สมมุติรู้ว่าบริษัทผลประกอบการจะแย่ลง แต่ไม่รู้ว่าจะแย่ลงขนาดไหน เราควรตัดสินใจยังไงต่อ ?

What to do when we're not certain about the magnitude of the impact of an event on a stock ?

สมมุติรู้ว่าบริษัทผลประกอบการจะแย่ลง แต่ไม่รู้ว่าจะแย่ลงขนาดไหน เราควรตัดสินใจยังไงต่อ ?

มีนักเรียนเราถามว่า  สมมติมีหุ้นบริษัทที่เราชอบราคาตก  เรารู้สาเหตุว่าทำไมราคามันตก  ดูแล้วจะมีผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท  อาจจะระยะยาวด้วย  แต่เราไม่รู้ว่าผลกระทบของเหตุการณ์มันขนาดไหน  กรณีแบบนี้เราจะตัดสินใจยังไงต่อ

ตอบตามตรง  เคสประเภทนี้คือยากครับ  มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติด้วย  เพราะอันนี้เรารู้แล้วว่ามันไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวละ  มันดูเป็นปัญหาระยะยาวถาวร  ปกติแล้วผมก็ทำอยู่ 2 แบบ

  1. ข้าม  ก็คือถ้าเสี่ยงเกินไปก็ไม่ต้องดูก็ได้  ไปดูหุ้นบริษัทอื่นดีกว่า
  2. ถ้าจะเอาจริงๆก็คงต้องเดาระดับความเสียหายเผื่อๆเอา  เช่นเดาไปเลยว่ากำไรหดไป -50% แล้วดูว่าถ้าเป็นแบบนั้นจริงแล้วหุ้นมันยังดูน่าสนใจอยู่มั้ยราคาถูกมากพอหรือเปล่า

อย่างมากสุดเราก็ทำได้ประมาณนี้แหละครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ทำไมเราสนใจหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ไม่สนใจหุ้นที่ได้รับประโยชน์ ?

Why we're interested in companies hit by COVID not benefit from COVID ?

ทำไมเราสนใจหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ไม่สนใจหุ้นที่ได้รับประโยชน์ ?

มีคนฟังวีดิโอเราแล้วสงสัยว่าทำไมดูเหมือนเราสนใจหุ้นที่โดนผลกระทบจากโควิด  ทำไมเราไม่สนใจหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากโควิด

อันนี้ผมตอบครอบคลุมเหตุการณ์โควิดและวิกฤติอื่นๆด้วยเลย  เอาจริงๆผมว่าน่าจะเป็นสไตล์แล้วแต่คนชอบมากกว่าครับ

ถ้าจะลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากวิกฤติ  อย่างกรณีโควิดอาจจะเช่นบริษัทผลิตหน้ากาก, ถุงมือยาง, ฯลฯ  ก็ต้องซื้อเร็วหน่อย  คือซื้อตั้งแต่ต้นๆที่เกิดเรื่อง  แล้วก็ไม่สามารถถือยาวนานเกินไปได้  ถ้าจะให้กำไรสูงสุดก็ต้องขายก่อนวิกฤติจะจบ  เพราะต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ผิดปกติมันทำให้บริษัทขายดีมากผิดปกติ  หมายความว่าถ้าเหตุการณ์ผิดปกติที่ว่านั่นหายไป  ยอดขายที่ดีขึ้นกว่าปกติมันก็จะหายไปด้วย  แล้วถ้ายอดขายสุดท้ายลดลงเดี๋ยวราคาหุ้นยังไงก็จะตามผลประกอบการ  ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับการถือยาว  หนึ่งในตัวอย่างหุ้นในกลุ่มนี้ที่ผมนึกออกก็อย่างเช่น Top Glove ที่ทำถุงมือยางครับ  ถ้าดูผลประกอบการย้อนหลังก็จะเห็นว่าก่อนโควิดเค้าก็ทำได้ไม่เลวนะ  แต่พอเกิดโควิดปุ๊บผลประกอบการพุ่งเลย  ยิ่งถ้าดู TTM นี่คือรายได้เติบโตกำไรเติบโตเยอะมาก  ราคาหุ้นก็เช่นกันพุ่งพรวดขึ้นมาเลย  แต่ทีนี้ในระยะยาวล่ะ  ถ้าโควิดจบไปความต้องการถุงมือของโลกมันจะสูงไปตลอดเชียวหรือ

ส่วนถ้าจะลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ  อย่างกรณีโควิดนี่  สิ่งที่เราทำคือมองหาหุ้นที่ก่อนโควิดมันก็เข้มแข็งและทำได้ดีสม่ำเสมออยู่  จนมาเจอโควิดทำให้ผลประกอบการแย่ลงและราคาหุ้นตกรุนแรง  เราก็เลือกซื้อที่เราพิจารณาว่ามันจะรอดโควิดไปได้กับถ้ารอดไปได้มันจะกลับมาทำได้ดีเหมือนเดิม  ข้อดีของกลุ่มนี้คือไม่ได้ต้องรีบเท่าอีกกลุ่มนึง  มีเวลาให้ติดสินใจ  และที่สำคัญคือถือยาวเลยโควิดจบไปเลยก็ได้  เพราะยิ่งถือยาวบริษัทก็ยิ่งทำได้ดีขึ้น  ราคาหุ้นสุดท้ายก็จะปรับตาม  นึกภาพดูว่าที่บริษัททำได้แย่ลงเป็นเพราะเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้น  เมื่อเหตุการณ์พิเศษนั้นหายไปบริษัทก็จะกลับมาทำได้ดีเหมือนเดิม  และในเมื่อก่อนหน้าเหตุการณ์พิเศษบริษัทมันก็เข้มแข็งและทำได้ดีอยู่แล้ว  พอเหตุการณ์หายไปบริษัทก็กลับมาเข้มแข็งและทำได้ดีขึ้นตามปกติ  เราได้ซื้อบริษัทแบบนั้นมาตอนที่มันราคาถูกพิเศษพอดีอีกต่างหาก  ก็ไม่มีเหตุผลอะไรต้องรีบขายมั้ย  แต่ข้อเสียคือซื้อหุ้นกลุ่มนี้ก็อาจต้องรอนานนิดนึง  เมื่อไหร่ผลกระทบจากเหตุการณ์ผิดปกติถึงจบล่ะ  อย่างโควิดนี่ก็อาจจะนาน  กับอาจจะเสี่ยงไปอีกแบบคือบริษัทมันต้องรอดจากวิกฤตินะ  ถ้าเจ๊งไปก่อนระหว่างทางเราก็เดือดร้อน

สรุปคือ  ทั้งสองแบบมันก็มีข้อดีข้อเสียแหละ  ที่ผมพูดถึงหุ้นกลุ่มโดนผลกระทบบ่อยก็แค่เพราะส่วนตัวผมชอบไปทางนั้นก็เท่านั้นเองครับ  คุณจะลงทุนในกลุ่มไหนก็ได้แล้วแต่  แค่ต้องเข้าใจข้อจำกัดของมันไว้เท่านั้นเอง

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

อัพเดทกลยุทธ์การลงทุน : ตอนนี้ความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าต้นปี

Investment Strategy Update July 2021 : Risk is now higher than the start of the year.

อัพเดทกลยุทธ์การลงทุน : ตอนนี้ความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าต้นปี

เราเพิ่งทำวีดิโออัพเดทสถานการณ์ไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้เอง  แต่ดูเหมือนสถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปละมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดไว้ตอนแรก  คนที่ถือหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิดแล้วคาดว่าโควิดจะจบอาจจะมีความเสี่ยงมากขึ้น

ท้าวความเดิมนิดนึง  ตอนต้นปีช่วงต้นเดือนมกราคม  ภาพที่เราเห็นคือประเทศมีเงินอย่างอเมริกากับอังกฤษและตามมาด้วยยุโรปกำลังพยายามเร่งฉีดวัคซีน  ในเวลานั้นความเสี่ยงหลักคือเราไม่รู้ว่าฉีดวัคซีนไปแล้วคนจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้จริงมั้ย  แต่ถ้าเทียบกับกลางปี 2020 สถานการณ์ก็ถือว่าเสียงน้อยกว่ามากเพราะในเวลานั้นเรายังไม่รู้เลยว่าวัคซีนจะได้เมื่อไหร่  คาดการณ์ว่าจะนานแต่ปรากฎว่าปลายปี 2020 นี่คือวัคซีนเริ่มอนุมัติละ

พอเวลาผ่านไปซักพัก  ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน  เราเริ่มเห็นตัวอย่างประเทศที่ฉีดวัคซีนไปได้เยอะมีจำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลงเยอะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิสราเอลดูชัดสุด  เป็นสัญญาณว่าวัคซีนได้ผล  ในเวลานั้นถึงแม้ว่าเราจะเห็นจำนวนผู้ป่วยในไทยเพิ่มขึ้น  ผมก็ไม่ได้ตกใจอะไรมาก  เพราะสุดท้ายเกมภาพใหญ่คือเรารู้อยู่แล้วว่าคนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้จริงๆก็ต่อเมื่อมีวัคซีนหรือยาเท่านั้น  การที่มีระบาดกลับขึ้นมาในประเทศไทยก็ไม่ได้แปลกเพราะเรายังไม่ฉีดวัคซีนและมันก็แค่ทำให้ระหว่างทางเลวร้ายลงเท่านั้นเอง  จากเดิมที่คิดว่าเราจะประคองสถานการณ์ไปจนฉีดวัคซีนจบแล้วก็จบสมบูรณ์  ก็กลายเป็นว่าระหว่างทางคนจะต้องมีการปิดธุรกิจมีมาตรการที่มีผลกระทบกับคน  แต่จุดปลายทางเราก็ต้องจบด้วยมีวัคซีนหรือยาอยู่ดี  สถานการณ์โดยรวมจริงๆความเสี่ยงน้อยกว่าต้นปีอีก  เพราะอย่างน้อยเรารู้แล้วว่าวัคซีนได้ก็จบ

หลังจากนั้นเราเริ่มเห็นประเทศที่ฉีดวัคซีนเยอะเริ่มให้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ  อเมริกา, อังกฤษ, ยุโรป  เราเริ่มเห็นการท่องเที่ยวการเดินทางของประเทศพวกนี้เริ่มฟื้น  ในเวลานั้นก็ยิ่งความเสี่ยงน้อยลงไปอีก

จนสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอีกทีตอนที่เห็นชัดเจนเลยว่าการระบาดกลับมาเยอะในอังกฤษเพราะโควิดสายพันธุ์เดลต้า  ตอนนี้ผู้ป่วยใหม่ในอังกฤษสูงขึ้นวันนึงเกิน 50,000 คน  คำถามสำคัญคือมันจะทำให้มีผู้ป่วยหนักเยอะขึ้นจนเตียงเต็มแล้วสุดท้ายต้องปิดธุรกิจนู่นนี่นั่นอีกหรือเปล่า

ถ้าใช่  งั้นเงินลงทุนที่เราซื้อหุ้นโควิดไปก็เสี่ยงทันที  จากเดิมที่เราคาดว่าวัคซีนมาแล้ว  ฉีดถึงจุดนึงจะจบ  คนจะเริ่มทยอยกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ  การท่องเที่ยวฟื้น  มันก็ไม่แน่ละไง  เพราะอย่างอังกฤษนี่ฉีดวัคซีนไปได้เยอะมาก  ประชากรทั้งประเทศฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเกิน 50%  ถ้าขนาดนี้ยังกลับมาใช้ชีวิตปกติไม่ได้นี่แปลว่าประเทศอื่นก็จะมีปัญหาเดียวกัน  แล้วเมื่อไหร่จะจบล่ะถ้างั้น

ถ้าไม่ใช่  คือคนป่วยเยอะแต่อาการไม่หนักหรืออะไรก็แล้วแต่  สุดท้ายคนใช้ชีวิตปกติได้ไม่ต้องกลับมาปิดธูรกิจปิดท่องเที่ยว  งั้นก็ไม่มีปัญหา  เรายังเห็นทิศทางว่าโควิดจะจบได้

หลักฐานในเวลานี้ก็ดูก้ำกึ่ง

  • อย่างแรกเลยคือจำนวนผู้ป่วยเยอะขึ้น  ผู้ป่วยใหม่ต่อวันเกิน 10,000 คนมาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนแล้ว  แต่จำนวนคนตายกับคนป่วยอาการหนักดูเหมือนจะไม่ได้สูงขึ้นตาม  เหมือนจะเป็นหลักฐานว่าวัคซีนได้ผล

  • แต่ถ้าวัคซีนได้ผล  ทำไมจำนวนคนป่วยมันยังเพิ่มขึ้นเร็วขนาดนี้  ไม่ใช่ว่ามันควรจะป้องกันการติดและกระจายของเชื้อหรอกหรือ

ดังนั้นเวลานี้เราควรจะจับตามองอังกฤษเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาเค้าอนุญาตให้คนกลับมาใช้ชีวิตเต็มที่ละด้วย  ไม่มีบังคับให้ใส่หน้ากาก  ร้านอาหารไนท์คลับอะไรจัดได้เต็มที่ไม่จำกัดจำนวนคน  เราต้องดูว่าสุดท้ายจำนวนคนป่วยจะหนักจนต้องกลับไปปิดธุรกิจอีกหรือเปล่า

มุมของการลงทุนเรา

แล้วในมุมของการลงทุนเราล่ะ  ต้องทำอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า  อันนี้ผมก็ว่าแล้วแต่คน  ถ้าสำหรับผมในเวลานี้คือเห็นภาพว่าความเสี่ยงสูงมากขึ้น  แต่ยังไม่ถึงขึ้นต้องรีบหนีหรืออะไร  แต่สมควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  โดยรวมแล้วคือ

  • ถ้าเราถือบริษัทที่กระทบแต่ยังไม่ถึงขาดทุน  พวกนี้ก็ไม่มีปัญหาเหมือนเดิม  เพราะมันรอได้อยู่แล้ว
  • ประเด็นมันจะอยู่ที่บริษัทที่กระทบจนขาดทุน  พวกนี้จากเดิมเราคิดว่ามีเงินทุนพอที่จะทนได้  ถ้าอยุ่ๆสถานการณ์เปลี่ยนโควิดไม่จบด้วยวัคซีนชุดนี้  คำถามคือแล้วมันจะจบเมื่อไหร่  เราอาจจะต้องพิจารณาแล้วว่าบริษัทที่ว่าขาดทุนนี่  ขาดทุนเยอะขนาดไหนล่ะ  รายได้มันต้องฟื้นกลับมาเป็นกี่ % เทียบกับปีปกติมันถึงจะรอด  ดูแล้วห่างมั้ย  ตอนนี้มีเงินทุนเหลือทนได้อีกนานแค่ไหน  แล้วสมมติต้องระดมทุนเพิ่มมันน่าจะยังทำได้อยู่มั้ย  มีหนี้สินอยู่เยอะมากอยู่แล้วหรือเปล่า  ฯลฯ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ระหว่างรอโอกาส ถือเงินสดรอ หรือถือหุ้นรอดี ?

While waiting for opportunity, should you hold cash or stocks?

ระหว่างรอโอกาส ถือเงินสดรอ หรือถือหุ้นรอดี ?

มีคนมีคำถามว่าสมมติตอนนี้มีเงินสดเหลืออยู่บางส่วนแล้วยังหาโอกาสดีไม่เจอ  เค้าควรจะรอด้วยการถืออยู่ในรูปเงินสดหรือซื้อหุ้นที่คิดว่าดีแต่ราคาอาจจะกลางๆไม่ได้ถูกมากดี

ถ้าเป็นสมัยก่อนผมจะบอกว่าถือเงินสดรอนะ  ส่วนตัวที่ผ่านมาผมก็ทำแบบนั้นแหละ  แต่ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ผมว่าซื้อหุ้นที่เราคิดว่าดีราคาพอใช้ได้ไปก่อนเลยดีกว่า  เพราะโดยรวมคือหุ้นที่ทำได้ดีขึ้นราคามันมักจะเป็นแนวโน้มขาขึ้นตาม  ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีขาดทุนโอกาสน้อย  การซื้อไว้ก็มักจะกำไรบ้างในรูปปันผลหรือราคาหุ้นสูงขึ้น  ความเสี่ยงอย่างเดียวคือกรณีที่มันดันหุ้นตกทั้งตลาดอย่างโควิด  มันก็จะทำให้เงินลงทุนมันตกไปด้วยก่อนที่เราจะเอามาซื้อโอกาสที่เราคิดว่าดีมากๆได้  แต่เคสแบบนี้มันสิบปีมีครั้ง  จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคือการถือเงินสดนานไปทำให้พลาดโอกาสเยอะกว่าที่จะเสียหายจากความเสี่ยงตกทั้งตลาดครับ

ดังนั้นสรุปคือเดี๋ยวนี้ผมว่าลงทุนทิ้งไว้ในหุ้นดีกว่าครับ  เล็งซื้อบริษัทที่เข้มแข็งไว้ก่อนนะ  ราคากลางๆไม่ต้องกำลังตกหรือถูกมากก็ใช้ได้

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

เล่าประสบการณ์ลงทุนหุ้น กำไรเป็นแสน เป็นล้าน (ภาค 2)

Profitable Stock Story #2

เล่าประสบการณ์ลงทุนหุ้น กำไรเป็นแสน เป็นล้าน (ภาค 2)

หลังจากช่วง PB กับ KCAR มาก็เป็นช่วงที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศแล้วแหละ  จริงๆเริ่มลงทุนหุ้นต่างประเทศตอนปี 2015  แต่ช่วงนั้นจำนวนเงินไม่เยอะ  เคสแรกที่เริ่มซื้อเป็นเงินก้อนใหญ่ก็จะเป็น Express Scripts ในปี 2017  บริษัทนี้อยู่ในธุรกิจ Healthcare เป็น Pharmacy Benefit Manager เจ้าใหญ่ที่สุด  ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ Trump กำลังพยายามจัดการกับปัญหาค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพในอเมริกาแพง  ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น  กลุ่ม PBM ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ถูกเพ่งเล็ง  แต่เมื่อไปศึกษาดูผมก็ว่า PBM ไม่น่าจะเป็นต้นเหตุของค่าใช้จ่ายเรื่องยาแพง  Profit margin บริษัทกลุ่มนี้ก็บางมาก 1% อยู่แล้ว  บวกกับโดยรวมมันเป็นธุรกิจที่ได้เปรียบจาก cost advantage  ดังนั้นขนาดของ Express Scripts ก็ทำให้มันได้เปรียบผลประกอบการดีมาตลอด  ผมซื้อที่ราคาเฉลี่ย 63.31 USD โดยรวมเป็นเงิน 1.7 ล้านบาท  ขายไปเพราะโดยบังคับขายในปลายปี 2018 ที่ราคา 88.53 USD บริษัทถูก Cigna ซื้อแล้วผมไม่ได้อยากถือหุ้น Cigna  คิดเป็นกำไรประมาณ 39.84%

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ลงทุนจำนวนเยอะก็จะเป็นช่วงปี 2017  ในเวลานั้นมันจะมีกระแสความตกใจว่าร้านค้าปลีกแบบมีหน้าร้านจะเจ๊ง  จะโดนการขายออนไลน์อย่าง Amazon เข้ามาแทนที่  สองบริษัทในกลุ่มค้าปลีกที่ราคาตกเยอะแล้วผมไปซื้อก็จะมี Tractor Supply กับ AutoZone  Tractor Supply นี่เป็นร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าไลฟ์สไตล์ชนบท  ร้านค้าตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทที่คนทำฟาร์ม  ส่วน AutoZone ทำร้านขายอะไหล่รถยนต์สำหรับให้คนซื้อไปซ่อมรถด้วยตัวเอง DIY  ในร้านแนว DIY ก็จะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดละ  สาเหตุที่ตัดสินใจซื้อก็ตรงไปตรงมา  คือหลังจากพิจารณาทำความเข้าใจธุรกิจที่บริษัททำกับพยายามหาหลักฐานว่ามันได้รับผลกกระทบจากออนไลน์มั้ย  สิ่งที่เจอก็คือสองบริษัทนี้ดูไม่เห็นกระทบตรงไหน  ยอดขายสาขาเดิมก็โตทั้งคู่  อย่าง Tractor Supply นี่เค้าบอกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ขนาดว่ามีตัวเลือกซื้อออนไลน์แล้วไปส่งถึงบ้านก็ไม่เอา  อยากจะมาที่สาขามาหยิบสินค้าเองมากกว่า  ส่วน AutoZone ก็ได้เปรียบตรงที่สินค้าลูกค้าซื้อแล้วเอาไปใช้ได้ทันที  ไม่ต้องรอของมาส่ง  แล้วลักษณะลูกค้าคือรีบเพราะมีอะไรซักอย่างในรถเสีย  ผมซื้อ Tractor Supply ที่ราคาเฉลี่ย 54.56 USD เป็นเงินประมาณ 1.3 ล้านบาท  ขายตอนปลายปี 2018 ที่ราคาเฉลี่ย 90.18 USD  กำไร 65.29%  ส่วน AutoZone ซื้อเฉลี่ย 559.32 USD ด้วยเงินประมาณ 1.5 ล้านบาท  ขายไปตอนต้นปี 2019 ที่ราคา 1,000 USD  คิดเป็นกำไร 78.79%

หลังจากนั้นมาเคสที่ใหญ่ๆก็เป็นช่วง COVID ทั้งหมด  กำไรเละ  รูปแบบเดิมเป๊ะก็คือหาบริษัทที่ก่อนโควิดทำได้ดีบวกราคาตกเยอะๆแล้วน่าจะรอดจากโควิดไม่ว่าจะด้วยไม่ขาดทุนหรือมีเงินทุนมากพอ  บริษัทที่ซื้อก็พวกที่โดนผลกระทบเช่นห้าง, ร้านอาหาร, หอพักนักศึกษา, สนามบิน, รถเมล์รถนักเรียน, ฯลฯ

สรุปสิ่งที่ผมว่าเป็นสาระสำคัญข้อคิดที่คุณควรจะได้ไปคือ

  1. ทุกเคสที่กำไร  ทรงเดียวกันหมด  คือผมหาบริษัทที่ดีมีอำนาจมีความได้เปรียบ  แล้วก็ซื้อมันตอนที่่ราคามันตกรุนแรงจากเหตุที่เป็นปัญหาชั่วคราว
  2. ผมแทบไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรกับการประเมินมูลค่า  ผมสนใจตัวบริษัทตัวธุรกิจเป็นหลัก  ทำ valuation เอาไว้กะหยาบๆเท่านั้น  เรื่องนี้พูดแล้วพูดอีกในหลายวีดิโอ
  3. บริษัทพวกนี้ผมต้องรู้จักอยู่ก่อนแล้ว  ไม่งั้นตอนราคามันตก  เราจะไปรู้ได้ในเมื่อก็ไม่รู้จักมันตั้งแต่แรก  สำหรับนักเรียนเราผมก็ย้ำเสมอว่าให้มองกว้างๆหาธุรกิจที่เรามีความสนใจ  ดูคร่าวๆว่าคอนเซปต์มันดูเข้าท่าแล้วก็ทำ Alert list ไว้เยอะๆก่อน  ถึงเวลาถ้าราคามันตกลงมาเราจะได้กลับไปดู

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

เล่าประสบการณ์ลงทุนหุ้น กำไรเป็นแสน เป็นล้าน (ภาค 1)

Profitable Stock Story #1

เล่าประสบการณ์ลงทุนหุ้น กำไรเป็นแสน เป็นล้าน (ภาค 1)

เรื่องนี้มีคนขอให้เล่า  สิ่งที่เค้าอยากได้คือเล่าเคสที่ลงทุนแล้วกำไร  วิเคราะห์ยังไง  ประเมินมูลค่ายังไง  กำไรเท่าไหร่กี่ %  ก็โอเคในเมื่ออุตส่าห์ request มาก็ทำก็ได้  โดยเหมือนเดิมคือผมจะพยายามเล่าว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นและคิดอะไรอยู่ในเวลานั้น  มันจะได้มีประโยชน์หน่อย

เพื่อความไม่ยืดยาว  ผมอธิบายให้เข้าใจไว้นิดนึงก่อน

  • เราจะพูดถึงเคสใหญ่ๆเท่านั้น  เหมือนกับวีดิโอที่เล่าเคสลงทุนพลาดแหละ  ถ้าจะเล่ามันทุกเรื่องก็จะเยอะไป  เราเอาเคสที่มันเงินลงทุนจำนวนเยอะๆหน่อย
  • ทุกเคส  มันมาจากแนวทางการลงทุนแแบบเดียวซึ่งคือ Opportunistic VI  ผมเล็งซื้อบริษัทที่เข้มแข็งในเวลาที่มันราคาตกผิดปกติจากสิ่งที่ผมมองว่าเป็นปัญหาชั่วคราวหรือไม่ก็คนตกใจกันไปเอง
  • ทุกเคสวิธีประเมินมูลค่าที่ใช้ผมทำเหมือนๆกัน  คือ Discounted dividend และประมาณ terminal value ด้วย price multiple เหมือนกันหมด  รวมถึงทุกครั้งที่ลงทุนพลาดแล้วขาดทุนด้วย  ทุกเคสที่เคยเล่าให้ฟังในวีดิโอที่พูดถึงเคสพลาดก็ใช้วิธีเดียวกันหมด  และดังนั้นผมถึงย้ำนักหนามาตลอดว่าเรื่อง valuation นี่เป็นอะไรที่ความสำคัญต่ำมาก  ที่สำคัญคือเรื่องความเข้าใจในธุรกิจนี่มันต้องไม่พลาดตั้งแต่แรก
  • ทุกเคส  ผมรู้จักบริษัทที่ซื้อพวกนั้นและเอาไว้อยู่ใน Alert list ก่อนที่ราคามันจะตกอยู่แล้ว  ถ้าไม่ได้รู้จักอยู่ก่อนพอราคามันตกหรือเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นเผลอๆเราไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ

1. เพรซิเดนท์ เบเกอรี่

เริ่มจากอันเก่าไปใหม่  อันแรกเป็นเคสของ PB (President Bakery) หุ้นฟาร์มเฮ้าส์  ผมเข้าไปซื้อตอนช่วงต้นปี 2015  ตอนที่เข้าไปซื้อนั่นเป็นช่วงที่หุ้นฟาร์มเฮ้าส์ตกต่ำลงมาได้เป็นปีละ  หลักๆสาเหตุที่หุ้นตกเข้าใจว่าเป็นเรื่องความกังวลที่มีคู่แข่งอย่างเลอแปงซึ่งเป็นของซีพีโผล่เข้ามาใน 7-11  ในเวลานั้นเราเริ่มเห็นฟาร์มเฮ้าส์ถูกวางบนชั้นให้เด่นน้อยกว่า  ซึ่งอาจจะมีผลต่อยอดขายและก็มีความกังวลว่าซักพักนึงอาจจะถอดออกไปเลยหรือเปล่า  ตอนผมเข้าไปซื้อก็คือเวลาผ่านมาปีสองปีละ  และสิ่งที่เห็นคือฟาร์มเฮ้าส์ก็ยังยอดขายโตกำไรเติบโตอยู่  ไม่ได้ถูกถอดออกจาก 7-11 และก็คิดว่าไม่น่าจะโดนด้วยเพราะเป็นกลุ่มเดียวกับมาม่าซึ่งเป็นเจ้าใหญ่เค้าไม่น่าจะกล้าเอาออก  ในเวลานั้นซื้อไป 2 ล้านกว่าที่ราคา 42-43 บาท  ถือไว้เกือบ 2 ปีแล้วคนก็หายกลัวราคาฟื้น  ขายไปประมาณ 64.5 บาท  กำไร ~50% ได้

2. กรุงไทยคาร์เร้นท์

อีกอันนึงที่ซื้อเยอะคือ KCAR  เป็นบริษัทรถเช่ารายได้มาจากให้เช่ารถบริษัทแล้วก็ขายมือสองเมื่อรถอายุ 5 ปี  ตอนซื้อมาเป็นช่วงที่ KCAR โดนผลกระทบจากนโยบายรถคันแรกตอนปี 2012 ที่ทำให้ราคารถมือสองตกต่ำมากๆ  รายได้หดกำไรหด  ผมดูยังไงก็ปัญหาชั่วคราวแน่ๆเพราะรถคันแรกมันก็ไม่ได้มีทุกปี  แต่ก็เข้าใจว่าต้องใช้เวลาหลายปีหน่อยกว่าความต้องการรถมือสองจะกลับมาปกติ  KCAR นี่ซื้อหลายครั้งตั้งแต่ปี 2015-2016 รวมเป็นเงินเกิน 2 ล้าน  ราคาเฉลี่ยน่าจะประมาณ 10.5 บาท  ในภายหลังก็ตามคาดตลาดรถมือสองกลับเป็นปกติเริ่มฟื้น  ขายหุ้นไปตอนปี 2017 ที่ราคาเฉลี่ยประมาณ 15 บาท  กำไรประมาณ ~43% 

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

อัตราส่วนทางการเงินอันไหนสำคัญสุด ?

Most important financial ratios

อัตราส่วนทางการเงินอันไหนสำคัญสุด ?

มีคนถามว่าอัตราส่วนทางการเงินอันไหนสำคัญสุด  ต้องดูอันไหนบ้าง  รู้สึกมันมีเยอะไปหมด  ในวีดิโอนี้ผมพูดถึงอันที่ผมมองว่าสำคัญสุดละกัน  โดยเราจะพูดถึงสำคัญ 3 อันดับแรกนะ  เพราะถ้าพูดถึงเยอะกว่านั้นมันก็จะปัญหาเดิมคือรู้สึกมันมีเยอะไปหมด

1. Return on Equity

อันนี้สำคัญสุดละ  เพราะอัตราส่วนนี้สื่อว่าเงินของผู้ถือหุ้นทุกๆ 100 บาทที่บริษัทเก็บไว้เอาไปทำให้เกิดกำไรได้กี่บาท  อัตราส่วนนี้ยิ่งเยอะยิ่งดีเป็นธรรมดา  ตัวเลขนี้อาจจะสูงได้ด้วยการที่บริษัทจ่ายปันผลออกมาเยอะๆทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเล็กก็เป็นไปได้  กรณีแบบนั้นก็ไม่ได้แปลว่าบริษัทแย่นะแค่ว่าไม่ได้แปลว่าดีมากเฉยๆ

2. Net Profit Margin

Net Profit Margin คือสื่อว่าจากทุกรายได้ 100 บาทที่บริษัททำได้  เมื่อหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้วเหลือกี่บาท  ตัวเลขนี้มันต่างกันแล้วแต่ลักษณะธุรกิจ  ผมให้ความสำคัญกับความสม่ำเสมอมากกว่า  กับดูว่ามันไม่ต่ำจนไม่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจ

3. Interest Coverage

อัตราส่วนนี้มันก็อยู่ในหมวด liquidity ratio  วัตถุประสงค์คือไว้ดูว่าบริษัทน่าจะจ่ายหนี้ได้มั้ย  ที่ผมนิยมใช้คือ EBIT/Interest expense  ผมไม่นิยมใช้ EBITDA/Interest expense  สิ่งที่อัตราส่วนนี้สื่อคือกำไรจากการดำเนินงานเป็นกี่เท่าของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย  ถ้ากำไรจากการดำเนินงานเป็นหลายเท่าของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย  ก็แปลว่าน่าจะสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้  ก็คือเสี่ยงน้อย  ดังนั้นอัตราส่วนนี้ยิ่งเยอะก็ยิ่งดี

สามอันนี้ส่วนตัวผมว่าสำคัญสุดครับ  ไม่ใช่บอกว่าอันอื่นไม่สำคัญนะ  แค่บอกว่าสามอันนี้สำคัญสุด  เป็นอันที่ยังไงผมต้องดูแน่ๆ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

Sinovac กับ Sinopharm มีหุ้นด้วยนะ รู้ยัง ?

Sinovac and Sinopharm stocks are listed.

Sinovac กับ Sinopharm มีหุ้นด้วยนะ รู้ยัง ?

ช่วงนี้ข่าววัคซีนกำลังดัง  หลายคนด่าทำไมรัฐบาลซื้อเฉพาะ Sinovac, Sinopharm เข้ามาใช้  ทำไมไม่เอายี่ห้ออื่นที่มีประสิทธิภาพอย่าง Moderna หรือ Pfizer เข้ามาบ้าง  แล้วพอเอกชนพยายามจะสั่งซื้อเองก็ติดข้อจำกัดต้องสั่งผ่านรัฐ  แล้วล่าสุดดูเหมือนกว่าจะได้ Moderna ก็จะไม่ใช่ตุลาคมปีนี้ละกลายเป็นมกราคมปีหน้าแทน  โดยรวมคนเลยด่าว่ารัฐบาลเราเอื้อประโยชน์กับ Sinovac, Sinopharm

ดูแล้วท่าทางสองบริษัทนี้จะรวย  ด้วยความว่างออกไปไหนไม่ได้ผมก็เลยลองหาดูว่า Sinovac กับ Sinopharm นี่มีหุ้นหรือเปล่า  ปรากฎว่าเจอ Sinovac Biotech กับ Sinopharm Group ครับ  ในวีดิโอนี้เลยมาพูดถึงหุ้นสองบริษัทนี้กัน

 

Sinovac Biotech

บริษัท Sinovac Biotech เปิดเข้าไปบนเวปอ่านดูก็เหมือนว่าจะเป็นบริษัทเน้นทำวัคซีนนะ  นอกเหนือจากวัคซีนโควิดแล้วก็มีทำวัคซีนไข้หวัดใหญ่, ตับอักเสบ, ฯลฯ

ที่ผ่านมาผลประกอบการดูไม่ค่อยกำไร  จนมาถึงช่วงปีหลังๆที่อยู่ๆรายได้ก็โตขึ้นพรวดแล้วก็เริ่มมีกำไร  ปีที่กำไรเยอะสุดก็ปีโควิด 2020 นี่เอง

สำหรับคนที่เกิดสนใจอยากซื้อหุ้นบริษัทนี้ก็อาจจะผิดหวังหน่อย  เพราะถึงเจอว่า list อยู่บนตลาด Nasdaq  แต่ตอนนี้หยุดซื้อขายอยู่  หยุดมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ปี 2019 ละ  เห็นในข่าวบอกว่าเป็นเรื่อง proxy war คือมีผู้ถือหุ้นกลุ่มนึงรวมตัวกันประมาณ 40% ของบริษัทพยายามจะยึดอำนาจแล้วเปลี่ยนผู้บริหารหรืออะไรซักอย่าง


 

Sinopharm Group

บริษัทนี้เมื่อไปอ่านดูปรากฎว่าเป็นบริษัทที่ทำการจัดจำหน่ายค้าส่งและค้าปลีกยา, เครื่องมือแพทย์และสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพแฮะ  และเป็นเจ้าใหญ่สุดในจีนด้วย  แต่ไม่ใช่บริษัทที่ทำวัคซีน  ไม่ได้มีการวิจัยหรือทำการผลิตใดๆ  

บริษัทที่ทำการผลิตและพัฒนาวัคซีน Sinopharm มันเป็นบริษัทชื่อ Beijing Institute of Biological Products  ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Sinopharm อีกที  เป็นคนละบริษัทกับ Sinopharm Group  ที่ชื่อมันคล้ายกันมากเป็นเพราะ Sinopharm เป็นบริษัทแม่ของ Sinopharm Group อีกที  ตัว Sinopharm นี่คือ state-owned เลยรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ

ที่ผ่านมาดูทำได้ดีเชียว  น่าจะเพราะรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ

หุ้นอยู่บนตลาดฮ่องกงเผื่อใครสนใจไปศึกษาเพิ่มเติม

 

จบละ  อันนี้ก็เป็นรายละเอียดคร่าวมากๆ  ใครสนใจก็ไปศึกษาเพิ่มเติมเอาเอง  ปกติเวลาผมหาหุ้นที่น่าสนใจผมก็ทำประมาณนี้แหละ  เอาเรื่องที่มันใกล้ตัวมาลอง Google ดู  บางทีก็ไม่ได้เรื่องอะไร  แต่บางทีก็จะไปเจอหุ้นบริษัทที่น่าสนใจเหมือนกันนะ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ทำใจขายขาดทุนไม่ได้ ทำไงดี ?

How to be mentally prepared to cut loss ?

ทำใจขายขาดทุนไม่ได้ ทำไงดี ?

เอาจริงๆก็คงไม่มีใครไปบังคับคุณได้นะ  เรื่องนี้มันเป็นอะไรที่เราต้องคุยกับตัวเองให้จบแล้วตัดสินใจเอง  อย่างมากที่ผมทำได้คือพยายามช่วยคุณลำดับความคิดเท่านั้น

ก่อนอื่นผมอยากจะให้เรานึกตามดูก่อน  สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วมันเกิดขึ้นไปแล้วครับ  สมมติเราซื้อหุ้นบริษัท A แล้วราคามันตกลงมา  นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วการกระทำใดๆของเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตที่เกิดไปแล้วได้  คิดถึงมันไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรและทำอะไรไม่ได้

สิ่งที่เราควรสนใจในเวลานี้คือตอนนี้เราจะทำอะไรต่างหาก  การกระทำของเราในวันนี้มีผลต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ดังนั้นถ้าเรากำลังจะตัดสินใจว่าจะขายหุ้น A  ซึ่งจริงๆไม่เกี่ยวกับว่าตอนนี้มันขาดทุนหรือมันกำไรอยู่ด้วยซ้ำนะ  เราก็ต้องถามตัวเองว่าการเลือกที่จะไม่ขายหุ้น A สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคืออะไรมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง  แล้วการเลือกที่จะขายหุ้น A สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคืออะไรมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง

ถ้าเราถือหุ้น A

ข้อดีคือ

  • บริษัท A อาจจะผลประกอบการดีขึ้น
  • ราคาหุ้น A อาจจะสูงขึ้น
  • หรือถ้าฟลุคคือผลประกอบการไม่ดีขึ้น  แต่หุ้นราคาหุ้น A อาจจะสูงขึ้น

ข้อเสียคือ

  • ผลประกอบการบริษัท A อาจจะแย่ลง  และราคาหุ้น A ก็อาจจะแย่ลงตาม
  • เงินเราจะยังอยู่กับหุ้น A  ไม่สามารถเอาไปทำอย่างอื่นได้  มีต้นทุนค่าเสียโอกาส

ถ้าเราขายหุ้น A

ข้อดีคือ

  • เราจะมีเงินสดไปทำอย่างอื่นได้
  • ถ้าเอาไปลงทุนในอย่างอื่น  ก็จะเกิดประโยชน์ถ้าผลตอบแทนที่ได้จากการเอาไปทำอย่างอื่นสูงกว่าการถือหุ้น A
  • หรือไม่งั้นก็เอาไปใช้จ่ายเรื่องจำเป็นอื่นๆ

ข้อเสียคือ

  • พลาดโอกาสในกรณีที่หุ้น A ราคาสูงขึ้น
  • ไม่ว่าจะเพราะบริษัท A ผลประกอบการดีขึ้นหรือฟลุคก็แล้วแต่

พอเราคิดไปทางแนวนี้  เราก็จะพบว่าปัจจัยหลักในการตัดสินใจมันอยู่ที่ว่าถ้าขายออกมาจะสามารถไปทำประโยชน์ได้ดีกว่าถือหุ้น A ต่อไปหรือเปล่าเท่านั้นเอง  ถ้าสมมติเราศึกษาและพิจารณาแล้วพบว่าโอกาสที่บริษัท A จะผลประกอบการดีและดังนั้นราคาหุ้น A จะสูงขึ้นมันเป็นไปได้ยาก  ถ้าราคาหุ้น A มันจะสูงขึ้นได้ก็น่าจะต้องหวังฟลุค  อย่างนั้นขายออกมาก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้แน่นอน  คิดได้แบบนี้เราก็จะตัดใจขายขาดทุนได้ง่ายขึ้นครับ

อีกอย่างที่อยากให้มองคือ  ลองนึกถึงภาพรวมว่าเราจะลงทุนในหุ้นไปอีกยาวหลายปี  การที่ระหว่างหลายปีนั้นจะมีการตัดสินใจผิดพลาดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาเก่งแค่ไหนก็พลาดได้  ขนาด Warren Buffett ก็มีพลาดและเค้าก็มีขายหุ้นออกไป  โดยภาพรวมแล้วขอให้การตัดสินใจเราถูกมากกว่าผิดก็คือใช้ได้  ในระยะยาวที่ถูกมากกว่าผิดยังไงมันก็จะดีไปเองครับ  การพลาดแล้วต้องมีขายขาดทุนบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา  ไม่ได้เป็นอะไรต้องเครียดหรือซีเรียสอะไรเลย  ต้องขายก็คือต้องขาย  เอาเวลาไปซีเรียสว่าการตัดสินใจโดยรวมเราต้องถูกมากกว่าผิดดีกว่าครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

หุ้นโรงเรียนในจีน เวลานี้อาจเป็นโอกาส

School stocks in China

หุ้นโรงเรียนในจีน เวลานี้อาจเป็นโอกาส

นอกเหนือจากหุ้นกลุ่มโควิดแล้ว  ในเวลานี้กลุ่มธุรกิจที่ผมกำลังให้ความสนใจก็จะเป็นกลุ่มโรงเรียนประถมมัธยมในจีน

ช่วงที่ผ่านมาหุ้นการศึกษาในจีนตกมาเยอะทั้งกลุ่ม  ทั้งที่โดยรวมแล้วผลประกอบการหลายบริษัททำได้ดีขึ้นต่อเนื่อง  กลุ่มที่ราคาตกหนักสุดน่าจะเป็นพวกที่ทำธุรกิจเรียนพิเศษกวดวิชา  ส่วนที่ตามมาก็จะเป็นหุ้นที่ทำโรงเรียนระดับอนุบาล-มัธยม

สาเหตุหลักที่ทำให้หุ้นกลุ่มนี้ตกเข้าใจว่าเป็นเพราะความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบจากทางภาครัฐ  ที่มาคือในเวลานี้รัฐบาลจีนกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องโครงสร้างประชากรมาก  คนเกิดน้อย  เด็กน้อย  คนแก่เยอะ  โดยรวมเค้าก็กลัวว่าเรื่องนี้จะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจประเทศ  เร็วๆนี้น่าได้ข่าวอยู่แล้วว่าเค้าเพิ่งเปลี่ยนกฎหมายให้ครอบครัวมีลูก 3 คนได้และกำลังพยายามดำเนินนโยบายต่างๆเพื่อแก้ปัญหาประชากร  ซึ่งเรื่องการศึกษาก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่เค้ากำลังเพ่งเล็งมาก  เพราะค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญของการมีลูก  ดังนั้นถ้าลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ก็จะทำให้ต้นทุนของการมีลูกน้อยลง  คนจะได้มีลูกได้เยอะขึ้น

โดยส่วนตัวพวกที่ทำโรงเรียนกวดวิชานี่ผมข้าม  จุดยืนของรัฐบาลดูจะมองพวกกวดวิชา, เรียนพิเศษและการศึกษานอกเหนือจากโรงเรียนเป็นปัญหาสังคม  Xi Jinping ก็ดูจะพูดชัดเจนว่าจะให้เน้นเรียนในโรงเรียน  นโยบายที่ได้ยินว่าจะออกมาก็ดูโหดมาก  นอกเหนือจากจะควบคุมเรื่องค่าเรียนแล้ว  ยังจะเริ่มมีการแบนไม่ให้มีการเรียนพิเศษในวันเสาร์อาทิตย์และในช่วงปิดเทอมด้วย  สรุปคือแทบเรียนพิเศษไม่ได้  ดังนั้นผมเลยข้ามกลุ่มพวกนี้ไป

อีกกลุ่มนึงที่ราคาตกเยอะก็จะเป็นบริษัทที่ทำโรงเรียนประถม-มัธยม  กลุ่มนี้ผมยังงงๆว่าทำไมตกใจอะไรกันขนาดนั้น  เท่าที่เข้าใจคือเค้ามีออกกฎซึ่งโดยรวมแล้วคือต้องการจะจัดการไม่ให้ทุนนิยมหรือเน้นกำไรมากเกินเช่น  http://en.moe.gov.cn/documents/laws_policies/202105/t20210518_532063.html

  • จัดการกับโรงเรียนที่มีเจ้าของหรือถูกควบคุมโดยต่างชาติ
  • โรงเรียนต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลเนื้อหาที่สอน
  • ไม่อนุญาตให้โรงเรียนรัฐบริหารโรงเรียนเอกชนได้  ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมแบบจ้างบริหาร
  • ไม่อนุญาตให้โรงเรียนเอกชนเก็บเงินค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆนอกเหนือจากที่กำหนด
  • ห้ามมีการควบรวมกิจการหรือซื้อกิจการโรงเรียน

ซึ่งก็ไม่เห็นว่ามันจะรุนแรงอะไรกับโรงเรียนที่เจ้าของเป็นคนจีนนะ

ความเสี่ยงตรงนี้เมื่อเทียบกับความต้องการการศึกษาที่ดี  พ่อแม่ยินดีจ่ายเพื่อการศึกษาลูก  ต่อให้จะบอกว่าเมืองจีนอนาคตจะมีเด็กน้อยลง  ผมก็ยังมองว่าบริษัทที่ทำโรงเรียนตราบใดที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพก็จะยังมีความต้องการ  และควรจะสามารถเก็บค่าเทอมมีกำไรดีได้ต่อไป  ก็เลยเป็นอะไรที่ผมกำลังให้ความสนใจอยู่ในเวลานี้ครับ

สุดท้ายคือ  ส่วนนึงที่ผมทำวีดิโอนี้ก็แค่พูดถึงสิ่งที่กำลังสนใจอยู่นอกจากหุ้นโควิด  กับอีกส่วนนึงก็คือเผื่อว่ามีผู้ฟังคนไหนที่คุ้นเคยกับการศึกษาในจีนอาจจะสามารถบอกผมได้ว่าทำไมหุ้นโรงเรียนในจีนมันตกเยอะจัง  หรือผมมีอะไรที่เข้าใจผิดหรือมองข้ามไปหรือเปล่า  ถ้าใครมีไอเดียหรือทราบข้อมูลว่าทำไมหุ้นโรงเรียนในจีนถึงไม่น่าลงทุนรบกวนช่วยเล่าให้ฟังในคอมเม้นต์ทีครับ  จะขอบคุณมาก

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี