หุ้นที่ผมสนใจ – Principal Financial Group

Stock in my focus – Principal Financial Group

เวลาตลาดหุ้นตกผมสังเกตว่าบริษัทพวกที่ทำธุรกิจบริหารจัดการกองทุนจะราคาตกเยอะเป็นพิเศษ  น่าจะเพราะช่วงหุ้นตกคนจะขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมออกมา  ทำให้บริษัทกลุ่มนี้ซึ่งรายได้มาจากค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการทรัพย์สินได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นราคาหุ้นเลยมักจะตกรุนแรง  วันนี้เลยมาพูดถึงหนึ่งในบริษัทกลุ่มนี้ที่ผมกำลังให้ความสนใจครับ

As of December 1, 2018              ราคาหุ้นอยู่ 49.32 USD

cimb-principal-0 cimb-principal

ลักษณะธุรกิจ

Principal Financial Group แต่แรกเริ่มเดิมทีทำธุรกิจประกันชีวิตตั้งแต่ปี 1879  แล้วค่อยๆขยายเติบโตขึ้นมาจนถึงปัจจุบันทำธุรกิจหลักๆคือบริหารจัดการกองทุนและประกัน  มีการแบ่งสายธุรกิจออกเป็นกลุ่มหลักดังต่อไปนี้

  1. Retirement and Income Solutions

อันนี้คือขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับกองทุนเพื่อการเกษียณ  (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)  เช่น พวกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของอเมริกาทั้งแบบ 401(k), 403(b)  และกองทุนแบบกำหนดผลประโยชน์ (defined benefit plans)

เน้นกลุ่มลูกค้าในอเมริกาโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและกลาง

กำไรจากการดำเนินงานก่อนภาษีของธุรกิจกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 41.7% ของทั้งหมด

  1. Principal International

อันนี้คือบริหารจัดการกองทุนรวมและพวกกองทุนเพื่อการเกษียณ  โดยเข้าไปร่วมทุนกับธนาคารในประเทศนั้นๆตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนขึ้นมา  แล้วขายกองทุนรวมและอื่นๆผ่านบริษัทนั้นอีกที  อย่างเช่นในไทยนี่ก็จะเป็นร่วมกับ CIMB ซึ่งคือ CIMB-Principal Asset Management Company Limited นี่เอง  ถ้าคุ้นเคยกับกองทุนรวมน่าจะเคยได้ยินกองทุนของ CIMB ที่ขึ้นต้นชื่อประมาณนี้น่ะแหละครับ

มีกองทุนหลายประเภทเหมือนบริษัทจัดการกองทุนทั่วไปนี่แหละเช่นกองทุนหุ้น, ตราสารหนี้, อสังหาริมทรัพย์  และสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ

กำไรจากการดำเนินงานก่อนภาษีของธุรกิจกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 11.9% ของทั้งหมด

  1. Principal Global Investors

อันนี้คือขายบริการการจัดการกองทุนคล้ายๆกับข้างบน  เพียงแต่อันนี้ขายผ่านบริษัทอื่นที่ Principal ไม่ได้มีเข้าไปเป็นเจ้าของร่วม

กำไรจากการดำเนินงานก่อนภาษีของธุรกิจกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 26.6% ของทั้งหมด

  1. US Insurance Solutions

อันนี้ก็คือพวกประกันทั้งหลาย  มีแบบทั้งประกันรายบุคคลกับประกันกลุ่ม  แต่หลักๆก็จะเน้นขายประกันกลุ่มกับบริษัทขนาดเล็กและกลางน่ะแหละ

สินค้าก็จะมีอย่างเช่นประกันทำฟันกับสายตา, ประกันชีวิตกลุ่ม, ประกันคุ้มครองกรณีทุพพลภาพ

กำไรจากการดำเนินงานก่อนภาษีของธุรกิจกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 19.8% ของทั้งหมด

 

แล้วที่ผ่านมาเป็นไง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบริษัททำได้ดีขึ้นต่อเนื่อง  โดยตัวบริษัทเองเติบโตทั้งรายได้และกำไรสุทธิ

เข้าใจว่าเหตุผลหลักคือเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นในช่วงหลังปีวิกฤติ 2008 และตลาดหุ้นทั่วโลกที่ขยับตัวสูงขึ้น  คนเลยเข้ามาลงทุนในตราสารทุนมากขึ้น  และเลยทำให้บริษัทนี้ซึ่งเป็นบริษัทบริหารจัดการกองทุนพลอยได้ประโยชน์ไปด้วยเพราะเงินลงทุนจำนวนมากก็จะเข้ามาลงทุนในกองทุนรวม

แล้ว Principal Financial Group ก็ดันบริหารจัดการกองทุนได้ดีซะด้วย  อ้างอิงจาก Morningstar ที่ปกติเป็นเวปที่จัดเรทติ้งให้กองทุน  ปรากฎว่ามากกว่า 50% ของกองทุนที่บริหารโดยบริษัทนี้ได้รับเรทติ้ง 4 หรือ 5 ดาวจาก Morningstar  ซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะในธุรกิจนี้ผลงานระยะยาวของกองทุนจะเป็นตัวกำหนดว่าบริษัทจะทำได้ดีหรือเปล่า

ยิ่งช่วงปี 2017 ที่ผ่านมาที่ Donald Trump มีนโยบายลดภาษีเข้าไปอีก  กำไรของ Principal Financial Group ก็เลยกระโดดพรวดเลย

 

ทำไมตอนนี้ถึงน่าสนใจ

ช่วงนี้หุ้น Principal Financial Group ราคาตกลงมาเยอะมาก  และราคาถูกมากจนเริ่มน่าสนใจ

เหตุผลหลักเลยที่ทำให้คนตกใจเทขายหุ้นบริษัทนี้ผมเข้าใจว่ามีปัจจัยหลักอยู่ 2 อย่างคือ

  1. ตลาดหุ้นทั่วโลกตก

ไม่ว่าตลาดหุ้นจะตกด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่จะมีสาระหรือไม่มีสาระก็ตาม  ถ้าตลาดหุ้นตกแปลว่านักลงทุนจะเทขายหุ้นหรือกองทุนที่ตัวเองลงทุนอยู่แล้วถือเงินสดเพิ่มขึ้น  อันนี้ถ้ารุนแรงก็จะมีผลทำให้บริษัท Principal Financial Group ผลประกอบการแย่ลงแน่นอน  เพราะรายได้จากค่าธรรมเนียมบริหารจัดการกองทุนก็จะน้อยลง  นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ถือหุ้นบริษัทก็รู้และเข้าใจปัจจัยเรื่องนี้  ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นตกก็ทำให้คนกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อบริษัทไม่มากก็น้อย

แล้วแนวโน้มในอนาคตก็ยังมีโอกาสที่หุ้นอาจจะตกเพิ่มขึ้นได้จากปัจจัยเยอะแยะไปหมด  เช่นกำแพงภาษีที่สหรัฐอเมริกากับจีนกำหนดว่าจะเพิ่มตอนปีใหม่ถ้าคุยตกลงกันไม่ได้, Brexit แบบที่ no deal, ธนาคารกลางปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแล้วจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว, ฯลฯ

  1. อัตราดอกเบี้ยที่กำลังปรับเพิ่มขึ้น

อัตราดอกเบี้ยช่วงที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะธนาคารสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นหลังเห็นว่าเศรษฐกิจในอเมริกาเริ่มดีขึ้นและไม่ต้องการให้เติบโตเกินจนกลายเป็นฟองสบู่

ต้องเข้าใจว่าบริษัทอย่าง Principal Financial Group ที่มีการขายสินค้าที่ภาระผูกพันยาวๆอย่างประกันชีวิตหรือพวกกองทุนที่กำหนดผลประโยชน์ไม่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยผันผวน  ดีที่สุดเลยคือให้ดอกเบี้ยคงที่บริษัทพวกนี้ถึงจะประมาณการรายได้ค่าใช้จ่ายได้ง่าย  อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วไม่ดีต่อบริษัทนี้

อย่างถ้าอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น  บริษัทก็จะต้องเสนอขายกองทุนหรือสินค้าที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นตามไม่งั้นคนก็ไม่ซื้อ  แล้วถ้าผลตอบแทนที่บริษัททำได้สูงขึ้นไม่ทันกับที่เสนอให้นักลงทุนก็แปลว่าบริษัทก็จะได้รับส่วนต่างของกำไรน้อยลง  หรืออาจจะขาดทุน

ยิ่งถ้าอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ผู้ที่ถือกรมธรรม์หรือลงทุนอยู่กับบริษัทแต่เดิมก็อาจจะถอนหรือยกเลิกสัญญาเพราะต้องการเอาเงินออกมาไปลงทุนในอย่างอื่นที่ผลตอบแทนสูงกว่า  เป็นผลให้บริษัทอาจต้องขายทรัพย์สินอย่างตราสารหนี้ที่ลงทุนไว้ออกมาเพื่อคืนเงินให้กับลูกค้า  โดยที่ตัวมูลค่าของทรัพย์สินทางการเงินนั้นๆมูลค่าก็จะลดลงด้วยเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

โดยภาพรวมแล้วผมมองว่าสิ่งที่คนกังวลก็มีเหตุลอยู่แหละ  เพราะมันเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจจริงๆ  แต่ถ้ามองเทียบกับราคาที่ตกลงมารุนแรงนี้ผมว่ามันตกใจเว่อร์เกินไปนะ  ถ้าเราซื้อที่ราคาประมาณนี้ก็คิดว่าปลอดภัยพอสมควรเลยทีเดียว

คิดง่ายๆว่าเรื่องที่ลดภาษีเป็นเรื่องถาวร  ดังนั้นผลประกอบการย้อนหลังไปไกลอาจไม่ค่อยมีประโยชน์เราใช้ผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2018 นี้ลองประมาณดู  กำไรต่อหุ้นของบริษัทสำหรับ 9 เดือนปีนี้อยู่ $4.52  ถ้าสมมติว่าจนถึงสิ้นปีทำได้ใกล้เคียงเดิมแปลว่ากำไรต่อหุ้นทั้งปีจะเป็น $6.03  แล้วสมมติว่าด้วยหุตการณ์อะไรก็แล้วแต่ทำให้กำไรหายไปซัก -40% เลยมันจะเหลือ  $3.62  เทียบกับราคาหุ้นตอนนี้ $49.32  เท่ากับอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น 7.33%

จะเห็นว่าก็ยังถือว่าดีทีเดียวทั้งที่เราสมมติกำไรหดไปตั้งเกือบครึ่ง  ก็เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมกำลังให้ความสนใจในเวลานี้ครับ

 

Disclosure

ปัจจุบันผมไม่ได้ถือหุ้นใน Principal Financial Group  แต่มีโอกาสสูงที่จะลงทุนใน Principal Financial Group ในอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าราคาตกลงไปอีก

ผมเขียนบทความนี้ด้วยตัวเองและเขียนจากความเห็นส่วนตัว  ผมไม่ได้รับค่าตอบแทนใดหรือมีผลประโยชน์ทางธุรกิจใดๆกับบริษัทที่ผมพูดถึงในบทความนี้