Stagflation คืออะไร ? เกิดแล้วจะมีผลอะไรกับเรา ?
ช่วงที่ผ่านมาในข่าวเราเริ่มได้ยินคนพูดถึง Stagflation บ่อย วีดิโอนี้เราคุยเรื่องนี้กันครับ ว่ามันคืออะไร แล้วมันมีความหมายยังไงกับการลงทุนของเรา
คืออะไร
คำว่า stagflation นี่ผมได้ยินครั้งแรกจริงๆตอนสมัยเรียนเศรษฐศาสตร์แหละ มันมาจากคำว่า stagnation ที่แปลว่าหยุดพัฒนาอยู่กับที่ กับ inflation คือเงินเฟ้อ ดังนั้น stagflation ก็คือสภาพเศรษฐกิจที่มีทั้งเศรษฐกิจไม่ค่อยโตหรือถดถอยรวมกับเงินเฟ้อที่สูง โดยรวมเป็นสภาพเศรษฐกิจที่ถือว่าไม่ดี ประชาชนมีความลำบาก เพราะเศรษฐกิจไม่โตรายได้ไม่โตในขณะที่ข้าวของแพงขึ้น
จากมุมมองของคนที่ดำเนินนโยบายทางการเงิน stagflation เป็นอะไรที่จัดการยากเพราะถ้าพยายามจะลดอัตราดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะกลายเป็นทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีก แต่ถ้าพยายามจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ก็จะไปทำให้เศรษฐกิจที่ไม่โตอยู่แล้วยิ่งแย่ไปอีก
เท่าที่ดู stagflation เคยเกิดอยู่แค่ช่วงเดียวคือแถวช่วงปี 1970s ในช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่มีราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหมือนกันเลย ผมมีไปดูเค้าบอกว่า US stagflation เกิดช่วง 1974-1982 ในเวลานั้น inflation เค้าหน้าตาแบบนี้ครับ ดูสูงกว่า 4% ตลอด และมีช่วงที่สูงเกิน 10% ด้วย
แล้วก็เลยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ จะเห็นว่ามีปรับสูงขึ้นช่วง 1974 นะ แล้วก็ลดลงไปน่าจะเพราะเศรษฐกิจหดตัว แล้วก็มาปรับสูงขึ้นมากอีกทีตอนท้ายๆช่วง 1980-1982 คงเพราะตัดสินใจแล้วว่ายังไงต้องเอาให้อยู่ให้ได้
ส่วนการเติบโตของ GDP ก็สอดคล้องกัน ช่วงปีที่ติดลบก็คือปีที่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงๆนั่นแหละ 1974 กับอีกทีตอนแถว 1980-1982
ส่วนอันนี้คือการจ้างงานครับ Unemployment rate ก็ดูสูงขึ้นนะ จริงๆถ้าดูกราฟกว้างกว่านี้ก็จะเห็นว่าช่วงนั้นอัตราการว่างงานสูงกว่าช่วงก่อนหรือหลังเวลานั้น
ในเวลานั้นการหลุดจาก stagflation ได้เค้าใช้วิธีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปสูงจนหยุดเงินเฟ้อได้ แต่ก็สงสัยว่าทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจกับประเทศกำลังพัฒนาตามมาในช่วงเวลานั้น
โดยปกติสถานการณ์แบบ stagflation นี่มันไม่ใช่อะไรทั่วไปที่เกิดบ่อย เวลาที่เศรษฐกิจไม่โตหรือถดถอย (recession) มันมักจะเป็นสภาพของการที่คนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ แล้วก็เลยไม่มีการบริโภคกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่ำลง แล้วก็เลยทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้า เงินเฟ้อต่ำหรือติดลบ ไม่ใช่เงินเฟ้อสูง
ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมมันถึงเกิด stagflation ขึ้นมาได้ ดูเหมือนจะไม่ชัดเจนเท่าไหร่ หลักๆแล้วความเห็นแบ่งออกเป็นสองความเชื่อคือ หนึ่งอาจจะมาจาก supply shock อย่างเช่นแบบอยู่ๆก็มีเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากๆอย่างเช่นตอนนี้ มันก็เลยทำให้ราคาสินค้าหรือบริการสูงขึ้น แล้วก็เลยทำให้เศรษฐกิจหดตัว หรือไอเดียอันที่สองคือมาจากนโยบายการเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจเยอะไปในขณะที่เศรษฐกิจอาจจะผลิตอยู่เต็ม capacity แล้ว เลยทำให้เกิดเงินเฟ้อที่สูง หรืออาจจะเป็นเพราะทั้งสองอย่างนี้รวมกันก็ได้
แล้วตอนนี้จะเกิดมั้ย
ผมพยายามหานิยามที่ชัดเจนของ stagflation ว่าเกณฑ์มันคืออะไรอย่างชัดเจน ปรากฎว่ามันไม่มีครับ
มันก็มีความเห็นของบางคนบอกว่า stagflation เกิดขึ้นแล้ว เพราะ Real GDP ไตรมาสล่าสุดของ US ก็เติบโตติดลบละ จากการที่เงินเฟ้อสูงกว่าการเติบโตของ GDP
ในความเข้าใจของผมคือยังไม่นะ เพียงแค่ว่าความเสี่ยงสูงขึ้นละ เพราะเราก็เห็นว่าเงินเฟ้อตอนนี้ก็ยังสูงมากอยู่ เดือนพฤษภาคมนี่สูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้าด้วยนะ ณ เวลาที่ทำวีดิโอนี้เราทราบแล้วว่าเงินเฟ้อของ US, ไทย และ Eurozone สูงขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามากกว่าเดือนก่อนหน้า และเราเริ่มเห็นความมั่นใจผู้บริโภคเริ่มตก อย่างใน US ผมเข้าใจว่าคนยังพร้อมจะใช้จ่ายอยู่นะ การบริโภคยังสูง แต่ถ้าเงินเฟ้อสูงไปเรื่อยๆแบบนี้สุดท้ายยังไงการบริโภคที่อั้นมาจากช่วงโควิดยังไงก็ต้องซาไป โดยกลุ่มคนที่โดนก่อนก็จะเป็นพวกกลุ่มรายได้น้อย แล้วก็ตามมาด้วยกลุ่มคนชั้นกลาง แล้วก็จะไปถึงเศรษฐกิจหดตัวได้ หรืออีกแบบนึงคือเงินเฟ้อควบคุมได้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเยอะๆ แล้วก็ทำให้ความต้องการหดตัวเศรษฐกิจก็หดตัวอยู่ดี
มันมีบทความของ World Bank ที่ออกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา พูดถึงว่าโอกาสที่จะเกิด stagflation ว่าสูงขึ้น เค้าคาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2022 นี้จะเหลือแค่ 2.9% เทียบกับที่คาดไว้ตอนต้นปีที่ 4.1% และเค้าเทียบว่าสถานการณ์ในเวลานี้กับตอนเกิด stagflation ในช่วงปี 1970s มีความเหมือนกันในสามเรื่องหลักๆ
1. ปัญหาในฝั่ง supply ที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น
2. นโยบายการเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมากเป็นเวลานานในหลายประเทศ
3. เศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่ ที่ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อทำได้ยาก
แต่ก็มีสิ่งที่สถานการณ์ตอนนี้ต่างออกไปจาก stagflation ในเวลานั้นเช่นกันนั่นคือ
1. ราคา commodity ที่สูงขึ้น สูงขึ้นเป็น % ที่น้อยกว่าช่วงนั้น
2. สถานะทางการเงินของพวกธนาคารและสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง
3. ธนาคารกลางในหลายประเทศ มีนโยบายชัดเจนว่าเป้าหมายคือจัดการเงินเฟ้อ และที่ผ่านมาธนาคารกลางหลายประเทศได้รับความเชื่อถือ
โดยรวมเค้าก็พูดเหมือนกันคือ ถ้าเงินเฟ้อยังสูงต่อเนื่องไปเรื่อย ก็อาจจะทำให้มีเศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา สำหรับคนที่สนใจอ่านรายงานตัวเต็มของ World Bank ผมทิ้งลิ้งค์ไว้ให้ครับ https://openknowledge.worldbank.org/bitstream/handle/10986/37224/9781464818431.pdf
แล้วเราควรจะต้องลงทุนยังไง
จริงๆคนที่รู้จักผมดีก็น่าจะรู้อยู่แล้วนะ ผมแนะนำให้มองระยะยาวเสมอครับ ตอนนี้เป็นเวลาที่ดีที่จะหาบริษัทที่เข้มแข็งแล้วฉวยโอกาสซื้อเลยครับ ด้วยเหตุผลว่า
โอกาสจะเกิด stagflation ไม่น่าจะเยอะหรือเกิดก็ไม่ยาวนาน เพราะธนาคารกลางประเทศต่างๆมีบทเรียนมาจากตอนเกิดครั้งที่แล้ว ยังไงก็ไม่ปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่นานแน่นอน สุดท้ายเค้าก็จะจัดการด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นผมว่าอาจจะเกิด recession ซะมากกว่า
Recession อาจจะเกิดจริงนะ แต่ยังไงก็ไม่มีทางเลวร้ายเท่า 2008 แน่ เวลานี้คนยังมีงานทำ ไม่ได้มีธนาคารเจ๊ง หนี้สินภาคครัวเรือนก็ไม่ได้สูงเว่อร์เท่าช่วงนั้น
Worst case สมมติเกิด stagflation หลายปี ในช่วงเวลาที่เกิด stagflation ในอดีตนั่น ผลตอบแทนของหุ้นก็ไม่ได้แย่ NYSE Composite ในช่วงนั้นโตปีละ 3.95% รวมปันผลด้วยสมมติซัก 2-3% ก็เป็นผลตอบแทนรวมปีละประมาณ 5.95-6.95%
ดังนั้นแล้ว ถ้าเราซื้อบริษัทที่เข้มแข็งได้ในเวลาที่ราคาถูกผิดปกติ ไม่ต้องราคาต่ำสุดนะ เราจะเป็นคนหัวเราะคนสุดท้าย
สรุปคืออย่าตกใจกลัวมากเกินไปครับ ระวังเป็นสิ่งที่ดีนะ แต่อย่า panic เริ่มมองหาโอกาสได้ละ
ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ
หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂
ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/
หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg
ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/
หรือ ทดลองเรียนฟรี