ทำไมคนถึงไปลงทุนในบริษัทใหม่ที่ทั้งเสี่ยง, ไม่มีกำไร และโดยสถิติแล้วขาดทุน ?
ก่อนหน้านี้มี Uber, Lyft แล้วซักพักก็มี Peloton, WeWork แล้วซักพักก็มีหุ้นกัญชา แล้วก็ล่าสุดเลยก็มีเรื่อง Luckin Coffee แต่งงบการเงิน
หัวข้อวันนี้ผมชวนคุยเรื่องทำไมคนถึงชอบกระโดดเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ยังไม่ถูกพิสูจน์ หลายครั้งเป็นบริษัทขาดทุนมหาศาลต่อเนื่องด้วยซ้ำ และส่วนใหญ่ก็เจ๊งขาดทุน แต่ก็มีแบบนี้อยู่ทุกยุคทุกสมัย ทำไมมันเป็นแบบนั้นและเราจะเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ได้บ้าง
แต่ก่อนอื่นเลยต้องพูดให้ชัดเจนก่อนว่าผมไม่ได้กำลังบอกว่านักลงทุนพวกนี้ไม่ดีหรือโง่หรืออะไรนะครับ ถ้ามองจากมุมมองของโลก เราต้องยอมรับว่านักลงทุนที่กล้าหาญไปลงทุนในบริษัทใหม่ๆมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสำคัญต่ออนาคตของเรามาก ถ้าไม่มีพวกเขาก็จะไม่มีใครให้เงินลงทุนกับบริษัทเกิดใหม่ที่ลงทุนลองทำอะไรใหม่ๆและสุดท้ายก็จะไม่มีการพัฒนา ในประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่ว่าทำแบบนี้แล้วจะเจ๊งเสมอไป มันก็มีบริษัทที่สุดท้ายเติบโตมหาศาลทำให้คนที่ลงทุนตอนแรกๆร่ำรวย และบริษัทพวกนั้นก็สร้างความแตกต่างให้กับโลก ดังนั้นเราต้องขอบคุณพวกเขาที่ยินดีกระโดดเข้าไปเสี่ยงและส่วนใหญ่ขาดทุน
แต่วันนี้ผมพูดเรื่องนี้ในฐานะที่มองจากมุมมองระดับบุคคลที่เข้าไปลงทุนเพื่อผลตอบแทนโดยที่เงินต้นไม่เสีย การแห่เข้าไปลงทุนในอะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่เสี่ยงมาก ผมคิดว่ามันมีปัจจัยหลัก 3 อย่างที่ทำให้คนตัดสินใจแบบนั้น
- ภาพของตลาดใหม่ขนาดใหญ่โต
- มั่นใจในบริษัทเกินไป
- ตอนบริษัทเพิ่งเริ่มจะประเมินมูลค่ายาก
ภาพนี้มักทำให้เรารู้สึกว่าบริษัทจะยังโตได้อีกมหาศาล คนที่เข้าไปลงทุนก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นไปได้มากที่จะโต ทั้งที่จริงๆแล้วปัจจัยที่บริษัทมันจะโตแบบก้าวกระโดดได้มันมีอะไรอย่างอื่นอีกเยอะ บริษัทจะต้องสามารถจับส่วนแบ่งการตลาดได้ใหญ่พอสมควร, บริษัทจะต้องสามารถทำกำไรได้ไม่ใช่แค่ยอดขายโตเฉยๆ และเมื่อบริษัทมีกำไรแล้วก็ยังต้องสามารถกันคู่แข่งหรือรักษาความได้เปรียบไม่ให้สุดท้ายมีคนอื่นเข้ามาแย่งไป
เมื่อมีตลาดใหม่ขนาดใหญ่ ก็จะมีคนเห็นโอกาสเข้ามาบุกเบิกทำสินค้าหรือบริการมาขายหลายคน และมี Venture Capitalist (VC) เห็นความเป็นไปได้เข้ามาสนับสนุนเงินทุนหลายเจ้า
โดยธรรมชาติของคนที่เข้าไปบุกเบิกทำธุรกิจในตลาดใหม่กับ VC ก็เป็นคนมั่นใจในตัวเองอยู่แล้ว (ไม่งั้นมันก็ไม่ทำตั้งแต่แรก) เคยมีการทำการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการ 2,994 คนโดย Cooper, Woo, and Dunkelberg (1988) ว่ามั่นใจแค่ไหนว่าจะทำธุรกิจประสบความสำเร็จ ผลคือ 81% เชื่อว่าตัวเองมีโอกาสสำเร็จอย่างน้อย 70% และมี 1 ใน 3 ที่เชื่อว่าสำเร็จแน่นอน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว 75% ของธุรกิจใหม่เจ๊งใน 5 ปีแรก ส่วน VC ก็เช่นกัน Graves and Ringuest (2018) เคยทำการสำรวจวัดความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนที่ VC คาดหวังเทียบกับผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริง ผลคือกลุ่ม VC นี่นอกจากจะมั่นใจมากกว่านักลงทุนทั่วไปยังกะผลตอบแทนคลาดเคลื่อนมากกว่าด้วย
พอเป็นแบบนี้ปุ๊บ ทุกบริษัทที่เข้าไปบุกเบิกตลาดใหม่ก็จะแพงเกือบหมดเพราะทุกบริษัทเชื่อว่าตัวเองจะเป็นผู้ชนะ และก็จะมีคู่แข่งใหม่ๆทยอยเข้ามาแข่งเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆเพราะคนอื่นก็เริ่มเห็นว่าเป็นตลาดใหม่ขนาดใหญ่ ดังนั้นโดยภาพรวมคือตลาดก็จะใหญ่ขึ้นจริงมียอดขายเกิดขึ้น แต่ในระดับรายบริษัทยอดขายก็จะไม่โตอย่างที่คาดไว้ตอนแรกและอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก็จะต่ำลงกว่าที่คาด แล้วสุดท้ายคนก็จะเริ่มเห็นความจริงว่าสิ่งที่คาดไว้ตอนแรกกับความจริงมันห่างกันเยอะ พอคนเริ่มเห็นแบบนั้นราคาตลาดของบริษัททั้งหมดโดยรวมก็จะตก ยกเว้นส่วนน้อยมากที่จะสำเร็จแล้วโตพรวดพราดขึ้นมาจนดังแล้วก็เป็นตัวอย่างความสำเร็จให้คนรู้สึกตื่นเต้นยินดีจะเสี่ยงในโอกาสใหม่ๆต่อไป
ในช่วงแรกๆที่บริษัทยังเพิ่งเริ่มไม่มีกำไร มันก็ต้องอาศัยการสมมติว่าบริษัทจะโตแค่ไหนจะมีกำไรเมื่อไหร่ขนาดไหนไปในอนาคต ซึ่งตรงนี้มันก็ไม่มีใครรู้ดังนั้นในตอนแรกการประเมินมูลค่าแบบ VI ก็จะแทบเป็นไปไม่ได้ ในช่วงแรกคนก็จะให้ความสำคัญกับยอดขายหรือไม่ก็ตัวเลขอื่นที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้นเช่นตัวเลขผู้ใช้หรืออะไรซักอย่างแทน
ดูตัวอย่างในอดีตอย่างช่วง Dotcom bubble ที่คนบ้าคลั่งพวกหุ้นอินเตอร์เน็ต หลักๆก็มาจากความเชื่อว่าเป็นตลาดใหม่ที่ใหญ่มาก ทำให้คนมองข้ามทุกอย่างขอให้เป็นบริษัทที่ขายอะไรซักอย่างเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตก็ราคาขึ้นหมด
หุ้นอย่าง WeWork ก็เป็นแบบเดียวกัน คนมองว่า Sharing economy เป็นอนาคตของที่ทำงานซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก
พวกหุ้นกัญชาก็แบบเดียวกัน จากเดิมที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย พอเปิดอนุญาตให้ถูกกฎหมายคนก็มองว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มากอีกเช่นกัน
Luckin Coffee ก็เหมือนกัน คนมองว่าตลาดกาแฟออนไลน์อนาคตจะโต พูดกันถึงขั้นว่าจะมาแข่งกับ Starbucks
Uber กับ Lyft ก็แบบเดียวกัน คนมองว่า ride-sharing เป็น trend ของอนาคต และพวกนี้อาจจะสามารถขยายไปในธุรกิจ logistics อื่นได้ ตลาดโตมหาศาล
ทั้งหมดพวกนี้คือถ้าไม่นับเรื่องความเชื่อว่ามันจะโตนะ จริงๆไม่มีบริษัทมีกำไรซักบริษัทนึง
สำหรับพวกเราแล้ว สิ่งที่เราควรจะได้จากเรื่องนี้คือ
- อย่าเผลอมองโลกในแง่ดีเกิน ทำตัวระแวงนิดนึงก็ดี
- ระมัดระวังการใช้ metric ในการประเมินมูลค่าแปลกๆ เช่นพวกที่ดูยอดขายอย่างเดียวอะไรพวกนี้
- สุดท้ายคือถ้าตลาดมันใหญ่โตมหาศาลจริงๆ รอให้บริษัทมันพิสูจน์ business model ก่อนก็ยังไม่สาย
ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ
หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂
ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/
หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg
ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses