ตลาดจะลงต่อมั้ยหรือจะฟื้น? | ซื้อตอนนี้เลยมั้ยหรือรอก่อนดี? | ซื้อเยอะๆ หรือซื้อแค่นิดเดียวก่อน

General questions about how much to buy and whether to wait

ตลาดจะลงต่อมั้ยหรือจะฟื้น? | ซื้อตอนนี้เลยมั้ยหรือรอก่อนดี? | ซื้อเยอะๆ หรือซื้อแค่นิดเดียวก่อน

ช่วงนี้มีคนถามหลากหลายเรื่องควรจะซื้อหุ้นเลยมั้ยหรือควรจะรอ  หรือควรจะซื้อบางส่วนแล้วกันไว้บางส่วน หรือควรจะขายก่อนมั้ยแล้วค่อยกลับเข้าไปซื้อตอนราคาตกไปเยอะๆ  ฯลฯ วีดิโอนี้ผมรวบรวมคำถามลักษณะนี้มาตอบครับ

แต่เอาจริงๆเป็นอะไรที่ตอบยากมากเลยนะครับ  เวลาผมลงทุนเองก็มีคิดลังเลกับคำถามแบบนี้เหมือนกัน  บอกไว้ก่อนเลยว่าสิ่งที่ผมตอบมันจะเป็นความเห็นส่วนตัวเป็นหลัก  สิ่งที่ผมตอบคือจะพยายามช่วยจัดลำดับความคิดให้คุณเท่านั้นเอง ไม่ได้จำเป็นที่คุณจะต้องเชื่อหรือเห็นด้วยหรือทำเหมือนกันนะ  เพราะมันไม่มีใครรู้อนาคตไง และดังนั้นเรื่องพวกนี้มันก็เลยไม่มีถูกผิด มันมีแค่คุณสบายใจจะทำแบบไหนเท่านั้นเอง

 

ตลาดหุ้นจะตกต่อมั้ยหรือว่ามันจะฟื้น ?

คำตอบ : ผมไม่รู้ครับ  และไม่มีใครรู้จริงๆหรอกครับ  ทุกคนก็ได้แต่เดาเท่านั้น

ถ้าสมมติต้องให้เดาจริงๆ  ในความเห็นผมคือเชื่อว่าน่าจะตกต่อนะ  หลักๆแล้วเพราะการระบาดในอเมริกายังไม่จบและน่าจะรุนแรงมากขึ้น  หุ้นตลาด US ก็น่าจะตกและทำให้ตลาดหุ้นอื่นทั่วโลกผวาไปด้วย กับเหตุผลรองลงมาคือคิดว่าผลของ lockdown หรือการให้คนอยู่กับบ้านจะมีผลกับธุรกิจหลายอย่าง  ซึ่งถึงแม้จะเชื่อว่าชั่วคราวแต่ก็คิดว่าน่าจะรุนแรงอยู่ ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาน่าจะเละ

 

ควรจะซื้อหุ้นตอนนี้เลยมั้ย  หรือควรจะรอให้มันตก ?

คำตอบ : เราต้องมีเกณฑ์ในใจและยึดปฏิบัติตามนั้นครับไม่งั้นเราจะงงมาก  เนื่องจากเราไม่รู้เลยว่าหุ้นจะตกต่ำลงไปอีกจริงหรือเปล่า แล้วสมมติเกิดว่ามันตกลงมาเพิ่มละ  แล้วตรงนั้นควรจะซื้อเลยมั้ย มันก็จะถามไปได้เรื่อยๆไม่มีวันจบถ้าเราไม่มีเกณฑ์ในใจว่าสรุปราคาที่เราอยากได้คือเท่าไหร่กันแน่  มันต้องกำหนดเกณฑ์ตัวนี้ให้ได้น่ะครับ

คำว่ากำหนดเกณฑ์นี่คือมันจะเป็นตัววัดอะไรก็ได้เลยที่คุณตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าควรจะ take action อะไรหรือเปล่า  เอาที่มันสมเหตุสมผลสำหรับคุณก็คือใช้ได้ เช่น

  • บางคนอาจจะใช้ตัวมูลค่าที่แท้จริงที่มาจากการทำ Discounted Cash Flow เป็นตัววัด  และเกณฑ์คือจะเริ่มซื้อถ้าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่คิดได้ซัก 20% และอาจจะซื้อเพิ่มถ้ามันตกลงไปอีก
  • ตัวผมใช้ Projected Return หรือผลตอบแทนคาดหวังเป็นตัววัด  เกณฑ์คือถ้าหุ้นเป็นบริษัทที่เราชอบธุรกิจและผลตอบแทนคาดหวังของการถือหุ้นนี้สูงกว่า 15% ต่อปีก็จะเริ่มซื้อ
  • คุณพ่อผมใช้ Average P/E ของทั้ง SET ย้อนหลัง 10 ปีเป็นตัววัด  และเกณฑ์คือถ้า P/E ปัจจุบันของ SET ต่ำกว่า Average P/E นั้นเค้าจะเริ่มซื้อกองทุนดัชนี SET  และจะเริ่มซื้อมากขึ้นแบบ accelerated ถ้ายิ่ง P/E ปัจจุบันต่ำกว่า Average P/E เยอะขึ้นเรื่อยๆ
  • บางคนก็อาจจะใช้ตัววัดคือราคาตกจาก peak กี่ % ภายในระยะเวลาเท่าไหร่  เกณฑ์อาจเป็นถ้าราคาตกจาก peak ก่อนหน้านี้ 20% ภายในระยะเวลา 1 ปีจะเริ่มซื้อ
  • บางคนอาจจะใช้ Dividend Yield เป็นตัววัด  เกณฑ์คือต้องเป็นธุรกิจที่ชอบและที่ผ่านมาจ่ายปันผลทุกปีและถ้า Dividend Yield สูงกว่า 4% จะเริ่มซื้อ

อะไรแบบนี้เป็นต้น  สรุปคือเกณฑ์มันจะเป็นอะไรก็ได้เลยเอาให้เราเป็นคนกำหนดเองและยึดปฏิบัติตามได้ก็โอเคละ  และด้วยเกณฑ์ที่ชัดเจนนี้คำถามที่บอกว่าตอนนี้ควรซื้อเลยมั้ยหรือรอมันก็จะหายไป ถ้ามันถึงเกณฑ์ของคุณแล้วคุณก็ซื้อและถ้ามันยังไม่ถึงเกณฑ์คุณก็รอต่อไปก็เท่านั้นเอง

 

แล้วถ้าซื้อ  ควรซื้อแค่นิดเดียวแล้วรอตกเพิ่มมั้ยหรือซื้อเยอะๆไปเลยดี ?

คำตอบ : อันนี้แล้วแต่  ผมแนะนำให้ลองถามตัวเองดูว่าระหว่างอันไหนจะเซ็งมากกว่ากัน

  1. ซื้อนิดเดียวแล้วมันไม่ตก  ราคากลับขึ้นไปอย่างรวดเร็ว  อดซื้อหรือซื้อได้น้อย
  2. ซื้อเยอะแล้วมันตก  ซื้อเพิ่มได้น้อยเพราะเงินเหลือไม่เยอะ  พลาดโอกาสซื้อของดีราคาถูก

พอรู้ตัวว่าอันไหนแย่กว่า  ก็ทำตัวสอดคล้องน่ะแหละครับ  อย่างสมมติถ้าเป็นผม ผมรู้ตัวเลยว่าจะเซ็งกว่ามากถ้าซื้อไว้นิดเดียวแล้วปรากฎว่าราคามันขึ้นพรวดไปแล้วอดซื้อ  เพราะผมมองว่าโอกาสตลาดตกแบบนี้มีไม่บ่อยหลายปีจะมีทีนึง และต่อให้เราซื้อมาแล้วราคามันตกไปอีกก็ไม่เป็นไรมากเพราะซื้อตอนนี้ก็กำไรดีมากละ  ดังนั้นผมก็จะเทไปทางซื้อเยอะไว้ก่อนให้ไม่ต้องเสียดายทีหลัง มีเก็บเงินสดไว้ซื้อเพิ่มอีกไม่เยอะประมาณ 20-30% ของเงินสดทั้งหมดที่มีตอนแรกไว้ซื้อเพิ่มเผื่อที่ซื้อไปแล้วตกลงไปอีกซัก 15-20% หรือไม่งันก็ซื้อหุ้นอื่นที่ตอนแรกอาจจะยังตกไม่เยอะแต่อาจตกเยอะจนน่าสนใจในภายหลัง

ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็แนะนำว่าทำที่คุณรู้สึกสบายใจแหละ  และถ้าเป็นไปได้กำหนดกฎเอาไว้ล่วงหน้าเลยว่าจะซื้อกี่ % ของเงินที่มี  สำรองไว้ซื้อตอนถูกลงกี่ % แล้วที่ว่าถูกลงจะซื้อเพิ่มนี่คือถูกลงแค่ไหน  ซื้อเพิ่มแต่ละครั้งซื้อเท่าไหร่ แบบนี้เมื่อเวลาสถานการณ์จริงเกิดขึ้นจะได้ไม่ต้องสับสนคิดเยอะ

 

ช่วงนี้ตลาดตก  ควรจะขายหุ้นออกมาก่อนแล้วกลับเข้าไปซื้อใหม่ตอนมันตกมามั้ย ?

คำตอบ : คล้ายๆกับข้อข้างบน  ก็คือในเมื่อไม่มีทางรู้อนาคต  ก็ลองถามตัวเองว่าอันไหนรับไม่ได้มากกว่ากันระหว่าง

  1. ขายแล้วปรากฎว่ามันไม่ตก  ราคากลับขึ้นไป อดซื้อกลับเข้าไปหรือไม่ก็ซื้อกลับมาแพงกว่าเดิม
  2. ไม่ขายแล้วปรากฎว่ามันตกลงไปอีก  เสียโอกาสตรงที่ถ้าออกมาก่อนก็จะมีเงินสดเยอะขึ้นและกลับเข้าไปซื้อได้ถูกลง

อันไหนรู้สึกแย่กว่าก็อย่าไปทำอันนั้น  อย่างถ้าเป็นผมนี่เคยเจอประสบการณ์ตรงเลยว่าขายหุ้นบริษัทนึงออกมาด้วยความเชื่อว่าเดี๋ยวราคามันจะตกลงมาอีกแล้วน่าจะได้ซื้อราคาถูกลง  ตอนนั้นขายมีกำไรประมาณ 15% ผลปรากฎว่ามันไม่ตกและผมก็พลาดหุ้นที่ถ้าถือจะกำไร 4 เท่าไป หลังจากนั้นมาเลยมีนโยบายว่าจะไม่เดาทิศทางตลาดหรือขายบริษัทที่เราคิดว่าซื้อมาถูกต้องแล้วแค่เพราะหวังว่าจะซื้อได้ถูกลงละครับ

แต่แน่นอนว่าคุณก็ไม่ต้องทำตามผมก็ได้  อาจจะขายบางส่วนเก็บไว้บางส่วนก็ได้ เอาที่ทำแล้วรู้สึกว่าสบายใจก็ทำอันนั้นแหละ  ไม่มีผิดไม่มีถูกอยู่แล้วครับเรื่องนี้

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตลาดหุ้นไทย SET ตอนนี้ถูกแล้วหรือยัง ? จะดูจากอะไร ?

Is SET cheap at the moment ? How to know ?

ตลาดหุ้นไทย SET ตอนนี้ถูกแล้วหรือยัง ? จะดูจากอะไร ?

ก็ถ้าถามผมก็คิดว่าตอนนี้ราคาถูกนะ  แต่สมมติถ้าเอาแบบไม่อาศัยความรู้สึกจะดูยังไง  ผมก็เสนอว่าให้ดู P/E ของทั้ง SET ตอนนี้เทียบกับ P/E เฉลี่ยของ SET ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาดีมั้ยครับ  จะได้ทำให้เราเห็นภาพคร่าวๆว่าตอนนี้ตลาดหุ้นโดยรวมราคาถูกแล้วหรือยัง

อย่างแรกไปดู P/E ปัจจุบันของ SET ก่อน https://marketdata.set.or.th/mkt/marketsummary.do?language=th&country=TH

แล้วก็เทียบกับช่วงที่ผ่านมา  สามารถไปโหลด P/E ย้อนหลังของ SET ได้ที่ https://www.set.or.th/en/market/market_statistics.html

ตัวเลขที่ได้คือ

P/E ปัจจุบัน (วันที่ 24 มีนาคม 2020)11.99 เท่า
P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2015)18.81 เท่า
P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2010) 17.27 เท่า
P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 20 ปี (ตั้งแต่ปี 2000)14.13 เท่า

 

แบบนี้ก็น่าจะสรุปได้ว่า SET ในเวลานี้ถูกเมื่อเปรียบเทียบกับเฉลี่ยช่วงหลายปีที่ผ่านมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านับช่วง 5-10 ปีนี้ ซื้อ SET ตอนนี้ก็เหมือนมี discount เยอะอยู่

เทียบกับเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี-36.26%
เทียบกับเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี-30.57%
เทียบกับเฉลี่ยย้อนหลัง 20 ปี-15.15%

 

ใครอยากดูเทียบด้วยอัตราส่วนอื่นอย่าง P/BV หรือ Dividend Yield ก็ลองทำดูก็ดีนะ  ข้อมูลก็เอาจากหน้าเดียวกันนี่แหละครับ

แต่บอกไว้ก่อนว่าคำว่า SET ตอนนี้ถูกไม่ได้แปลว่า SET มันจะไม่ตกไปอีก  มันอาจจะถูกลงไปอีกก็ได้ ในตารางเราก็เคยเห็นว่ามีบางช่วงที่ P/E ของ SET ต่ำเลขตัวเดียวก็มี  ไม่มีใครบอกได้ว่าจะต่ำสุดที่เท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆคือตอนนี้ถือว่าหุ้นโดยรวมราคาถูกแล้วและเป็นเวลาที่ดีที่จะซื้อหุ้นครับ  ถ้าขี้เกียจเลือกจะซื้อกองทุนรวม SET100 หรือ SET50 เลยผมก็เชื่อว่าในอนาคตผลลัพธ์จะออกมาดีกว่าอยู่เฉยๆแน่นอนครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

วิธีประเมินมูลค่าหุ้น อันไหนดีสุด ?

What is the best valuation method ?

วิธีประเมินมูลค่าหุ้น อันไหนดีสุด ?

มีคนถามเกี่ยวกับวิธีประเมินมูลค่าหุ้นว่าวิธีไหนดีสุด  วันนี้เราเลยถือโอกาสอธิบายให้เห็นภาพว่าวิธีประเมินมูลค่าหุ้นมันมีอะไรบ้าง  แต่ละอันต่างกันอย่างไร และวิธีไหนดีที่สุดครับ  

หัวข้อนี้เป็นเนื้อหาที่ผมสอบ CFA Level 2 ผ่านไปแล้วพอดี  ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้มันเยอะเนื้อหามีเป็นเล่มเลยครับ แต่ผมจะพยายามอธิบายมันคร่าวๆละกันนะ

วิธีประเมินมูลค่าบริษัทมันจะแบ่งเป็น

  1. Income approach หรือ Present value models
  2. ไอเดียหลักคือมูลค่าของทรัพย์สินมันควรจะคิดจากผลประโยชน์ที่เราคาดว่าจะได้รับจากการที่เราเป็นเจ้าของมัน  ดังนั้นถ้าเราประมาณการผลประโยชน์ที่เราคาดว่าจะได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วคิดลดผลประโยชน์เหล่านั้นทั้งหมดกลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน  ตัวเลขที่ได้มาจากการคำนวณก็ควรจะเป็นมูลค่าของทรัพย์สินนั้น

    วิธีการกลุ่มนี้มันก็จะมีแยกย่อยออกไปอีกและแต่ละวิธีก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก  อันหลักๆที่ได้รับความนิยมก็จะเป็น

    • คิดลดตัวปันผล (Discounted Dividend)  ตรงไปตรงมาสุด ข้อมูลมีอยู่แล้วด้วย แต่มันก็จะมีปัญหากับบริษัทที่ไม่จ่ายปันผล  หรือจ่ายปันผลห่างจากกำไรสุทธิที่ทำได้เยอะมาก
    • คิดลดความสามารถในการจ่ายปันผล (Discounted Free Cash Flow)  Free Cash Flow นี่หมายถึงกระแสเงินสดที่มาจากการดำเนินงานและหักส่วนที่ต้องใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนและลงทุนในสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจแล้ว  อันนี้ก็ออกมาแก้ความเสียเปรียบของการคิดลดตัวปันผล ในทางคอนเซปต์ก็เหมาะสมมากใช้ได้กับหุ้นที่จ่ายและไม่จ่ายปันผล แต่ข้อเสียคือข้อมูลมันไม่มีต้องทำการบ้านเยอะ  ปกติที่ต้องใช้การเดาอยู่แล้วยิ่งต้องเดาเยอะขึ้นไปอีก มีทำกัน 2 แบบหลักๆคือคิดลดตัว Free Cash Flow to Equity กับ Free Cash Flow to the Firm  

    สำหรับคนต้องการรายละเอียดวิธีทำเราเคยมีอธิบายไว้ในวีดิโออื่น

    https://youtu.be/vNQ7KMoAZDY

    https://youtu.be/GJwSPsFFdWg

    https://youtu.be/t5nIoL5-GiE

    โดยภาพรวมของวิธีการนี้ข้อดีคือหลักการมันถูกต้องสุดละ  แต่ข้อเสียคือมันมีตัวแปรที่ยากมากอยู่สองเรื่องคือการประมาณการผลประโยชน์ที่เราคาดว่าจะได้รับในอนาคต  และอัตราผลตอบแทนที่ใช้ในการคิดลดซึ่งโดยหลักการแล้วควรจะต้องเป็นผลตอบแทนที่สะท้อนความเสี่ยงของทรัพย์สินนั้นซึ่งก็มีหลายทฤษฎีอีกว่าควรจะคิดมายังไง

     

  3. Market approach หรือ Pricing multiples
  4. ไอเดียหลักมาจาก Law of one price ซึ่งบอกว่าของที่เหมือนๆกันในตลาดก็ควรจะมีราคาขายเท่าๆกัน

    หรือว่าง่ายๆคือวิธีการก็คือดูว่าโดยเฉลี่ยกลุ่มบริษัทหรือกลุ่มทรัพย์สินที่ลักษณะใกล้เคียงกับอันที่เราสนใจมันขายกันอยู่ในตลาดเท่าไหร่แล้วมาเทียบกันกับอันที่เราสนใจ  วิธีการกลุ่มนี้ก็มีหลากหลายเช่นกัน แต่ที่นิยมใช้ส่วนใหญ่ก็คือการเทียบราคาหุ้นกับปัจจัยพื้นฐานบางอย่างของบริษัทว่าเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ เช่นราคาเทียบกับกำไร (P/E), ราคาเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (P/B), ราคาเทียบกับยอดขาย (P/S), ราคาเทียบกับปันผล (Dividend yield)  หรือไม่ก็เทียบราคาของทั้งบริษัท (Enterprise Value) กับ EBITDA อันนี้คล้ายๆกับ P/E แหละแต่ต่างตรงที่มองจากมุมมองของทั้งบริษัทไม่ใช่เฉพาะจากมุมมองของผู้ถือหุ้น

    โดยภาพรวมวิธีการนี้ข้อดีคือมันใช้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้วในตลาดไม่ต้องอาศัยการเดาตัวเลขในอนาคต  แต่ข้อเสียคือมันประเมินมูลค่าของบริษัทในเชิงเปรียบเทียบ ถ้าสมมติฐานที่บอกราคาตลาดเหมาะสมแล้วไม่เป็นจริงปุ๊บการประเมินมูลค่าก็อาจจะเพี้ยน  เช่นถ้าตลาดโดยเฉลี่ยแล้วแพงเกินไปทั้งตลาด ต่อให้หุ้นที่เราสนใจดูถูกเมื่อเทียบกับตลาดก็ไม่ได้แปลว่าหุ้นมันราคาถูก มันอาจจะราคากลางๆเหมาะสมแล้วหรือจริงๆยังแพงไปก็ได้  ตัวอย่าง Dotcom bubble ในอเมริกางี้

     

  5. Asset-based approach
  6. ไอเดียหลักคือไปดูว่าบริษัทมีทรัพย์สินอะไรมูลค่าเท่าไหร่แล้วก็หักหนี้สินออกไปได้มาเป็นมูลค่าของบริษัท

    วิธีการนี้มีที่ใช้จำกัด  โดยปกติเค้าจะใช้กับบริษัทที่กำลังจะเลิกกิจการกำลังจะขายทรัพย์สินจ่ายหนี้แล้วคืนเงินให้กับผู้ถือหุ้น  หรือไม่ก็ใช้กับบริษัทที่ทำธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติเช่นเหมือง, ทำป่าไม้, ฯลฯ เช่นดูว่าแร่ที่มีอยู่ในเหมืองมีจำนวนเท่าไหร่  คาดว่าราคาตลาดที่จะขายได้คือเท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายในการขุดแร่พวกนี้ขึ้นมาเท่าไหร่

 

ทีนี้อันไหนดีสุด  ส่วนตัวแล้วผมก็จะบอกว่าวิธีการแบบที่ 1 ที่ทำการคิดลดผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตเนี่ยแหละครับคือดีสุดละ  ถึงแม้ว่ามันจะมีความยากและมีจุดบอดเรื่องตัวแปรที่ใช้ก็ตาม แบบที่ 3 มันชัดเจนอยู่แล้วว่าใช้ได้จำกัด ส่วนแบบที่ 2 ผมก็เห็นอยู่ว่ามันมีจุดบอดตรงสมมติฐานว่าตลาดถูกต้องและเหมาะสมแล้ว

ปัจจุบันนี้คนในวงการส่วนใหญ่เห็นด้วยตรงกันว่าวิธีคิดลดความสามารถในการจ่ายปันผล (Discounted Free Cash Flow) ดีกว่าการคิดลดปันผล (Discounted Dividend)  แต่ปัจจุบันวิธีที่ผมใช้อยู่เป็นหลักคือ Discounted Dividend แต่เปลี่ยน terminal value แทนที่จะคิดแบบปันผลโตไป infinity ผมใช้ Price multiple แทน ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะผมรู้สึกว่ามันง่ายกว่าที่จะไปประมาณ Free Cash Flow และสุดท้ายวิธีการไหนมันก็อาศัยการทำนายอนาคตซึ่งไม่มีทางแม่นยำอยู่ดี  ดังนั้นผมเห็นการประเมินมูลค่าหุ้นว่ามีไว้เพื่อให้เราพอจะบอกได้คร่าวๆเท่านั้นเองว่าตอนนี้ราคาหุ้นมันถูกหรือแพง ไม่ได้มีไว้เพื่อคำนวณให้ได้ตัวเลขเป๊ะๆ

สรุปคือมันไม่มีวิธีอะไรที่ทำให้เราทำนายอนาคตได้  ผมถึงบอกเสมอว่าอย่าไปกังวลกับวิธีการประเมินมูลค่าหุ้นมากนัก  คุณก็ใช้วิธีการที่รู้สึกว่ามันสมเหตุสมผลสำหรับคุณน่ะแหละ แล้วเอาเวลาไปศึกษาทำความเข้าใจตัวธุรกิจของบริษัทดีกว่า  มีประโยชน์กว่ากันเยอะครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

Sales Growth อย่าลืมดูด้วยว่าโตจากไหน

Don't Forget to Check the Source of Sales Growth

Sales Growth อย่าลืมดูด้วยว่าโตจากไหน

การที่บริษัทเติบโตโดยรวมเป็นเรื่องดีแหละครับ  ยอดขายเติบโตก็ต้องเป็นอะไรที่ดีกว่ายอดขายตกแน่นอน  แต่ทีนี้จากที่เคยเจอคือการเติบโตมันมีรายละเอียดที่เราควรสังเกตอยู่เหมือนกัน

วีดิโอหัวข้อนี้เราจะพูดถึงว่าการเติบโตมันมีอยู่สองแบบคือที่มาจากบริษัทโตด้วยตัวเอง (organic growth) กับโตจากการควบรวมกิจการ (inorganic growth)

การเติบโตจากกิจกรรมของบริษัทเอง  ซึ่งอาจจะหมายถึงการขยายสาขาหรือการเพิ่มสินค้ากลุ่มใหม่ที่บริษัทไม่เคยทำมาก่อนด้วย  ไม่ได้มีความหมายเดียวกับ Same-store-sales-growth นะ

ส่วนการโตจากการควบรวมกิจการก็ตามชื่อคือบริษัทโตจากการซื้อกิจการของคนอื่นมา

รายละเอียดว่าบริษัทโตเองหรือโตจากการซื้อกิจการโดยปกติจะหาได้อยู่บนรายงานประจำปี

ในกรณีที่เราเห็นว่าการเติบโตของบริษัทมาจากโตเอง  อันนี้ผมจะมองเป็นเรื่องดี มันเป็นสัญญาณว่าธุรกิจหลักของบริษัทยังเติบโตอยู่และผู้บริหารน่าจะบริหารได้ดี

แต่ถ้ากรณีที่เราเห็นว่าการเติบโตมาจากการซื้อกิจการเป็นหลัก  อันนี้ก็ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ แต่จะเริ่มน่ากลัวขึ้นละ เพราะว่า

  1. การซื้อกิจการมักจะแพง
  2. โดยไอเดียคือถ้าบริษัทที่ถูกซื้อเป็นบริษัทที่ทำได้ดีมากอยู่บริษัทก็ต้องใช้เงินเยอะในการซื้อเทียบกับกำไรที่บริษัทที่ถูกซื้อทำได้  เพราะแน่นอนว่าเจ้าของเดิมก็จะยอมขายให้คนอื่นในราคาถูกอยู่แล้ว หลายครั้งก็จะต้องมีการกู้ยืมเงินธนาคารมาเพื่อซื้อกิจการ และทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น

  3. หรือไม่งั้นก็ไม่แพงแต่เป็นธุรกิจที่เจ้าของเดิมทำแล้วไม่เวิร์คเค้าเลยยินดีขาย
  4. ไม่ว่าจะซื้อมาถูกหรือแพงก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นว่าต้องทำให้บริษัทที่ซื้อมาเวิร์คกว่าที่คาด

และหลายๆครั้งมันก็ไม่ง่าย  บางทีก็เรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เหมือนกัน  บางทีก็ต้องหาวิธีให้สินค้าขายด้วยกันได้ ฯลฯ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าซื้อกิจการจะไม่ดีนะ  มันมีข้อดีเหมือนกัน

  1. โตเร็วกว่ากันเยอะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าซื้อมาแล้วบริหารได้ดี
  2. ถ้าเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันก็จะได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่ม
  3. ถ้าเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมใกล้เคียงที่บริษัทไม่เคยทำก็จะได้ know how ไม่ต้องเสี่ยงลองเอง

ดังนั้นเวลาเจอกรณีที่บริษัทมีการเติบโตจากการซื้อกิจการและเป็นการซื้อกิจการที่ค่อนข้างใหญ่มีสาระสำคัญหรือมีการซื้อกิจการบ่อยๆต่อเนื่องหลายปี  ผมเสนอให้พยายามสังเกตเรื่องต่อไปนี้

  1. การเติบโตของบริษัท  เป็นผลมาจากการซื้อกิจการอย่างเดียวเลยหรือเปล่า
  2. บริษัทที่ซื้อเป็นบริษัททำอะไร  ดูมันสมเหตุสมผลกับธุรกิจหลักของบริษัทหรือเปล่า
  3. ถ้าเคยซื้อกิจการมาก่อนในอดีต  ที่ซื้อมาแล้วเป็นยังไง
  4. กรณีที่เป็นการซื้อขนาดใหญ่อาจจะควรกะผลกระทบที่เกิดกับผลประกอบการของบริษัทไว้ซักนิดนึง  ซื้อมาด้วยจำนวนเงินเท่าไหร่ มีการกู้ยืมเงินมั้ยดอกเบี้ยเป็นเท่าไหร่ กำไรที่บริษัทเป็นเจ้าของเป็นเท่าไหร่

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

วิธีกะหุ้น ถูก แพง : ง่ายสุดที่คิดออกละ!

Approximate a Stock's Value : Easiest Way I Can Think Of!

วิธีกะหุ้น ถูก แพง : ง่ายสุดที่คิดออกละ!

ผมเจอคนถามหลายทีละเรื่องวิธีการคำนวณมูลค่าดูว่าหุ้นถูกหรือแพง  และพอตอบไปด้วย Discounted Dividend ปุ๊บก็ดูเหมือนหลายคนแทนที่จะดูว้าวกลายเป็นดูซึมไป  วันนี้เลยลองหาวิธีแบบง่ายสุดๆเท่าที่นึกออกมาครับ

ไอเดียคือมันเป็นวิธีการที่บอกว่าถูกหรือแพงแบบคร่าวมาก  เหมือนแทนที่จะบอกว่าคนอ้วนหรือผอมโดยการวัดน้ำหนักเราก็ใช้กะเอาด้วยสายตาแทน  ซึ่งมันก็จะแม่นยำน้อยกว่าแน่นอนและใช้ได้ในกรณีที่มันถูกหรือแพงไปอย่างชัดเจน แต่ข้อดีคือมันง่าย

ผมเสนอให้เริ่มจากดูอัตราส่วนผลตอบแทนกำไรต่อหุ้นที่บริษัททำได้เทียบกับราคาที่เราซื้อ  ซึ่งก็คือส่วนกลับของ p/e น่ะแหละ อย่างเช่นสมมติ p/e 20 เท่าก็จะเท่ากับ e/p ที่ 5% หรือถ้า p/e 17 เท่าก็จะเท่ากับ e/p 5.88%  พอทำตัวเลขออกมาเป็น % ผลตอบแทนแบบนี้มันก็จะดูง่ายกว่า

ตรงนี้อาจจะดูอัตราปันผลตอบแทน (dividend yield) ด้วยก็ได้แล้วแต่คน

แล้วต่อมาก็ดูอัตราการเติบโตของกำไรกับความสม่ำเสมอของมัน  เทียบเอาแบบง่ายๆบนเวป SET ก็ได้ครับ

สุดท้ายก็คือเทียบกับผลตอบแทนอย่างอื่นที่เราหาได้ว่าแบบนี้มันน่าจะเรียกว่าถูกหรือแพง

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

DCA แล้วพอร์ตติดลบ ต้องดีใจสิ!

Negative DCA Port? You should be celebrating!

DCA แล้วพอร์ตติดลบ ต้องดีใจสิ!

ล่าสุดมีคนมาถามเรื่องนี้  เค้าบอกว่าทำ DCA มา 2 ปีละแต่เห็นว่าพอร์ตการลงทุนขาดทุนเลยเกิดความกังวลว่ามันผิดปกติหรือเปล่าแล้วเค้าควรจะทำ DCA ต่อมั้ย  ผมอยากจะตอบเค้าเลยว่าจริงๆเค้าควรจะดีใจเลยนะที่พอร์ตขาดทุนและเค้าสมควรทำ DCA ต่อมาก วันนี้ผมเลยมาอธิบายเรื่องนี้ครับ

 

DCA คืออะไรและทำไปเพื่ออะไร ?

ไอเดียของการทำ DCA มันมาจากความเชื่อว่าความพยายามในการกะจังหวะซื้อขายหุ้นไม่ว่าจะด้วยการดูธุรกิจอ่านงบการเงินแบบพื้นฐานหรือการดูกราฟแบบเทคนิคเป็นอะไรที่เสียเวลาและไม่มีประโยชน์  สิ่งที่ควรทำคือตัดอารมณ์ของคนออกไปจากการตัดสินใจซื้อหุ้น ด้วยการซื้อหุ้นหรือกองทุนหรืออะไรซักอย่างนึงโดยมีกำหนดระยะเวลาสม่ำเสมอและด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม

ด้วยวิธีการนี้  สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราจะซื้อหุ้นแบบเฉลี่ยไปเรื่อย  ตอนหุ้นราคาตกเราก็ซื้อด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม ตอนหุ้นราคาขึ้นเราก็ซื้อด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม  ในระยะยาวแล้วผลตอบแทนของเราก็จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนของทรัพย์สินที่เราซื้อมา ความสำคัญของการกะจังหวะซื้อก็จะหายไปเหลือแค่ความสำคัญของสิ่งที่เราเลือกจะทำ DCA เท่านั้น

 

ต่อให้ปลายทางเท่ากัน  ระหว่างทางหุ้นขึ้นกับระหว่างทางหุ้นลงอันไหนดีกว่ากัน

ทีนี้มาถึงเรื่องว่าทำไมผมถึงบอกว่าควรจะดีใจถ้าหุ้นตกแล้วพอร์ตขาดทุน

ผมอยากจะเปรียบเทียบกรณีให้ดูว่าสมมติว่าปลายทางตอนจบราคาหุ้นเท่ากัน  แต่ถ้าระหว่างทางต่างกันจะเกิดอะไรขึ้น เราจะสมมติว่าตอนแรกราคาหุ้นปีที่ 1 ราคาอยู่ 50 บาทและปีสุดท้ายคือปีที่ 6 ราคาหุ้นอยู่ที่ 100 บาทเหมือนกันทุกเคส  และเราจะทำการ DCA ซื้อหุ้นด้วยเงิน 1,000 บาททุกปีต่อกัน 5 ปีแล้ววัดผลกันตอนปีที่ 6

 

Case 1: กรณีหุ้นทยอยเพิ่มขึ้นแบบเรียบๆ

Case 2: กรณีหุ้นขึ้นพรวดอย่างเร็วตอนแรกแล้วตกลงมาตอนหลัง

Case 3: กรณีหุ้นตกลงไปตอนแรกแล้วค่อยราคาสูงขึ้นตอนท้าย

 

เห็นอะไรมั้ยครับ  จะเห็นว่าจริงๆแล้วสำหรับคนที่ทำ DCA  ขอให้สุดท้ายปลายทางเราเลือกทำ DCA กับทรัพย์สินที่ถูกต้องนะ  ระหว่างทางถ้ายิ่งราคาหุ้นตกเท่าไหร่ก็ยิ่งดี  

 

ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะย้ำคือ DCA มันไม่ใช่วิธีการปาฏิหารย์ที่ทำให้พอร์ตเรากำไรหรือลดความเสี่ยงหรืออะไรทั้งสิ้นนะครับ  มันเป็นวิธีการอัตโนมัติที่ทำให้เราไม่ต้องคอยกังวลเวลาลงทุนและทำให้ผลตอบแทนเรายอดเยี่ยมเท่ากับค่าเฉลี่ยของทรัพย์สินนั้นเท่านั้นเอง  ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับการทำ DCA คือการเลือกทรัพย์สินที่เราทำ DCA ครับ และถ้าเราเลือกมาดีแล้วก็ขอให้ทำอย่างสม่ำเสมอต่อไปและจำไว้ว่าจริงๆแล้วระหว่างทางยิ่งราคาตกรุนแรงยิ่งดีครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตลาดตกด้วยโรคระบาดแบบนี้ มีหุ้นกลุ่มไหนน่าสนใจบ้าง?

Which sectors are interesting during this deadly virus period?

ตลาดตกด้วยโรคระบาดแบบนี้ มีหุ้นกลุ่มไหนน่าสนใจบ้าง?

เมื่อเร็วๆนี้ผมเตือนให้ลูกศิษย์ที่เรียนด้วยกันไปเริ่มมองหาหุ้นน่าสนใจได้แล้วเพราะเริ่มเห็นตลาดหุ้นตกใจจากโรคระบาดกัน  แล้วเค้าก็ถามว่ามีหุ้นกลุ่มไหนแนะนำมั้ย วันนี้ผมเลยเรียบเรียงวิธีคิดผมมาตอบครับ

ในเวลาที่ตลาดตกใจแล้วหุ้นตกในวงกว้าง  ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเพราะโรคระบาดอย่างเดียวคือมันจะเป็นตกจากอะไรก็ได้เลย  ผมแนะนำให้ก่อนอื่นเลยขั้นตอนแรกคือคุยกับตัวเองให้จบก่อนไม่งั้นมันจะมีปัญหาทีหลัง  ดูว่าเหตุที่เกิดขึ้นที่ทำให้ตลาดตกใจคืออะไรและถามตัวเองว่ามันเป็นปัญหาชั่วคราวหรือเปล่า  อย่างกรณี COVID-19 เราก็ชัวร์อยู่แล้วว่าเป็นปัญหาชั่วคราว อย่างเลวร้ายที่สุดเลยก็คือระบาดทั้งโลกแล้วก็ประชากรโลกตายไป 2-3%  ถ้าเราคุยกับตัวเองตรงนี้จบและเชื่อว่ามันเป็นปัญหาชั่วคราวเราก็จะหายตกใจมีสติดำเนินการต่อและหลังจากนี้เราจะคุมสติได้ง่าย แต่ถ้าถึงตรงนี้เราเชื่อว่ามันเป็นปัญหาถาวรเช่นอย่าง COVID-19 นี่คือวันสิ้นโลกแล้วงั้นก็ไม่ควรจะต้องลงทุนละครับ

เมื่อเราคุยกับตัวเองจบและมั่นใจว่าเป็นปัญหาชั่วคราว  แปลว่าตลาดหุ้นที่ตกนี่มันคือโอกาสใช่มั้ยครับ เพราะเรารู้ว่าในที่สุดแล้วเรื่องนี้จะหายไปและทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติ  และราคาหุ้นก็จะฟื้นกลับไปใกล้เคียงเดิมถูกมะ ตอนนี้เราก็มี 2 ทางเลือกหลักๆขึ้นอยู่กับระดับความใจแข็งของเรา ซึ่งอันนี้คุณต้องพิจารณาตัวเอง

  1. ซื้อหุ้นที่โดนผลกระทบจังๆ
  2. ซื้อหุ้นที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรแต่ราคาตกตามกันไป

Choice 1: ซื้อหุ้นที่โดนผลกระทบจังๆ  ก็คือเลือกซื้อหุ้นที่โดนผลกระทบจากเรื่องที่มันทำให้ตลาดตก  อย่างถ้าเป็นเรื่อง COVID-19 นี่ก็เช่น

  • หุ้นโรงแรม  Hilton, Hyatt, Marriott, Central Plaza Hotel, Minor International, Intercontinental, รวมถึง REIT ที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมแล้วมีสัญญาเช่าลักษณะค่าเช่าผันแปร, etc.
  • หุ้นโรงหนัง  Major, Cineworld, Cinemark, etc.
  • หุ้นทัวร์ท่องเที่ยวหรือจองตั๋ว  H.I.S., Booking.com, Expedia, etc.
  • หุ้นสนามบิน  AOT, Aeroports de Paris, Flughafen Zurich, etc.
  • หุ้นเรือสำราญ  Carnival Corp, Royal Caribbean Cruise, etc.
  • และอื่นๆ

ข้อดีของการซื้อแบบ Choice 1 นี่ก็คือส่วนใหญ่มันจะราคาตกรุนแรง  และดังนั้นคือถ้ามันรอดจากเหตุการณ์ได้เราก็จะกำไรเยอะ แต่ข้อเสียคือเราต้องคุมสติเยอะหน่อยเพราะซื้อมาก็อาจจะตกลงไปอีกจากผลประกอบการที่แย่ลง  และที่สำคัญคือถ้าเลือกซื้อไม่ดีก็จะมีความเสี่ยงเงินสูญเพราะพวกบริษัทกลุ่มนี้โดนผลกระทบจังๆและอาจจะไม่รอดถ้าไม่เข้มแข็งจริง

คำแนะนำคือนอกจากจะแน่นอนว่าต้องซื้อบริษัทที่มีอำนาจบังคับผู้บริโภคแล้วถ้าเป็นไปได้ซื้อพวกที่เข้มแข็งที่สุดไว้ก่อน  ไม่ต้องเอาที่ราคาถูกมากก็ได้ เน้นเอาที่ margin ดีสุดสม่ำเสมอสุดและหนี้น้อยสุดจะดีกว่า หุ้นมันตกเยอะเรากำไรเยอะอยู่แล้วไม่ต้องระทึกมากก็ได้

Choice 2: ซื้อหุ้นที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรแต่ราคาตกตามกันไป  ก็คืออะไรก็ได้ละที่จริงๆมันไม่ได้เกี่ยวกันแค่ราคาตกเฉยๆ

ข้อดีของการซื้อแบบ Choice 2 นี่คือปลอดภัยมากเพราะหุ้นที่เราซื้อมันไม่ได้เกี่ยวไรเลยกับเหตุการณ์แค่คนตกใจเฉยๆ  แต่ข้อเสียคือปกติราคามันก็จะไม่ได้ตกอะไรนักหนาเพราะมันไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง ดังนั้นกำไรก็จะไม่ได้อลังการเท่าไหร่

คำแนะนำคือซื้อที่คุณชอบแหละครับไม่ได้มีอะไรซับซ้อน  คิดเหมือนว่าไม่ได้มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วก็เลือกซื้อหุ้นตามปกติที่คุณทำเลย  เพราะจริงๆมันก็ไม่เกี่ยวกับบริษัทพวกนี้อยู่แล้ว

สรุปคือในเวลาที่เกิดเหตุการณ์ตกใจที่หุ้นตกในวงกว้าง  คุยกับตัวเองให้จบว่ามันเป็นโอกาสหรือไม่ใช่ หุ้นกลุ่มไหนก็ได้แหละครับ  อย่ามัวแต่กลัวแล้วสุดท้ายไม่ได้ทำอะไรก็เป็นใช้ได้

ปล. ฝากทิ้งไว้อีกนิดนึงเรื่องซื้อแล้วกลัวจะรับมีดหุ้นตกลงไปอีกเพราะคนชอบถาม  ผมจะบอกว่าอย่ามองอะไรสั้นๆ ยังไงก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าหุ้นมันจะตกลงไปต่ำสุดที่เท่าไหร่  เลิกคิดหาคำตอบกับคำถามที่ไม่มีทางรู้อันนั้นซะ มองไกลออกไปหน่อย สุดท้ายเหตุการณ์มันก็เรื่องชั่วคราวใช่หรือไม่  เราซื้อให้มันได้มาราคาถูกปลายทางก็กำไรแน่นอนแล้วจะกังวลไปทำไม

 

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม คืออะไร ? ต่างจากกำไรสุทธิยังไง ?

What is Comprehensive Income? How different is it from Net Income?

กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม คืออะไร ? ต่างจากกำไรสุทธิยังไง ?

มีคนถามหัวข้อนี้ว่ามันต่างกันอย่างไร  แล้วเราต้องดูอันไหน

สองอันนี้มันจะมีความเกี่ยวข้องกันและจะอยู่ใกล้ๆกันบนงบกำไรขาดทุน  งบกำไรขาดทุนสาระสำคัญคือมันก็พูดว่าบริษัทขายของไปมีรายได้เท่าไหร่มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างแล้วสุดท้ายกำไรหรือขาดทุนเหลือเท่าไหร่  บรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุนก็จะเป็นกำไร(ขาดทุน)สุทธิ พอจบส่วนนั้นปุ๊บต่อมาก็จะเป็นส่วนของกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จเลย

สาระสำคัญของกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นคือพวกกำไรหรือขาดทุนที่ถูกกำหนดให้บันทึกแยกออกจากกำไรสุทธิบนงบกำไรขาดทุนเพราะพวกนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง  การจะนับว่ารายได้, รายจ่าย, กำไรหรือขาดทุนเกิดขึ้นจริงคือตัวธุรกรรมมันจะต้องถูกทำเรียบร้อยแล้ว เช่นเมื่อได้มีการขายเงินลงทุนไปแล้ว สมมติบริษัทมีซื้อตราสารหนี้เอาไว้แบบเป็นหลักทรัพย์เผื่อขายแล้วเกิดราคามันสูงขึ้นหรือต่ำลง  มันก็จะมีการบันทึกการเปลี่ยนแปลงราคานั้นอยู่ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น เมื่อบริษัทมีการขายตราสารหนี้นั้นจริงๆแล้วเท่านั้นถึงจะไปบันทึกผลกำไรขาดทุนในงบกำไรขาดทุน มันจะมีรายการบางอันด้วยที่อาจจะไม่ผ่านงบกำไรขาดทุนเลยแต่มีการเปลี่ยนแปลงตัวส่วนของผู้ถือหุ้นบนงบดุลตรงๆเลยแต่ผมจำไม่ได้ว่ารายการเรื่องอะไรบ้าง•

รายการกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นเช่น

  • ผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยน
  • ผลกำไร (ขาดทุน) จากการประมาณการตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย  พวกนี้คือสำรองผลประโยชน์ของพนักงาน

ทีนี้คำถามคือแล้วเราควรจะดูอันไหน  ส่วนตัวผมแนะนำให้ดูตัวกำไรสุทธิเป็นหลัก  เพราะมันเป็นอันที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลักของบริษัท  ส่วนตัวกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จเราสังเกตไว้ว่ามันไม่ได้แตกต่างรุนแรงกับตัวกำไรสุทธิก็ใช้ได้  ส่วนใหญ่มันจะแตกต่างเล็กน้อยเพราะพวกรายการกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นของบริษัทปกติมันไม่ควรจะเป็นรายการใหญ่  กับคอยดูตรง “องค์ประกอบอื่นของส่วนของผู้ถือหุ้น” บนงบดุลซึ่งเป็นตัวเลขสะสมว่าไม่เป็นตัวเลขติดลบมโหฬารก็โอเคละ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

กำไรต่อหุ้นปรับลด (Diluted EPS) คืออะไร ? ต่างจากกำไรต่อหุ้นพื้นฐาน (Basic EPS) ยังไง ?

Diluted Earnings per Share Explained

กำไรต่อหุ้นปรับลด (Diluted EPS) คืออะไร ? ต่างจากกำไรต่อหุ้นพื้นฐาน (Basic EPS) ยังไง ?

วีดิโอหัวข้อนี้เรามาอธิบายเรื่องกำไรต่อหุ้นปรับลดครับ

มันคืออะไร ?

ตัวกำไรต่อหุ้นปรับลดนี่คือมีไว้ให้เราดูว่าถ้าสมมติมีการใช้สิทธิ์ของทรัพย์สินที่มีสิทธิ์การแปลงสภาพหรือมีสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญทั้งหมด  กำไรต่อหุ้นจะเป็นเท่าไหร่

อย่างเช่นสมมติบริษัท A ตอนนี้มีหุ้นอยู่ 100 หุ้น  และมีกำไรปีละ 100 บาท ถ้าเราเป็นเจ้าของหุ้นหนึ่งหุ้นก็คือเราเป็นเจ้าของกำไร 1 บาทใช่มั้ยครับ  มาจากกำไร 100 บาทหารด้วย 100 หุ้นก็ได้เป็นกำไรต่อหุ้น (basic EPS) 1 บาท แต่ทีนี้สมมติว่าบริษัทมีการออกหุ้นกู้แปลงสภาพเอาไว้  แล้วมันสามารถแปลงเป็นหุ้นได้ทั้งหมด 100 หุ้น ก็แปลว่าเมื่อเวลาผ่านไปถ้าเค้าใช้สิทธิแปลงสภาพขึ้นมาเมื่อไหร่บริษัทก็จะกลายเป็นมีหุ้นอยู่ทั้งหมด 200 หุ้น  และกำไรที่เราเป็นเจ้าของก็จะถูกเจือจางเพราะมีคนมาช่วยหารเหลือแค่ 0.5 บาท มาจากกำไร 100 บาทหารด้วย 200 หุ้นก็จะได้เป็นกำไรต่อหุ้นปรับลด (diluted EPS) 0.5 บาท

ควรจะดูอันไหน basic หรือ diluted ?

หลักๆมันขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังดูจากมุมมองไหน

ตัวกำไรต่อหุ้นมันก็พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วว่ากำไรที่เกิดขึ้นเทียบกับจำนวนหุ้นที่มีอยู่เป็นเท่าไหร่  มันก็จะมีสาระกับเราถ้าเราเป็นเจ้าของหุ้นนี้อยู่แล้วและเราอยากรู้ว่ากำไรต่อหุ้นที่เราเป็นเจ้าของคือเท่าไหร่

ส่วนตัวกำไรต่อหุ้นปรับลดมันพูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าสมมติว่าได้มีการเจือจางความเป็นเจ้าของแล้วกำไรต่อหุ้นจะเหลือเท่าไหร่  มันก็จะมีสาระถ้าเรากำลังประมาณมูลค่าและตัดสินใจว่าจะซื้อหุ้นดีมั้ย

ดังนั้นโดยปกติถ้าเรากำลังคิดจะซื้อหุ้นเราก็ควรจะดูกำไรต่อหุ้นปรับลดครับ

 

สูตรอย่างเป็นทางการ

จริงๆมันก็มีอยู่บนงบการเงินอยู่แล้วนะ  แต่เผื่อใครอยากคำนวณเองเพื่อความสนุก สูตรอย่างเป็นทางการของมันจะเป็นแบบนี้ครับ  https://analystnotes.com/cfa-study-notes-earnings-per-share.html

จริงๆมันจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมนิดหน่อยที่ต้องใช้วิจารณญาณเช่น

  • ถ้ามีสัญญาอะไรค้างอยู่ที่สามารถจ่ายโดยใช้เงินสดหรือจ่ายเป็นหุ้นก็ได้  ให้สมมติว่าจ่ายเป็นหุ้นไว้ก่อน
  • กรณีพวกหุ้นกู้แปลงสภาพหรือออพชั่นที่ให้พนักงาน (stock option)  ดูด้วยว่าสิทธิมันมีแนวโน้มจะได้ใช้ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาหรือเปล่า เช่นสมมติมีสิทธิซื้อหุ้นได้ที่ 50 บาทต่อหุ้น  แต่ราคาหุ้นตอนนี้อยู่ 5 บาทและออพชั่นจะหมดอายุใน 1 ปีแบบนี้มันก็ไม่น่าจะได้ใช้สิทธิ์
  • คำนวณจำนวนหุ้นที่่เพิ่มมาของพวกที่แปลงสภาพมาจะตรงไปตรงมาก็คือเอาราคาพาร์มันหารกับราคาแปลงสภาพตรงๆ  เช่นหุ้นก็แปลงสภาพพาร์ 1,000 บาท มีสิทธิแปลงสภาพได้ที่ 50 บาทต่อหุ้น ก็คือถ้าใช้สิทธิแปลงสภาพจะมีหุ้นใหม่โผล่มา 1,000/50 = 20 หุ้น
  • คำนวณจำนวนหุ้นที่เพิ่มมาจากการใช้ stock option จะยุ่งกว่ากันนิดนึง  สมมติออพชั่นให้สิทธิ์ซื้อหุ้นได้ 100 หุ้นในราคาหุ้นละ 10 บาท แล้วตอนนี้หุ้นในตลาดขายอยู่ที่ 20 บาท  พอคนใช้สิทธิปุ๊บเค้าก็ต้องจ่ายเงินให้บริษัท 1,000 บาท บริษัทก็เอาเงิน 1,000 บาทที่ได้มานั่นไปซื้อหุ้นในตลาดก่อนซึ่งขายอยู่ที่ราคาหุ้นละ 20 บาทได้มา 50 หุ้นให้คนใช้สิทธิไป  หลังจากนั้นก็ออกหุ้นใหม่เพิ่มขึ้นจนครบคืออีก 50 หุ้นให้คนใช้สิทธิไป ดังนั้นสังเกตคือถึงแม้ว่าคนใช้สิทธิซื้อได้ 100 หุ้นแต่สรุปหุ้นใหม่ที่เพิ่มมาจะเป็น 50 หุ้นไม่ใช่ 100 หุ้น

 

ตัวอย่างบริษัทที่มีพวกหุ้นกู้แปลงสภาพก็เช่นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ข้อมูลว่า “ผู้บริหารซื้อหรือขายหุ้น” หาได้ที่ไหน?

How to know when the management sell or buy shares ?

ข้อมูลว่า “ผู้บริหารซื้อหรือขายหุ้น” หาได้ที่ไหน?

มีคนถามเราว่าจะทราบข้อมูลเวลาผู้บริหารขายหรือซื้อหุ้นได้จากที่ไหน  เค้ามองว่าเรื่องพวกนี้สำคัญเพราะผู้บริหารเป็นกลุ่มคนที่รู้เรื่องภายในของบริษัทเป็นอย่างดีและการซื้อหรือขายหุ้นของคนเหล่านี้ถ้าเป็นจำนวนที่เยอะอาจจะเป็นสัญญาณว่าบริษัทดีหรือไม่ดีก็ได้

ส่วนตัวผมอาจจะไม่ได้ดูเรื่องนี้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจเท่าไหร่  แต่ถ้าสมมติเราอยากทราบข้อมูลเรื่องนี้สามารถเข้าไปหาดูได้บนเวปของกลต.

กลต. กำหนดให้กรรมการ, ผู้บริหาร  และผู้สอบบัญชีของบริษัทต้องมีการเปิดเผยการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์รวมถึงสัญญาซื้อขายล่วงหน้า  ทั้งของตัวเอง, คู่สมรสและบุตร เพื่อให้บุคคลทั่วไปอย่างเราสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้

เข้าไปในเวปนี้  https://market.sec.or.th/public/idisc/th/r59  หาชื่อบริษัทที่ต้องการแล้วก็ใส่ช่วงเวลาที่ต้องการค้นหาเอาเลยครับ

และเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นผมก็แนะนำให้ดูจำนวนหุ้นที่ซื้อหรือขายเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดนะ  จะได้รู้ว่ามันเป็นสาระสำคัญหรือเปล่า จำนวนหุ้นก็สามารถดูได้บนเวป www.set.or.th ตามปกติแหละ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg