเหลือเงินใช้น้อยกว่าแผนที่วางไว้

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คืออาจจะต้องมีการปรับตัวตามสถานการณ์บ้าง  เช่นปีที่ผลตอบแทนทำได้น้อยเราก็ใช้ประหยัดหน่อย  แล้วไปใช้เยอะขึ้นในปีที่ผลตอบแทนทำได้ดีแทน

สำหรับคนที่เกษียณแล้วผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้  ช่วยได้มากสุดประมาณนี้  อาจจะต้องไปปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงินเพิ่มเติมอีกที  ยังไงขอให้โชคดีครับ