จัดพอร์ตช่วงปีเกษียณ
อย่างที่ทราบกันคือส่วนตัวผมลงทุนในหุ้น 100% เนอะ แล้วก็เคยพูดในวีดิโอเก่าๆอยู่ว่าถ้าสำหรับคนทั่วไปใช้แบบสัดส่วนหุ้นกับตราสารหนี้ หุ้นเท่ากับ 120-อายุ หรือ 100-อายุ ก็ฟังดูเข้าท่า สัดส่วนของหุ้นมันก็จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น เท่านั้นไม่ได้มีไอเดียอะไรสำหรับคนที่กำลังเกษียณอายุเป็นพิเศษ
แต่เร็วๆนี้ ที่ทำงานผมออกโปรดักต์ที่สำหรับการจัดการพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณ มันก็เลยบังคับให้ผมต้องพิจารณาเรื่องนี้ละเอียดมากขึ้น
ความแตกต่างสำคัญเลยสำหรับคนที่เกษียณก็คือ มันจะมีความจำเป็นต้องใช้เงิน และโดยปกติก็จะต้องมีการดึงเงินออกจากพอร์ตค่อนข้างสม่ำเสมอ อาจจะไม่เท่ากันทุกปีแต่ใกล้เคียง
ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการที่มีความจำเป็นต้องถอนเงินออกจากพอร์ตอย่างสม่ำเสมอคือ ในปีที่มูลค่าทรัพย์สินมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางลบเยอะ การดึงเงินออกถึงแม้จะเป็นเงินจำนวนเท่าเดิมแต่จะเป็น % ที่ใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าพอร์ต มันจะทำให้การที่พอร์ตจะฟื้นกลับมาทำได้ยากขึ้น ยิ่งถ้าสมมติเหตุการณ์ที่ว่านั่นเกิดขึ้นในปีแรกๆที่เกษียณ มันจะทำให้โอกาสในการเกษียณได้ปลอดภัยน้อยลงมาก เช่นสมมติพอร์ตตอนแรก 100 บาท แล้วเรากะจะถอน 10 บาททุกปี ไปตลอด 10 ปี ถ้าสมมติว่าตลอดช่วง 10 ปี ทุกปีผลตอบแทนมันจะเท่ากับ 5% ตลอดเลยนะ ยกเว้นปีเดียวที่จะ -20% ผลลัพธ์มันจะต่างกันมากเลยถ้าปีที่ติดลบนั่นเกิดขึ้นเร็วเทียบกับเคสกรณีที่ -20% นั่นเกิดหลัง
ดังนั้นมันก็เลยต้องมีการวางแผนมากกว่าพอร์ตปกติ เรื่องของเสถียรภาพและการมี buffer สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงเผื่อถอนเลยกลายเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา
หลังจากที่ศึกษาอยู่ซักพัก รวมถึงการทดลองทำ simulation ด้วย ตอนนี้สิ่งที่เจอคือ
1. การจัดสัดส่วนแบบ fixed ตัว % อาจจะไม่ได้เหมาะซะทีเดียว เพราะบางทีมันขึ้นอยู่จำนวนเงินที่มีและการใช้จ่ายที่ต้องถอนออกไปด้วย
2. เริ่มเห็นด้วยกับคอนเซปต์ของการจัดแบ่งพอร์ตตามวัตถุประสงค์ (goal-based) แบบ 3 ตะกร้า ซึ่งคือบอกว่า
– ตะกร้าแรกลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำมาก ใช้สำหรับสำรองเป็นสภาพคล่องเผื่อถอน
– ตะกร้าที่สองเน้นความเสี่ยงปานกลางเช่นพวกหุ้นปันผลหรือกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว ถ้าเป็นไปได้เอาแบบมีปันผลหรือดอกเบี้ยสม่ำเสมอด้วยจะดีมาก เอาไว้สมทบตะกร้า 1 ในปีปกติจะได้มีความจำเป็นต้องขายสินทรัพย์จากตะกร้า 2 หรือ 3 น้อยหน่อย หรือเอาไว้ซื้อตะกร้า 2 หรือ 3 เพิ่มเติมในปีที่สินทรัพย์ราคาตก
– ตะกร้าที่สามลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมาหน่อยได้ เพื่อให้เงินมีเวลามีโอกาสในการเติบโตแล้วมาช่วยสมทบกับสองตะกร้าที่เหลือในอนาคต
3. การจัดระเบียบแบบนี้ก็ทำให้จัดการแบบเห็นภาพง่ายกว่า
การจัดพอร์ตควรจะอิงจากความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่จะเป็น % เช่น
ตะกร้า 1 ควรจะมีเงินอยู่ในตะกร้า 1 เป็นจำนวนมากพอที่จะดึงมาใช้สำหรับ 1-2 ปี ส่วนตัวมองว่าประมาณปีกว่าๆกำลังดี หรือในกรณีที่มีเงินเยอะอยู่แล้วก็ 2 ปีก็ได้ ความสำคัญของการที่จัดแบบนี้คือเผื่อในกรณีที่ตลาดหุ้นตกรุนแรงในปีนั้น ปลายปีก็จะสามารถถอนเงินมาใช้ได้จากตะกร้านี้ แล้วอาจจะพักไม่เติมตะกร้า 1 ไปซักปีนึง แบบนี้ก็จะไม่ต้องถูกบังคับขายสินทรัพย์ในตะกร้า 2 หรือ 3
ตะกร้า 2 ตะกร้านี้สำหรับคนทั่วไปควรจะมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดเป็นตะกร้าหลัก ส่วนตัวมองว่าควรจะมีเงินอยู่ในตะกร้านี้ซะ 8-10 เท่าของจำนวนเงินที่จะต้องเอามาใช้ในแต่ละปี นึกภาพว่าส่วนนี้ถ้าตะกร้า 1 หมดก็จะทยอยขายออกจากตะกร้านี้ไปเติมตะกร้า 1 ตะกร้า 1 กับ 2 มูลค่ารวมกัน ณ วันที่เริ่มจัดพอร์ตก็ควรจะอยู่รอดได้เกิน 10 ปีละ เพราะมันจะมีรายได้ที่ได้จากปันผลหรือดอกเบี้ยของตะกร้า 2 นี่มาช่วยสนับสนุนด้วย
ตะกร้า 3 ก็ที่เหลือนั่นแหละ ถ้าสัดส่วนตะกร้า 1 กับ 2 ได้ประมาณที่กะ แปลว่าส่วนของตะกร้า 3 นี่ก็จะมีระยะเวลาให้เติบโตนานเป็น 10 ปีทีเดียว ควรจะช่วยได้ในระดับหนึ่งละ ระหว่างทางเราอาจจะมีการทยอยขายตะกร้า 3 บ้างตามความเหมาะสมถ้าเห็นว่าราคาสินทรัพย์ขึ้นมาสูงหรืออะไร
โดยรวมก็ประมาณนี้
ถ้าเป็นไปได้ การถอนมาใช้แต่ละปีถ้าสามารถทำแบบ flexible ได้ด้วยก็จะดีมาก เช่นปีไหนที่ราคาสินทรัพย์ตกรุนแรง ปลายปีอาจจะถอนมาใช้น้อยหน่อย เพื่อให้เหลือเงินเยอะหน่อยสามารถเอาไปลงทุนหรือให้ขายตะกร้า 2 กับ 3 ออกมาน้อย ส่วนปีไหนที่สินทรัพย์มันผลตอบแทนดีมากก็อาจจะถอนมาใช้เยอะหน่อย ความยืดหยุ่นก็จะทำให้โอกาสที่แผนเกษียณจะสำเร็จมีสูงขึ้น
ไอเดียตอนนี้คร่าวๆก็เป็นประมาณนี้นะ