คนเราลงทุนแบบมีสติจริงเหรอ ?

Behavioral Finance : Are We Really Rational?

พื้นฐานผมเรียนมาทางสายเศรษฐศาสตร์การเงินผมเลยอยากจะมาเล่าทฤษฎีสำคัญทางการเงินอันหนึ่งให้คุณฟัง ยุคหลังๆมานี้มันจะมีนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มใหญ่ที่บอกว่า ตลาดหุ้นปัจจุบันเป็นตลาดที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมาก ราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์ใดๆที่ขายอยู่มันจะสะท้อนอนาคตของมันแล้วอย่างถูกต้องเว้นเสียแต่ว่าจะมีข้อมูลใหม่โผล่ขึ้นมา หมายความว่ามันจะไม่มีราคาสูงเกินไม่มีราคาต่ำเกินแน่นอน เพราะในตลาดมีนักลงทุนนักวิเคราะห์ที่มีความรู้เป็นพันๆเป็นหมื่นๆคน นั่งดูหน้าจอนั่งดูตัวเลขข้อมูลทุกวันทั้งวัน ในเมื่อคนทุกคนรู้ข้อมูลเหมือนกัน อะไรที่คุณรู้คนอื่นเค้าก็รู้กันทั้งประเทศ คุณบอกคุณอ่านงบการเงินผลประกอบการเหรอ ใครๆเค้าก็อ่านได้หาข้อมูลได้หมดเดี๋ยวนี้ คุณดูกราฟได้เหรอ ใครๆคนอื่นเค้าก็ดูได้เหมือนกัน คุณฟังข่าวเหรอ คนอื่นเค้าก็ฟังข่าวกันทั้งประเทศ มันทำให้ไม่มีช่องว่างให้ใครสามารถทำกำไรเหนือกว่าเฉลี่ยได้ คนที่ทำได้เหนือค่าเฉลี่ยนี่ก็คือฟลุค เหมือนโยนเหรียญหัวก้อยแล้วโชคดีทายถูกติดๆกันเท่านั้นเอง

ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า มันมีกรณีศึกษาในอดีตที่แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นโดยรวมมีพฤติกรรมประหลาดๆ บางทีก็มีราคาขึ้นหรือลงเป็นหมู่คณะที่หาเหตุผลไม่ค่อยได้ กรณีที่ดังหน่อยก็เช่น January effect คือเค้าพบว่าช่วงเดือนมกราคมเป็นช่วงที่ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นมากกว่าเดือนอื่น ซึ่งถ้าทฤษฎีตลาดสมบูรณ์เป็นจริง เรื่องประหลาดๆก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เลยเริ่มมีคนศึกษาในเชิงจิตวิทยาของคน  และพบว่าที่ตลาดมีพฤติกรรมแปลกๆ อาจเป็นเพราะจริงๆแล้วนักลงทุนอย่างพวกเราเนี่ยแหละที่ทำอะไรแปลกๆ ไม่ได้มีสติหรือตัดสินใจอย่างมีเหตุผล 100% ตลอดเวลาอย่างที่ควรทำ เรามาดูกันว่าที่เค้าบอกพวกเราตัดสินใจกันไม่มีเหตุผลนี่เช่นเรื่องอะไรบ้าง

การกลัวเสียเงิน มันมีการศึกษาพบว่าคนจำนวนมากเลือกเอาชัวร์ไว้ก่อนไม่ต้องการเสียเงิน เค้าทำการทดลองประมาณนี้ คือให้คนเลือกระหว่างได้ 50บาทแน่ๆ กับโยนเหรียญหัวก้อยเอา ถ้าออกหัวจะได้ 160 บาท ถ้าออกก้อยต้องเสียเงิน 50 บาท ซึ่งสองทางเลือกนี้โดยค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์แล้วเสี่ยงโยนเหรียญมันจะมีค่าเฉลี่ยดีกว่า แต่เค้าพบว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะเอา 50 บาทชัวร์ๆมากกว่าที่จะเลือกโยนเหรียญแล้วมีโอกาสต้องเสียเงิน เค้าเลยสรุปว่าคนส่วนใหญ่ไม่ชอบเสียเงินมากกว่าชอบได้เงิน และอันนี้เวลามีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับหุ้นอะไรซักตัวหนึ่ง บางทีราคาหุ้นมันดูร่วงตกลงไปรุนแรงมากเกินกว่าเหตุ อาจเป็นเพราะคนไม่ชอบการเสียเงินมากๆเลยนี่แหละก็เลยรีบขายกันออกมา

ความเชื่อมั่นเกินไป อันนี้ก็มีการศึกษาเหมือนกันว่ากรณีที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากเกินไป ทั้งที่เชื่อมั่นในข่าวลือ หรือเชื่อมั่นในความสามารถในการวิเคราะห์ของตัวเองมากๆ เค้าพบว่าในบางครั้งถ้าบังเอิญมีนักลงทุนกลุ่มนี้กระจุกตัวในหุ้นบางตัวเยอะ จะทำให้ราคาหุ้นนั้นผิดปกติไป ส่วนใหญ่แล้วจะไปในทิศทางที่ราคาสูงเกินไป หรือไม่ตอบสนองต่อปัจจัยลบของธุรกิจเท่าไหร่ ส่วนใหญ่แล้วเกิดกับหุ้นหรือตลาดหุ้นที่มีการเติบโตสูงมาหลายๆปีติดกัน

Disposition effect แปลเป็นไทยคือผลของอารมณ์ต่อการตัดสินใจ เค้าพบว่านักลงทุนจำนวนมาก นิยมขายทำกำไรเวลาที่หุ้นขึ้น แต่เวลาที่หุ้นลงมักจะไม่ยอมขายแต่มักจะถือเอาไว้ อันนี้ก็เข้าข่ายการตัดสินใจที่ไม่มีเหตุผล หลายๆครั้งเป็นเรื่องอารมณ์มากกว่า

จิตวิทยาหมู่ทำอะไรตามๆกัน มีการศึกษาพบว่าบางครั้งนักลงทุนเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุนผ่านการฟังไอเดียหรือข้อคิดเห็นที่มีอยู่ในตลาด ดังนั้นบางครั้งถ้ามีไอเดียหรือความคิดบางอย่างที่ได้รับความนิยมแล้วมีคนพูดต่อๆกันไปมากกว่าปกติ ก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นตัวนั้นหรือตลาดโดยรวมขยับไปผิดปกติได้ โดยเฉพาะกรณีที่คนที่เป็นต้นคิดต้นไอเดียนั้นไม่ได้มีการศึกษาข้อมูลหรือตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล

ตัวอย่างข้างบนนี้ ผมเอามาเป็นเพียงบางตัวอย่างที่เค้าศึกษากันเท่านั้น จริงๆยังมีเรื่องอื่นๆอีก ทีนี้สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือมันบอกเราว่า ในบางครั้งนักลงทุนในตลาดก็มีผิดพลาด มีตกใจเกินเหตุดีใจเกินเหตุ ถึงแม้มันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่มันเกิดเป็นพักๆอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นมันจึงเป็นช่องโหว่ที่ดีในการที่นักลงทุนที่มีความรู้มีสติอย่างพวกเราจะเข้าไปทำกำไรครับ สำคัญคือเราต้องมีสติกับมีความรู้นี่แหละครับ ผมจึงแนะนำให้ท่านผู้อ่านว่าถ้าไหนๆจะลงทุนในหุ้นแล้ว ศึกษาตั้งใจจริงจังและเป็นมืออาชีพกับการลงทุนดีกว่าครับ จะได้ไปฉวยโอกาสคนอื่นเขา ไม่ใช่โดนคนอื่นฉวยโอกาสเอา

 

Please note: I reserve the right to delete comments that are offensive or off-topic.

Leave a Reply