ประเภทบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียม

Types of Trading Account and Fees

ในการขอเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น  เค้าจะมีช่องให้เลือกว่าจะเปิดบัญชีประเภทไหน  ทีนี้ชื่อมันจะคล้ายๆกันและทำให้คนจำนวนมากสับสน  ในหัวข้อนี้ผมจะอธิบายแต่ละประเภทเพื่อให้เข้าใจว่ามันต่างกันอย่างไร

  1. บัญชีเงินสด (Cash Account)

เป็นบัญชีที่เวลาเราสั่งซื้อเราต้องมีเงินหรือหลักประกันเป็นหุ้นอยู่ในบัญชีแค่ 15% ของมูลค่าที่ซื้อ  แล้วหลังจากนั้น 3 วันถึงจะต้องมีเงินสดในบัญชีจริง  และเวลาขายก็คล้ายๆกันคือถ้าสั่งขายวันนี้  จะได้เงินอีกที 3 วันหลังจากวันที่สั่งขาย  หุ้นที่อยู่ในพอร์ตก็นับเป็นหลักประกันแบบเดียวกันตามมูลค่าในวันที่เราสั่งซื้อ

หลักๆมันจะมีประโยชน์อยู่สองอย่าง  อย่างแรกสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาว่างไม่สะดวกจะไปโอนเงินและไม่ต้องการจะทิ้งเงินสดไว้ในบัญชีหุ้นเยอะๆ  กรณีที่เกิดจะซื้อหุ้นขึ้นมากระทันหันก็จะสามารถสั่งซื้อได้ทันทีโดยไม่ต้องวิ่งไปโอนเงินหรือพลาดโอกาสไป

หรือแบบที่สองจะเป็นสำหรับคนที่ซื้อขายเก็งกำไรวันต่อวัน  เนื่องจากถ้าคุณซื้อและขายในวันเดียวกัน  เค้าจะไปทำรายการรวมกันทีเดียว 3 วันหลังจากนั้นและคำนวณเป็นส่วนต่างให้เลย  แปลว่าคุณเหมือนคุณซื้อขายหลักทรัพย์ได้จำนวนมากโดยที่คุณใช้เงินเป็นหลักประกันแค่ 15% ของมูลค่าจริง  เช่นสมมติคุณมีเงินหลักประกัน 15,000 บาท  และจริงๆคุณก็มีเงินทั้งหมดเท่านี้แหละ  แต่ด้วยบัญชีประเภทนี้คุณสามารถสั่งซื้อหุ้นมูลค่า 100,000 บาทได้  สมมติราคาหุ้นสุดท้ายตอนขายเพิ่มขึ้น 5% มูลค่าขายเป็น 105,000 บาท  คุณจะเหมือนได้กำไร 5,000 บาท  คิดเป็น 33% จาก 15,000 บาท  (ยังไม่หักค่าบริการ)  แต่ส่วนตัวผมไม่สนับสนุนการซื้อๆขายๆรายวันแนวเก็งกำไร

  1. บัญชีเงินฝาก (Cash Balance Account)

บัญขีนี้เข้าใจง่ายครับ  เวลาเราสั่งซื้อเราต้องมีเงินฝากไว้ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ซื้อ  ถ้าเราไม่มีเงินในบัญชีอยู่เราจะสั่งซื้อไม่ได้  เวลาโอนเงินเข้าบัญชีถ้าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของธนาคารปกติแล้วจะสามารถสั่งซื้อขายได้ในทันที  แต่ถ้าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นเครือธนาคารปกติใช้เวลาไม่เกิน 1 ชม.ก็จะซื้อขายได้  เข้าใจว่าในอนาคตก็น่าจะได้ทันทีเหมือนเครือธนาคาร

  1. บัญชีเครดิตบาลานซ์ (Credit Balance Account)

อันนี้เป็นบัญชีที่เหมือนคุณยืมเงินบริษัทหลักทรัพย์มาซื้อหุ้น  โดยที่คุณจ่ายส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเพิ่มเติมด้วย  แต่บัญชีนี้ปกติแล้วเค้าไม่อนุมัติเปิดให้แล้ว  ดังนั้นจึงไม่ต้องสนใจอะไร

  1. บัญชีซื้อขายตราสารอนุพันธ์ (Derivatives Trading Account)

บัญชีนี้ใช้สำหรับซื้อขาย Futures หรือ Options ซึ่งเป็นลักษณะสัญญาที่ราคาอ้างอิงตามหลักทรัพย์

  1. บัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศ (Global Trade Account)

ตามชื่อครับ  เอาไว้ซื้อหุ้นในตลาดต่างประเทศ  แต่ละบริษัทหลักทรัพย์ไปลงทุนได้ตลาดไม่เหมือนกันแล้วแต่ว่ามีการติดต่อไว้หรือไม่

อัตราค่าคอมมิชชั่นของบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แต่ละประเภท

ให้มาร์เก็ตติ้งทำ

จัดการเอง

บัญชีเงินสด

0.25%

0.2%

บัญชีเงินฝาก

0.2%

0.15%

บัญชีซื้อขายตราสารอนุพันธ์

แล้วแต่ประเภทสัญญา

แล้วแต่ประเภทสัญญา

บัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศ

แล้วแต่ประเทศ

แล้วแต่ประเทศ

(บางประเทศสั่งซื้อเองไม่ได้)

Please note: I reserve the right to delete comments that are offensive or off-topic.

Leave a Reply