จริงๆเป็นคำถามที่ดีมาก เพราะจนป่านนี้มันน่าจะมีนักสถิติหรือใครไปเก็บข้อมูลมาทำสรุปได้แล้วนะ แต่เท่าที่พยายามหาอ่านดูก็ไม่ค่อยเจอ ส่วนใหญ่ที่เจอจะเป็นเก็บข้อมูลช่วงสั้นๆซะมากกว่า ซึ่งพอมันเป็นช่วงสั้นเกินไปมันก็สรุปยากว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล ที่ผมหาเจอว่าเก็บข้อมูลช่วงเวลานานหน่อยมีประมาณนี้
มีงานวิจัยที่พยายามวัดผลลัพธ์ของนักลงทุนสายเทคนิคช่วงปี 1980 งานวิจัยชื่อ “Portfolio Design and Portfolio Perforance: The Individual Investor” ทำโดย Wilbur G. Lewellen, Ronald C. Lease และ Gary G. Schlarbaum เค้าไปเก็บข้อมูลการซื้อขายของนักลงทุนจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่ช่วงปี 1964 – 1970 เค้าพบว่าการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคทำให้ผลกำไรของนักลงทุนรายย่อยพวกนั้นแย่ลงมาก
เร็วๆนี้ขึ้นมาหน่อยก็จะมีงานวิจัยของเนเธอร์แลนด์ที่ทำการวัดผลลัพธ์การเทรดหุ้นด้วยสายเทคนิค งานวิจัยชื่อ Technical Analysis and Individual Investors โดย Arvid Hoffman และ Hersh Shefrin สองคนนี้ใช้บันทึกการซื้อขายของจริงของกลุ่มตัวอย่างนักลงทุนสายเทคนิค 5,500 คน ตั้งแต่ช่วงปี 2000 – 2006 มาทำวิจัย
โดยรวมแล้วผลจากสถิติจริงพบว่า นักลงทุนรายย่อยที่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคในการตัดสินลงทุน มีแนวโน้มที่จะเก็งกำไรระยะสั้น, ถือหุ้นจำนวนน้อยตัว, มีการซื้อขายถี่กว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้การวิเคราะห์เทคนิค และได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า โดยสรุปออกมาว่าสาเหตุที่ผลตอบแทนต่ำกว่ามาจาก ปัจจัยแรกคือผลกำไรจริงการตัดสินใจเลือกหุ้น (0.5% ต่อเดือน) และปัจจัยที่สองคือผลจากพวกค่าธรรมเนียมซื้อขาย (0.2% ต่อเดือน) เมื่อรวมแล้วผลกำไรที่น้อยลงของการลงทุนด้วยสายเทคนิคคือ 0.7% ต่อเดือน หรือคิดเป็นประมาณ 8.4% ต่อปี
พูดกันตามจริงมันก็มีงานวิจัยหลากหลายนะครับ แต่ไอ้อันที่เก็บข้อมูลหลายปีที่ผมหาเจอก็จะมีสองตัวนี้ ซึ่งบอกผลชัดเจนเลยว่า การลงทุนสายเทคนิคทำให้ผลตอบแทนเราแย่ลง
จนถึงตอนนี้จะมีผู้เข้าสัมมนาบางคนจะถามว่า ถ้าเป็นแบบนั้นจริงแล้วทำไมคนนิยมสายเทคนิคกันล่ะ มันมีคนใช้สายเทคนิคตั้งเยอะทั่วโลก เผลอๆเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ มันต้องได้ผลหรือมีอะไรดีสิคนถึงยังทำกัน ดังนั้นในตอนต่อไปผมอยากตอบโดยเอาชื่อนักลงทุนระดับโลกที่มีผลลัพธ์โดดเด่นกว่าค่าเฉลี่ยอย่างชัดเจนและพิสูจน์ได้เกิน 10 ปีขึ้นไปมาดูกัน ว่าส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสายไหน และรวมถึงจะมาตอบด้วยว่าทำไมสายเทคนิคได้รับความนิยมกันจัง