เสริมสร้างฐานะทางการเงิน 8 – สร้างนโยบายการลงทุนให้ตัวเอง

Improve your financial life 8 – Create an Investment Policy Statement

have-your-own-set-of-rules

อันนี้ปกติถ้าเป็นที่ปรึกษาทางการเงินเตรียมให้ลูกค้ามันจะมีรายละเอียดเยอะมาก  แต่ส่วนตัวผมว่ามันไม่ต้องซับซ้อนขนาดนั้นก็ได้  ผมว่าการวางนโยบายการลงทุนของตัวเองยิ่งทำให้ชัดเจนเข้าใจง่ายเท่าไหร่ยิ่งดี  เป็นไปได้มันควรจะสรุปอยู่บนสองหน้ากระดาษพอ  ที่ผ่านมาเราอาจจะลงทุนอยู่แล้วแหละแค่ไม่ได้มีการวางนโยบายภาพรวมที่ชัดเจน  วันนี้เราจะมาทำสร้างนโยบายการลงทุนของตัวเองกัน

แผนนโยบายการลงทุนคือเราพยายามจะกำหนดภาพรวมการลงทุนเราว่า  จะลงทุนในสินทรัพย์แบบไหนบ้างเป็นสัดส่วนเท่าไหร่, ลงทุนแต่ละอย่างมีหลักเกณฑ์ในการเลือกอย่างไร  และจะมีระบบในการติดตามผลดูแลอย่างไร

เพื่อความง่าย  ใช้ template ของ Morningstar เลยก็ได้ครับ  ไปดาวน์โหลดที่นี่

https://drive.google.com/open?id=1Ysqq4hcsDfMndQ_R0di9iF_Dp365Dalp

จากนั้นทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. เขียนเป้าหมายทางการเงินให้เรียบร้อย

อันนี้เราน่าจะได้เคยทำไปแล้วตั้งแต่บทความที่แล้ว  สมมติยังไม่ได้ทำลองกลับไปอ่าน  LINK TO IMPROVE YOUR FINANCIAL LIFE 3

  1. วางโครงร่างนโยบายการลงทุนภาพกว้าง

ตรงนี้ก็เอาให้กระชับ  สำหรับคนอายุน้อยอาจจะเป็น

“จะลงทุนในกองทุนดัชนีหุ้นเป็นหลัก  เป็นสัดส่วน 10% ของเงินเดือนทุกเดือน  ช่วงนี้จะลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้น 80% ตราสารหนี้ 20%  พอใกล้เกษียณมากขึ้นจะทยอยปรับเป็นหุ้นหรือกองทุนหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50%”

หรือถ้าเป็นวัยใกล้เกษียณหรือเกษียณแล้วอาจจะเป็น

“จะลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้นที่เน้นปันผลสม่ำเสมอ  50%  และกองทุนตราสารหนี้  50%  ให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอมากกว่าผลตอบแทนที่สูง”

  1. บันทึกมูลค่าเงินลงทุนปัจจุบันของเราว่ามีเท่าไหร่

ทำการบันทึกเงินลงทุนรวมทั้งหมดว่ามีเท่าไหร่บาท  ในหัวข้อนี้เอาแค่มูลค่ารวมก็พอ  แต่สมมติใครจะบันทึกละเอียดแบ่งย่อยตามประเภททรัพย์สินก็ได้

  1. กำหนดสัดส่วนขนาดเงินลงทุนในทรัพย์สินแต่ละประเภท

บางคนอาจจะบอกไม่รู้จะกำหนดสัดส่วนอย่างไร  จริงๆมันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมากเลยแต่ละคนไม่เหมือนกัน  และมันไม่มีคำว่าจัดแบบไหนดีที่สุด  แต่ส่วนตัวผมแนะนำว่า

  1. สำคัญสุดคือสัดส่วนมันต้องทำให้เราไปถึงเป้าหมาย คือจะวางเป้าหมายปลอดภัยจนสุดท้ายไม่ถึงเป้าหมายมันก็ไม่ใช่เรื่อง  ไม่รู้จะทำไปทำไม  ดังนั้นเมื่อกำหนดสัดส่วนออกมาแล้ว  เราต้องดูว่าผลตอบแทนคาดหวังโดยรวมของสัดส่วนนี้  มันทำให้เงินเราเติบโตตอบโจทย์ชีวิตของเราหรือเปล่าเป็นสำคัญ

  2. กำหนดสัดส่วนที่เราสบายใจ ไม่ต้องเน้นกำไรสูงสุดก็ได้  ต่อให้เราอายุน้อยปกติเค้าแนะนำให้มีสัดส่วนหุ้นเยอะๆ  แต่ถ้าเรารู้ตัวว่าเป็นพวกขี้กลัวตกใจง่าย  ก็เอาสัดส่วนที่มันไม่หวือหวามาก  ให้เราคุมสติได้ไว้ก่อน

หรือจะลองทำแบบทดสอบดูก็ได้ครับ  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนส่วนใหญ่เค้าจะมีแบบทดสอบเอาไว้ให้ลูกค้าลองทำก่อนที่เค้าจะเสนอแนะนำการลงทุนอยู่แล้ว  ของยี่ห้อไหนก็ได้ครับ

ทำออนไลน์ของไทยพาณิชย์ ได้ที่  http://scbfirst.scb.co.th/wealth-intelligence/wealth-consultancy-service/risk-assessment

หรือจะปริ้นท์ออกมาทำก็ได้  ผมมีให้ดาวน์โหลดของทิสโก้

https://drive.google.com/open?id=1-9iB2UdqyCvPYvAR9Rn_Q47kSMOiQnsL

ถึงเวลาจริงสัดส่วนทรัพย์สินเรามันจะไม่นิ่ง  เพราะมูลค่าเงินลงทุนมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด  ดังนั้นเราไม่ต้องไปเป๊ะมากว่ากองทุนหุ้นต้องมี 60% เป๊ะเท่านั้นหรืออะไร  เอาเป็นช่วงแบบ 55-65%  อะไรแบบนี้ดีกว่า  เราจะได้ไม่ต้องมาจูนเงินลงทุนบ่อยๆ  มาปรับจูนเฉพาะเวลามันต่ำว่า 55% หรือสูงกว่า 65% พอ

สำหรับคนที่ชอบความละเอียดอาจจะระบุแยกย่อยลงไปเพิ่มเติมอีก  เช่นกองทุนตราสารหนี้  30%  อาจจะขยายความว่าเป็นกองทุนตลาดเงิน 10% กับกองทุนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว 20%  อะไรก็ว่าไป

  1. กำหนดวิธีการเลือกลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท

เขียนระบุลงไปว่าสินทรัพย์แต่ละประเภทที่เราจจะลงทุน  ในแต่ละอย่างเราจะมีวิธีเลือกแบบไหน

เช่น  “หุ้นที่เราเลือกจะต้องมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อรายได้ 10% ขึ้นไป  และจะต้องกำไรเติบโตค่อนข้างสม่ำเสมอไม่แกว่งรุนแรงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา”

หรืออย่างถ้าเป็นกองทุนเราอาจจะบอกว่า  “จะลงทุนในกองทุนหุ้นที่มีผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาด  และมี Total Expense Ratio ต่ำกว่า 1% เท่านั้น”

  1. กำหนดลงไปว่าเราจะคอยเช็คสภาพการลงทุนเราอย่างไร

แน่นอนว่าที่เราอุตส่าห์กำหนดทิศทางการลงทุนมา  เราก็ต้องมีการเช็คดูเป็นระยะด้วย  ระบุลงไปเลยว่าเราจะเช็คดูบ่อยแค่ไหน  ส่วนตัวผมมองว่าบ่อยเกินไปก็ไม่ดี  3 เดือนครั้งก็เยอะแล้ว  และเวลาที่เช็คเราควรจะต้องดู

  1. พอร์ตการลงทุนเราเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้มั้ย

  2. สัดส่วนทรัพย์สินแต่ละประเภทเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือเปล่า

  3. พอร์ตการลงทุนเราเติบโตได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่คล้ายกันหรือเปล่า

เรียบร้อยครับ  ถ้าเราวางนโยบายการลงทุนของตัวเองไว้แต่แรก  เราก็จะไม่งง  และไม่เผลอถือทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งเยอะเกินไปแน่นอน