วันนี้อยากจะรวบรวมหัวข้อที่ผมโดนถามบ่อยๆเกี่ยวกับการไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศมาตอบครับ
คำถาม หุ้นต่างประเทศนี่คือ เหมือน forex, อนุพันธ์, ทอง หรือน้ำมันอะไรพวกนี้หรือเปล่า?
ตอบ หุ้นต่างประเทศ จริงๆก็คือหุ้นเนี่ยแหละครับ เป็นชิ้นส่วนความเป็นเจ้าของกิจการ เหมือนหุ้นไทยเป๊ะเลย เพียงแต่หุ้นต่างประเทศก็คือหุ้นที่บริษัทจดทะเบียนซื้อขายหลักทรัพย์อยู่บนตลาดหุ้นประเทศอื่นเท่านั้นเองครับ
ส่วน forex, อนุพันธ์, ทอง หรือน้ำมันอะไรนี่มันคนละเรื่องเลย มันไม่ใช่ชิ้นส่วนความเป็นเจ้าชองบริษัท ไม่เกี่ยวกันเลยครับ เปิดบัญชีซื้อขายก็ต้องแยกไม่เกี่ยวอะไรกัน
คำถาม เปิดบัญชีหุ้นต่างประเทศ ต้องมีเงินขั้นต่ำอะไรมั้ย ได้ยินว่าต้องมีเงินเยอะมาก
ตอบ ในสมัยก่อนโดยทั่วไปต้องมีขั้นต่ำ แต่สมัยนี้เนื่องจากแข่งกันมากขึ้น หลายที่ไม่มีขั้นต่ำแล้ว อย่างกรณีผมคือผมใช้บัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศกับไทยพาณิชย์ ไม่มีขั้นต่ำว่าต้องมีเงินในบัญชีอะไรทั้งสิ้น
คำถาม การเปิดบัญชีหุ้นต่างประเทศ ต้องทำอย่างไร?
ตอบ ติดต่อโบรกเกอร์ที่มีบริการบัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศ เอกสารที่ใช้ก็เหมือนเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นไทยเนี่ยครับ อาจจะมีเอกสารที่ต้องเซ็นต่างออกไปบ้าง ใช้เวลาเปิดนานกว่าเปิดบัญชีหุ้นไทย แต่โดยรวมง่ายมากครับ โบรกเกอร์อยากให้คุณเปิดบัญชีอยู่แล้ว และดังนั้นเค้าจะดำเนินการทุกอย่างให้ครับ
คำถาม โบรกเกอร์แต่ละเจ้าต่างกันไหม?
ตอบ ต่างครับ สำคัญสุดเลยคือเรื่องว่าไปตลาดประเทศไหนได้บ้าง แต่ละโบรกเกอร์เค้าก็มีติดต่อไว้ต่างกัน อย่าง SCB ที่ผมใช้นี่คือซื้อขายหุ้นในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ได้เลย แต่ไปกรีซไม่ได้ ในขณะที่ได้ยินว่า Finansia Syrus ไปซื้อหุ้นประเทศกรีซได้ แต่จีนไม่ได้ อะไรประมาณนี้
คำถาม ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ตอบ ค่าโอนเงินไปต่างประเทศ อันนี้จ่ายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จ่ายต่อการโอนเงินหนึ่งครั้งโดยไม่เกี่ยวข้องว่าโอนเงินเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ที่ผมจ่ายอยู่คือ 1,350 บาท / ครั้ง คุณโอนเงินไป 100 บาท หรือ 1,000,000 บาท ก็ต้องจ่ายค่าโอนเงินไปต่างประเทศเท่ากัน
ค่าเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน อิงตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารเนี่ยแหละ แล้วแต่ว่าโบรกเกอร์อิงตามธนาคารไหน อย่างผมใช้หลักทรัพย์ SCB ดังนั้นเวลาแปลงสกุลเงินก็ตามอัตราแลกเปลี่ยน SCB ส่วนที่ทราบมาอย่างของโบรกเกอร์ Finansia Syrus อิงอัตราแลกเปลี่ยนตามธนาคารกสิกร และแน่นอนก็หมายความว่าต้องมีส่วนต่างตอนซื้อกับขายสกุลเงินต่างประเทศตามธนาคารเหมือนเวลาแลกเงินไปเที่ยวน่ะครับ
ค่าธรรมเนียมซื้อขาย ขึ้นอยู่กับว่าซื้อหุ้นที่หลักทรัพย์ประเทศไหนด้วย มันไม่เท่ากัน แต่เอาเป็นว่ามันจะแพงกว่าค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นไทยแน่นอน เป็น % ที่สูงกว่าซื้อขายหุ้นไทย และบางประเทศมันจะเป็นค่าธรรมเนียมขั้นต่ำต่อครั้งเลยด้วย ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำต่อวันเหมือนเมืองไทย หมายความว่าอย่างเมืองไทยนี่คุณอาจซื้อขายครั้งละ 5,000 บาท 10 ครั้งในวันนึง หรือซื้อขาย 50,000 บาท 1 ครั้งก็จะไม่ต่างกัน เพราะมูลค่าการซื้อขายก็จะคิดเป็น 50,000 บาท ซึ่งค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายจะเกินขั้นต่ำละ แต่ถ้าเป็นบางประเทศ จะซื้อขายถี่ๆแบบนั้นไม่ได้เพราะมันคิดค่าธรรมเนียมเป็นครั้ง ไม่ได้เหมารวมเป็นทั้งวันคิดทีเดียว ซื้อ 5,000 บาท 10 ครั้งนี่อาจจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 10 รอบ แทนที่จะเป็น ซื้อ 50,000 บาท 1 ครั้ง แล้วจ่ายค่าธรรมเนียม 1 รอบ (กรณีนี้คือพูดถึงค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ ดังนั้นถ้าซื้อขายหลายรอบ แต่รอบนึงจำนวนเงินเยอะเกินขั้นต่ำ ขั้นต่ำก็จะไม่มีผล ก็จะคิดเป็น % เหมือนปกติ)
คำถาม ภาษี
ตอบ ปันผลนี่คิดภาษีตามกฎหมายไทยเลยครับ แต่อย่างนึงคือกำไรที่เกิดจากส่วนต่างราคาซื้อกับราคาขาย (Capital gain) ถ้าการซื้อและขายนั้นทำในปีปฏิทินเดียวกัน กำไรนี้จะต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา (Income tax) แต่ถ้าซื้อแล้วขายไม่ใช่ในปีปฏิทินเดียวกัน อันนี้นับเหมือน Capital gain คือไม่ต้องเสียภาษี
คำถาม สั่งคำสั่งซื้อขายได้เองมั้ย
ตอบ ได้เป็นส่วนใหญ่ครับ หน้าตาการสั่งคำสั่งซื้อขายทำออนไลน์ได้เหมือนเวลาสั่งซื้อขายหุ้นไทย จะมีเฉพาะบางตลาดเท่านั้นที่ต้องโทรไปบอกมาร์เก็ตติ้งให้สั่งซื้อขายให้ อันนี้ผมก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกัน แต่ที่แน่ๆอย่างหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ เวลาจะซื้อหรือขายผมต้องโทรไปบอกมาร์เก็ตติ้งครับ แต่โอเคแหละ โดยส่วนใหญ่แล้วสั่งได้เองผ่านอินเตอร์เน็ตครับ
Please note: I reserve the right to delete comments that are offensive or off-topic.