ลงทุนยังไงต่อดี ตลาดจะไปทางไหนต่อ ? – สิงหาคม 2563

Next Move in Investing, How the Market will go ? - August 2020

ลงทุนยังไงต่อดี ตลาดจะไปทางไหนต่อ ? – สิงหาคม 2563

เอาจริงๆคือตอนนี้เดายากซะละ

ก่อนหน้านี้ที่เราคุยกันคือผมมองว่ามีโอกาสที่ตลาดจะตก  เพราะเรื่องหลัก 2 เรื่องคือ

  1. การระบาดควบคุมไม่ได้  ทำให้มีความเสี่ยงว่าบางที่อาจต้องปิดเศรษฐกิจอีก  และต่อให้ไม่ได้มีการปิดเศรษฐกิจ  ความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคจะจับจ่ายใช้สอยก็ไม่น่าจะกลับมาเต็มที่
  2. ผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทที่รายงานออกมาน่าจะเละ  และภาคธุรกิจเองก็น่าจะมีบริษัทขนาดเล็กที่เงินทุนไม่หนาหรือมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลเริ่มหมดทยอยเจ๊งปิดกิจการเยอะขึ้น

สิ่งที่เราเดาไว้มันก็เกิดขึ้นจริงๆแหละ  การระบาดก็ยังควบคุมไม่ได้และมีหลายประเทศที่กลับมาปิดเศรษฐกิจจริง  ผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาหลายบริษัทก็แย่ลงชัดเจน  และก็ยังมีบริษัททยอยปิดกิจการต่อเนื่อง

อันนี้เป็นสรุปสถานการณ์ภาพรวมในอเมริกา  ผมเอามาจากเวปของ Bloomberg เค้าทำดีมากเลย

จะเห็นว่าสถานการณ์เรื่องการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริงยังไม่ดีสีแดงเกือบหมด  แต่ตลาดเงินตลาดทุนดีหุ้นขึ้น

ดูเหมือนตลาดหุ้นก็ไม่ได้ตกอะไรนักหนา  หุ้นไทยตั้งแต่เดือนที่แล้วมาเดือนนี้โดยรวมก็ตกแค่จิ๊ดเดียว  หุ้นยุโรปก็คล้ายๆกันคือตกมานิดเดียว  ส่วนหุ้นอเมริกานี่ไปกันใหญ่คือสูงขึ้นไปอีก  เป็นอะไรที่ผิดคาด

มันเป็นเพราะอะไรล่ะ ?  อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจซะทีเดียวว่าเพราะอะไร  แต่ส่วนตัวคือเดาว่าสาเหตุหลักน่าจะมาจากข่าวเรื่องวัคซีนที่ดูเหมือนจะก้าวหน้าเร็วกว่าที่คาด  จากตอนแรกนี่เหมือนจะปีหน้านู่น  แต่ข่าวที่ออกมาช่วงหลังนี้เหมือนจะเริ่มพูดว่าปลายปีนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ  ในทางปฏิบัติเนื่องจากช่วยกันทำทั้งโลกผมก็ค่อนข้างเชื่อว่ามันจะเร็วกว่าที่คิดไว้ตอนแรกแหละ 

และถ้ามันสำเร็จจริงๆขึ้นมาโอกาสหุ้นจะตกให้เราได้ซื้อก็จบละ  ไม่ต้องรอให้ผลิตแจกจ่ายนะ  แค่มีข่าวว่าได้วัคซีนที่ได้ผลปุ๊บคือจบละ  ตลาดหุ้นจะ forward looking  เศรษฐกิจจริงๆก็อาจจะยังไม่ฟื้นทันที  แต่อย่าลืมว่าบริษัทในตลาดหุ้นไม่ใช่ทุกบริษัทในประเทศ  ส่วนใหญ่ที่อยู่ในตลาดหุ้นมันเป็นบริษัทใหญ่กว่าทั่วไปซึ่งจริงๆได้ประโยชน์จากการที่บริษัทเล็กๆที่เป็นคู่แข่งเจ๊งไป  ดังนั้นถ้าตลาดหุ้นมองว่าบริษัทขนาดใหญ่จะรอด  ราคาหุ้นน่าจะขึ้นพรวดกลับไปและเราก็จะอดซื้อค่อนข้างแน่นอน

นอกเหนือจากวัคซีนแล้ว  สถานการณ์เศรษฐกิจเองก็เริ่มมีบางประเทศที่ดูดีขึ้น  เลยอาจทำให้ตลาดหุ้นไม่ตกใจอย่างที่เราคาด  อย่างจีนนี่เราก็ได้ข่าวว่าตัวเลขส่งออกเดือนกรกฎาคมโต  บางประเทศในยุโรปเองก็เริ่มมีตัวเลขดีขึ้น  เช่นเยอรมณีที่ตัวเลขความเชื่อมั่นดีขึ้นแล้วก็การผลิตดีขึ้น  ฝรั่งเศสตัวเลขภาคบริการกับการใช้จ่ายผู้บริโภคดีขึ้น

แล้วแบบนี้ลงทุนยังไงต่อ ?

จากครั้งที่แล้วคือผมเชื่อว่าตลาดหุ้นมีโอกาสมากที่จะตกใช่มะ  แต่ในเวลานี้เริ่มไม่แน่ใจละเพราะดูคนจะไม่ตกใจเท่าไหร่  แถมยังมีความเสี่ยงว่าถ้าวัคซีนเกิดสำเร็จขึ้นมาจริงๆก็ยิ่งจะทำให้ไม่ได้ซื้อซะอีก

ดังนั้นถ้าเป็นผมนะ  ถ้ายังมีเงินสดเหลืออยู่ผมก็จะซื้อบริษัทที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดแล้วราคายังไม่ฟื้นกลับไปโดยสมบูรณ์  เช่นบริษัทที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว, บริษัทที่เป็นสินเชื่อหรือสถาบันการเงิน, ฯลฯ  ยังไงถ้าบริษัทเหล่านี้รอดเราก็กำไรเยอะอยู่  ไม่ต้องรอราคาถูกกว่านี้แล้วซื้อก็ได้  ผมกลัวว่ารอมากไปจะกลายเป็นอดซะมากกว่า

ถ้าจะเหลือเงินสดไว้ซักหน่อยเผื่อมันมีราคาตกจริงๆขึ้นมา  ผมว่าเหลือไว้ก็ได้แต่อย่าเยอะเกิน  ฉวยโอกาสซื้อให้เยอะในระดับที่ถ้าราคามันไม่ตกแล้วเราไม่มานั่งเสียใจภายหลังดีกว่าครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses

เล่าประสบการณ์ลงทุนพลาด ขาดทุนเป็นแสน เป็นล้าน (ภาค 2)

Mistakes I made #2

เล่าประสบการณ์ลงทุนพลาด ขาดทุนเป็นแสน เป็นล้าน (ภาค 2)

บทความนี้ผมเล่าเคสที่เคยตัดสินใจลงทุนพลาดแบบเยอะๆและสิ่งที่ผมเรียนรู้จากเหตุการณ์เหล่านั้นให้ฟังครับ

4. Invesco

บริษัทนี้ทำธุรกิจบริหารจัดการกองทุนครับ  มีทั้งกองทุนที่เป็น Active และกองทุนที่เป็น Passive  Invesco ตอนที่ผมซื้อก็เป็นผู้ออก ETF ที่ใหญ่อันดับที่ 4 ในอเมริกาด้วย  ซื้อช่วงปลายปี 2018 ที่ราคา 22 USD ด้วยเงินจำนวน 2,000,000 บาท

ตอนนั้นที่ซื้อจำได้ว่าเป็นเหตุการณ์หุ้นตกปลายปี 2018 เพราะเรื่อง trade war  ธุรกิจประเภทเดียวกับ Invesco ก็ตกหมดนะ  บริษัทผู้ออก ETF ที่ใหญ่สุดในอเมริกาเรียงจากใหญ่สุดก็จะมี Blackrock, Vanguard, State Street แล้วก็ Invesco  ซึ่งนอกจาก Vanguard แล้วทุกอันมีหุ้นหมดและก็ตกกันหมด  สาเหตุที่ตัดสินใจเลือกซื้อ Invesco เป็นเพราะราคามันถูกสุด  คือจริงๆก็รู้แหละว่า Invesco สู้คู่แข่งไม่ได้  ใน ETF ด้วยกันก็แพ้ Blackrock กับ State Street ห่างกันเยอะ  อยู่ที่ 4 ก็จริงแต่ทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การบริหารนี่ขนาดคนละเรื่อง  ในฝั่งกองทุน Active ก็ผลตอบแทนสู้พวก T. Rowe Price ไม่ได้เลย  เป็นบริษัทระดับรองอย่างชัดเจน  แต่ซื้อเพราะคิดว่า trade war มันปัญหาชั่วคราวบวกกับดูราคามันถูกมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นคือหุ้นโดยรวมมันก็ฟื้นจากเรื่อง trade war ตามคาด  แต่ทีนี้ Invesco ดันแพ้  Blackrock กับพวกตัวใหญ่ๆด้วยความที่เค้ามีทรัพย์สินภายใต้การบริหารเยอะกว่ามากก็สามารถที่จะลดราคาค่าธรรมเนียมบีบให้แคบลงได้  ก็ยิ่งกินส่วนแบ่งการตลาด ETF ที่เป็น Passive มากขึ้นไปอีก  ในขณะที่ Invesco ต้องพึ่งพาการซื้อกิจการเพื่อที่จะโต  ส่วนฝั่ง Active ก็แพ้พวก T. Rowe Price หรือไม่ก็เสียลูกค้าเพราะกระแสของการลงทุนแบบ Passive กำลังได้รับความนิยม  สุดท้ายตอนปลายปี 2019 ผมก็ยอมรับความผิดพลาดและขายหุ้นไปแถว 17.5 USD  ขาดทุนไปประมาณ -20% ได้

เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในครั้งที่สอนให้รู้ว่าควรเลือกหุ้นที่เข้มแข็งดีกว่าหุ้นงั้นๆ  ถึงแม้ว่าหุ้นงั้นๆราคาจะตกเยอะกว่าก็ตาม  แต่ในระยะยาวแล้วหุ้นงั้นๆเสี่ยงกว่าและต่อให้ฟื้นขึ้นมาโอกาสเติบโตในอนาคตก็น้อยกว่า

5. Dignity

อันนี้ก็เป็นอีกเคสที่ขาดทุนไปเยอะ  Dignity นี่ทำธุรกิจจัดงานศพและทำที่เผาศพในอังกฤษครับ  ผมมีซื้อสามครั้ง  รวมเป็นเงิน 2,500,000 บาท  ที่ราคาเฉลี่ย 10.4 GBP

เรื่องของเรื่องคือบริษัทนี้สิ่งที่ผมชอบคือรู้สึกว่าลักษณะธุรกิจมันคงที่ดีผลประกอบการสม่ำเสมอ  โมเดลของบริษัทนี้เค้าเน้นขายงานศพแบบ full service คือเต็มรูปแบบตามประเพณีดั้งเดิมซึ่งค่อนข้างแพง  และก็ใช้การซื้อกิจการบริษัทจัดงานศพท้องถิ่นตามเมืองต่างๆซึ่งหลายครั้งก็เป็นเจ้าเดียวในเมืองพวกนั้น  ส่วนแบ่งการตลาดของเค้าอยู่ประมาณ 11-12% นะ  แถมอนาคตเราก็รู้ว่าเป็น aging society ใช่มะ  เลยซื้อไปครั้งแรกก่อน 1,000,000 บาทที่ 16 GBP ตอนปลายปี 2017

หลังจากนั้นปรากฎว่าปีต่อมาบริษัทเปลี่ยนกลยุทธ์การทำธุรกิจ  เค้าบอกว่าเดี๋ยวนี้คนที่ขายจัดงานศพขายผ่านออนไลน์และผู้บริโภคเองก็หาผ่านออนไลน์มากขึ้น  ทำให้สภาพการแข่งขันที่ผูกขาดในบางพื้นที่แต่เดิมผูกขาดได้น้อยลงเรื่อยๆ  ผู้บริหารเห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงก็เลยตัดสินใจลดราคามาแข่ง  ทำตลาดจัดงานศพแบบราคาถูกเยอะขึ้น  มีการเปลี่ยนแปลงจากที่มีแบรนด์ย่อยกระจายก็เปลี่ยนมาเป็นทำสองยี่ห้อคือ Dignity กับ Simplicity  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ทำให้กระทบกับกำไรของบริษัทลดไปเกือบครึ่งในปี 2018  ราคาหุ้นก็ตก  ผมก็มีการซื้อเพิ่มไปอีกที่ 9 GBP อีก 1,000,000 บาทและ 7.5 GBP อีก 500,000 บาท  ต่อมาในปี 2019 บริษัทก็ยอดขายสูงขึ้นนะแต่ด้วยความที่อัตราส่วนกำไรสุทธิมันน้อยลงไปเยอะมากกำไรก็เหลือแค่ 60% เทียบกับเมื่อปี 2017  ผมก็มาได้สติตอนปลายปี 2019 ว่าสภาพการแข่งขันมันไม่เหมือนเดิมแล้วและไม่มีอะไรบอกได้ว่า Dignity จะชนะคู่แข่งในอนาคตหรือว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ทำจะได้ผล  มันไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวซะละ  เลยตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดไปที่ราคา 5.6 GBP  ขาดทุนไป -46.15% หรือคิดเป็นเงินคือ 1.15 ล้านบาทได้

เหตุการณ์นี้สิ่งที่พลาดจริงๆเลยคือที่มาซื้อเพิ่มตอนหลังนี่แหละ  ตอนซื้อครั้งแรกมันช่วยไม่ได้เพราะผมไม่มีทางรู้ว่าบริษัทจะเปลี่ยนกลยุทธ์  ยอมขาดทุนไปก็จบ  แต่นี่คือรู้สึกมีความลำเอียงชอบบริษัทนี้โดยไม่มีเหตุผลบวกกับไม่อยากยอมรับว่าพลาด  ทั้งที่มันก็ชัดอยู่แล้วว่านี่มันไม่ใช่สถานการณ์ที่เราจะเดาอนาคตได้อย่างมั่นใจ  อารมณ์คล้ายๆกับตอน NBC เลยครับ

6. Lookers

เคสนี้คือล่าสุดและเป็นเคสที่ความเสียหายรุนแรงสุดละ  บริษัทนี้เป็นดีลเลอร์รถยนต์เจ้าใหญ่ในอังกฤษ  ถ้าจำไม่ผิดน่าจะอันดับ 3 รองจาก Pendragon กับ Inchcape  หุ้นนี้ผมซื้อสะสมหลายครั้งเริ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของ 2017  โดยรวมสุดท้ายซื้อไปด้วยเงินต้นประมาณ 4,000,000 บาท  ที่ราคาเฉลี่ย 0.8 GBP

หลักๆที่ซื้อเลยคือหนึ่งมันก็เป็นผู้เล่นเจ้าใหญ่ในเรื่องค้าปลีกรถยนต์ทั้งรถใหม่และมือสองในอังกฤษ  โดยรวมถามว่าเป็นบริษัทที่เข้มแข็งอะไรมากมั้ยก็เปล่า  ผลประกอบการในช่วงนั้นก็ทำได้ดีจากการที่อุตสาหกรรมโดยรวมเติบโต  แต่ทีนี้ราคาหุ้นมันตกด้วยความกังวลเรื่อง Brexit ว่ามันจะทำให้ยอดขายรถใหม่ตกหรือเปล่า  ซึ่งในภายหลังปีต่อๆมามันก็ตกจริงนะ  แต่ผมมองว่าผลของ Brexit ยังไงมันก็ชั่วคราวคนก็ต้องมีช่วงที่กลับมาซื้อรถใหม่  และในเวลานั้นรู้สึกว่ามันราคาถูกมาก  ผมก็เลยเริ่มซื้อในช่วงนั้น  โดยไอเดียคือไม่ได้ตั้งใจจะถือหุ้นไปยาว  กะแค่ว่าไว้ตลาดรถกลับมาปกติก็ว่าจะขายแหละ

หลังจากนั้นมาหุ้นก็ตกเยอะไปอีกจาก COVID-19  พวกโชว์รูมรถยนต์โดนให้ปิดหมด  ดังนั้นผลประกอบการมันจะแย่ก็ไม่แปลก  ราคาที่ตกไปถึง 0.11 GBP ผมก็ไม่ได้กังวลอะไรมาก  ตอนนั้นรู้สึกเสียดายนิดหน่อยด้วยว่าถ้ารู้ว่าจะมีโรคระบาดก็คงรอมาซื้อตอนนี้ดีกว่า

แต่ที่ทำให้ช็อคคือ  ปรากฎว่ากรรมการบริษัทมีการแจ้งว่าบริษัทออกงบการเงินตัวเลขรายได้สูงเกินจริง  สุดท้ายบริษัทไม่สามารถแก้ไขส่งงบได้ภายในเวลาที่กำหนดและหุ้นถูกหยุดการซื้อขาย  มึนไปเลย  ไม่อยากเชื่อว่าบริษัทที่ทำธุรกิจมาเกิน 100 ปีและที่ผ่านมาก็ทำได้ดียังจะอุตส่าห์ต้องโกหกตัวเลขรายได้อีก  ลงทุนมาตั้งแต่ปี 2007 นี่เคยเจอเคสแบบนี้ครั้งนี้ครั้งแรกเลย  กรณีแบบโกหกแบบนี้รู้ปุ๊บคือยังไงก็ต้องขายทิ้งทันที  ขายไปที่ราคา 0.2 GBP ตอนปลายเดือนมิถุนายน 2020 นี่เอง  คิดเป็นขาดทุน -75%  ขนาดความเสียหาย 3,000,000 บาท

เรื่องนี้ก็สอนผมอยู่สองอย่าง  หนึ่งเลยคือไอประเภทซื้อหุ้นบริษัทที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรแต่ซื้อเพราะราคาถูกอย่างเดียวนี่ไม่เอาละ  ก่อนหน้านี้ Invesco ก็โดนไปที  สองคือยังไงเราก็พลาดกันได้  ต้องมีการกันไม่ให้ถือหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งเยอะกว่าหุ้นอื่นมากๆ  เพราะถ้าพลาดขึ้นมาความเสียหายมันถ่วงครั้งที่ไม่พลาดหลายครั้งหายหมด

สรุปบทเรียนทั้งหมดที่เรียนรู้อีกรอบคือ

  1. อย่าลงทุนในบริษัทที่ไม่มีอำนาจบังคับผู้บริโภค
  2. อย่าลงทุนในบริษัทที่เราไม่เห็นภาพว่าทำไมมันถึงดี  ต่อให้ที่ผ่านมาดูทำได้ดีมากก็ตาม
  3. ไม่เอาละประเภทบริษัทงั้นๆที่ราคาตกเยอะ  สู้ซื้อบริษัทดีราคาตกนิดหน่อยไม่ได้
  4. ยังไงความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้  ต้องมีมาตรการบางอย่างจำกัดไม่ให้ถือหุ้นใดหุ้นหนึ่งเยอะเกินไป

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses

เล่าประสบการณ์ลงทุนพลาด ขาดทุนเป็นแสน เป็นล้าน (ภาค 1)

Mistakes I made

เล่าประสบการณ์ลงทุนพลาด ขาดทุนเป็นแสน เป็นล้าน (ภาค 1)

บทความนี้ผมเล่าเคสที่เคยตัดสินใจลงทุนพลาดแบบเยอะๆและสิ่งที่ผมเรียนรู้จากเหตุการณ์เหล่านั้นให้ฟังครับ

1. NBC

อันแรกที่นึกออกเลยคือ Nation Broadcasting (NBC) หุ้นช่องข่าวเนชั่น  จำได้ว่าซื้อตอนช่วงที่เค้ากำลังจะมีการประมูลทีวีดิจิตัลเลยครับ  ในตอนนั้นจำได้ว่าซื้อด้วยเงินเยอะอยู่เทียบกับที่มีตอนนั้นประมาณ 3-4 แสนบาทได้  แต่จำราคาที่ซื้อไม่ได้มันนานมาละ

สาเหตุที่ซื้อคือ  หนึ่งเลยเช็คดูผลประกอบการก็ดูโอเคอยู่  แล้วในเวลานั้นก็มีลองฟังข่าวช่องเนชั่นดูก็มีความรู้สึกว่าเค้าก็ทำดีนะ  แต่ช่องทีวีเนี่ยยังไงมันก็เสียเปรียบฟรีทีวีอย่างช่อง 3, 5, 7, 9 พวกนี้  ทีนี้พอได้ข่าวว่าจะมีการประมูลทีวีดิจิตัลผมก็คิดว่ามันก็จะแข่งเท่าเทียมกันแล้วไง  ถ้าก่อนหน้านี้ตอนเสียเปรียบฟรีทีวียังทำได้ดีใช้ได้แล้วถ้าอยู่ในสภาพที่แข่งเท่าเทียมกันแล้วก็ยิ่งน่าจะทำได้ดีขึ้นนะ  ด้วยความเชื่อประมาณนี้ก็เลยซื้อ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลังจากประมูลช่องมาแล้ว  บริษัทขาดทุน  และแน่นอนเงินลงทุนก็ขาดทุนไปด้วย  จำไม่ได้ว่าถือไว้นานแค่ไหนแต่น่าจะซัก 2 ปีได้กว่าจะตัดสินใจขายไป  ตอนขายนี่ก็ขาดทุนไป -30% กว่าๆได้  นับเป็นจำนวนเงินก็เป็นแสน  ค่อนข้างเซ็ง

สิ่งที่ผมพลาดคือลืมคิดไปว่าการประมูลทีวีดิจิตัลมันเปลี่ยนแปลงสภาพการแข่งขัน  มีช่องใหม่โผล่มาเต็ม  ต่อให้ไม่นับเรื่องที่เม็ดเงินโฆษณาจะเริ่มเบนความสนใจไปพวกสื่อ online อื่น  ยังไงมันก็มีคู่แข่งโผล่มาเยอะมาก  คิดโดยภาพรวมแบบนี้ก็น่าจะรู้ว่ามันจะดีได้ยังไง  ยอมรับว่าพลาดแบบงี่เง่ามากครับเคสนี้  หลังจากนั้นมาผมก็จำเป็นบทเรียนตลอดว่าจะไม่ซื้อหุ้นประเภทที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในอุตสาหกรรมอีก  โดยเฉพาะพวกการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้มีคู่แข่งโผล่มามากขึ้นนี่ต้องเลี่ยงเลย

2. PTTEP

อีกอันนึงที่จำได้สมัยนู้นเลยคือ PTTEP ทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม  สินค้าหลักเค้าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ  จำได้ว่าซื้อประมาณปี 2013-2014 ช่วงที่ราคาน้ำมันดิบอยู่แถว $100/barrel  ราคาหุ้นตอนนั้นคุ้นๆว่าซื้อมาน่าจะซักแถว 140-150 บาทมั้งนะ  จำนวนเงินที่ซื้อจำไม่ได้อีกเช่นกันแต่หลายแสนแน่นอน

สาเหตุที่ซื้อคือ  หนึ่งเลยมาจากความเชื่อว่าน้ำมันและพวกปิโตรเลียมมันเป็นทรัพยากรที่จะหมดโลกนะ  ไม่ได้มีความรู้อะไรด้านนี้แค่ว่าตอนเด็กๆได้ยินคนพูดกันแบบนี้จริงๆ  น้ำมันจะหมดโลกต้องประหยัดอะไรประมาณนี้  ดังนั้นราคาน้ำมันก็น่าจะแพงขึ้นเรื่อยๆสิถ้ามันมีน้อยลงเรื่อยๆ  แล้วช่วงนั้นราคาน้ำมันดิบก็แพงขึ้นต่อเนื่องจริงๆนะก็เลยยิ่งสบายใจเข้าไปใหญ่  และอย่างที่สองคือรู้สึกว่า PTTEP กับ PTT เป็นพวกเดียวกันก็เลยรู้สึกสบายใจ

ปรากฎว่าซื้อไปซักพักโลกก็มีเทคโนโลยีการขุด Shale oil ทำให้สหรัฐอเมริกาผลิตปิโตรเลียมได้เยอะขึ้น  พอมี supply เยอะขึ้นพวกน้ำมันดิบและปิโตรเลียมก็ราคาตก  และ PTTEP ซึ่งสุดท้ายก็ขายของได้ตามราคาตลาดก็กำไรหดลง  เอาจริงๆมาถึงตอนนี้ 2020 บริษัท PTTEP รายได้และกำไรก็ยังไม่เคยกลับไปดีเท่าตอนปี 2013 อีกเลย  แล้วคุณคิดว่าเงินลงทุนจะเหลือรึ  หุ้นที่ซื้อมาก็ตกแน่นอน  จำได้ว่าขาดทุนไป -50% ได้  ขาดทุนไปเท่าไหร่จำไม่ได้แต่เป็นหลายแสนชัวร์

หลังจากนั้นมาก็ได้บทเรียนเลยว่าจะไม่ซื้อบริษัทประเภทที่ไม่มีอำนาจแบบนี้อีก  ราคาขายก็คุมอะไรไม่ได้ต้องตามราคาตลาดโลก  ต้นทุนก็คุมอะไรไม่ได้เพราะสัมปทาน, เครื่องจักร, แท่นนู่นนี่ก็ลงทุนไปแล้ว  คือเรียกว่าคุมอะไรแทบไม่ได้  ถ้ากำไรดีก็คือโชคดีขาดทุนก็คือโชคร้าย  และที่สำคัญคือพวกความเชื่อว่าอะไรซักอย่างนึงจะราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆนี่ไม่ใช่ละ  ไม่ว่าจะเป็นทอง, เพชร, ที่ดิน, ฯลฯ  ผมมีไปเช็คผลประกอบการหุ้นเหมืองที่ทำทองชื่อ Barrick Gold กับเพชรชื่อ Dominion Diamond ด้วยนะว่าผลประกอบการเป็นไง  ผลคือห่วยครับเอาจริงๆ

3. Hugo Boss กับ Salvatore Ferragamo

อันนี้เป็นหุ้นที่ซื้อช่วงที่เริ่มลองว่าวิธีการลงทุนแบบ Opportunistic VI มันจะใช้ได้มั้ยในต่างประเทศก็เลยมีการบันทึกชัดเจน  ตอนนั้นสิ่งที่อยากลองซื้อดูก็คือบริษัทพวกที่เป็น fashion เพราะรู้สึกว่าพวกนี้มันขายของได้แพงผิดปกติก็ยังมีคนยินดีซื้อ  ช่วงนั้นปี 2015 จำได้ว่าดู Hermes International กับ LVMH ราคาหุ้นมันไม่ตก  แต่มีหุ้น Hugo Boss, Salvatore Ferragamo กับ Prada ที่ราคาตก  ตัดสินใจซื้อ Hugo Boss มา 77.7 Euro กับ Salvatore Ferragamo ที่ 22.22 Euro  ด้วยเงิน 700,000 บาทเท่าๆกัน

ผมส่วนตัวไม่รู้เรื่องอะไรกับแฟชั่นเลยและไม่เคยสนใจอะไรแฟชั่นทั้งสิ้น  เคยเดินไปสำรวจร้านที่ Siam Paragon ก็ไม่ค่อยเห็นคนหรืออะไรนะ  สาเหตุที่ซื้อก็อย่างที่บอกว่าเห็นคนมันบ้าสินค้าพวกนี้  และที่เลือก Hugo Boss นี่ก็มาจากการที่อ่านมาแล้วคนพูดถึงว่าเป็นสูทผู้ชายที่ดัง, ราคาสินค้าก็แพงด้วยนะ  บวกกับงบการเงินย้อนหลังเค้าก็ทำได้ดี (ช่วงหลังผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาก็ดูดีหมดนะ)  ส่วน Salvatore Ferragamo เช่นกันคือสินค้าแพง, ถามรุ่นน้องผู้หญิงแล้วเค้ารู้จัก  มีคนนึงที่บอกป้าเค้ามีรองเท้ายี่ห้อนี้ 50 คู่  และงบการเงินย้อนหลังก็ทำได้ดีเช่นกัน  ในใจตอนนั้นก็คิดว่า “เอาวะ  ถึงเราไม่ชอบและไม่รู้เรื่องแยกอะไรไม่ออกเลย  ขอให้คนอื่นมันบ้าซื้อต่อไปก็ใช้ได้”

ปัญหาคือหลังจากซื้อไปทั้งสองบริษัทผลประกอบการดูไม่ได้ดีอย่างที่คาด  Hugo Boss นี่แย่ลงเลย  ส่วน Salvatore Ferragamo ก็ดูยอดขายไม่ได้เติบโต  และผมไม่รู้ที่มาที่ไปเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น  อย่าง NBC หรือ PTTEP ผมยังพอเข้าใจที่มาที่ไปได้ว่าเกิดอะไรขึ้นทำให้ผลประกอบการแย่ลง  แต่กับหุ้นสองบริษัทนี้คือตั้งแต่ตอนที่ซื้อมาก็ไม่รู้ว่าทำไมมันขายได้หรือทำไมคนถึงยินดีจ่ายแพงกับสองยี่ห้อนี้แต่แรก  พอผลประกอบการแย่ลงผมก็รู้แค่ว่ามันขายได้แย่ลงแค่นั้น  ไม่รู้ว่าทำไมคนถึงไม่ซื้อแล้วล่ะ  คนไม่นิยมสองยี่ห้อนี้แล้วเหรอ  หรือมันเป็นเรื่องปกติมั้ย  เราควรคาดหวังอะไรต่อกับอนาคต  ผม no idea มาก  สุดท้ายด้วยความโชคดีผมตัดสินใจขาย Salvatore Ferragamo ตอนต้นปี 2017 ได้กำไรประมาณ 23%  ส่วน Hugo Boss ขายไปกลางปี 2018 เท่าทุน

กรณีนี้ถึงจะไม่ได้ขาดทุนอะไร  แต่จริงๆแล้วคือแค่โชคดีเฉยๆเพราะสุดท้ายแล้วผลประกอบการหลายปีผ่านไปของทั้ง Hugo Boss และ Salvatore Ferragamo แย่ลงเยอะทั้งคู่  ถ้าไม่ได้ว่าโชคดีขายไปช่วงก่อนโควิดราคาก็สอดคล้องกับผลประกอบการ  ของ Hugo Boss อยู่แถว 43 Euro ส่วน Salvatore Ferragamo อยู่ 16 Euro  หลังจากนั้นมาเลยเป็นบทเรียนว่าอย่าไปซี้ซั้วซื้อบริษัทที่เราไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับมันมากเกินไป  โดยเฉพาะถึงขั้นอธิบายที่มาของกำไรมันไม่ได้และไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นปัจจัยให้มันขายดีไม่ดีนี่ไม่เอาละ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses

ความแตกต่างระหว่าง “ราคา” กับ “มูลค่า”

What's the difference between value and price ?

ความแตกต่างระหว่าง “ราคา” กับ “มูลค่า”

สำหรับคนที่ลงทุนสายพื้นฐานหลักการคือเราพยายามซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมันใช่มั้ยครับ  ทีนี้ผมพบว่าบางทีก็มีคนสับสนระหว่างคำว่าราคากับมูลค่า  เพราะโดยทั่วไปแล้วคำสองคำนี้มันใช้คล้ายๆกันและหลายครั้งมักจะเป็นเลขเดียวกันด้วย

นึกภาพว่าราคาคือเงินที่เราต้องจ่ายไปเพื่อซื้อของ  ส่วนมูลค่าคือประโยชน์ที่เราได้รับจากของนั้น  ซึ่งสองอย่างนี้มันก็ไม่เหมือนกันถูกมะ  ลองดูตัวอย่างง่ายๆ

สมมติมีคนขาย iPhone 12 ราคา 15,000 บาท (ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมากแบบไม่มีอยู่จริงเพราะตอนที่พูดวีดิโอนี้อยู่มันยังไม่ออก)  มันก็จะมีทั้งคนซื้อและคนไม่ซื้อ

  • คนที่เป็นสาวก Apple ก็จะว้าวมาก  ปกติ iPhone รุ่นใหม่เค้าก็พร้อมจะซื้อราคาเกิน 20,000 บาทอยู่แล้ว  เค้ารู้สึกว่า iPhone มันปลอดภัย, คุณภาพสูง, ฯลฯ  ดังนั้นเค้าซื้อทันทีเพราะรู้สึกราคาถูกมาก
  • ส่วนบางคนที่ไม่ชอบ iOS  คือยังไงก็ไม่อยากใช้  รู้สึกว่า App อะไรก็ต้องเสียเงิน, ใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่นก็ยาก, ฯลฯ  ประโยชน์ที่ได้รับจาก iPhone 12 สำหรับคนกลุ่มนี้อาจจะแค่ 10,000 บาทดังนั้นที่ราคา 15,000 บาทเค้าก็จะไม่ซื้อเพราะรู้สึกว่าแพงอยู่

สิ่งที่อยากให้สังเกตคือ

  1. คนเราจะซื้ออะไรก็ต่อเมื่อเรารู้สึกว่าประโยชน์ที่เราจะได้รับจากของนั้นสูงกว่าราคาเท่านั้น
  2. ของแต่ละอย่างก็มีมูลค่ากับแต่ละคนไม่เท่ากัน
  3. ราคากับมูลค่าเป็นคนละอย่างกัน  แต่มักจะไปในทิศทางเดียวกัน
  4. สำคัญที่สุดเลยคือราคาที่สูงขึ้นหรือต่ำลง  ไม่ได้มีผลต่อมูลค่า

ทีนี้ในบริบทของหุ้น

มูลค่าของหุ้นก็คือประโยชน์ที่เราได้รับจากหุ้นนั้น  พูดง่ายๆก็คือปันผลที่เราจะได้รับในอนาคตกับราคาขายที่เราจะได้รับในอนาคตในกรณีที่เราตัดสินใจจะขาย  ซึ่งพอดีมันไม่เหมือนสินค้าปกติเพราะเราไม่รู้อย่างชัดเจนว่ามันจะเป็นเท่าไหร่  มันมีความไม่แน่นอนเข้ามาเกี่ยว  ดังนั้นมูลค่าของหุ้นในสายตาของคนแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน

ส่วนราคาหุ้นก็คือราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อซื้อหุ้นนั้น  ถ้ามองในรายละเอียดราคาหุ้นในขณะหนึ่งเป็นเท่าไหร่ก็มาจากความต้องการซื้อขายของคนในตลาดในเวลานั้น  ซึ่งก็มาจากการตีความมูลค่าของหุ้นเฉลี่ยของคนทั้งตลาดโดยรวม  ถ้าตลาดโดยรวมมองว่าราคาหุ้นตอนนี้ต่ำกว่ามูลค่าก็จะมีคนอยากเข้าไปซื้อหุ้นมากกว่าขายทำให้ราคามันสูงขึ้นมาจนมันพอๆกัน  ถ้าตลาดโดยรวมมองว่าราคาหุ้นตอนนี้สูงกว่ามูลค่าก็จะมีคนอยากขายหุ้นมากกว่าซื้อทำให้ราคามันต่ำลงจนมันพอๆกัน

ทีนี้ที่สายพื้นฐานบอกว่าให้ซื้อหุ้นเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมันคือเค้ากำลังสื่อว่าอนาคตจริงๆก็ไม่มีใครรู้  ดังนั้นการตีความมูลค่าขอหุ้นโดยเฉลี่ยของคนทั้งตลาดก็ไม่ได้แปลว่าจะถูกต้อง บางทีคนทั้งตลาดโดยรวมก็ตีความมูลค่าของหุ้นพลาดต่ำกว่าหรือสูงกว่าความเป็นจริงคลาดเคลื่อนไปเยอะได้  ให้เราฉวยโอกาสซื้อในเวลาที่มันคลาดเคลื่อนไปทางต่ำกว่าความเป็นจริงเยอะ  ถ้าทำได้ตามนั้นเราก็จะกำไร  แต่จะทำแบบนั้นได้ผลก็คือเราต้องตีความมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้ถูกต้องและแม่นยำกว่าตลาดโดยรวมเท่านั้นนะ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses

อ่าน 56-1 ยังไง ?

How to read 56-1 ?

อันนี้ก็เป็นคำถามที่มีคนถามหลายทีละ และยอมรับว่าที่ผ่านมาก็ไม่เคยทำวีดิโอตอบนะ หลักๆเพราะผมไม่รู้ว่าคนถามนี่มันต้องการอะไรกันแน่ แต่โอเควีดิโอนี้ผมลองพยายามตอบโดยอธิบายให้ครอบคลุมที่สุดละกัน เออกับบอกไว้อีกอย่างว่าปกติผมจะนิยมอ่าน 56-2 (รายงานประจำปี) นะไม่ได้อ่าน 56-1

เอามาจากไหน ?

โหลดจากเวป www.sec.or.th หรือไม่ก็เวปของบริษัทที่เราสนใจ

อ่านยังไง ?

อ่านเหมือนหนังสือหรือเอกสารภาษาไทยปกติ อ่านจากบนลงล่าง จากซ้ายไปขวา จะมีที่อาจเป็นปัญหาก็ตรงส่วนที่พูดถึงงบการเงินซึ่งคนอ่านก็ควรจะรู้ โดยรวมมันไม่ได้อ่านยากอะไรนะแต่คนเห็นอาจจะตกใจเพราะมันหลายหน้าเท่านั้นเอง

เรื่องอะไรสำคัญบ้าง ?

อันนี้ผมพูดจากความเห็นส่วนตัวละ รายงาน 56-1 โหลดมามันจะแบ่งเป็นหัวข้อให้อยู่แล้ว

  1. การประกอบธุรกิจ
  2. หัวข้อนี้สำคัญสุด อ่านเพื่อให้เข้าใจว่าสรุปบริษัททำธุรกิจอะไรกันแน่ จะได้รู้ว่าคู่แข่งเป็นใครลูกค้าเป็นใคร

    สมมติอ่านส่วนนี้แล้วรู้สึกว่าไม่รู้เรื่อง ไม่เห็นภาพอยู่ดีว่าบริษัททำอะไร อาจจะเป็นสัญญาณว่าควรจะเลิกอ่านแล้วไปอ่านบริษัทอื่นดีกว่าครับ ไม่ใช่แปลว่าเราโง่หรือไม่ดีแค่ว่าเราอาจจะไม่คุ้นเคยกับอุตสาหกรรมนี้เท่าไหร่ ไม่มีความจำเป็นต้องดันทุรัง ธุรกิจประเภทอื่นและโอกาสอื่นๆมีเยอะแยะ

    ตรงส่วนนี้มีเรื่องปัจจัยความเสี่ยงด้วย คือมันจะดูเยอะนี่ก็อย่าไปกังวลมาก ทุกบริษัทต้องเขียนประมาณนี้หมดเพราะมันมีกฎบังคับ กวาดตามองผ่านๆดูว่ามีเรื่องอะไรน่าเอะใจมั้ย เช่นบริษัทพึ่งพาลูกค้าอยู่เจ้าเดียวไรงี้

    รายชื่อบริษัทลูก, บริษัทร่วมทุนพวกนี้ก็ดูไว้ก็ดี

  3. การจัดการและการกำกับดูแลกิจการ
  4. หมวดนี้ก็พวกเรื่องมีทุนออกชำระแล้วกี่หุ้น, ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นใคร, คณะกรรมการกับทีมผู้บริหารมีใครบ้าง, ค่าตอบแทนผู้บริหาร, ผู้บริหารกับกรรมการถือหุ้นเท่าไหร่, ฯลฯ

    ส่วนใหญ่ส่วนนี้ผมไม่ค่อยสนเท่าไหร่ ผมดูผ่านๆมาก อย่างมากที่ดูคือพวกเรื่องค่าตอบแทนผู้บริหาร ดูทั้งที่เป็นตัวเงินแล้วก็พวก stock option ดูว่ากติกาของการได้โบนัสหรือได้หุ้นคืออะไร วัดผลงานผู้บริหารยังไง แล้วก็รายการระหว่างกันที่บริษัทอาจจะมีขายของหรือซื้อของจากบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นด้วยการมีหุ้นหรือมีกรรมการเป็นคนเดียวกัน

    เคยได้ยินบางคนเค้า Google ชื่อผู้บริหารหลักโดยเฉพาะ CEO กับ CFO ดูว่ามีประวัติโกงหรืออะไรป่าว บางคนก็อ่านด้วยว่าประวัติการทำงานมาจากบริษัทไหน ก็เป็นไอเดียที่ดีนะ แต่ตรงส่วนนี้ผมไม่ได้ทำ

  5. ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน
  6. หมวดนี้ก็แน่นอนสำคัญ อาจมีต้องใช้ความเข้าใจเรื่องบัญชีบ้าง แต่ถึงไม่เคยเรียนมาก่อนเลยก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่รู้เรื่องแต่อาจจะรู้เรื่องไม่ครบ ที่เคยเห็นบน 56-1 มันไม่ใช่งบการเงินตัวเต็ม แต่ก็จะมีสาระสำคัญอยู่บนนั้นและมักจะมีพวกอัตราส่วนทางการเงินต่างๆด้วยซึ่งบนงบการเงินจะไม่มี ผมแนะนำว่าไปอ่านงบการเงินตัวเต็มด้วย เพราะมันจะครบกว่าและมีหมายเหตุประกอบที่มีสาระสำคัญอย่างนโยบายการรับรู้รายได้และอื่นๆ

    อ่านดูว่าบริษัททำธุรกิจแล้วสรุปเป็นไงบ้าง มันจะมีคำอธิบายประกอบด้วยว่าตัวเลขแต่ละอันที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามาจากเรื่องอะไร

คำแนะนำอื่นๆ

  1. พิมพ์ออกมาเป็นกระดาษแล้วอ่านไปด้วยจดไปด้วย
  2. อ่านเป็นครั้งแรกอาจจะรู้สึกนานเพราะไม่คุ้น อ่านหลายๆครั้งไปมันจะเร็วขึ้นเยอะ
  3. อ่านไปถ้าเจอคำเฉพาะที่ไม่รู้ว่าคืออะไรอย่าไปตกใจ Google ซะ

 

ที่นึกออกก็ประมาณนี้นะ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses

ซื้อหุ้นตาม insider ได้ผลดีจริงมั้ย ?

Looks like insider trading really worked

ซื้อหุ้นตาม insider ได้ผลดีจริงมั้ย ?

ผมก็สงสัยอยู่นานว่าการที่ซื้อหรือขายตามคนในหรือผู้บริหารของบริษัทนี่มันเป็นวิธีการที่ได้ผลหรือเปล่า

พอดีไปอ่านเจอ working paper ที่ศึกษาเรื่องนี้พอดี  อันนี้เป็นของ National Bureau of Economic Research จัดทำโดย

  • Huaizhi Chen
  • Lauren Cohen
  • Umit Gurun 
  • Dong Lou
  • Christopher Malloy

https://www.nber.org/papers/w24801.pdf

การศึกษานี้เค้าต้องการจะดูว่าพวกผู้บริหารกองทุนมีการติดตามความเคลื่อนไหวของ insider ของบริษัทมั้ย  แล้วมีแนวโน้มจะซื้อหรือขายตาม insider หรือเปล่า  แล้วถ้ามีผลลัพธ์ของการซื้อขายนั้นเป็นอย่างไรบ้าง  รายละเอียดว่าศึกษายังไงวัดด้วยอะไรเอาข้อมูลจากไหน

สรุปสิ่งที่เค้าพบก็คือ

  1. ผู้บริหารกองทุนมีแนวโน้มที่จะติดตามรายงานการซื้อขายของ insider ในบริษัทเดิมต่อเนื่อง  คือเค้าวัดจากการที่ถ้าเคยมีการ download รายงานการซื้อขายของ insider บริษัทหนึ่งก่อนหน้านี้  ในเวลาต่อมาก็มีแนวโน้มสูงมากขึ้นกว่าปกติมากที่จะ download รายงานการซื้อขายของ insider ของบริษัทเดิมนั้น
  2. เมื่อดูในรายละเอียดลึกลงไปอีก  เค้าก็พบว่าผู้บริหารกองทุนไม่ใช่แค่ตามดูรายงานการซื้อขายของ insider ใครก็ได้ของบริษัท  แต่มีการตามดูเฉพาะเจาะจงบุคคลด้วยเช่น  ไม่ใช่แค่ insider ไหนก็ได้ในบริษัท Apple แต่เป็นเจาะจงดูของ Tim Cook
  3. ผู้บริหารกองทุนมีแนวโน้มที่จะซื้อหรือขายตาม insider ที่ตัวเองตามอยู่
  4. พอร์ตหุ้นจำลองทำการเทียบระหว่างซื้อเฉพาะที่ผู้บริหารกองทุนติดตามและซื้อตาม insider  เทียบกับหุ้นอื่นที่ผู้บริหารกองทุนมีการซื้อในช่วงเวลาเดียวกัน  ผลปรากฎว่า พอร์ตที่ผู้บริหารกองทุนติดตามและซื้อตาม insider ทำได้ดีกว่า
  5. เมื่อเทียบระหว่างซื้อเมื่อผู้บริหารกองทุนติดตามและซื้อตาม insider  กับซื้อตาม insider แต่ผู้บริหารกองทุนไม่ซื้อตาม  ผลปรากฎว่าซื้อเมื่อผู้บริหารกองทุนซื้อตาม insider ชนะอีกเช่นกัน
  6. และที่น่าสนใจอีกอย่างคือเมื่อเทียบระหว่างเมื่อผู้บริหารกองทุนซื้อตาม insider  กับกรณีที่ผู้บริหารกองทุนไม่ได้ตามแต่ซื้อเหมือนกับ insider โดยบังเอิญ  ผลปรากฎว่าที่ผู้บริหารติดตามและซื้อตาม insider ก็ทำได้ดีกว่าอยู่ดี
  7. ฝั่งขายก็ได้ผลคล้ายๆกัน  แต่ส่วนต่างแคบกว่า
  8. โดยรวมแล้วผลที่ได้เหมือนจะบ่งชี้ว่าจะมีความสามารถในการตาม insider และแยกแยะได้ว่าการซื้อขายโดย insider ครั้งไหนเป็นตัวบ่งชี้ถึงพื้นฐานบริษัท  ครั้งไหนไม่ใช่
  9. Insider ที่ผู้บริหารกองทุนให้ความสนใจมากสุดจะเป็นพวกที่อยู่ตำแหน่งสูงสุดเช่น CEO, CFO, ประธานคณะกรรมการ  และผู้บริหารที่เกี่ยวกับบัญชี  ในขณะที่จะไม่ค่อยสนใจพวกกรรมการอิสระ

 

ดังนั้นสรุปคือการติดตาม insider แล้วซื้อขายตามก็ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ได้ผล  เพียงแต่คนที่ใช้วิธีนี้ก็ต้องมีวิธีอะไรซักอย่างในการแยกแยะว่าควรตาม insider คนไหน  และครั้งไหนควรซื้อหรือขายตาม insider  ซึ่งผมตอนนี้ก็นึกไม่ออกนะว่าต้องทำยังไงแต่ที่แน่ๆการศึกษานี้มันบ่งชี้ว่าวิธีนี้เป็นไปได้

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses

จะเริ่มลงทุนในหุ้น ควรลงทุนด้วยตัวเอง หรือผ่านกองทุนรวมดี ?

Mutual fund or Decide on your own ?


จะเริ่มลงทุนในหุ้น ควรลงทุนด้วยตัวเอง หรือผ่านกองทุนรวมดี ?

อันนี้คือเราพูดถึงกองทุนหุ้นและไม่พูดถึงสิทธิในการลดหย่อนภาษีนะ ผมว่าระหว่างสองทางเลือกนี้มันก็มีข้อดีข้อเสียแล้วแต่ความชอบและสถานการณ์แต่ละคน จะให้บอกว่าอันไหนดีกว่าอย่างชัดเจนคงยาก ผมแจกแจงประเด็นความได้เปรียบของแต่ละทางเลือกให้ฟังคร่าวๆก่อนละกัน

กองทุนได้เปรียบเรื่อง

  1. การกระจายความเสี่ยงได้ง่ายด้วยเงินที่น้อย
  2. หนึ่งกองทุนมันซื้อหุ้นหลากหลาย ปกติเค้าจะมีกำหนดไม่ให้ถือหุ้นใดหุ้นหนึ่งมากเกินหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกิน ดังนั้นมันเป็นการกระจายความเสี่ยงโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว สมมติเราเลือกหุ้นเองเราก็กระจายความเสี่ยงเองได้แหละโดยการไปเลือกซื้อหุ้นหลายตัว แต่มันก็วุ่นวายกว่าและเพื่อให้ได้การกระจายเท่าๆกองทุนก็ต้องใช้เงินเยอะกว่าเพราะปกติซื้อหุ้นมันซื้อเป็น lot ละ 100 หุ้น

  3. สบายสุดๆ
  4. ซื้อกองทุนคือการให้คนอื่นบริหารเงินลงทุนให้เรา ดังนั้นมันมาพร้อมความสะดวกสบายสุดๆแบบที่เราไม่ต้องดูเลย ในขณะที่เลือกหุ้นด้วยตัวเองต่อให้ทำแบบ DCA เลย ยังไงมันก็ต้องมีการตัดสินใจว่าจะ DCA หุ้นอะไรและยังไงก็ต้องคอยตามผลประกอบการบริษัทที่เราเลือกนั้น

 

ลงทุนในหุ้นเองได้เปรียบเรื่อง

  1. ตัดสินใจเองได้
  2. ตัดสินใจเองได้ก็มีความยืดหยุ่นมากกว่า บางคนอาจจะต้องการซื้อหุ้นเพื่อให้ได้ปันผลสูงระดับหนึ่งและสม่ำเสมอ ถ้าซื้อกองทุนมันก็อาจจะกระจายเกินไปและเลือกไม่ได้ว่าจะ dividend yield กี่ %

  3. คาดหวังผลตอบแทนได้ต่างจากค่าเฉลี่ย
  4. ถ้าเราต้องการผลตอบแทนดีกว่าค่าเฉลี่ยก็คงต้องลงทุนเองแหละ คือซื้อกองทุนรวมก็อาจจะดีกว่าค่าเฉลี่ยได้นะ แต่นั่นมันคือเราแค่โชคดีเฉยๆเพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่ากองทุนไหนจะทำได้ดี ถ้าจะเอาแบบดีกว่าค่าเฉลี่ยแบบไม่ฟลุคก็คือต้องทำเอง

    แต่ผมย้ำนิดนึง ลงทุนเองนี่เราคาดหวังผลตอบแทนที่แตกต่างจากค่าเฉลี่ย สังเกตตรงคำว่าต่างนะ ต่างคืออาจจะดีกว่าค่าเฉลี่ยหรือแย่กว่าก็ได้ มันขึ้นอยู่กับฝีมือเรา อย่าไปเข้าใจว่าลงทุนเองแล้วจะดีกว่าค่าเฉลี่ย

  5. ไม่โดนค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการ
  6. กองทุนมีค่าใช้จ่าย อย่างต่ำๆที่ผมเคยเห็นเป็นกองทุนดัชนี SET50 ค่าธรรมเนียมประมาณ 0.6% ต่อปี ลองนึกดูสมมติปีนึงกองทุนทำผลตอบแทนได้ 5% ค่าธรรมเนียมนี่ก็กินเข้าไปในผลตอบแทนที่ทำได้เกิน 10% ละนะ (0.6%/5% = 12%)

    คิดง่ายๆถ้าสมมติเราฝีมือทำได้เท่ากองทุนรวมเลย ผลลัพธ์สุดท้ายเราจะออกมาดีกว่าเพราะลงทุนเองไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

 

ช่วยตัดสินใจ

ฟังถึงตรงนี้ บางคนก็จะยังมีความลังเลอยู่ดีว่าเอาไงดีวะ ดังนั้นผมช่วยตัดสินใจโดยการแยกประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณาตัวเองออกมาทำให้ตัดตัวเลือกออกง่ายขึ้นครับ

  1. คาดหวังผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยหรือมีโจทย์ในการซื้ออะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า ?
  2. ถ้าคาดหวังผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ย อันนี้แปลว่าคงต้องเลือกลงทุนด้วยตัวเองละ จะด้วยวิธีการแบบไหน DCA หรือไม่ก็แล้วแต่

    หรือถ้ามีโจทย์การซื้อหุ้นอะไรที่เจาะจง ชอบบริษัทอะไรเป็นพิเศษ พวกนี้ก็ต้องลงทุนด้วยตัวเองละ จะด้วย DCA หรือเลือกซื้อด้วยวิธีอะไรก็แล้วแต่

  3. มีเวลาศึกษาหรือไม่มี ?
  4. ถ้ามั่นใจว่าไม่มีเวลามาศึกษาอ่านรายละเอียดบริษัท, ทำการประมาณการผลตอบแทน, ติดตามสถาวะอุตสาหกรรมการแข่งขัน, ฯลฯ อย่างนั้นแปลว่าทางเลือกตัดออกเหลือแค่เลือกหุ้นด้วยตัวเองแต่ลงทุนแบบซื้อเฉลี่ยด้วยเงินเท่ากันสม่ำเสมอไปเลย (DCA)

หวังว่าจะตัดสินใจง่ายขึ้นครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ

https://www.adisonc.com/courses

อัพเดทสถานการณ์และกลยุทธ์ลงทุน – กรกฎาคม 2563

July strategy update: What now ?

อัพเดทสถานการณ์และกลยุทธ์ลงทุน – กรกฎาคม 2563

จากครั้งล่าสุดเราคุยกัน  จนกว่าจะมียาหรือวัคซีนที่แก้ปัญหา COVID-19 แบบขาด  เศรษฐกิจกับตลาดหุ้นในระหว่างนี้ก็จะยังไม่ฟื้น 100% และจะอยู่ในสภาพแบบไหนขึ้นอยู่กับว่าโรคระบาดควบคุมได้ขนาดไหนจำเป็นต้องปิดธุรกิจอีกหรือเปล่ากับระดับความมั่นใจจับจ่ายใช้สอยของคนในสถานการณ์ไม่ปกติ  ถ้าต้องปิดธุรกิจอีกรอบหรือถ้าต่อให้ไม่ต้องปิดแต่คนระมัดระวังจัดไม่ซื้อไม่ใช่เงินเราก็จะอยู่ในสภาพลำบากละ

เมื่อตอนเดือนมิถุนายนข้อมูลมันยังไม่ค่อยชัดเพราะหลายประเทศรวมถึงไทยเพิ่มเริ่มเปิดธุรกิจกลับมาตอนพฤษภาคม  แต่ตอนนี้ดูเหมือนชัดเจนมากขึ้นแล้ว  เราพูดถึงทีละเรื่อง

  1. ควบคุมโรคระบาดได้หรือเปล่า
  2. คำตอบคือไม่ได้  นอกเหนือจากบางประเทศจริงๆอย่างเช่นไทยก็ดูเหมือนจะคุมไม่ได้นะ  บางประเทศที่รอบที่แล้วเราดูว่ายังอาการหนักอยู่อย่าง US ก็หนักขึ้นชัดเจน  ประเทศที่ดูเหมือนคุมได้แล้วก็มีที่เริ่มระบาดกลับขึ้นมาจนบางที่ต้องมีการ lockdown อีกรอบเช่นเยอรมณี, สเปน, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, ฯลฯ

    รอบนี้เท่าที่ดูคือเค้าพยายามจะไม่ปิดเฉพาะบางส่วนให้เร็วก่อนที่จะลามในวงกว้าง  และบางประเทศก็ดูเหมือนจะลังเลที่จะปิดธุรกิจอีกรอบ  แต่ลังเลยังไงถึงจุดหนึ่งถ้าระบาดขึ้นมาเยอะก็ดูเหมือนรัฐบาลก็ไม่มีทางเลือกต้องหยุดธุรกิจ  หรือถ้ายังไงก็จะไม่ปิดก็จะเหมือนบราซิลที่ระบาดรุนแรงและก็มีผลต่อเศรษฐกิจอยู่ดี

     

  3. ประเทศที่คุมสถานการณ์ได้  คนกลับมาจับจ่ายใช้สอยขนาดไหน
  4. โดยรวมหลังจากเปิดธุรกิจกลับมากิจกรรมทางเศรษฐกิจก็โดดกลับขึ้นมาแหละ  และเท่าที่ดูหลายที่ก็ฟื้นกลับขึ้นมาเร็วกว่าที่คาดทั้งนั้น  เช่นฝรั่งเศสกับอิตาลีที่ตัวเลขการผลิตเทียบเดือนเมษายนมาเดือนพฤษภาคมกระโดดขึ้นมาเยอะกว่าที่คาด

    ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไทยเองก็สูงขึ้นชัดเจน

    ค้าปลีกในอังกฤษก็ฟื้นขึ้นมาหลังจากเปิด

    แต่หลังจากที่ฟื้นกระโดดขึ้นมาในตอนแรก  เท่าที่ดูก็ไม่น่าจะฟื้นกลับไปใกล้เคียงเดิม  อันนี้คือดูจากเมือง Wuhan ของจีนที่มีการปิด lockdown ไปแล้วเปิดกลับมาก่อนเพื่อน  จะเห็นว่าค้าปลีก (เส้นสีฟ้า) ฟื้นขึ้นมาจริงแต่ก็ยังห่างกับปีก่อนอยู่มาก  ลบอยู่เกือบ -40% ได้  ต้องคอยดูต่อไปว่าจะฟื้นกลับมาได้เป็นปกติขนาดไหนและใช้เวลานานมั้ย

 

สรุปปิดด้วยคำถามสุดท้ายที่คนชอบถามคือคิดว่าตลาดหุ้นจะตกมั้ย  เอาเป็นว่าผมก็ไม่รู้อนาคต  แต่ถ้าเห็นแบบนี้คือการระบาดยังคุมไม่ได้ยังต้องมีการปิดธุรกิจอีกรอบกับเมืองที่เปิดกลับมาคนก็จะยังไม่กลับมาใช้ชีวิตปกติ  ผลกระทบทางเศรษฐกิจน่าจะรุนแรงกว่าที่ตลาดคาดไว้ตอนแรก  ถ้ากำลังการซื้อไม่กลับมาหรือมีต้องปิดธุรกิจอีกก็คาดว่าจะมีธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางอีกจำนวนพอสมควรที่ปิดกิจการ  แล้วยิ่งตอนนี้กำลังจะรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ยังไงก็ต้องดูเละด้วย  ตลาดหุ้นก็มีโอกาสสูงที่จะตกนะ  แต่คิดว่าคงไม่ใช่ตกแบบ panic นะผมว่า

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses

ที่บอกต้องเข้าใจธุรกิจ สรุปนี่คือต้องรู้ประมาณไหน ?

How much do you need to understand a business to invest well ?

ที่บอกต้องเข้าใจธุรกิจ สรุปนี่คือต้องรู้ประมาณไหน ?

โอเคอันนี้ก็เป็นคำถามที่ดี  ที่ผ่านผมก็ไม่เคยพูดให้ชัดเจนว่าที่บอกสิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจธุรกิจนี่มันคือต้องรู้เรื่องอะไรนะ

เอาจริงๆคือยิ่งเข้าใจมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีแหละ  ถ้าเราเข้าใจเหมือนคน inside ในอุตสาหกรรมนั้นเลยก็ยิ่งยอดเยี่ยม  แต่ทีนี้วีดิโอนี้ผมพูดถึงขั้นต่ำที่สุดที่ต้องรู้ละกันนะ

ไอเดียหลักคือ  เราต้องการจะรู้ว่าบริษัทจะยังทำได้ดีต่อไปในอนาคตหรือเปล่า  จริงๆสุดท้ายเราต้องการรู้เพื่อให้ได้ข้อสรุปแค่นี้แหละ  แม้แต่ที่ผมเคยบอกว่าธุรกิจกลุ่มดีหรือแย่วัดกันที่มีอำนาจในการบังคับผู้บริโภคก็คือต้องการจะดูว่าบริษัทจะยังทำได้ดีต่อไปในอนาคตหรือเปล่า  ดังนั้นองค์ประกอบหลักที่เรายังไงก็ต้องรู้

  1. บริษัทนี่สรุปเค้าขายอะไร  ขายยังไง
  2. คนซื้อเป็นใคร  ซื้อไปทำอะไร  ตัดสินใจซื้อจากอะไร
  3. มีเหตุผลอะไรมั้ยที่คนต้องมาซื้อจากบริษัท  มีหลักฐานอะไรมั้ยว่าคนชอบสินค้าบริษัทมากกว่า  หรือบริษัททำได้ดีกว่าคู่แข่ง
  4. สภาพของอุตสาหกรรมโดยรวมเป็นไงบ้าง  มีเรื่องอะไรที่จะมีผลต่อบริษัทได้บ้าง
  5. บริษัทเร็วๆนี้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างและกำลังวางแผนจะทำอะไรอยู่

หลักๆที่นึกออกก็ประมาณนี้  ที่เหลือคือมันจะไปยากตอนทำจริงละว่าจะหาข้อมูลได้ขนาดไหน  ถึงได้บอกว่าถ้าเป็นไปได้ลงทุนในธุรกิจที่เราคุ้นเคยและเห็นภาพจะดีกว่าเพราะเราได้เปรียบในการทำความเข้าใจน่ะครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses

อันไหนดีกว่ากัน ซื้อหุ้นดีมาก ราคาตกนิดเดียว กับ ซื้อหุ้นพอใช้ได้ ราคาตกเยอะ ?

Which is better ? Great company at decent discount or decent company at great discount

อันไหนดีกว่ากัน ซื้อหุ้นดีมาก ราคาตกนิดเดียว กับ ซื้อหุ้นพอใช้ได้ ราคาตกเยอะ ?

อันนี้ยากจริง  ตอบตามตรงเลยคือผมก็ไม่รู้ครับว่าทำแบบไหนผลสุดท้ายจะออกมาดีกว่ากัน

ผมเองก็มีลังเลนะ  คือถ้าเลือกบริษัทที่เข้มแข็งมากและดูแล้วรอดจากวิกฤติแน่นอนอาจเพราะจริงๆไม่ค่อยได้รับผลกระทบตั้งแต่แรก  ข้อดีมันก็คือรอดแน่นอนซึ่งก็หมายความว่ากำไรแน่นอนด้วย  แต่จุดที่เสียเปรียบมีอยู่นิดนึงคือส่วนใหญ่หุ้นพวกนี้มันจะตกไม่เยอะตั้งแต่แรก  ดังนั้นในระยะสั้นช่วงที่มันฟื้นจากวิกฤติก็จะไม่ได้กำไรเยอะเท่าไหร่เทียบกับอีกทางเลือกนึง  แต่ถ้ามองในระยะยาวหลายปีแล้วมันก็จะดีกว่าแน่นอนเพราะบริษัทที่เข้มแข็งมากกว่าปกติมันก็จะเติบโตดีกว่าด้วย

แต่ถ้าเลือกพวกบริษัทที่เข้มแข็งกลางๆแต่ราคาตกเยอะ  ความได้เปรียบมากอย่างนึงคือคือถ้ามันรอดช่วงวิกฤติมาเราก็จะกำไรกระโดดพรวดขึ้นเลยในช่วงสั้นๆจากการที่ราคามันวิ่งกลับมาที่เดิมก่อนวิกฤติ  แต่ข้อที่ต้องระวังคือไม่รู้จะรอดมั้ยหรือรอดมาแบบบอบช้ำขนาดไหน  และจุดบอดสำคัญคือในระยะยาวหลายปีแล้วมันจะแพ้เพราะบริษัทมันเข้มแข็งสู้ไม่ได้ปกติการเติบโตมันก็จะสู้ไม่ได้ไปด้วย

โดยสรุปก็คือเลือกระหว่าง  ชอบชัวร์กว่าแล้วก็ซื้อไปไม่ต้องทำอะไรเยอะถือยาวไปเลย  กับชอบความตื่นเต้นซื้อไปเสร็จซักพักผ่านวิกฤติอาจจะต้องขายออกมาไปลงทุนในอย่างอื่น

หรืออีกแบบนึงถ้าไม่ได้ว่าต้องเลือกซื้อแค่แบบใดแบบหนึ่ง  มองในเชิงกลยุทธ์ที่จะกำไรสูงสุดนะ  ก็คือต้องซื้อแล้วขายออกมาตามลำดับประมาณนี้

  1. ซื้อบริษัทที่เข้มแข็งมากแต่ตกไม่เยอะก่อน  เพราะพวกนี้โดยปกติจะฟื้นเร็วกว่า  ขายเมื่อฟื้นมาแล้ว
  2. ซื้อบริษัทที่กลางๆแต่ราคาตกเยอะต่อ  พวกนี้มักจะโดนผลกระทบจังๆหรือไม่งั้นก็ไม่เข้มแข็งเท่าดังนั้นโดยปกติราคาจะฟื้นช้ากว่า  แล้วก็ขายเมื่อฟื้นมาแล้วเช่นกัน
  3. กลับไปซื้อบริษัทที่เข้มแข็งมากอีกที  ในเวลานี้สถานการณ์น่าจะปกติละดังนั้นระยะยาวบริษัทพวกที่เข้มแข็งมากได้เปรียบ

แต่นี่คือในอุดมคติสุดๆจังหวะดีสุดๆ  ในความเป็นจริงมันก็จะไม่ง่ายขนาดนี้แน่นอน

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมาคือซื้อที่เข้มแข็งมากไว้ก่อนมักจะออกมาดีกว่า  เพราะเวลาไปซื้อกิจการที่เข้มแข็งกลางๆนี่มันมักจะมีอะไรผิดคาดมา surprise เราบ่อย  แล้วมักจะ surprise ในทางไม่ดีด้วยนะ  แล้วมันก็จะมาถ่วงพอร์ตเรา  ดังนั้นถ้าเป็นผมแนะนำก็ซื้อกิจการที่มันเข้มแข็งมากไว้ก่อนดีกว่าครับ  แต่อันนี้ก็ยอมรับว่าผมก็มีลงทุนในบริษัทที่ชัดเจนว่าเสี่ยงมากกว่าเพราะคาดหวังผลตอบแทนสูงกว่าอยู่เหมือนกันครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses