เรื่องทางบัญชีที่จะมาทำเราสับสนได้ 1: Dilution

Financial Stuffs Can Mislead Us 1: Dilution

ผลประกอบการที่บริษัทรายงานออกมาเป็นสิ่งที่พวกเรานักลงทุนให้ความสำคัญและคอยติดตามอยู่เสมอโดยเฉพาะที่เป็นรายปี และตัวเลขที่ออกมามันมีผลต่อการตัดสินใจหรือมุมมองที่เรามีต่อบริษัทอย่างมาก ดังนั้นนักลงทุนที่เก่งควรจะมีความรู้ความเข้าใจในด้านบัญชีมากกว่าคนทั่วไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พวกเราถูกหลอกได้ง่ายๆด้วยวิธีการทางบัญชีต่างๆที่อาจทำให้ตัวเลขดูดีเกินจริง

บทความนี้เราจะคุยกันเรื่อง Dilution effect ครับ แปลเป็นไทยคำว่า Dilution คือการเจือจาง ในที่นี้เวลาคุยเรื่องเกี่ยวกับหุ้นมันหมายถึงการที่มีหุ้นใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของของหุ้นที่เราถืออยู่นั้นน้อยลงกว่าเดิม เช่น ถ้าตอนเริ่มบริษัทมีหุ้นอยู่ 100 หุ้น แล้วเราถืออยู่ 30 หุ้นก็แปลว่าเราเป็นเจ้าของ 30% ของบริษัท ทีนี้สมมติว่าอยู่ๆบริษัทนี้มีการออกหุ้นเพิ่มมาอีก 50 หุ้น ทำให้รวมมีหุ้น 150 หุ้น สิ่งที่เราถืออยู่คือ 30 หุ้นเหมือนเดิม ดังนั้นความเป็นเจ้าของของเราก็จะเหลือ 30 จาก 150 หรือคือ 20% ของบริษัทเท่านั้น

บางครั้งเวลาเราอ่านหรือทำการประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้น เราต้องอย่าลืมเผื่อจำนวนหุ้นที่อาจจะมีเพิ่มมาในอนาคตด้วย แน่นอนพวกเรื่องการออกหุ้นใหม่ของทางบริษัทที่อาจจะเกิดขึ้นเราไม่สามารถรู้ได้ แต่เราสามารถคิดเผื่อจำนวนหุ้นที่เกิดจากการใช้สิทธิการแปลงสภาพเป็นหุ้นทุนของพวกตราสารหนี้ วอร์แรนต์ หรือหุ้นบุริมสิทธิ์ไว้ก่อนได้ เพื่อให้ตัวเลขกำไรต่อหุ้นในอนาคตเราไม่ดูดีเกินจริงและเผื่อรองรับการแปลงเป็นหุ้นเอาไว้แต่ตอนนี้เลย

ตัวอย่างของหุ้นบริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

หุ้นกู้แปลงสภาพที่ถือเป็นตราสารทุน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 และ 2556 ประกอบด้วย

ก)    หุ้นกู้แปลงสภาพมีประกันบางส่วนจำนวน 300 ล้านบาท ระยะเวลาชำระคืน 12 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อปีในปีที่ 1 – 4 ร้อยละ 5 ต่อปีในปีที่ 5 – 8 และร้อยละ 10 ต่อปีในปีที่ 9 – 12 จ่ายชำระทุก 6 เดือน โดยมีราคาแปลงสภาพ ณ ปัจจุบันเท่ากับ 4.55 บาทต่อ 1 หุ้นสามัญ          ผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิเลือกแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ตลอดอายุหุ้นกู้ หุ้นกู้มีหลักประกันเป็นที่ดินของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 บริษัทฯได้ไถ่ถอนการจดจำนองที่ดินแล้ว

ข)    หุ้นกู้แปลงสภาพมีประกันบางส่วนจำนวน 250 ล้านบาท (ภายหลังการใช้สิทธิแปลงสภาพจำนวน 750 ล้านบาท ในปี 2546) ระยะเวลาชำระคืน 12 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี                   จ่ายชำระทุก 6 เดือน โดยมีราคาแปลงสภาพ ณ ปัจจุบันเท่ากับ 3.50 บาทต่อ 1 หุ้นสามัญ ผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิเลือกแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ตลอดอายุหุ้นกู้ หุ้นกู้มีหลักประกันเป็นที่ดินของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 บริษัทฯได้ไถ่ถอนการจดจำนองที่ดินแล้ว

บริษัทฯได้สำรองหุ้นสามัญไว้เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้นกู้ดังกล่าวข้างต้นจำนวน 178,571,433 หุ้น

อย่างที่เห็นในตัวอย่างของหุ้นบริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในอนาคตจะมีจำนวนหุ้นสามัญโผล่มาเจือจางหุ้นเดิมที่มีอยู่อย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะทำคือการคิดกำไรต่อหุ้นสำหรับกรณีที่มีหุ้นใหม่ออกมาด้วย มันจะทำให้ตัวเลขที่เราได้สะท้อนสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีกว่าครับ