ขึ้นชื่อว่าความเสี่ยง เราได้ยินก็ไม่อยากได้แล้วครับ ผมก็เหมือนกัน ถ้าเลือกได้อยากได้แบบผลตอบแทนดีเยี่ยมโดยที่ไม่มีความเสี่ยงเลยจะดีมาก แต่ทีนี้ในความเป็นจริงมันเลี่ยงไม่ได้ทั้งหมดน่ะสิ บทความนี้เรานำเสนอไอเดียว่ามันมีความเสี่ยงแบบไหนที่เราเลี่ยงได้ และแบบไหนที่เราเลี่ยงไม่ได้บ้าง
ในเชิงการเงินความเสี่ยงแบ่งเป็น 2 กลุ่มครับ
อย่างแรกคือความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ (Unsystematic risk) หรือก็คือพวกความเสี่ยงที่มาเฉพาะกับบริษัทหรือประเภทอุตสาหกรรมที่เราลงทุนไป เช่นอย่างที่เกิดเร็วๆนี้ก็อย่างโรงงานหลักของบริษัท SVI เกิดไฟไหม้ แบบนี้ก็มีผลกระทบต่อการทำงานและราคาหุ้นตัวนี้โดยเฉพาะครับ ไม่ไปเกี่ยวกับตัวอื่น
ตัวอย่างที่เกิดกับเฉพาะอุตสาหกรรมก็อย่างเช่น มีม๊อบปิดถนน ปิดนู่นนี่ ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวการโรงแรมกระทบทั้งกลุ่มอะไรแบบนี้ ความเสี่ยงประเภทนี้เราสามารถจัดการได้โดยการที่ลงทุนในหุ้นหลายตัวในอุตสาหกรรมต่างกัน ในวิชาการเงินเราเรียกวิธีการนี้ว่าการกระจายความเสี่ยงหรือ Diversification ครับ ถ้าบังเอิญเกิดเหตุการณ์ที่เจาะจงเฉพาะหุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มเราก็จะได้รับผลกระทบไม่รุนแรงมากครับ
ส่วนความเสี่ยงอีกประเภทคือ ความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic risk) หรือก็คือความเสี่ยงที่โดนทั้งตลาดน่ะครับ เป็นความเสี่ยงโดยรวมของตลาด โดยทั่วไปมาจากอารมณ์ของผู้ลงทุนในตลาด หรือไม่ก็วิกฤติเศรษฐกิจที่โดนกันหมดน่ะครับ แต่ทีนี้ต้องเข้าใจว่าคำนี้เค้าพูดถึงความหมายรวมๆนะ
อย่างเช่นสำหรับคนที่ลงทุนอยู่เฉพาะในตลาดหุ้นไทย ความเสี่ยงที่เป็นระบบก็หมายถึงอะไรที่กระทบกับตลาดหุ้นไทยทั้งตลาด แต่สำหรับคนที่ลงทุนกระจายอยู่ในหลายประเทศ เหตุการณ์ที่กระทบตลาดหุ้นไทยก็จะนับเป็นแค่ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบของคนกลุ่มนั้นครับ
ดังนั้นเวลาเราได้ยินคนพูดถึงการกระจายความเสี่ยง โดยปกติคือกำลังพูดถึงความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบอยู่น่ะครับ ในโอกาสหน้าเราจะมาคุยเรื่องการกระจายความเสี่ยงเพิ่มเติม และอาจจะคุยถึงพวกเครื่องมือทางสถิติที่เอาไว้วัดความเสี่ยงต่างๆด้วย