ทำไมราคาหุ้นถึงวิ่ง ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอด ?

Why stock always fluctuates ?

ทำไมราคาหุ้นถึงวิ่ง ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอด ?

อยากให้นึกภาพว่าตลาดหุ้นมันเหมือนเป็นตลาดที่มีคนจำนวนมากมาประมูลซื้อขายหุ้นอยู่  ใครอยากขายอะไรเท่าไหร่ก็ส่งคำสั่งไป  ใครอยากซื้ออะไรที่ราคาเท่าไหร่ยังไงก็ส่งคำสั่งไป  ตลาดระบบมันก็จับที่ราคามันได้ทั้งสองฝ่ายก็ถือว่าเกิดการซื้อขาย

ทีนี้เวลาที่มีคนอยากซื้อเยอะกว่าอยากขาย  ราคามันก็สูงขึ้นเพราะมีคนเสนอซื้อเยอะ  คนที่อยากได้ก็ต้องยอมซื้อที่ราคาสูงขึ้นมันจะได้มีคนอยากขายให้  กลับกันถ้าคนอยากขายมีเยอะกว่าอยากซื้อ  คนขายก็ต้องยอมขายที่มันถูกลงจะได้มีคนยอมซื้อไม่งั้นก็ขายไม่ได้ไม่มีคนซื้อ

ดังนั้นในแต่ละวันมันก็จะมีราคาขึ้นๆลงๆนิดหน่อย  เพราะคนที่อยู่ในตลาดหุ้นมันมีเยอะไปหมด  แล้วเค้าก็อยากซื้อหรือขายไม่พร้อมกัน  ก็เท่านั้นเองครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

หุ้น คืออะไร ?

What is Stock ?

หุ้น คืออะไร ?

มันแบบเดียวกับเวลาเราหุ้นกันกับเพื่อนทำธุรกิจหรือซื้อของมาขายเลยครับ  คือเราเข้าไปเป็นเจ้าของร่วมกันในธุรกิจแล้วก็กำไรแบ่งกัน  ถ้าหุ้นกันแล้วขายของได้ดีเราก็กำไร  ถ้าหุ้นกันแล้วเจ๊งขายของไม่ได้เราก็ขาดทุน  หุ้นมันก็คือเป็นหุ้นส่วนแบบนั้นแหละ

หุ้นในตลาดก็แบบนั้นเลย  ถ้าเราซื้อหุ้น CPALL ก็คือเราเข้าไปเป็นเจ้าของร่วมใน CPALL  ถ้าเราซื้อหุ้น Central Pattana ก็คือเราเข้าไปเป็นเจ้าของร่วมใน Central Pattana  ถ้าในอนาคตบริษัทพวกนี้ทำธุรกิจได้กำไรดี  กำไรบางส่วนก็จ่ายออกมาให้เราอันนี้ก็คือที่เค้าเรียกว่าเงินปันผล  บางส่วนก็เก็บไว้ลงทุนขยายกิจการต่อก็ยิ่งทำให้อนาคตบริษัทกำไรเยอะขึ้นไปอีกและมีเงินมาปันผลให้เราเยอะขึ้นไปอีก  และถ้าเกิดในอนาคตนั้นเราเกิดอยากขายหุ้นขึ้นมาก็มีแนวโน้มที่จะมีคนอื่นยินดีซื้อจากเราในราคาที่สูงขึ้นเพราะเค้าก็เห็นว่าบริษัททำได้ดีขึ้นมีค่ามากขึ้น  แต่ถ้ากลับกันบริษัทพวกนี้เจ๊ง  ก็ไม่มีกำไรจ่ายปันผลให้เรา  และถ้าในตอนนั้นเราเกิดอยากขายหุ้นขึ้นมา  ก็มีแนวโน้มที่จะขายได้ในราคาที่ต่ำลงเพราะคนอื่นก็เห็นว่าบริษัททำได้แย่ก็ไม่มีใครอยากได้

และดังนั้นผมก็เลยอยากจะฝากและย้ำกับคนใหม่ว่าเมื่อคุณเข้าใจแบบนี้แล้วว่าหุ้นคือการเป็นเจ้าของร่วมในธุรกิจ  สิ่งที่คุณควรทำเวลาซื้อหุ้นก็คือพิจารณาตัวธุรกิจเป็นหลัก  ถามดูว่ามันเป็นธุรกิจที่คุณอยากจะเป็นเจ้าของจริงๆหรือเปล่า  อย่าไปสับสนประเด็นมัวแต่มองกราฟราคาหรือพยายามเล่นเกมนั่งเดาทิศทางตลาด  พวกนั้นมันเรื่องปลีกย่อย  สาระสำคัญคือคุณกำลังจะเป็นเจ้าของร่วมในธุรกิจ  ถ้าธุรกิจทำได้ดีเงินลงทุนคุณก็จะดีด้วย  ถ้าธุรกิจทำได้แย่เงินลงทุนคุณก็จะแย่ไปด้วย  หลักๆมันเท่านั้นเองครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ทำไมเศรษฐกิจก็ยังไม่ดี แต่หุ้นดันขึ้น

The economy is still struggling from COVID, why is the stock market already pretty high.

ทำไมเศรษฐกิจก็ยังไม่ดี แต่หุ้นดันขึ้น

อันนี้ก็เป็นอะไรที่มีคนถามผมหลายครั้ง  วันนี้ผมจะพยายามอธิบายเรื่องนี้ครับ  หลักๆแล้วผมเชื่อว่าเป็นเพราะ 2 เหตุผล

  1. ตลาดหุ้นกับเศรษฐกิจ  มีความเกี่ยวข้องกัน  แต่มันไม่ใช่อันเดียวกัน
  2. อย่าลืมว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นได้เป็นบริษัทขนาดใหญ่  ดังนั้นตลาดหุ้นก็จะสะท้อนภาพของบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก  มันไม่ได้เป็นตัวแทนของบริษัทร้านค้าขนาดเล็กขนาดกลางทั้งหมดที่อยู่ในประเทศ

    ดังนั้นเวลาเราเห็นตลาดหุ้นฟื้นมาแล้ว  อย่างของไทยนี่ 1,400 จุดเกือบเท่าก่อนโควิด  หรือบางประเทศดัชนีสูงกว่าก่อนโควิด  มันก็แค่สะท้อนภาพของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศที่มีกำไรมีเงินทุนสะสมหรือมีแหล่งเงินทุนที่ดีกว่า  มันไม่ได้สะท้อนภาพของเศรษฐกิจทั้งประเทศ

  3. นักลงทุนในตลาดหุ้นมองไปในอนาคต  ไม่ได้มองที่ปัจจุบันอย่างเดียว
  4. อย่างที่เค้าบอกกันคือตลาดหุ้นนี่มัน forward looking หมายความว่าคนที่มาลงทุนในตลาดหุ้นพยายามที่จะมองไปในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นแล้วตัดสินใจลงทุน

ในเวลานี้ถ้าตลาดหุ้นจะฟื้นก็เข้าใจได้  เพราะวัคซีนทดสอบเฟส 3 สำเร็จแล้วและกำลังเริ่มกระจายไปประเทศต่างๆ  เราเริ่มเห็นบางประเทศเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว  ดังนั้นนักลงทุนก็เริ่มเห็นภาพว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติได้เมื่อไหร่ยังไง  ซึ่งอันนี้แตกต่างจากภาพตอนต้นปีที่ตลาดตกรุนแรงมาก  ในเวลานั้นเรายังคุยกันอยู่เลยว่ากว่าจะได้วัคซีนอาจจะต้องเป็นปีๆอย่างเร็วอาจจะเป็น 2021  ดังนั้นเทียบกันแล้วในตอนนี้ถ้าตลาดหุ้นจะฟื้นขึ้นมาก็ไม่แปลกเท่าไหร่

ที่สำคัญอีกอย่างน่าจะเป็นเพราะคนเห็นว่านอกเหนือจากการท่องเที่ยวที่โดนเต็มๆแล้ว  ธุรกิจประเภทอื่นยังอยู่ในสภาพที่มีกำไรอยู่  โอเคแหละปีนี้อาจจะขายได้น้อยลงกำไรน้อยลง  แต่ก็มีกำไรนะ  ดังนั้นความเสี่ยงว่าจะถึงกับเจ๊งไปเลยก็น้อยลงไป

วิเคราะห์พอร์ตหุ้น Berkshire Hathaway โดย Morningstar

Morningstar analyzing Berkshire's portfolio

วิเคราะห์พอร์ตหุ้น Berkshire Hathaway โดย Morningstar

วันนี้ผมเอาเรื่องที่ไปอ่านเจอมาเล่าให้ฟังครับ  อันนี้มาจากบทความของ Morningstar ที่เค้าเอาพอร์ตหุ้นของบริษัท Berkshire Hathaway มาวิเคราะห์ดูว่าถืออะไรอยู่บ้าง  และมันมีความแตกต่างจากดัชนีอ้างอิงยังไงบ้าง  ดัชนีอ้างอิงในที่นี้ผมเข้าใจว่าเค้าใช้ S&P500 นะครับ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจนิดนึงว่าเค้าเอาข้อมูลมาจากเอกสารที่นำส่ง SEC ตอน Q3  ซึ่งมันจะมีข้อมูลของการถือหุ้นบริษัทที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นอเมริกาเท่านั้น  ถ้าเป็นหุ้นที่ไม่ได้ซื้อขายในตลาดหุ้นอเมริกาไม่ได้จำเป็นต้องแจ้ง  และอันนี้ไม่รวมบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% แล้วไม่อยู่ในตลาดอย่าง BNSF หรือ Precision Castparts

สิ่งที่เค้าเจอคือ Berkshire Hathaway ก็ยังคงสไตล์ของ Warren Buffett ที่นิยมถือหุ้นค่อนข้างเจาะจงไม่กระจายความเสี่ยงเท่าไหร่  และตอนนี้มีบริษัทที่เป็นเทคโนโลยีเยอะขึ้นกว่าในอดีต

อย่างที่เห็นคือหุ้น Apple ถือเยอะมาก  คิดเป็นมูลค่า 47.8% ของทั้งหมดเลยทีเดียว  หลายปีก่อนตอนที่ผมได้ยินข่าว Warren Buffett เริ่มซื้อหุ้น Apple ตอนนั้นผมก็งงว่าทำไมถึงซื้อเพราะเห็นปกติเค้าพูดเสมอว่าไม่ชอบหุ้นเทคโนโลยี  Warren Buffett บอกว่าเค้ามองว่าหุ้น Apple ไม่ใช่หุ้นเทคโนโลยี  แต่เป็นหุ้น consumer products ที่มีแบรนด์เข้มแข็ง  คนซื้อ Apple คือชอบใน Apple ไม่ได้ซื้อเพราะเทคโนโลยีมันดีกว่าคนอื่นหรืออะไร  เท่าที่ดูตอนนี้ก็เหมือนเค้าจะถูกนะ  แต่ผมก็เพิ่งรู้จริงๆว่าเค้าถือหุ้น Apple เยอะขนาดนี้เลย  มูลค่าถือเยอะเกิน 5 เท่าของ Coca-Cola เลย

ส่วนการเปลี่ยนแปลงอื่นๆที่เห็นก็มีการขาย Wells Fargo ออกไปเยอะเหมือนกัน  ทั้งที่ช่วงที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะพูดไปในทิศทางที่เชื่อมั่นใน Wells Fargo มาตลอดนะ  มีซื้อพวกที่เป็นบริษัทยาขนาดใหญ่ Abbvie, Merck, Bristol-Myers Squibb  อันนี้น่าจะเป็นในปีนี้เลยเพราะจำได้ว่าเห็นในข่าว  มีซื้อ Snowflake ซึ่งเป็นหุ้นเทคโนโลยีที่เพิ่ง IPO ด้วย  อันนี้จำได้ว่าเห็นในข่าวคนก็สงสัยว่าน่าจะเป็นทีมเค้าเป็นคนซื้อ

ต่อมามาดูเทียบการถือหุ้นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมบ้าง

เท่าที่ดูก็ต่างเยอะอยู่  กลุ่ม Technology นี่แน่นอนเพราะมี Apple เยอะมาก  แต่นอกจากนั้นก็มีเยอะในกลุ่ม Financial Services กับ Consumer Defensive ซึ่งอันนี้เราก็รู้อยู่แล้วเพราะเค้าก็ถือหุ้นการเงินอย่าง Bank of America, American Express พวกนี้เยอะ  ส่วน Consumer Defensive ก็อย่าง Coca-Cola กับ Kraft Heinz  นอกเหนือจากนั้นแล้วทุกหมวดธุรกิจถือน้อยกว่าดัชนีอ้างอิงหมด

และสุดท้ายคือเค้าลองดูว่าพอร์ตของ Berkshire Hathaway ถ้าดูตาม style factors เทียบกับดัชนีอ้างอิงแล้วเป็นยังไง

Liquidity factor สูงนี่เข้าใจได้  เนื่องจากเงินสดเยอะจัดดังนั้นการจะถือหุ้นเล็กที่สภาพคล่องต่ำคงทำได้ยาก  สอดคล้องกับภาพของ Size factor ที่บอกว่าเค้าถือบริษัทใหญ่มากกว่าดัชนีอ้างอิง

สิ่งที่แปลกใจคือ Momentum factor  ปกติ Momentum factor นี่คือซื้อหุ้นที่ช่วงที่ผ่านมาราคาสูงขึ้น  ซึ่งนึกว่าจะน้อยเพราะ Warren Buffett ก็มักจะพูดเสมอว่าชอบเวลาหุ้นตก  อาจจะเป็นเพราะการที่เค้าซื้อหุ้น Apple เป็นจำนวนมาก  แล้วในช่วงที่ผ่านมาหุ้น Apple มันขึ้น

อีกอันที่ผมแปลกใจคือ Economic Moat factor ที่ต่ำกว่าดัชนีอ้างอิง  ตัว Economic Moat factor นี่เป็นอันเฉพาะของ Morningstar ที่วัดว่าบริษัทมีธุรกิจที่เข้มแข็งได้เปรียบคู่แข่งหรือเปล่า  ผมก็นึกว่าของ Berkshire Hathaway น่าจะมีอันนี้เยอะ  แต่ปรากฎว่าน้อยกว่าดัชนีอ้างอิงอีก  Morningstar บอกว่า factor นี้ของ Berkshire Hathaway ต่ำเพราะโดนฉุดลงจากหุ้น Kraft Heinz และ General Motor

ส่วนอันอื่นอย่าง Value/Growth factor ที่สูงกว่านี่คือแปลว่าถือหุ้นที่เทไปทาง Growth และดังนั้นก็เลยสอดคล้องกับการที่มี Volatility factor สูงกว่าด้วย  Financial Health factor สูงกว่านี่คือโดยรวมถือหุ้นที่สภาพการเงินดูเข้มแข็งกว่าดัชนีอ้างอิง

ทั้งหมดนี้เล่าให้ฟังเฉยๆเพราะผมว่าก็น่าสนใจดีอยู่  จากที่เห็นคือพอร์ตของ Warren Buffett ถึงแม้ว่าหลังๆจะมีคนมาบริหารแทนมากขึ้น  แต่ก็ยังแตกต่างจากดัชนีอ้างอิงมาก  ไม่ได้มีวี่แววว่าจะใช้วิธีการลงทุนแบบ passive ที่ลงทุนตามดัชนีแต่อย่างใด

สำหรับคนที่สนใจอ่านตัวบทความนี้บน Morningstar ผมทิ้งลิ้งค์ไว้ให้ครับ  https://www.morningstar.com/articles/1014576/digging-into-berkshire-hathaways-portfolio

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็ว การมองไปในอนาคต 3-5 ปี ยังใช้ได้อยู่มั้ย ?

Now that the world is changing fast, is looking at stocks long-term still relevant?

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็ว การมองไปในอนาคต 3-5 ปี ยังใช้ได้อยู่มั้ย ?

มีคนถามขึ้นมาว่าปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็วมาก  วิธีการลงทุนที่บอกว่ามองไปในอนาคต 5 ปีมันยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า

ผมเห็นด้วยว่าเดี๋ยวนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็ว  และก็เข้าใจความกังวลของคนถามว่าถ้ามันเปลี่ยนแปลงเร็วงั้นการมองไปอนาคต 5 ปีมันก็ไม่แม่นอยู่แล้วหรือเปล่า  ถ้ามันยังไงก็ไม่แม่นงั้นควรมองสั้นกว่านั้นมั้ย  โดยส่วนตัวผมก็ยังเชื่อว่าเวลาลงทุนเราควรจะพยายามมองไปในอนาคตซัก 3-5 ปีอยู่  แล้วก็อาศัยการคอยดูอย่างใกล้ชิดว่ามันเป็นไปตามคาดมั้ยเอาครับ

  1. ทำให้มองข้ามปัญหาชั่วคราวได้ง่ายขึ้น  ไม่ตกใจง่ายเกินไป
  2. จริงอยู่ที่เราไม่มีทางเดาอนาคตได้แม่น  แต่โชคดีที่เราก็ไม่ได้จำเป็นต้องเป๊ะขนาดนั้น  สิ่งที่เราต้องการคือแค่ทิศทางคร่าวๆ  เราอยากรู้ว่ามันจะยังทำได้ดีขึ้นหรืออย่างน้อยใกล้เคียงเดิมหรือเปล่าเท่านั้นเอง  แล้วมันสอดคล้องกับราคาตอนนี้มั้ย
  3. เป็นการบังคับให้เรามองหาจุดเด่นสำคัญของบริษัท  และเมื่อเราเข้าใจสิ่งที่เป็นจุดเด่นสำคัญเหล่านั้นแล้ว  มันจะทำให้เราติดตามสถานการณ์ของบริษัทได้ง่ายขึ้น  เราจะรู้ว่าต้องสังเกตอะไร

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

วัคซีนมาแล้ว หุ้นฟื้นเยอะแล้ว ยังเหลือโอกาสอะไรบ้าง ?

Dec update: Now that the vaccine is out. What to do next? What to buy?

วัคซีนมาแล้ว หุ้นฟื้นเยอะแล้ว ยังเหลือโอกาสอะไรบ้าง ?

เร็วๆนี้มีนักเรียนหลายคนที่ถามเกี่ยวกับสถานการณ์ตอนนี้ว่าวัคซีนออกมาแล้วและตลาดหุ้นฟื้นมาเยอะมากแล้ว  ลงทุนยังไงต่อดี  ควรจะรอให้ตลาดมันจะตกลงมาอีกมั้ย  อจ.ยังมีหุ้นกลุ่มไหนที่น่าสนใจเหลืออยู่อีกหรือเปล่า  วันนี้ผมรวมคำถามกลุ่มประมาณนี้มาตอบครับ  แต่เพื่อให้เข้าใจตรงกันบอกไว้ก่อนว่าผมตอบจากมุมมองผมนะ  ซึ่งหมายความว่ามันไม่ได้จำเป็นต้องถูกต้องและคุณก็ไม่ได้จำเป็นต้องเห็นด้วย

 

ในเวลานี้ในเมื่อภาพรวมเราเห็นชัดเจนแล้วว่าวัคซีนเริ่มแล้วและสุดท้ายเรื่องโควิดก็จะหายไปกลับสู่สภาพปกติ  เราไม่รู้อย่างชัดเจนว่าเมื่อไหร่จะปกติสมบูรณ์  แต่ถ้าเดาจากข่าวที่ออกเร็วๆนี้ประเทศหลักๆที่มีเงินก็น่าจะภายในปี 2021  ส่วนประเทศอื่นๆก็น่าจะเริ่มวัคซีนในปี 2021 น่ะแหละแต่กว่าจะเรียบร้อยอาจจะยาวไปถึง 2022

นั่นหมายความว่าผลประกอบการของธุรกิจโดยรวมก็น่าจะเริ่มกลับมาปกติมากขึ้นเยอะในปี 2021  และดังนั้นหุ้นโดยรวมก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับเรานักลงทุน  ถ้าเราเชื่อว่าภาพรวมจะเป็นไปตามนี้และเรารับความเสี่ยงได้บ้าง  ในเวลานี้ผมว่าเราควรจะซื้อบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจังๆแต่เราคิดว่ามันน่าจะรอดแล้วราคายังฟื้นไม่สมบูรณ์ทั้งหลายครับ

จริงอยู่  ในระหว่างทางที่มันจะฟื้นกลับไปสมบูรณ์  มันก็อาจจะมีหุ้นตกจากเรื่องนู่นนี่นั่นได้อีก  US อาจจะมี lockdown รอบ 2  หรือ Brexit แบบ no-deal หรือ ฯลฯ  มันก็เป็นไปได้แหละ  แต่ผมว่าอย่าไปตั้งความหวังจะรอมันเลย  คือเราไม่มีทางรู้ว่ามันจะเกิดขึ้นมั้ยหรือคนจะตกใจแค่ไหน  และโดยรวมถ้ามันจะมีตกก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะตกรุนแรงเท่าก่อนหน้านี้ในเมื่อตอนนี้สถานการณ์มันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้นในความเห็นผมคืออย่ารอ

ส่วนที่ถามว่าหุ้นกลุ่มไหนยังดูน่าสนใจอยู่บ้าง  โดยส่วนตัวก็อย่างที่บอกคือกลุ่มที่โดนผลกระทบแต่คิดว่าน่าจะรอดเช่น

  • สนามบิน  ในบางที่ก็ฟื้นมาเยอะแล้ว  แต่เท่าที่ดูโซนยุโรปยังฟื้นไม่เต็มที่
  • โรงแรม  จะบอกว่าพวก brand แบบ global เช่น Hilton, Marriott, Hyatt, InterContinental พวกนี้ฟื้นมาเยอะแล้ว  แต่ในกลุ่ม local brand ที่ดังในประเทศตัวเองน่าจะยังหาได้อยู่  โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในยุโรปที่ยังระบาดเยอะๆน่าจะยังไม่ฟื้น
  • โรงหนัง, โรงละคร, สวนสนุก  พวกนี้ก็น่าจะยังไม่ฟื้น  โดยเฉพาะโรงหนังในประเทศที่ยังระบาดเยอะอยู่นี่น่าจะหนักสุด
  • ร้านอาหาร, ผับบาร์  บางประเทศไม่เหมือนไทยที่การระบาดควบคุมได้แล้ว  ประเทศที่ยังระบาดเละอยู่พวกร้านอาหารหรือผับบาร์อาจจะเปิดไม่ค่อยได้  ดังนั้นพวกที่ราคาหุ้นยังไม่ฟื้นน่าจะหาได้อยู่
  • รถไฟ, รถไฟฟ้า, รถประจำทางและขนส่งมวลชนต่างๆ  พวกนี้ในไทยก็มี BTS, BEM  ไม่รู้ว่าฟื้นเต็มที่หรือยัง  แต่ในบางประเทศที่ระบาดรุนแรงอยู่พวกนี้ก็ได้รับผลกระทบเยอะเพราะคนไม่เดินทาง  ควรจะยังหาหุ้นถูกได้อยู่
  • ห้าง  ในไทยถ้าจำไม่ผิดก็จะยังไม่ค่อยฟื้น  ในยุโรปกับอเมริกาก็มี REIT ที่เป็นห้างอยู่  พวกนี้ก็น่าจะยังไม่ฟื้น
  • คอนโดที่อยู่อาศัย  ใน US มันจะมี REIT ที่ทำพวกนี้อยู่  พวกนี้ก็น่าจะยังไม่ฟื้น
  • หอพักนักศึกษา  ในประเทศที่คนชอบไปเรียนต่อกันอย่าง US, UK นี่จำได้ว่ามี REIT ที่ทำหอพักนักศึกษา  พวกนี้ก็อาจจะยังไม่ฟื้นดี
  • ออฟฟิศสำนักงาน  พวกนี้ก็น่าจะยังไม่ฟื้นดี  ควรจะหาโอกาสได้  มีทั้ง REIT ไทยและต่างประเทศ  ส่วนตัวผมไม่ค่อยสนใจของไทยเพราะมันเป็น leasehold
  • ธนาคารและพวกสินเชื่อ  พวกนี้ก็แน่นอนซึมตามสภาพเศรษฐกิจ  น่าจะหาพวกที่ยังไม่ฟื้นได้

ผมว่านี่ก็เยอะละนะ  อาจจะมีอย่างอื่นอีกที่ไม่ได้นึกถึง  อย่างที่บอกคือถ้ารับความเสี่ยงได้ตอนนี้พวกนี้ก็น่าสนใจนะ  คือบางอย่างตอนนี้อาจจะผลประกอบการขาดทุนอยู่เพราะโควิด  แต่ถ้าเราดูแล้วว่ามันมีเงินสดมากพอที่จะรอดไปได้  ก็น่าสนใจอยู่นะครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ยกตัวอย่าง บริษัทดูดีแต่ไม่ดีจริง

Examples of Seemingly Good companies, But Are Not Really Good

ยกตัวอย่าง บริษัทดูดีแต่ไม่ดีจริง

มีนักเรียนที่เค้าอยากให้ยกตัวอย่างกรณีบริษัทที่เหมือนจะดีแต่ไม่ดีจริง  ซึ่งผมเข้าใจว่าเค้ากำลังถามถึงกรณีที่บริษัทตัวเลขผลประกอบการออกมาดีแต่ตัวบริษัทไม่ได้เป็นบริษัทที่เข้มแข็งและดังนั้นในภายหลังผลประกอบการก็แย่ลง  วันนี้เรามาพูดถึงกรณีแบบนั้นกันว่าเป็นเพราะอะไรได้บ้าง

โดยภาพรวมแล้ว  การดูตัวเลขผลประกอบการย้อนหลังหลายๆปีว่าทำได้ดีสม่ำเสมอหรือเปล่ามันก็ตัดบริษัทกลุ่มแย่ออกไปได้เยอะแหละ  เพราะบริษัทกลุ่มแย่ส่วนใหญ่ผลประกอบการก็จะแกว่งรุนแรงไม่สม่ำเสมอ  แต่ทีนี้การพึ่งพาตัวเลขผลประกอบการเฉยๆแล้วสรุปบางทีเราก็โดนหลอกได้  จากประสบการณ์ผมแล้วก็จะมีกรณีต่างๆดังต่อไปนี้

1. งบการเงินหลอก

อันนี้ก็ตรงไปตรงมา  นานๆทีมันก็มีกรณีที่บริษัทเค้าจงใจโกหกแต่งงบบัญชี  รายงานรายได้สูงเกินจริงมั่ง  หรือจัดหมวดค่าใช้จ่ายให้ยังไม่รับรู้บ้าง  กรณีพวกนี้เกิดขึ้นไม่บ่อย  แต่ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้การดูตัวเลขผลประกอบการเฉยๆว่าดูดีแล้วอาจจะผิดพลาดได้

ตัวอย่าง case ก็พวกที่เป็นข่าวดังอยู่ก่อนหน้านี้เช่น  Luckin Coffee, Wirecare, Lookers, ฯลฯ

2. บริษัทที่บังเอิญสินค้าได้รับความนิยมอยู่ช่วงหนึ่ง

ในบางครั้งมันก็จะมีบริษัทที่สินค้าจู่ๆคนนิยมขึ้นมาแต่แล้วซักพักความนิยมหายไปคนเลิกเห่อก็จบ  กรณีแบบนี้บริษัทก็ขายดีจริง  แต่ปัญหาคือมันเป็นความนิยมแค่วูบเดียว  ส่วนใหญ่พวกนี้มักจะเจอกับหุ้นที่เป็นแฟชั่น

ตัวอย่างก็เช่น Beauty Community, Crocs, ฯลฯ

3. บริษัทโชคดีอยู่ในธุรกิจที่โตพอดี

กลุ่มนี้เจอบ่อยสุด  ในบางครั้งเราก็จะเจอบริษัทที่ดูทำได้ดีมากต่อเนื่องกันหลายปี  โดยที่จริงๆแล้วก็อาจจะไม่ได้เป็นบริษัทที่เก่งอะไรเป็นพิเศษแค่ว่าโชคดีอยู่ในอุตสาหกรรมหรือสถานการณ์ที่เติบโตพอดีก็เป็นไปได้

ตัวอย่างง่ายๆก็อย่างเช่นหุ้นที่ทำคอนโดในไทย  ช่วงหลายปีที่ผ่านมาตอนคอนโดบูม  บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำคอนโดก็ดูดีหมดน่ะครับ  แน่นอนว่าก็จะมีบางบริษัทที่ทำได้ดีกว่าเพื่อนและเก่งจริงแหละ  และมันก็จะมีที่ไม่ค่อยเก่งปนอยู่ด้วยผมเชื่อ  แต่ในเวลาที่ทุกคนโตเหมือนกันหมดมันก็จะดูไม่ค่อยออกแยกแยะลำบาก

ตัวอย่างเช่นหุ้นกลุ่มธนาคารในจีน  ถ้าเราไปดูงบการเงินย้อนหลังจะพบว่าธนาคารในจีนเกือบทั้งหมดดูทำได้ดีมากทั้งหมด  อันนี้แปลว่าธนาคารในจีนเก่งมากทุกธนาคารเหรอ  ก็ไม่น่าเป็นไปได้ป้ะ  แต่ที่ดูทำได้ดีมากทั้งหมดก็เป็นเพราะประเทศจีนโดยรวมหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้นน่ะครับ  ถ้าเวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่ง  ยังไงก็ต้องมีผู้ชนะหรือแพ้โผล่มาแน่นอน  ต้องมีบางธนาคารที่ทำได้ดีต่อไปและบางธนาคารที่เจ๊ง  แต่ในเวลาที่ประเทศยังโตอย่างเร็วอยู่มันก็จะดูไม่ค่อยออก

หรืออีกตัวอย่างนึงก็เช่น  กลุ่มบริษัทที่ให้บริการขนส่งแบบรถบรรทุกหรือพวก Less-Than-Truckload ในอเมริกาที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของการขายสินค้า online อย่างเช่น Knight-Swift Transportation, Schneider National, Old Dominion Freight Line, ฯลฯ  พวกนี้ก็จะดูผลประกอบการดีหมดเหมือนกันในช่วงที่ผ่านมา  ทั้งที่บริการหลักๆคือการเอารถบรรทุกวิ่งส่งของซึ่งยังไงก็มีการแข่งขันกันสูงและแข่งกันด้วยราคาเป็นหลัก

สรุป

ที่คุยไปนี่ก็คือตัวอย่างกรณีที่เราอาจจะเจอบริษัทที่เหมือนจะดีแต่ไม่ดีจริง  อาจจะแค่โชคดีเฉยๆและอาจจะไม่ได้ยั่งยืนเท่าไหร่  ดังนั้นการตัดสินว่าบริษัทดีแน่นอนจากการแค่ดูงบการเงินเฉยๆมันถึงไม่เวิร์คไง  คนเค้าถึงบอกว่าให้พยายามทำความเข้าใจบริษัทเพื่อจะได้ชัวร์ว่ามันเป็นบริษัทที่มีความได้เปรียบจริงๆน่ะครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ลงทุนหุ้นไทยกับหุ้นต่างประเทศ ต่างกันมั้ย ?

Differences Between Investing in Thai Stocks Versus Global Stocks

ลงทุนหุ้นไทยกับหุ้นต่างประเทศ ต่างกันมั้ย ?

มีนักเรียนผมที่เค้าขอให้พูดถึงความแตกต่างระหว่างลงทุนในหุ้นไทยกับหุ้นต่างประเทศ  ในวีดิโอนี้เราเปรียบเทียบลงทุนในหุ้นไทยกับหุ้นต่างประเทศในประเด็นต่างๆที่คนมักจะถามครับ

1. ผลตอบแทนอันไหนดีกว่า

เรื่องผลตอบแทนนี่อาจจะตอบยากนิดนึง  เพราะมันก็มีบางประเทศที่ผลตอบแทนแย่กว่าไทย  และบางประเทศผลตอบแทนดีกว่าไทย  ถ้าดูโดยภาพรวมเราก็เปรียบเทียบผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาระหว่าง MSCI ACWI (all country world index) กับ SET Total Return Index  MSCI ACWI ผลตอบแทนเฉลี่ย 8.7% ต่อปี  ในขณะที่ SET Total Return Index ผลตอบแทน 0.94% เท่านั้นเอง  ซึ่งก็แปลว่าตลาดหุ้นต่างประเทศผลตอบแทนดีกว่า

แต่ทีนี้ในทางปฏิบัติเราก็คงไม่ได้ซื้อหุ้นทุกประเทศแบบ MSCI ACWI  และเวลาซื้อหุ้นไทยเราก็ไม่ได้ซื้อทั้ง SET เช่นเดียวกัน  ผมมองว่าเรื่องผลตอบแทนดีกว่าหรือเปล่านี่น่าจะแล้วแต่การตัดสินใจเลือกหุ้นของเรามากกว่า

โดยความเห็นส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าหุ้นต่างประเทศจะผลตอบแทนดีกว่าหรืออะไร  แค่รู้สึกว่าการดูหุ้นต่างประเทศไว้ด้วยทำให้เรามีทางเลือกเยอะขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมลงทุนด้วยวิธีการฉวยโอกาสหุ้นตกด้วยใช่มะ  การมีหุ้นต่างประเทศด้วยก็รู้สึกว่าทำให้มีโอกาสเยอะกว่านั่งจ้องหุ้นไทยเฉยๆนะ

2. แล้วเรื่องความเสี่ยงล่ะ

บางคนที่ถามผมเรื่องนี้จะมีภาพความรู้สึกว่าลงทุนในหุ้นต่างประเทศนี่มัน advanced กว่า  มันสำหรับโปรหรือคนที่ลงทุนชำนาญแล้วหรือคนมีประสบการณ์หลายปีหรืออะไรซักอย่าง  

ในความเป็นจริงคือมันไม่เกี่ยวครับ  หุ้นต่างประเทศไม่ได้แปลว่ามันเสี่ยงมากกว่าหรือเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นไทย  เสี่ยงหรือไม่เสี่ยงมันขึ้นอยู่กับว่าเรารู้เรื่องเกี่ยวกับบริษัทนั้นหรือเปล่ามากกว่า  ลองนึกถึงตัวอย่างง่ายๆ  คุณว่าระหว่าง Starbucks กับ PTTGC อันไหนเสี่ยงกว่ากัน  อันไหนคุณเห็นภาพเข้าใจสินค้ามากกว่ากัน  คนส่วนใหญ่ก็จะเห็นภาพและเข้าใจ Starbucks มากกว่าแหละ  เพราะมันใกล้ตัว  PTTGC นี่ผมไม่เคยเจอใครเข้าใจหรือรู้เรื่องอะไรจริงๆจังๆ  แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังรู้สึกว่าลงทุนในหุ้นไทยที่ตัวเองไม่รู้เรื่องเลยเสี่ยงน้อยกว่าลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่ตัวเองรู้จักดี  ผมก็ไม่เข้าใจ

ดังนั้นเราควรจะสนใจว่าเราเข้าใจหรืออย่างน้อยสามารถหาข้อมูลทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัทหรือธุรกิจมันได้หรือเปล่ามากกว่า  ถ้าทำได้จะหุ้นไทยหรือต่างประเทศก็โอเคทั้งคู่นี่  แต่ถ้าไม่ได้มันก็เสี่ยงหมดแหละไม่ว่าจะหุ้นไทยหรือต่างประเทศ

อีกเรื่องที่คนมักจะถามถึงเวลาพูดถึงความเสี่ยงคือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน  ซึ่งอันนี้มันก็มีผลแหละแต่มันก็มีทั้งไปในทางที่ดีหรือไปในทางที่ไม่ดีก็ได้  ไม่ได้จำเป็นว่าต้องแย่เสมอไป  และผมมองว่าสมมติลงทุนในหลายประเทศ  โดยรวมระยะยาวมันก็จะหักล้างกันไป  บางสกุลเงินที่เราถือก็จะอ่อนค่าลง  บางสกุลเงินแข็งค่าขึ้น  ขอให้เราลงทุนแล้วกำไรเยอะๆก็ใช้ได้  อย่าไปกังวลมาก

3. การหาข้อมูล

ส่วนตัวคิดว่าไม่ต่างกันนะ  คือสมมติว่าเป็นบริษัทไทยที่เราไม่คุ้นเคยกับบริษัทต่างประเทศที่เราไม่คุ้นเคย  ยังไงก็ต้องเริ่มหาข้อมูลยังไงซักอย่าง  รายงานประจำปีที่อธิบายว่าบริษัททำอะไรก็มีเหมือนกัน  หลังจากนั้นไปอ่านเกี่ยวกับคู่แข่ง, จุดเด่นหรือสถานการณ์ของอุตสาหกรรมก็ต้องทำเหมือนกันทั้งหุ้นไทยและต่างประเทศ  เวป SET ที่ใช้สำหรับหุ้นไทย  หุ้นต่างประเทศก็มีเวปอย่าง Reuters กับ Morningstar ที่มีสรุปงบการเงินเหมือนๆกัน

อย่างเดียวที่อาจจะเป็นประเด็นคือบริษัทในต่างประเทศที่ไม่มีธุรกิจในไทยเราสัมผัสจริงยากกว่า  อย่างสมมติ CPALL ร้านสะดวกซื้อ 7-11 นี่เราสามารถเข้าไปเดินๆสัมผัสได้จริง  แต่อย่างร้านสะดวกซื้อในรัสเซีย Pyaterochka งี้เราอาจจะไม่ได้สัมผัสจริงถึงแม้จะอ่านข้อมูลได้ก็ตาม  มันก็ทำให้เสียเปรียบอยู่นิดนึงตรงเรื่องนี้นะ

4. วิธีเลือกหรือตัดสินใจ

มันก็เหมือนกันกับหุ้นไทย  ถ้าคุณใช้ปัจจัยพื้นฐานก็ใช้ปัจจัยพื้นฐานแบบเดียวกันกับหุ้นต่างประเทศได้  ถ้าใครดู P/E ก็ดู P/E  ใครดูกราฟก็ดูกราฟ  ไม่เห็นว่ามีความแตกต่างกันตรงไหน

5. ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ค่าธรรมเนียมการซื้อขายโดยรวมแพงกว่าหุ้นไทย  เข้าใจว่าเป็นเพราะเราลงทุนผ่านตัวกลางสองต่อ  คืออย่างผมลงทุนผ่าน SCBS ซึ่งเค้าก็ไปติดต่อกับโบรกเกอร์ในต่างประเทศอีกที  ถ้าไปติดต่อเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ในต่างประเทศได้โดยตรงอาจจะถูกกว่าอันนี้ไม่เคยลอง

ภาษีปันผล  โดยรวมก็แพงกว่าเช่น US นี่ 15%, Germany 26.375%  แพงสุดที่เคยเจอคือ Switzerland 35%  แต่ที่ถูกกว่าก็มีเช่น UK นี่ 0%, ฮ่องกงที่ไม่ใช่ H-shares ก็ 0%

สรุป

สรุปคือมันก็ไม่ต่างอะไรกันขนาดนั้นหรอกครับ  เราก็ยืนยันว่าการเปิดโอกาสศึกษาหุ้นต่างประเทศเป็นเรื่องดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณใช้ภาษาอังกฤษได้ผมว่าศึกษาไว้ก็ไม่เห็นเสียหายอะไรนี่  จะซื้อหรือเปล่าก็อีกเรื่องนึงครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

หุ้นแบบไหน ที่ผ่านมาชนะตลาด ?

Style factor investing

หุ้นแบบไหน ที่ผ่านมาชนะตลาด ?

มันมีคนถามผมอยู่เหมือนกันว่าเรื่องการลงทุนในหุ้นนี่  ในเมื่อตลาดหุ้นก็อยู่มาตั้งนานแล้วและเรามีข้อมูลย้อนหลังทั้งงบการเงินและราคาหลายปีมาก  ทำไมเราไม่มีคำตอบที่ชัดเจนซะทีว่าลงทุนในหุ้นแบบไหนถึงจะให้กำไรสูงสุด  มันยังไม่มีคนไปศึกษาจริงจังหรือไง

จริงๆมันมีการศึกษาเยอะอยู่ครับ  วันนี้ผมมาเล่าให้ฟังถึง Factor หรือลักษณะของหุ้น 6 อย่างที่เค้าศึกษาแล้วพบว่าโดยรวมให้ผลตอบแทนสูงกว่าปกติในระยะยาวครับ

1. Value

อันนี้คือหุ้นที่ราคาที่ต่ำเทียบกับตัวเลขปัจจัยพื้นฐานบางอย่างของหุ้นเช่นกำไร, มูลค่าทางบัญชี, ยอดขายหรืออื่นๆ  ที่ได้รับความนิยมก็จะเป็นตัวราคาเทียบกับ Book value (มูลค่าทางบัญชี)

2. Size

เค้าพบว่าบริษัทที่ขนาดเล็กผลตอบแทนดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่  ใหญ่เล็กในที่นี้วัดจาก Market Capitalization

3. Yield

หุ้นที่ Dividend yield หรือปันผลต่อราคาหุ้นสูงจะให้ผลตอบแทนดีกว่า

4. Momentum

เค้าพบว่าราคาหุ้นมีพฤติกรรมที่เป็นเทรนด์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง  หุ้นที่ขึ้นก็มักจะขึ้นต่อไปซักพัก  หุ้นที่ราคาตกก็มักจะตกต่อไปซักพัก  ดังนั้นวิธีการก็คือลงทุนในหุ้นที่ในช่วงที่ผ่านมาผลตอบแทนดีกว่าตลาด  เพราะมันจะมีแนวโน้มที่จะผลตอบแทนดีกว่าตลาดต่อไปอีกซักพัก  ระยะเวลาที่เค้าเจอว่า Momentum ยังมีผลก็จะประมาณ 3-12 เดือน

5. Quality

อันนี้พูดถึงโดยรวมว่าบริษัทที่ปัจจัยเชิงคุณภาพดีกว่าเฉลี่ยให้ผลตอบแทนดีกว่า  ปัจจุบันยังไม่ได้มีว่า “คุณภาพ” ที่ว่านี่คือเรื่องอะไรกันแน่  มีทั้งที่บอกดู ROE, การเติบโต, ความสม่ำเสมอของกำไร, D/E ต่ำ, กระแสเงินสดเทียบกับกำไร, ฯลฯ

6. Volatility

อันนี้เป็นอันที่แปลกที่สุดละ  คือเค้าพบว่าตรงกันข้ามกับทฤษฎีที่บอกว่าหุ้นที่มีความผันผวนสูงก็ควรจะผลตอบแทนสูง  ปรากฎว่าสิ่งที่เค้าเจอคือหุ้นที่ความผันผวนต่ำดันผลตอบแทนสูงกว่าไม่สอดคล้องกับทฤษฎี

 

น่าสนใจมะ  ทั้งนี้ผมย้ำอีกทีว่านี่คือการศึกษาโดยรวมไม่ได้ดูไปที่หุ้นใดหุ้นหนึ่ง  เค้าไม่ได้บอกว่าหุ้นขนาดเล็กหรือหุ้นที่ P/BV ต่ำต้องผลตอบแทนดีทุกบริษัทนะ  เค้าพูดถึงโดยรวม  และอีกอย่างที่อยากจะย้ำคือเค้ากำลังพูดถึงผลตอบแทนระยะยาวหลายปี  ที่บอกผลตอบแทนดีกว่าเฉลี่ยนี่คือถ้าวัดกันช่วงยาวๆ  สิ่งที่เค้าเจอคือ Factor พวกนี้ถ้าดูกันสั้นๆมันดีบ้างไม่ดีบ้าง  อย่าง Momentum เค้าก็พบว่าอาจจะ underperform ตลาดอยู่หลายปีแล้วค่อยกลับมาดี  ถ้าลงทุนวัดกันช่วงสั้นเกินไปก็อาจจะพบว่า Factor พวกนี้ผลตอบแทนห่วยก็ได้

สำหรับคนที่สนใจอ่านเพิ่มเติม  ผมแนะนำว่ามีบทความทำโดย MSCI ที่อธิบายเรื่องนี้ได้ดีมาก  เก่าหน่อยแต่อ่านง่ายเรียบเรียงดีและเค้ามี references ตัวงานวิจัยแต่ละหัวข้อให้เผื่อไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยครับ

https://www.msci.com/documents/1296102/1336482/Foundations_of_Factor_Investing.pdf/004e02ad-6f98-4730-90e0-ea14515ff3dc

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ล็อคดาวน์ยุโรปรอบ 2, ประท้วงในไทย, ลงทุนยังไงต่อดี ? – 3 พฤศจิกายน 2563

Second Lockdown in Europe, Protest in Thaliand, How to Invest ? - Nov 3, 2020

ล็อคดาวน์ยุโรปรอบ 2, ประท้วงในไทย, ลงทุนยังไงต่อดี ? – 3 พฤศจิกายน 2563

มีนักเรียนที่เค้าเริ่มบอกจิตเริ่มแกว่งเพราะช่วงที่ผ่านมาเห็นตลาดหุ้นโดยรวมตกลงมา  เค้าถามความเห็นว่าแบบนี้เป็นโอกาสในวิกฤติหรือเป็นวิกฤติซ้ำซ้อน  เศรษฐกิจเมื่อไหร่ถึงจะฟื้น

วีดิโอนี้เรามาคุยสถานการณ์ภาพรวม, อะไรเกิดขึ้นแล้ว, อะไรน่าจะเกิดขึ้นต่อไป  แล้วเราควรจะลงทุนยังไงดี

สิ่งที่เกิดขึ้น

  • ไทยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน  แต่การท่องเที่ยวแน่นอนยังไม่ฟื้น
  • มีเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองเพิ่มขึ้น
  • ส่วนทั่วโลก  ถ้าดูเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเห็นว่าดีขึ้น  มีการฟื้นตัวชัดเจนทั้งการบริโภคและการผลิต
  • จีนนี่ไม่ใช่แค่ฟื้นตัว  แต่ถึงขึ้นมีเศรษฐกิจโตเทียบกับปีที่แล้วด้วยซ้ำ
  • การกลับมาระบาดของ COVID-19 เริ่มเยอะจนประเทศในยุโรปหลายประเทศเช่นฝรั่งเศส, เยอรมณี, อังกฤษกลับมาทำ National lockdown ปิดธุรกิจที่ไม่จำเป็นอีกรอบ
  • อเมริกาก็ยังระบาดรุนแรงอยู่  ไม่ได้มีการปิดธุรกิจแต่บางรัฐเห็นในข่าวมีการสั่งห้าม indoor dining แล้ว
  • อเมริกากำลังจะมีเลือกตั้งวันนี้เลย Nov 3

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้  บางส่วนก็น่าจะเป็น noise ไม่มีอะไร  สิ่งที่คิดว่ามีผลทำให้ตลาดตกในช่วงที่ผ่านมาคือเรื่องการทำ national lockdown ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลหลายประเทศก็บอกว่าจะไม่ทำเพราะมันจะมีผลต่อเศรษฐกิจ  ตอนนี้พอทำก็เลยอาจจะผิดคาดสำหรับคนที่หวังว่าจะไม่มีแล้วจนถึงวัคซีนออกมา  และอีกอย่างนึงคือมันก็มีผลกระทบกับเศรษฐกิจจริงๆแหละ  ธุรกิจที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนอาจจะคิดว่ารอดไม่เจ๊งแน่นอนแล้วอย่างพวกร้านอาหารก็กลับไปเสี่ยงเจ๊งได้อีก

อะไรน่าจะเกิดขึ้นต่อไป

  • ประเทศอื่นที่ยังไม่ทำ National lockdown สุดท้ายคงไม่มีทางเลือกต้องทำแหละ  ไม่งั้นผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลจะทำยังไง
  • และการทำ National lockdown ก็แน่นอนจะมีผลต่อเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นแล้วให้ทรุดกลับลงไป
  • เรื่องอื่นๆดูไม่มีสาระสำคัญ
  • การเมืองไทย  ถ้ามองย้อนไปจะพบว่าเหตุการณ์รัฐประหารหรือความรุนแรงตอนม๊อบเสื้อแดงที่มีเผาไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้น  ดังนั้นเรื่องนี้ก็ตัดไปไม่ได้มีสาระสำคัญ
  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  ก็เป็นเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา  แต่คนก็รู้ว่ามันจะไม่กลับไปสมบูรณ์เหมือนก่อน COVID-19 จนกว่าปัญหาจะจบถาวร  ดังนั้นประเด็นนี้ก็ไม่น่าจะมีสาระสำคัญ
  • เลือกตั้งสหรัฐ  ใครซักคนก็จะชนะ  ถ้า Trump ชนะก็ดำเนินนโยบายเหมือนเดิมซึ่งตลาดก็รู้อยู่แล้ว  ถ้า Biden ชนะตลาดก็ไม่น่าจะตกใจเพราะก็ยังไม่ได้เริ่มทำอะไร  ดังนั้นเรื่องนี้ไม่น่าจะมีสาระสำคัญ  
  • กำหนดการของวัคซีนดูเหมือนเดิม  ดูน่าจะได้ข้อสรุปจากการทดลองในคน Phase 3 ภายในปลายปีนี้เดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม  และหลังจากนั้นถ้าสรุปคือใช้ได้ปลอดภัยก็จะต้องมีการเร่งการผลิตและกระจายใช้เวลาซักพักหนึ่ง

แล้วเราควรลงทุนยังไง

ในความเห็นผม  สิ่งที่เราควรทำก็ยังเหมือนเดิม  ซึ่งคือฉวยโอกาสจากเหตุการณ์ตลาดตกแบบนี้  เราควรเห็นมันเป็นโอกาส  ผมสรุปประเด็นสำคัญมีดังนี้

  1. สุดท้าย COVID-19 ก็เป็นปัญหาชั่วคราว  ปัญหานี้จะจบก็ต่อเมื่อมียาหรือวัคซีนคนถึงจะกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ  การท่องเที่ยวการเดินทางถึงจะมีโอกาสฟื้น
  2. แนวโน้มวัคซีนก็ยังตามกำหนดการเดิม
  3. ดังนั้นภาพรวมกลยุทธ์ก็ยังเหมือนเดิมคือ  เรามองหาธุรกิจที่ปกติแล้วเข้มแข็งทำได้ดี  แต่ดันได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ราคาตกรุนแรง  แล้วเราเชื่อว่ามันจะรอดจากวิกฤติไปได้และกลับไปทำได้ดี  อย่างส่วนตัวผมเกณฑ์ที่บอกว่าคิดว่ามันจะรอดคือ  ดูว่ามีเงินสดเหลือมากพอที่จะรอดแบบกรณีเลวร้ายสุดไปได้ถึงอย่างน้อยครึ่งปีหน้า
  4. แต่ทั้งนี้เราก็ต้องระวังมากขึ้นตรงที่  ถ้าเราซื้อบริษัทในยุโรปที่ได้รับผลกระทบจาก National lockdown  เราก็ต้องเผื่อ worst case ว่าไตรมาส 4 ก็จะต้องอนาถพอๆกับไตรมาส 2  คือเราต้องดูว่ามันมีเงินสดมากพอที่จะรอด

สรุป

สรุปสุดท้ายสิ่งที่จะฝากโดยเฉพาะกับนักเรียนผมเลยนะคือ  มองออกไปไกลหน่อย  อย่าไปมองอะไรระยะสั้นๆแบบนักลงทุนทั่วไปทำเพราะสุดท้ายเราก็ไม่รู้อยู่ดี  เอาจริงๆไม่มีใครรู้หรอกอย่างตอนฝรั่งเศสประกาศ Lockdown ตลาดตก  พอมาอังกฤษประกาศ Lockdown ซึ่งคือเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมานี่เอง  วันจันทร์ปรากฎว่าตลาดขึ้น  มันมั่วๆแบบนี้แหละครับ  ดังนั้นอย่าไปเสียเวลาทำเรื่องไร้สาระมองอะไรสั้นๆ  มองข้ามช็อตไปไกลหน่อยแล้วดักทางคนอื่นก่อนเลย

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี