เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า การที่บริษัทซื้อหุ้นคืนมีผลตรงข้ามกับการออกหุ้น ซึ่งคือทำให้จำนวนคนหารน้อยลง และทำให้จำนวนหุ้นที่เรามีอยู่เดิมมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของเพิ่มขึ้น ฟังดูดีมากเลย แต่มันเป็นเรื่องดีจริงหรือไม่ เราคุยกันต่อในบทความนี้
แล้วมันดีมั้ย
ตอบชัดๆเลยว่า อาจจะดีหรืออาจจะไม่ดีก็ได้ มันแล้วแต่ราคาที่บริษัทซื้อหุ้นคืนมาว่าแพงมากมั้ย หรือว่าซื้อคืนมาได้ถูก พิจารณาจากตัวอย่างอันเดิม
บริษัทกำไรปีละ 100 ล้าน
จากผู้ถือหุ้น 5 คน ซื้อหุ้นคืนมาจากหนึ่งคน เหลือผู้ถือหุ้น 4 คน
แปลว่ากำไรต่อคนสำหรับผู้ถือหุ้นที่เหลืออยู่ จากได้ปีละ 20 ล้าน ก็จะเพิ่มเป็นปีละ 25 ล้าน
สมมติว่าการซื้อหุ้นคืนมา บริษัทใช้เงินสดไป 250 ล้าน โดยใช้จากกำไรสะสมที่บริษัททำมา
จากมุมมองของผู้ถือหุ้นหนึ่งคน กำไรสะสม 250 ล้านนั้นเป็นของเค้าแค่ 1 ใน 5 คือ 50 ล้าน
หลังจากซื้อหุ้นคืนแล้ว กำไรต่อปีของผู้ถือหุ้นหนึ่งคนเพิ่มขึ้น 5 ล้าน
แปลว่า การซื้อหุ้นคืนนี้ เท่ากับการเอาเงินของผู้ถือหุ้นไปทำให้เกิดกำไรคิดเป็นผลตอบแทน 10%
ซึ่งถือว่าดีเลยแหละ ดังนั้นการซื้อหุ้นคืนครั้งนี้ดีต่อผู้ถือหุ้นที่เหลืออยู่
แต่สมมติการซื้อหุ้นคืนใช้เงินสดไป 1,000 ล้าน
จากมุมมองของผู้ถือหุ้นหนึ่งคน กำไรสะสม 1,000 ล้าน เป็นของเค้า 1 ใน 5 คือ 200 ล้าน
หลังจากซื้อหุ้นคืนแล้ว กำไรต่อปีของผู้ถือหุ้นหนึ่งคนเพิ่มขึ้น 5 ล้าน
แปลว่า การซื้อหุ้นคืนนี้ เท่ากับการเอาเงินของผู้ถือหุ้นไปทำให้เกิดกำไรคิดเป็นผลตอบแทน 2.5% เอง
จะเห็นได้ว่า ดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับราคาที่ซื้อหุ้นคืน อย่างกรณีแรกนี่เป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้น ถือว่าการซื้อหุ้นคืนเป็นประโยชน์ แต่กรณีที่สองนี่ไม่ดีละ เพราะถ้าต้องใช้เงินขนาดนี้ซื้อหุ้นคืน สู้จ่ายเป็นปันผลออกมา 1,000 ล้าน หรือคือ 200 ล้านต่อคน แล้วให้ผู้ถือหุ้นเอาปันผลไปลงทุนในกองทุนรวม ได้ผลตอบแทนซัก 6-8% ก็ยังดีกว่า 2.5% เยอะ ดังนั้นแปลว่าถ้าบริษัทที่เราสนใจมีการซื้อหุ้นคืน เราก็ต้องไปพิจารณาว่าเค้าซื้อหุ้นคืนในเวลาที่หุ้นราคาถูกมั้ย หรือซื้อตอนหุ้นแพง
คำถามต่อไปคือ แล้วทำไมบริษัทในอเมริกา ชอบซื้อหุ้นคืนกันจัง บางบริษัทนี่ตั้งงบซื้อหุ้นคืนเป็นพันล้านเหรียญ เค้าทำไปเพื่ออะไร ซึ่งเราจะมาคุยกันต่อตอนหน้า