มาตอบกันต่อจากตอนที่แล้วว่า การวิเคราะห์กราฟเทคนิค มันเป็นสถิติมั้ย มันควรจะเชื่อถือได้หรือเปล่า ถ้าเป็นผมก็จะตอบชัดๆเลยว่าการเอาข้อมูลมาเขียนเป็นรูปกราฟไม่ใช่แปลว่าเราควรเชื่อถือ
สำคัญอย่างแรกที่อยากจะสื่อคือ การเอาข้อมูลอะไรซักอย่างนึงมาเขียนในรูปกราฟ ไม่ได้แปลว่ามันเหมาะสมหรือเชื่อถือได้ เราต้องเข้าใจว่าตัวแปรที่เอามาเปรียบเทียบกันมันคืออะไรแล้วมันควรจะมีความสัมพันธ์กันมั้ย ถ้าจะเอาตัวแปร A มาทำนายตัวแปร B เราก็ต้องดูว่ามันมีเหตุผลหรือเปล่าด้วย ไม่ใช่เชื่อโดยไม่เข้าใจที่มา
สมมติเอาง่ายๆ ถ้าผมเขียนกราฟอันนึง
แกน X ให้เป็นอายุผม จาก 0 ปี ถึง 28 ปี
แกน Y ให้เป็น GDP ประเทศไทย
กราฟนี้ก็จะแสดง GDP ของประเทศไทย ในแต่ละช่วงอายุของผมใช่มั้ยครับ
ทีนี้ถ้าเขียนออกมาจริงมันจะได้กราฟเป็นขาขึ้น อาจมีบางปีตกบ้าง แต่โดยรวมแล้วเป็นขาขึ้นชัดเจนมาก ดังนั้นผมสรุปเลยว่า “การที่ผมอายุเพื่มขึ้นทำให้ GDP ประเทศไทยเติบโต” แบบนี้คุณว่ามันใช่มั้ยเนี่ย
กลับมาที่กราฟเทคนิคว่า สิ่งที่เราควรใส่ใจคือดูว่าตัวแปรที่เค้าเอามาพยายามทำนายอนาคตเนี่ย มันมีเหตุผลที่สมควรให้เชื่อถือหรือไม่ ผมว่าไม่ อย่างเช่น
“ดู MACD ว่าช่วงสั้นที่ผ่านมานี้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นเร็วกว่า หรือตกเร็วกว่าช่วงยาวที่ผ่านมามั้ย สมมติว่าช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาอย่างเร็ว แปลว่าพรุ่งนี้หรือสัปดาห์นี้หุ้นจะขึ้น”
มันก็ไม่เกี่ยวกันมั้ยครับ เราก็จะเคยเห็นว่าหุ้นที่ช่วงนี้ราคาขึ้นมาอย่างเร็ว แต่แล้วร่วงกลับไปอย่างเร็วก็มี หรือวิ่งขึ้นมาแล้วหลังจากนั้นก็คงที่ราบๆเคลื่อนไหวกรอบแคบก็มี หรือขึ้นมาแล้วก็ยังขึ้นสูงต่อไปอีกก็มี มันก็เป็นไปได้ทั้งสามทางเนี่ยครับ
และที่ตลกกว่านั้นคือเค้ามีชื่อเรียกรูปกราฟต่างๆด้วยนะ เท่าที่ผมดูก็เห็นมีชื่อสำหรับกราฟทุกแบบเลยครับ เชื่อว่ามันก็คงต้องถูกซักอันแหละ ไม่ใช่หัวกับไหล่ ก็น่าจะรูปถ้วย ไม่ก็อาจรูปธง หรือเป็นรูปสามเหลี่ยม หรืออะไรซักอย่างเนี่ยแหละครับ ถ้าเกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมา กราฟไม่ผิดครับ เป็นเราดูผิดเอง ครั้งหน้าดูใหม่นะ
สองตอนที่ผมพูดถึงการวิเคราะห์แนวเทคนิคมา จะเป็นการให้เหตุผลอ้างอิงจากที่มาแนวคิดของสายวิชานี้ และเป็นความเห็นส่วนตัวของผมเป็นหลัก คำถามคือ แล้วมันไม่เคยมีใครไปเก็บตัวเลขจริงๆมาเหรอว่าลงทุนสายนี้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร มันมีงานวิจัยเกี่ยวกับการลงทุนสายนี้มั้ย แล้วผลที่ได้เป็นอย่างไร เราจะมาพูดถึงในตอนหน้าครับ