ตื่นเต้นดีใจจนเกินเหตุ

Risk 4 : Irrational Exuberance

risk-4

“There are few things as risky as the widespread belief that there’s no risk.”

Howard Marks

ผู้ร่วมก่อตั้ง Oaktree Capital Management

ผมชอบประโยคนี้ของ  Howard Marks เป็นพิเศษ  ใจความสำคัญคือการลงทุนมีความเสี่ยงสูงมากก็ตอนที่คนจำนวนมากเชื่อว่าไม่มีความเสี่ยง

ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ  คนลงทุนก็จะมีความระมัดระวังกลัวเสียเงินอยู่  และความระวังนี้ก็จะทำให้อะไรที่ความเสี่ยงสูง  ราคามันจะต้องต่ำหน่อยไม่งั้นมันไม่มีคนซื้อ  ความเสี่ยงที่สูงก็เลยจะสัมพันธ์กับผลตอบแทนคาดหวังที่ต้องสูงตาม

แต่ทีนี้บางทีตลาดหุ้นอาจจะเข้าสู่โหมดขาดสติได้  มันจะเป็นช่วงที่คนมีความเชื่อว่าการลงทุนความเสี่ยงมันต่ำหรือเชื่อว่าไม่เสี่ยงเลย  พอเชื่อแบบนี้ปุ๊บราคาก็จะสูงขึ้นได้จนเหนือเหตุผล  โดยปกติจะมีขั้นตอนประมาณนี้

  1. เริ่มจากเรื่องจริง

เช่น

  • อินเทอร์เน็ตกำลังจะเปลี่ยนแปลงโลก
  • คนจะย้ายมาอยู่คอนโดติดรถไฟฟ้ามากขึ้น
  • เรากำลังจะเป็นสังคมสูงอายุ หุ้นกลุ่มสุขภาพต้องโต
  • เงินจะมาอยู่ในรูปของดิจิตอลมากขึ้น
  1. มีนักลงทุนรุ่นบุกเบิกทำกำไรจริง จากความต้องการของอะไรก็แล้วแต่นั้นจริงๆ

มีนักลงทุนกลุ่มแรกที่มองเห็นโอกาสเข้าไปลงทุน  แล้วทำกำไรจากปัจจัยที่มีในข้อ 1  เป็นตัวอย่างความสำเร็จทำให้เริ่มมีคนหันมามองโอกาสตรงนี้มากขึ้น

  1. เริ่มมีกระแสความนิยม มีคนสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ถึงขั้นประมาณนี้คนบางกลุ่มเริ่มมีความเชื่อ  และก็จะเริ่มมีคนเข้ามาลงทุนมากขึ้นละ  แต่คนส่วนใหญ่ก็จะยังระมัดระวังอยู่

  1. คนรุ่นต่อๆมาทำกำไรจริง จากความต้องการใช้ของสิ่งนั้นที่สูงขึ้น + ความต้องการที่มาจากการเก็งกำไร

เริ่มมีคนทำกำไรหลายคนขึ้นเรื่อยๆ  ราคาของนั้นเริ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  กำไรเริ่มมาจากการอะไรที่ไม่ใช่ความต้องการใช้จริงของตัวทรัพย์สินนั้นละ  เริ่มมาจากแรงซื้อเก็งกำไรของคนที่คาดหวังว่าราคาจะสูงขึ้นไปอีก

  1. คนหมู่มากเกิดความเชื่อ

มาถึงจุดนี้คือคนทั่วไปเชื่อละ  มาจากเหตุผลที่มีมูลจากข้อ 1 + เห็นคนนู้นคนนี้เค้ากำไรกันทุกคน  เริ่มแห่เข้าไปลงทุน  จากความระมัดระวังเปลี่ยนกลายเป็นความกลัวจะตกรถไฟพลาดโอกาส  บางคนถึงกับเริ่มกู้เงินมาลงทุน

  1. ราคาของสินทรัพย์นั้นสูงขึ้นจนเว่อร์

มาถึงจุดนี้คือมันเป็น feedback loop ละ  คนที่เข้ามาเก็งกำไรทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีก  ราคาที่สูงขึ้นทำให้คนจำนวนมากขึ้นโลภมากขึ้นแล้วกระโดดเข้ามาซื้อ  ก็เลยราคาสูงขึ้นไปอีก  แล้วก็เลยทำให้คนกลุ่มใหญ่ขึ้นเข้ามาเก็งกำไรเพิ่มขึ้น  ตรงนี้เป็นจุดที่ความเสี่ยงพุ่งขึ้นสูงมากแล้ว

  1. ปาร์ตี้เลิกตอนที่คนบ้าที่สุดคนสุดท้ายซื้อไป

มันจะมีจุดนึงที่ราคาสูงซะจนคนจำนวนมากเริ่มได้สติ  และไม่มีใครกล้าเข้าไปซื้อแล้ว

  1. คนคิดได้

หายบ้า  และส่วนใหญ่ราคาก็จะเริ่มตกกลับมาสู่สภาวะปกติ  เพราะคนส่วนใหญ่กลุ่มหลังๆที่ซื้อคือเพวกเก็งกำไร  ไม่ได้มีเจตนาต้องการใช้ทรัพย์สินนั้นตั้งแต่แรก  เช่น

  • อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงโลกจริง แต่ไม่ได้แปลว่าบริษัทที่เกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตจะกำไรทุกอัน  ความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแปลว่าวันนี้กำไรอยู่ดีๆ  พรุ่งนี้อาจมีนวัตกรรมใหม่มาแทนก็ได้
  • คนจะย้ายมาอยู่คอนโดใกล้แนวรถไฟฟ้ามากขึ้นจริง แต่คนที่จะย้ายมาอยู่คอนโดติดแนวรถไฟฟ้าก็มีจำกัด  และที่สำคัญคอนโดเกิดใหม่ที่ขึ้นมาแข่งก็มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ
  • สังคมสูงอายุทำให้ธุรกิจสุขภาพโตก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่าหุ้นโรงพยาบาลแพงแค่ไหนก็ได้
  • เงินดิจิตอลอาจจะมาจริง แต่จะรู้ได้ไงว่าอันที่ชื่อ Bitcoin มันต้องเป็นผู้ชนะ

ที่เล่าให้ฟังเป็นขั้นตอนแบบนี้  ไม่ใช่ให้เราพยายามกะจังหวะเข้าไปเก็งกำไรนะครับ  แต่ผมอยากให้เราเห็นวัฎจักร  และคอยสังเกตเหตุการณ์รอบตัวเราไม่ให้เผลอไปแห่ลงทุนกับเค้าด้วย  สังเกตเลย  เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคำพูดประมาณนี้  คุณต้องวิ่งหนีแล้ว เช่น

  • ซื้อเลยยังไงอนาคตราคาก็ขึ้น
  • ดีแน่นอน
  • มันเป็นกระแสของโลกอนาคต
  • คนอื่นที่ลงทุนเค้ากำไรกันเยอะแยะ
  • ไม่มีความเสี่ยงเลยอันนี้

และ ฯลฯ  อะไรที่คนส่วนใหญ่เชื่อประมาณว่า  ไม่ต้องคิด  ไม่ต้องกลัว  ลงทุนเลย  กำไรแน่นอน  ประมาณนี้อ่ะครับ

จำไว้ว่า  ยิ่งคนบ้าคลั่งราคายิ่งสูง  ราคายิ่งสูงความเสี่ยงยิ่งสูง  เราไม่ได้มาลงทุนเพราะเราต้องการความเสี่ยง  เรามาลงทุนต้องการกำไรที่เยอะที่สุดโดยให้เสี่ยงน้อยที่สุด

วันนี้เอาเท่านี้  รอบหน้าเราจะมาพูดถึงเหตุการณ์ผิดปกติที่ทำให้ความเสี่ยงน้อยมากๆกันบ้าง