เรื่องนี้ก็เป็นส่วนสำคัญสำหรับการวางแผนการเงิน แต่อาจเป็นเพราะเรื่องฉุกเฉินมันมักจะทำให้คิดถึงเรื่องไม่ดีมั้ง คนเลยไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องนี้เท่าไหร่
แต่จริงๆเรื่องนี้มันสำคัญมากสำหรับคนทุกวัยเลยแหละ ยิ่งสำหรับคนที่มีหนี้สินอยู่ การมีเงินกันไว้เผือฉุกเฉินทำให้ถ้าต้องซ่อมบ้านหรือเกิดเรื่องอื่นขึ้น เราจะไม่ต้องไปดึงเงินออกมาจากส่วนที่กันเอาไว้สำหรับเกษียณ ไม่กระทบกับแผนชีวิตระยะยาวของเรา
โดยปกติแล้วคำแนะนำทั่วไปคือให้สำรองเงินเผื่อฉุกเฉินไว้ให้พอสำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน สาเหตุที่คนเค้าแนะนำแบบนั้นเพราะเผื่อกรณีตกงานไม่มีรายได้ เพื่อให้ง่ายลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
-
ดูว่าค่าใช้จ่ายจำเป็นต่อเดือนเราคือเท่าไหร่
ลองคำนวณรายจ่ายต่อเดือนที่จำเป็นทั้งหมดดู เช่น ค่าเช่าบ้าน, ค่าน้ำไฟ, โทรศัพท์, อาหาร, หนี้ที่ต้องจ่าย, เบี้ยประกัน, ฯลฯ เอาที่มันจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต เรื่องที่แบบ “มีก็ดี” อย่างซื้อเสื้อผ้า, เน็ตบ้าน อะไรพวกนี้ตัดออกไปก่อน เอาตัวเลขที่ได้คูณสามเดือน อันนี้คืออย่างน้อยขั้นต่ำที่สุดที่เราต้องมีสำรองไว้ จากนั้นปรับเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ของเรา
เรื่องหลักก็อย่างเช่นอาชีพการงาน ถ้าเรามีอาชีพรายได้ไม่แน่นอนเป็นฟรีแลนซ์, รับงานเป็นโปรเจค อะไรก็แล้วแต่ที่รายได้ไม่เท่ากันทุกเดือน ลักษณะนี้เราก็ควรกันเงินไว้เยอะหน่อย หรืออย่างสมมติว่าอาชีพเราอยู่ในตำแหน่งงานเฉพาะทางหรือตำแหน่งสูง เวลาออกจากงานมาแล้วจะหางานใหม่ก็อาจจะยากกว่าอาชีพทั่วไป ดังนั้นก็ควรกันเงินไว้เยอะหน่อย
ปัจจัยเรื่องสุดท้ายคือ ดูว่าค่าใช้จ่ายเรายืดหยุ่นได้ขนาดไหน เช่นถ้าเราเพิ่งจบใหม่สามารถย้ายที่อยู่ได้ง่าย, หาห้องพักอยู่หารกับเพื่อนก็ได้ หรือย้ายกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ก็ได้ แบบนี้เงินสำรองก็ไม่ต้องมีเยอะ แต่สมมติเราผ่อนบ้านอยู่ ผ่อนรถอีกสองคัน มีลูกอีกหลายคน แบบนี้ก็ต้องสำรองไว้เยอะกว่า
-
แล้วตอนนี้มีสำรองไว้เท่าไหร่
รวมเงินทั้งหมดที่อยู่ในบัญชีออมทรัพย์, บัญชีกระแสรายวัน และกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ไม่นับเงินที่อยู่ในหุ้น, กองทุนหุ้น, กองทุนผสม หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว จากนั้นตัดส่วนที่เรากันเอาไว้จ่ายเรื่องอะไรเป็นพิเศษไว้แล้วออกไป สิ่งที่เหลือนี่คือเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่เรามีอยู่
-
ตั้งเป้าหมายจำนวนเงินที่ต้องสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน
เอาจำนวนจากข้อ 1 ลบออกด้วยจำนวนจากข้อ 2 สิ่งที่ได้คือเงินที่เราต้องเก็บเพิ่มเพื่อสำรองเผื่อฉุกเฉิน และนี่จะเป็นเป้าหมายหลักที่เราต้องตั้งใจทำให้ได้ ถึงแม้ว่าเราต้องจ่ายหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้สินอะไรอยู่ แต่ก็ต้องพยายามออมเพิ่มตรงส่วนนี้ให้ได้ ไม่ต้องให้ได้ในเดือนเดียวก็ได้ แต่ต้องเริ่มแล้ว
-
เอาเงินสำรองไปลงทุนให้เหมาะสม
ดอกเบี้ยเงินฝากเดี๋ยวนี้ต่ำมาก ถึงแม้ว่าเงินสำรองส่วนนี้จริงๆแล้ววัตถุประสงค์คือเผื่อฉุกเฉินไม่ได้เอาไว้ทำกำไร แต่ผมว่าเอาลงทุนไว้ในกองทุนตลาดเงินหรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นดีกว่า
กองทุนพวกนี้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก และลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ถึงจะไม่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาลเหมือนเงินฝากก็ตาม แต่ก็ความเสี่ยงน้อยมาก ผลตอบแทนจะอยู่ประมาณ 1-2% และเวลาถ้าต้องขายออกมาเป็นเงินสดก็ใช้เวลาไม่นานซักวันนึงประมาณนี้ ช้ากว่าเงินฝากแค่นิดเดียวเท่านั้น