Digitalization ส่งผลยังไงกับหุ้นบ้าง ??

How does Digitalization affect stocks ??

Digitalization ส่งผลยังไงกับหุ้นบ้าง ??

ผมเข้าใจว่าคนถามเค้าตั้งใจถามว่าบริษัทที่มีการลงทุนทำโปรเจค Digitalization เช่นเอา Chatbot มาตอบลูกค้า, ฯลฯ  ทำให้ผลทำให้บริษัทดีขึ้นมั้ย มีผลต่อราคาหุ้นหรือเปล่า ซึ่งเป็นคำถามที่ยากมากผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ตอนแรกว่าจะไม่ตอบละแต่ปรากฎว่าพอลองหาๆดูปรากฎว่ามีคนทำวิจัยหัวข้อประมาณนี้อยู่ครับ  ผมเลยเอาผลของงานวิจัยอันนึงที่ผมอ่านเจอมาเล่าให้ฟังคร่าวๆครับ

อันนี้เป็น working paper ของ Wilbur Chen กับ Suraj Srinivasan จาก Harvard Business School

เค้าทำการศึกษากลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่สายเทคโนโลยี ที่กำลังมีโปรเจค digital เทียบกับบริษัทกลุ่มที่ไม่ได้มีโปรเจคแล้วมาดูว่ามีผลกระทบอะไรกับบริษัทหรือมีอะไรแตกต่างออกไปบ้าง  

วิธีการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างคือเอาบริษัทมหาชนทั้งหมดช่วงปี 2010-2017 ในอเมริกามา  แล้วมาคัดพวกที่เป็นกลุ่ม IT หรือเทคโนโลยีออกไปโดยดูจากหมวดอุตสาหกรรม หลังจากนั้นก็มาหาคำที่เกี่ยวกับโปรเจค digital บนรายงานประจำปี 10-K และพวก presentation ตอนรายงานผลรายไตรมาส  บริษัทที่ใช้คำศัพท์กลุ่มพวก Analytics, AI, Big Data, Cloud, Machine Learning มากขึ้นเค้าก็นับว่าเป็นพวกทำโปรเจค ซึ่งเค้าพบว่ามีบริษัทที่พูดถึงโปรเจค digital เยอะขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก  จากตอนปี 2010 มีบริษัทแค่ 4% ที่พูดถึง แต่ตอนปี 2017 มีบริษัทถึง 22% ที่พูดถึง

สิ่งที่เค้าพบคือบริษัทที่ทำโปรเจค digital

  1. โดยรวมเป็นบริษัทที่ใหญ่กว่า, อายุน้อยกว่า, มีการทำ R&D เยอะกว่า และมีการลงทุน CapEx น้อยกว่า  เมื่อเทียบกับบริษัทกลุ่มที่ไม่ได้ทำ แล้วเค้าก็เจอว่าบริษัทที่ผลประกอบการไม่ดีมีแนวโน้มจะทำโปรเจคพวกนี้มากกว่าบริษัทที่ผลประกอบการดี  เข้าใจว่าเป็นเพราะสถานการณ์บังคับมีผลให้ทำ
  2. ROA ลดลงเล็กน้อย  แม้ว่าจะผ่านไป 3 ปี
  3. Net Margin และ Sales Growth ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  เดาว่าอาจจะเป็นเพราะโปรเจคพวกนี้ใช้เงินลงทุนทำให้ผลการดำเนินงานลดลงในช่วงแรกแต่อาจจะดีขึ้นในระยะยาว  หรืออาจเป็นเพราะคู่แข่งก็เริ่มทำโปรเจคคล้ายๆกันดังนั้นประโยชน์ที่ได้จากโปรเจคพวกนี้เลยหายไป หรืออาจจะเป็นเพราะการทำโปรเจคพวกนี้ต้องใช้ผู้บริหารที่รู้เรื่องเทคโนโลยีถึงจะทำได้สำเร็จเพราะเค้าพบว่าบริษัทที่ทำโปรเจค digital โดยที่มีผู้บริหารที่ถนัดเทคโนโลยีจะมี ROA สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันประมาณ 60% ได้
  4. Asset Turnover ดีขึ้น
  5. อัตราส่วน Price/Book ที่สูงมากขึ้นเมื่อเทียบกับหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกันหลังจากที่มีการทำโปรเจคไป  คาดว่าเป็นเพราะนักลงทุนมองว่าโปรเจคประเภทนี้เป็นเรื่องดี
  6. การเพิ่มขึ้นของ Price/Book ทยอยเกิด  ไม่ใช่ขึ้นพรวดเดียวตอนที่บริษัทประกาศว่าจะทำโปรเจค  หมายความว่าถ้าเราซื้อหุ้นบริษัทที่ประกาศว่าจะทำโปรเจคทันทีตอนที่ประกาศ  โดยเฉลี่ยแล้วเราจะกำไรมากกว่าปกติ เค้าบอกว่าพอร์ตจำลองที่ใช้วิธีการนี้ได้ผลตอบแทนมากกว่าปกติถึงปีละ 5% โดยเฉลี่ย

ประมาณนี้เลยครับ  ผมทิ้งลิ้งค์ไว้ให้เผื่อใครอยากไปอ่านเอง  ใน working paper เค้าจะมี reference งานวิจัยคนอื่นๆที่ทำหัวข้อเกี่ยวข้องกันด้วย  ถ้าสนใจมากก็ไปต่อยอดอ่านเอาเองเลยครับ http://www.hbs.edu/faculty/pages/download.aspx?name=19-117.pdf

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ไอเดียหุ้นปันผลสม่ำเสมอ

Ideas for Stable Dividend Stocks

ไอเดียหุ้นปันผลสม่ำเสมอ

ก่อนหน้านี้เราเคยมีทำวีดิโอวิธีเลือกหุ้นปันผลไปก็ปรากฏว่าผลตอบรับดีมีคนสนใจเยอะ  ภายหลังก็มีคนถามเพิ่มเข้ามาว่าหุ้นที่ Dividend Yield เกิน 5% มีอะไรบ้างซึ่งเราก็ทำวีดิโอให้ดูไปแล้วว่าสามารถไปหาดูเองได้จากที่ไหน  รอบนี้ก็มีคำถามใหม่เข้ามาว่าอยากหาหุ้นปันผลที่เน้นจ่ายปันผลสม่ำเสมอไว้ก่อนไม่ต้องปันผลสูงมากก็ได้ แต่เค้าไม่รู้จะเริ่มจากไหน เรามีไอเดียมั้ยว่ามันมีหุ้นอะไรบ้าง ?

ตอบตามตรงคือผมก็ไม่รู้เหมือนกัน  แต่ในเมื่อมีคำถามเข้ามาผมก็ไปลองหาดู

ในหุ้นอเมริกาผมจำได้ว่ามันจะมีคนจัดกลุ่มหุ้นที่มีการจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นทุกปีอยู่ซึ่งเค้าจะเรียกว่าเป็นกลุ่ม Dividend Aristocrats  แต่เท่าที่ Google หาดูเหมือนตลาดหุ้นไทยจะไม่ได้มีการจัดกลุ่มอะไรลักษณะนี้

เท่าที่เจอก็จะมีดัชนี SETHD (SET High Dividend 30 Index)

ข้อมูลเพิ่มเติม – https://www.set.or.th/en/products/index/SETHD.html

ซึ่งเป็นดัชนีที่เอาหุ้น 30 ตัวที่มีขนาดใหญ่มีสภาพคล่องการซื้อขายและมีการจ่ายปันผล Dividend Yield ที่สูงสม่ำเสมอ (ไม่รู้เค้าใช้ย้อนหลังกี่ปีถึงเรียกว่าสม่ำเสมอ)  อันนี้เป็นลิ้งค์เข้าไปดูว่าหุ้น 30 ตัวที่ว่านี่มีอะไรบ้าง https://www.set.or.th/en/market/constituents.html

แต่ของ SETHD นี่คงต้องเลือกดีๆนิดนึงนะ  เพราะเท่าที่ดูผลตอบแทนย้อนหลังของดัชนีนี้สู้ดัชนีหุ้นปกติโดยรวมไม่ได้

https://www.set.or.th/th/products/index/files/2019/2019_10_SETHD_Index_MthlyReport.pdf

แล้วก็อีกอันที่เจอแล้วดูน่าสนใจจะเป็นบทความของตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน  เขียนโดยคุณฐิติเมธ โภคชัย  บทความเก่านิดนึงแต่ในบทความเค้ามีพูดถึงหุ้นที่มีการจ่ายปันผลตลอดตั้งแต่ปี 2535-2560  อาจจะไม่ได้จ่ายเพิ่มขึ้นตลอดนะแต่อย่างน้อยๆก็มีการจ่ายปันผลบ้างมาโดยตลอดแม้บางปีจะเป็นช่วงปีวิกฤติเศรษฐกิจ  ลองดูก็ดีในรายชื่อบริษัทพวกนี้อาจจะมีอะไรน่าสนใจ https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=5246&type=article

เสร็จเรียบร้อย  ผมก็ช่วยได้ประมาณนี้แหละนะครับ  ที่เหลือคงต้องไปดูเอาเองและอย่าลืมว่าสุดท้ายหุ้นปันผลจะจ่ายปันผลได้มั้ยมันขึ้นอยู่กับผลประกอบการ  ดังนั้นควรจะดูว่าบริษัททำอะไรแล้วลักษณะธุรกิจสม่ำเสมอมั้ยเป็นหลัก อย่าไปคิดว่าแค่มันอยู่ในดัชนี SETHD หรือจ่ายปันผลมาตลอดจะแปลว่าอนาคตมันจะดีเสมอไป

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

5 นิสัย ที่นักลงทุนต้องระวัง !!

5 Biases Which Investors Must Avoid !!

5 นิสัย ที่นักลงทุนต้องระวัง !!

การจะลงทุนให้ได้ดีผมพบว่ามันจะมีอุปสรรค์สำคัญอีกอย่างที่มาขวางเรานั่นคือธรรมชาติของเรานั่นเองครับ  วีดิโอหัวข้อนี้ผมมาพูดถึงนิสัยที่เป็นอุปสรรค์ต่อการลงทุนให้ได้ดีซึ่งผมว่าเป็นอะไรที่เราต้องหัดควบคุมมันครับ

 

  1. คิดและทำอะไรเหมือนกันเป็นหมู่คณะ (Herd Mentality)
  2. อันนี้เป็นอะไรที่ปกติมาก  คนเราเป็นสัตว์สังคมน่ะครับ  เราวิวัฒนาการมาให้อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อความอยู่รอดดังนั้นโดยปกติการที่ทำอะไรไปในทิศทางเดียวกับคนอื่นก็คือปลอดภัย  เวลาทำกิจกรรมอะไรสังเกตว่าเราก็มักจะไปเป็นกลุ่ม

    แต่พอมาเป็นเรื่องการลงทุนในหุ้นมันไม่ได้ไง  เพราะหุ้นที่คนสนใจเยอะหรือพูดกันทั้งประเทศว่าดีมันก็จะแพงไป  แล้วเวลาเราจะซื้อเมื่อหุ้นตกมันก็จะฝืนสัญชาตญาณว่าคนอื่นเค้าขายกันหมดต้องมีอะไรไม่ดีสิทำให้ถึงเวลาเราไม่ได้ทำตามแผน  อย่าลืมว่าสิ่งที่คนจำนวนมากบอกว่าดีไม่ได้แปลว่ามันต้องดีเสมอไป

     

  3. มั่นใจเกิน (Overconfidence) กับ การเลี่ยงความสูญเสีย (Loss Aversion)
  4. สองอันนี้นี่เป็นอะไรที่ต้องคอยระวังอยู่ตลอด  ทั้งคู่นี่ทำให้หลายครั้งเราถือหุ้นบริษัทที่ผลประกอบการแย่ลงไว้นานเกินไปจนขาดทุนเยอะ  อันนึงคือมั่นใจในการเลือกของตัวเองเกินไปซึ่งอันนี้ผมเป็นบ่อยถึงขนาดว่าบางทีแม้ว่าหลักฐานจะตรงกันข้ามกับที่เราคาดบ่งชี้ว่าบริษัทที่เราเชื่อว่าดีมันมีปัญหาเราก็ยังไม่ขายมันแล้วเผลอๆซื้อเพิ่มอีกด้วย  ส่วนอีกอันนึงคือไม่ชอบความรู้สึกสูญเสียซึ่งทำให้เราไม่อยากขายขาดทุนและดังนั้นเลยถือต่อหวังว่าราคามันจะกลับขึ้นมาแล้วไม่ขาดทุนซึ่งมันเป็นไปได้ยากมากถ้าธุรกิจเค้าทำได้แย่ลง

    สองอันนี้ต้องระวังจริงๆครับ

     

  5. รู้สึกว่าต้องทำอะไรซักอย่าง  อยู่เฉยๆไม่ค่อยได้
  6. เวลาหาโอกาสไม่เจออะไรที่เหมาะกับเราก็ไม่ต้องทำอะไรก็ได้  แต่พอไม่ได้ทำอะไรนานไปก็มักจะรู้สึกว่าต้องซื้อหรือขายอะไรซักอย่าง  อาการแบบนี้ทำให้เราใจร้อนรีบซื้อหรือรีบขายซึ่งก็ทำให้พลาดง่ายขึ้น

     

  7. Home bias
  8. บางทีเราจะรู้สึกว่าหุ้นที่ตัวเองคุ้นเคยปลอดภัยกว่าทั้งที่มันไม่จริง  อย่างอันนี้ผมเห็นหลายคนเป็นแปลกมากเลย บางคนรู้สึกสบายใจยินดีที่จะถือหุ้นเกี่ยวกับน้ำมันหรือเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างทั้งที่ตัวเองไม่รู้เรื่องอะไรเลยแค่เพราะมันเป็นหุ้นในไทย  ส่วนหุ้นอะไรที่เป็นต่างประเทศรู้สึกเสี่ยงหมดทั้งที่เป็นบริษัทที่รู้จักดีอย่าง McDonald’s หรือ Nike

 

พวกนี้มันเป็นอาการที่เราต้องระมัดระวังนะครับ  จริงๆก็เป็นกันทุกคนแหละ แต่อยู่ที่ใครระมัดระวังควบคุมสติได้ดีกว่ากันเท่านั้นเองครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ลงทุนในหุ้น ROE สูง จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าจริงหรือเปล่า ?

Do high ROE stocks mean higher return?

ลงทุนในหุ้น ROE สูง จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าจริงหรือเปล่า ?

ลงทุนในหุ้น ROE สูงให้ผลตอบแทนดีกว่าจริงมั้ย ?

เป็นคำถามที่น่าสนใจอยู่นะ  คือเรารู้กันอยู่แล้วว่า ROE หรือ Return On Equity เป็นอัตราส่วนที่เปรียบเทียบระหว่างกำไรที่บริษัททำได้กับส่วนของผู้ถือหุ้น  บริษัทที่ ROE สูงกว่าก็แปลว่าด้วยเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นเท่าๆกันบริษัทสามารถทำกำไรได้เยอะกว่า ดังนั้นโดยความหมายคือ ROE ที่สูงแปลว่าเป็นบริษัทที่ดีกว่าแน่นอนละ

แต่ปัญหาคือบริษัทที่ ROE สูงจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าด้วยจริงหรือเปล่า  เพราะคนส่วนใหญ่ก็รู้อยู่แล้วว่า ROE สูงแปลว่าดีและดังนั้นหุ้นที่ ROE สูงก็จะเป็นหุ้นที่มักจะราคาสูงด้วย  ซึ่งถ้าตามทฤษฎีแล้วมันควรจะผลตอบแทนออกมาพอๆกัน

ส่วนตัวผมก็เชื่อว่าบริษัทที่ ROE สูงจะทำกำไรดีกว่าและดังนั้นในระยะยาวจะให้ผลตอบแทนดีกว่าแหละ  แต่เพื่อตอบคำถามแบบนี้ให้ชัวร์ผมเลยไปหาดูว่ามีคนทำวิจัยเรื่องนี้แล้วได้ผลว่าไงบ้าง

โดยรวมดูเหมือนจะมีหลายงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าปัจจัยเรื่องคุณภาพของบริษัทมีผลต่อผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญ

Article จาก Blackrock

https://www.blackrockblog.com/2019/05/10/us-stocks-outperformance/

ผมเจอบทความของ Blackrock เขียนโดย Russ Koesterich, CFA ที่เชื่อว่า ROE ที่สูงทำให้ผลตอบแทนสูงกว่า  เค้าเทียบผลตอบแทนโดยรวมของหุ้นอเมริกา (S&P 500) กับหุ้นประเทศอื่นทั่วโลก (MSCI All Country World Index excluding-US) พบว่าตั้งแต่ปี 1990-2009 หุ้นอเมริกากับหุ้นอื่นทั่วโลกไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่  หุ้นอเมริกาผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นอื่นทั่วโลกอยู่โดยเฉลี่ย 0.22% ต่อเดือน ถ้าใช้ค่ากลางที่ตัดผลของค่าที่สูงหรือต่ำมากออกก็จะได้ว่าหุ้นอเมริกาผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นอื่นทั่วโลกอยู่แค่ 0.08% ซึ่งก็คือเรียกว่าแทบไม่ต่างกัน  แต่ตั้งแต่ปี 2010 มาถึงตอนนี้ปรากฎว่าหุ้นอเมริกาให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นประเทศอื่นอยู่ 0.7% ต่อเดือนโดยเฉลี่ยซึ่งถือว่าสูงอยู่และสูงกว่าเดิมมาก

ผู้เขียนก็ตั้งคำถามว่าทำไมหุ้นอเมริกาถึง outperform หุ้นอื่นทั่วโลกเยอะขนาดนั้น  เค้าเชื่อว่าเป็นเรื่องความสามารถในการทำกำไรของบริษัท เค้าพบว่าส่วนต่างของ ROE เฉลี่ยของหุ้นในอเมริกากับหุ้นอื่นทั่วโลกในช่วงก่อน 2010 อยู่ที่ 1.5% ซึ่งคือต่างกันนิดเดียวและที่สำคัญช่วงก่อนปีก่อนถึงวิกฤติเศรษฐกิจและช่วงวิกฤติ ROE ของหุ้นในอเมริกาต่ำกว่าหุ้นอื่นทั่วโลก  แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปหลังวิกฤติเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2010 ROE เฉลี่ยของหุ้นอเมริกาสูงกว่าหุ้นอื่นทั่วโลกถึง 3.7% และไม่มีเดือนไหนเลยที่หุ้นอเมริกา ROE เฉลี่ยต่ำกว่าหุ้นอื่นทั่วโลก คนเขียนเชื่อว่าความสามารถในการทำกำไรนี่แหละที่ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูง

 

Discussion note ของ Norges Bank (ธนาคารกลางของ Norway)

https://www.nbim.no/contentassets/0660d8c611f94980ab0d33930cb2534e/nbim_discussionnotes_3-15.pdf

อันนี้ผมว่าอ่านง่ายดี  ธนาคารกลางของ Norway เอางานวิจัยและหลักฐานว่าปัจจัยเรื่องคุณภาพของธุรกิจมีผลต่อผลกำไรของการลงทุนมาเขียนสรุปใจความและวิเคราะห์เหตุผลหรือข้อโต้แย้งให้เราอ่าน

โดยรวมคือมันมีคนทำวิจัยหัวข้อนี้หลายคน  แต่เค้าวัดคำว่าคุณภาพของธุรกิจต่างกัน บางคนก็ใช้ Profitability ความสามารถในการทำกำไรเช่น Gross Profit / Total Assets, ROE, ROA  บางคนใช้ตัวเลขเรื่องความเสี่ยงจากหนี้สินเช่น Debt / Assets หรือบางคนก็วัดเรื่องคุณภาพของกำไรเช่นความผันผวนของกำไรต่อหุ้น, ส่วนต่างของรายการเกณฑ์เงินสดกับเกณฑ์คงค้าง

และผลที่ได้ในหลายงานวิจัยคือคุณภาพของธุรกิจมีผลและดูเหมือนเรื่อง Profitability จะมีผลชัดเจน  โดยหุ้นที่คุณภาพของธุรกิจดีดูจะทำได้ดีกว่าอย่างชัดเจนในช่วงตลาดขาลง

เค้ายกตัวอย่างช่วงมกราคม 1994 ถึงมิถุนายน 2015  จากตัวอย่างหุ้นทั่วโลกที่ความสามารถในการทำกำไรสูงสุด 20% แรก (กำไรขั้นต้นเทียบกับทรัพย์สิน) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นที่ความสามารถในการทำกำไรต่ำ 20% สุดท้ายอยู่มากกว่า 6 เท่า

 

จริงๆในบทความก็จะมีพูดถึงผลงานวิจัยของคนอื่นๆว่าวัดอะไรแล้วได้ผลว่าอะไร  ส่วนใหญ่จะได้ผลออกมาชัดเจนว่าบริษัทที่มีคุณภาพดีให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ  โดยผลตอบแทนที่มากกว่านี้ไม่สามารถถูกอธิบายด้วยปัจจัยที่เคยศึกษามาใน four-factor model ของ Carhart  แล้วตัว Norges Bank ก็มีทำการวิจัยเองด้วยซึ่งเค้าอธิบายวิธีการและผลลัพธ์ของเค้าอย่างละเอียดไว้ในบทความนี้  ซึ่งก็สรุปออกมาว่าปัจจัยเรื่องคุณภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสามารถในการทำกำไรมีผลชัดเจน ส่วนพวกเรื่องความเสี่ยงขนาดหนี้สินดูมีผลน้อย  เค้ามีคุยด้วยว่าทำไมผลมันถึงออกมาแบบนี้ มีคนโต้แย้งผลงานวิจัยด้วยเหตุผลอะไร มีคนวิจัยแล้วพยายามอธิบายไว้ยังไงบ้างอ้างอิงจากอะไร ถ้าสนใจก็ลองไปอ่านดูเองละกันเพราะยาวอยู่  แต่น่าสนใจอยู่ผมก็แนะนำให้อ่านครับ

 

ดังนั้นสรุปคือ  การลงทุนในหุ้น ROE สูงให้ผลตอบแทนดีกว่าจริงครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

หุ้นในตลาดมีเยอะแยะ เริ่มดูจากตัวไหนก่อนดี?

Where to Start Looking for Your First Stock?

หุ้นในตลาดมีเยอะแยะ เริ่มดูจากตัวไหนก่อนดี?

มีลูกศิษย์ผมท่านนึงถามว่าสมมติไม่มีไอเดียหรือไม่ถนัดหุ้นกลุ่มไหนเลยจะหาหุ้นบริษัทที่น่าสนใจจากไหนดี

ผมยังยืนยันว่าเราควรจะให้ความสนใจกับธุรกิจที่เราถนัดเป็นพิเศษเพราะเราจะเข้าใจไวกว่าและได้เปรียบกว่าคนอื่น  เราจะนึกภาพออกว่าบริษัทพวกนี้เค้าทำงานกันยังไง แข่งขันกันยังไง ศัพท์เฉพาะทางที่คุยกันมันหมายถึงอะไร หรืออย่างน้อยๆก็ควรเป็นสินค้าหรือบริการที่เราเห็นภาพและน่าจะหาข้อมูลเกี่ยวกับมันได้ง่ายน่ะครับ  ไม่งั้นถึงเวลาจริงแล้วจะไปหาข้อมูลทำความเข้าใจมันจะลำบากมากเพราะเราจะเจอศัพท์ที่เราเฉพาะของอุตสาหกรรมนั้นๆ แล้วสมมติซื้อไปแล้วเกิดผลประกอบการมันแย่ลงนี่คือเราจะไม่รู้เลยว่ามันเป็นปกติของธุรกิจประเภทนี้มั้ยหรือเราต้องกังวลหรือเปล่า

เมื่อเราเริ่มเจอหุ้นกลุ่มที่เราสนใจหรือถนัด  เราก็ขยายผลต่อไปหาพวกที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่เป็นคู่แข่งกันหรือใกล้เคียง  หรือไม่ก็หาธุรกิจแบบเดียวกันที่อยู่ในต่างประเทศ มันก็จะทำให้เราขยายออกไปได้อีกพอสมควร

ผมแนะนำว่าเริ่มนึกประมาณนี้  แล้วก็ Google ดูว่าบริษัทอะไรเป็นคนทำมีหุ้นมั้ย

  1. พยายามหาที่อยู่ในสายงานเราหรือเกี่ยวกับที่ทำงานเราก่อน
  2. ต่อมาก็ลองนึกถึง Hobby หรือสิ่งที่เราสนใจ
  3. แล้วก็พวกที่อยู่ในเรื่องที่เราเรียนมา
  4. แล้วก็มองหาจากสิ่งที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน
  5. ท้ายสุดก็เป็นพวกกลุ่มธุรกิจที่คนใกล้ตัวเราคุ้นเคยหรือใกล้ชิด

เอาตัวอย่างจากผมก่อน

  1. สายงานที่ถนัดจะเป็นเรื่องการเงินการลงทุน  ธุรกิจที่ผมเห็นภาพก็จะมีอย่างเช่นบริหารจัดการลงทุน, พวกธุรกิจสินเชื่อ, ประกันและอื่นๆ
    • บริหารจัดการลงทุนที่มีหุ้นเช่น TISCO  ที่ขยายผลไปรู้จักเพิ่มเติมเช่น Amundi, Blackrock, State Street, T. Rowe Price, Invesco และอีกมากมาย
    • ธุรกิจสินเชื่อ  อันนี้ก็กว้าง มีทั้งธนาคาร, บัตรเครดิต, สินเชื่อเช่าซื้อ, ฯลฯ  ที่รู้จักในไทยเช่น SCB, KBANK, BBL, KTC, AEONTS, TK, Srisawad etc.  ที่ขยายผลไปรู้จักเพิ่มในไทยหรือต่างประเทศเช่น ASK, THANI, Phatra Leasing, Mastercard, VISA, American Express, Sberbank, TBC Bank, Wells Fargo, etc.
    • ประกันภัยก็จะมีทั้งบริษัทประกัน, โบรกเกอร์ประกัน, ประกันภัยต่อ, ฯลฯ  เช่น AIA, Bangkok Insurance, Syn Mun Kong, TQM, ThaiRe, Cigna, Sompo, etc.  ที่ไปรู้จักเพิ่มจากการหาเพิ่มเช่น Anthem, Unitedhealth, Centene, AON, Arthur J Gallagher, Marsh McLennan, Jardine, Aflac, Swiss Life, China Life Insurance, Ping An etc.

    หรือบริษัท vendor บางเจ้าที่ผมเห็นในที่ทำงาน

    • Cisco ระบบโทรศัพท์ของ Call Center
    • Microsoft Office 365
    • จัดหาคน Adecco, Manpower, Robert Walters, Kelly Services, etc.
    • SAP
  2. Hobby หรืองานอดิเรกนี่ผมเป็นคนชอบกินชอบท่องเที่ยว  กับมีออกกำลังกายบ้าง
    • ร้านอาหารของกิน  MINT, CENTEL, McDonald, MK Suki, After You, Starbucks พวกที่มาหาเพิ่มเจอทีหลังเช่น  Restaurant Brands International, Domino’s Pizza, Hai Di Lao, Cafe De Coral, etc.
    • ของในร้านอาหาร  McCormick, Kikkoman, SAUCE, Kewpie, etc.
    • เตรียมท่องเที่ยว  H.I.S., Booking.com, Expedia, etc.
    • เจอตอนไปเที่ยว  JR (central, east, west), Hilton, InterContinental Hotels Group (Holiday Inn), Marriott, สายการบินต่างๆ, สนามบิน, Jungfraubahn (Jungfrau region), Odakyu railway (ฮาโกเนะ), Huangshan Tourism (หัวซาน), Park24 (ที่จอดรถ)  และอื่นๆ
    • ออกกำลังกายก็เช่นรองเท้าวิ่ง  Nike, Adidas, Skechers, etc.
  3. เรื่องที่เรียนมาก็พอดีเหมือนข้อ 1
  4. ของในชีวิตประจำวันก็ดูพวกที่เราใช้แหละ  ผมว่าตัวอย่างเริ่มเยอะเกินละ ไปสังเกตเอา  ของกินในครัว, ของใช้ในห้องน้ำ, บ้าน, ที่นอน, เสื้อผ้า, แว่นตา, โรงพยาบาลแถวบ้าน, ห้างแถวบ้าน, ร้านแถวบ้าน, ฯลฯ
  5. กลุ่มธุรกิจที่ญาติรู้จัก  อย่างผมก็จะเป็นบริษัทที่ผลิตกระแสไฟฟ้า  GLOW, RATCH, GULF, GPSC, etc.

 

มันก็ประมาณนี้แหละครับ  คือผมจะบอกว่ามันไม่ได้ต้องเป็นในสายอาชีพก็ได้  เอาอะไรก็ได้ที่เราเคยเห็นแล้วเรารู้สึกว่ามันมีความเด่นหรือเราไปซื้อมันบ่อยๆก็ได้  หรือไม่ต้องเราซื้อแต่เห็นว่าคนนิยมซื้อหรือบริษัทเราซื้อก็ได้ ยังไงมันต้องมีแน่นอนครับแค่เราต้องพยายามสังเกตเยอะๆหน่อย

ถ้าใครยังรู้สึกมีปัญหาคิดอะไรไม่ออก  ทิ้งรายละเอียดบรรยายเรื่องของตัวเองไว้ใน comment นะครับ  เดี๋ยวผมจะลองช่วยคิดเป็นตัวอย่างให้ดู ยังไงมันต้องมีแน่นอนครับ

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

หุ้นกู้ ทางเลือกสำหรับคนไม่ชอบความเสี่ยง

ฺBond, A Choice for the Risk Averse

หุ้นกู้ ทางเลือกสำหรับคนไม่ชอบความเสี่ยง

วีดิโอนี้มันเริ่มมาจากมีนักเรียนคนนึงบอกว่าเค้าลงทุนในหุ้นกู้  ซึ่งผมเข้าใจมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียนว่านักลงทุนรายย่อยไม่สามารถซื้อตราสารหนี้เอกชนเองได้และถ้าจะลงทุนในหุ้นกู้ก็คือต้องผ่านกองทุนรวมเท่านั้นก็เลยเกิดความรู้สึกแปลกใจเลยลองมาหาข้อมูลอ่านดู  วีดิโอนี้ผมมาเล่าให้ฟังว่าผมพบอะไรบ้างเกี่ยวกับหุ้นกู้ (แต่บอกไว้ก่อนเลยว่าผมไม่ค่อยลงทุนในหุ้นกู้มาก่อนและดังนั้นเข้าใจผิวเผินมาก)

 

หุ้นกู้นี่มันคืออะไร ?

คิดซะว่าเวลาเราซื้อหุ้นกู้คือเราให้คนยืมเงินน่ะครับ  สถานะของเราคือเราเป็นเจ้าหนี้เค้าซึ่งมันก็จะไม่เหมือนหุ้นเพราะอันนั้นคือเราเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของเค้า

จุดเด่นของการเป็นเจ้าหนี้คือผลตอบแทนแน่นอนกว่าหุ้น  กรณีบริษัทเบี้ยวหรือมีแนวโน้มมีปัญหาก็จะได้รับเงินคืนก่อนหุ้น

โดยรวมดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากแหละ  แต่ดอกเบี้ยกี่ % ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ขอยืมเงินกับระยะเวลาที่ยืมว่ายืมไปนานขนาดไหน

 

ซื้อได้ด้วยเหรอ ?

ปรากฎว่าได้จริงด้วย  เท่าที่เห็นส่วนใหญ่หุ้นกู้จะออกเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันกับนักลงทุนรายใหญ่  แต่มีบางส่วนที่เสนอขายกับบุคคลทั่วไป เงินลงทุนขั้นต่ำ 50,000 – 100,000 บาท เราสามารถเข้าไปดูว่ามีหุ้นกู้อะไรกำลังจะออกใหม่บ้างได้บนเวป  ผมเจอบนเวปของกลต.

https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/NewProduct

อ่านหนังสือชี้ชวนว่าใครเป็นตัวแทนขายแล้วก็ไปซื้อกับที่นั่น  โดยวิธีการซื้อคือเข้าไปติดต่อธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นตัวแทนขายหุ้นกู้ที่เราสนใจแล้วแจ้งว่าเราต้องการจะซื้อหุ้นกู้  ถ้าเป็นไปได้ควรไปให้เร็วที่สุดไม่ได้ต้องรอวันซื้อขายจริงเพราะเราต้องทำการจองก่อนดูว่าเราจะได้มั้ย

เวลาไปซื้อก็เหมือนจะง่าย  ผมอ่านจากเวปของธนาคารกสิกร  เค้าบอกว่าให้เตรียมสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาสมุดเงินฝาก  ตอนจ่ายเงินนี่คือจะเป็นเงินสด, เช็คเงินสดหรือหักบัญชีธนาคารก็ได้  

กรณีที่เป็นหุ้นกู้ที่ออกขายไปแล้วก็เหมือนจะซื้อได้ถ้ามีคนขายบนตลาดตราสารหนี้ Thai Bond Exchange แต่ดูจะเป็นส่วนน้อย  ผมเข้าใจว่าเพราะคนส่วนใหญ่ที่ลงทุนในตราสารหนี้จะถือยาวเลยไม่ค่อยมีการซื้อขาย  

รายชื่อบริษัทโบรกเกอร์ที่ให้บริการซื้อขายตราสารหนี้หาได้บนเวป SET  https://www.set.or.th/set/memberlist.do?language=th&country=TH

การซื้อหุ้นกู้ด้วยตัวเองนี่มันเพิ่งมาน่าสนใจเมื่อเร็วๆนี้ตอนที่เค้าเปลี่ยนกฎหมายเรื่องภาษีของกองทุนรวมตราสารหนี้  แต่เดิมลงทุนตราสารหนี้เองเสียภาษี 15% ทั้งจากดอกเบี้ยที่ได้และกำไรจากส่วนต่างราคา ในขณะที่ถ้าเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ไม่เสียภาษี  จะมีภาษีแค่ 10% ถ้ากองทุนปันผลออกมา ทำให้ลงทุนผ่านกองทุนรวมน่าสนใจกว่าการซื้อเองมาก แต่ปัจจุบันเค้าเพิ่งเปลี่ยนกฎให้บริษัทที่ออกหุ้นกู้เวลาจ่ายดอกเบี้ยให้หักภาษีณ ที่จ่าย 15% เลยโดยไม่สนใจว่าจ่ายให้บุคคลหรือกองทุน  แปลว่าความได้เปรียบของการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ก็จะลดลงละ ได้เปรียบเหลือตรงที่ Capital Gain ผ่านทางกองทุนรวมไม่ต้องเสียภาษีเท่านั้น

 

เวลาซื้อต้องพิจารณาอะไรบ้าง ?

  1. บริษัทที่จะยืมเงินเรา
  2. ถ้าเค้าเจ๊งไม่มีเงินจ่ายเราก็จะเดือดร้อนเหมือนหุ้นแหละ  แต่ในกรณีนี้เราไม่ได้ต้องการบริษัทที่ทำกำไรได้ดีมากเติบโตเพราะเราไม่ได้โตไปกับเค้าอยู่ละ  เอาแค่ธุรกิจทำได้ดีระดับคงที่มีเงินจ่ายเราก็ใช้ได้

  3. อัตราดอกเบี้ย, ระยะเวลาการไถ่ถอนคืน, มีหรือไม่มีหลักประกัน, อันดับความน่าเชื่อถือ  และรายละเอียดอื่นๆ

 

ขายระหว่างทางได้มั้ย ?

ได้นะแต่ดูจะยากกว่าหุ้น  หลักๆดูเหมือนจะเป็นการขายให้กับธนาคารน่ะแหละ  แต่เนื่องจากมันจะไม่มีราคากลางตลาดดังนั้นอาจจะควรลองถามธนาคารหลายๆที่เปรียบเทียบกัน

 

ลงทุนหุ้นกู้ผ่านกองทุนรวมดีกว่ามั้ย ?

จริงๆผมก็คิดว่าดูมันจะง่ายกว่านะ  แล้วดูน่าจะมีสภาพคล่องสามารถขายออกมาได้ง่ายกว่าด้วยถ้าเกิดกรณีเราต้องการขายขึ้นมา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ก็มีค่าใช้จ่ายตรงที่มันมีค่าธรรมเนียมการจัดการ  ซึ่งถ้าดูๆแล้วก็เป็นสัดส่วนพอสมควรเมื่อเทียบกับรายได้ อย่างผมเปิดเวป AIMC จะเจอว่าผลตอบแทนกองทุนตราสารหนี้เฉลี่ยต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็อยู่ประมาณ 2-3%  ส่วนค่าธรรมเนียมอยู่ประมาณ 0.2-0.5% นั่นแปลว่าจากกำไรที่ทำได้ทั้งหมดจ่ายไปเป็นค่าธรรมเนียมถึง 10% ทีเดียว

แล้วแต่คนจะคิดละกันครับหัวข้อนี้

 

แล้วพออ่านมาถึงแถวๆนี้ผมก็หยุดอ่านเพราะยังไงส่วนตัวคงไม่ได้ไปเน้นลงทุนในตราสารหนี้อยู่แล้ว  สำหรับคนที่สนใจผมทิ้งลิ้งค์ข้อมูลดีๆที่ผมไปอ่านมาไว้ข้างล่างนี้ละกันครับ

https://www.checkraka.com/knowledge/saving-2-68/1643704/

http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2019/02042019.aspx

http://www.thaibma.or.th/bondsupermart/

https://www.set.or.th/set/education/html.do?name=bond&showTitle=F

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

แนะนำสุดๆ One Up On Wall Street

Highly Recommended : "One Up On Wall Street"

แนะนำสุดๆ One Up On Wall Street

หนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มนึงที่ผมชอบมากครับ  นอกเหนือจาก “Buffetology” กับ “Why Moat Matters” ที่ผมแนะนำมากที่สุดรองลงมาน่าจะเป็นเล่มนี้แหละครับ

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ

  1. ให้เรื่องวิธีคิดได้ดีมาก  จริงๆถ้านับแค่เรื่องวิธีคิดในการลงทุนนะ  ผมว่าเล่มนี้คือที่สุดละ
  2. ที่สำคัญอ่านสนุกมากด้วย  ไม่ใช่สาระดีอย่างเดียว

คนเขียน Peter Lynch นี่เค้าเคยเป็นผู้บริหารกองทุน Magellan ของบริษัท Fidelity ซึ่งมีประวัติการลงทุนที่โดดเด่นมากในช่วงปี 1977-1990 (ประมาณ 13 ปี)  เท่าที่ผมรู้เค้าเคยเขียนหนังสืออยู่ 3 เล่มคือ Beating the Street, Learn to Earn และ One Up on Wall Street ผมเคยอ่านแค่ Learn to Earn กับ One Up on Wall Street ซึ่งมันมีความคล้ายกันเพราะคนเขียนคนเดียวกันแต่ผมมีความรู้สึกว่า One Up Wall Street นี่สนุกกว่านะครับ

โดยรวมแล้ว One Up on Wall Street ให้พื้นฐานความคิดเรื่องการลงทุนที่สำคัญมาก  ถ้าคุณไม่ได้ว่าเชื่อในการลงทุนสายพื้นฐานอยู่และอ่านหนังสือในสายนี้มานานแล้ว ผมเชื่อว่าอ่านเล่มนี้จะเกิดประโยชน์แน่นอน  Peter Lynch เค้าจะเหมือนเล่าเรื่องในชีวิตเค้าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง, สังเกตเห็นอะไร, ได้ข้อคิดอะไร, แล้วเค้าเชื่อจริงๆเลยว่านักลงทุนธรรมดาได้เปรียบพวกมืออาชีพอย่างผู้บริหารกองทุนมาก  เค้าจะอธิบายให้เราเห็นภาพในหนังสือว่าเราจะลงทุนได้ดีกว่าพวกมืออาชีพได้อย่างไร ตัวอย่างไอเดียสำคัญที่คุณจะได้จากหนังสือเล่มนี้คือ

  • ราคาหุ้นในบางครั้งอาจจะวิ่งสวนทางกับพื้นฐานของบริษัท  แต่ในระยะยาวแล้วสุดท้ายมันก็จะตามผลกำไรของบริษัท
  • ตลาดหุ้นจะมีวันที่ตกรุนแรง  เราจะไม่มีทางรู้ว่ามันจะมาเมื่อไหร่  แต่เมื่อตลาดตกมันเป็นโอกาสให้เราได้ซื้อบริษัทที่เราชอบได้ในราคาถูก
  • บริษัทที่ได้รับความนิยมมากๆ  นักลงทุนสถาบันถือหุ้นเยอะและมีนักวิเคราะห์พูดถึงเยอะมักจะเป็นบริษัทที่แพงและอนาคตจะผลตอบแทนห่วย
  • ลงทุนในบริษัทที่คนไม่สนใจ, ดูน่าเบื่อและไม่เป็นที่นิยม  แต่มีความได้เปรียบและมีโมเดลธุรกิจที่กำไร
  • บริษัทที่ไม่มีหนี้เลยก็จะเจ๊งยากหน่อย
  • เราต้องเข้าใจธรรมชาติลักษณะของธุรกิจที่เราซื้อและมีเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมเราซื้อ
  • ผู้จัดการกองทุนมักจะโดนบีบจากการวัดผลการลงทุนในระยะสั้น  ทำให้ไม่สามารถลงทุนระยะยาวได้
  • ใช้ความได้เปรียบของเราให้เป็นประโยชน์  มองหาบริษัทที่เราใกล้ชิดเพราะเราจะเห็นความเคลื่อนไหวของธุรกิจของมันได้เร็วกว่าคนอื่น
  • และไอเดียที่สำคัญอื่นๆอีกเยอะมาก

ผม recommend จริงๆเล่มนี้  เนื้อหาดีมากไม่พอตลกด้วย มีแปลเป็นภาษาไทยแน่นอน  ไปหาซื้อเลยครับ ผมชอบขนาดตามไปฟังเค้าพูดบน YouTube ด้วยซึ่งผมก็แนะนำเช่นกัน  เดี๋ยวผมทิ้งลิ้งค์ไว้ให้ครับ https://www.youtube.com/watch?v=72Pq5zKEi_g  Peter Lynch พูดได้ฮามากครับ

 
ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ทำไมหาหุ้นญี่ปุ่นไม่เจอ บนแพลตฟอร์มของ SCB ??

Can't find Japanese Stocks on SCB's platform ??

ทำไมหาหุ้นญี่ปุ่นไม่เจอ บนแพลตฟอร์มของ SCB ??

อธิบายเรื่อง Online กับ Offline platform

หัวข้อเรื่องนี้จริงๆมาจากคนที่ไปเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศละ  แล้วพอเข้าไปบนหน้าจอสั่งคำสั่งซื้อขายบนเวปแล้วปรากฎว่าหาหุ้นญี่ปุ่นไม่เจอเค้าเลย message มาถามเรา

จะอธิบายว่าอย่างสมมติเปิดพอร์ตกับ SCBS หรือ KSecurities หรือ Kim Eng ก็แล้วแต่  เค้าจะมีบางตลาดที่ไม่อยู่บน Online platform แต่ซื้อขายได้นะแค่ต้องโทรไปสั่งกับทางมาร์เก็ตติ้งเท่านั้นเอง

ตลาดหลักๆส่วนใหญ่ซื้อขายได้บนออนไลน์แหละ เช่น

  • อเมริกา
  • ยุโรป (เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, ฯลฯ)  ยกเว้นตุรกี
  • ฮ่องกง

จะมี Kim Eng ที่ต่างกว่าคนอื่นคือหุ้นยุโรปซื้อออนไลน์ ไม่ได้ต้องโทรสั่ง  ส่วนหุ้น Malaysia ที่คนอื่นต้องโทรสั่ง ของ Kim Eng สั่งออนไลน์ได้

ส่วนตลาดที่ต้องโทรสั่งเช่น

  • จีน
  • ญี่ปุ่น
  • เกาหลี
  • ออสเตรเลีย
  • อินโดนีเซีย
  • เวียดนาม

ถ้าต้องการซื้อหุ้นในตลาดเหล่านี้ก็ไม่ได้ยากนะ  แค่โทรไปสั่งกับมาร์เก็ตติ้งเท่านั้นเอง เวลาดูราคาก็ดูไปบนเวปอื่นอย่าง Bloomberg เอาครับ

 

โดยปกติแล้วถ้าตลาดไหนซื้อขายด้วยตัวเองบนออนไลน์ได้  ผมก็จะทำด้วยตัวเองแหละครับเพราะว่า

  1. ค่าธรรมเนียมถูกกว่า
  2. ไปเปลี่ยนแปลงคำสั่งเองได้  บางตลาดเปิดดึก เวลาจะสั่งซื้อต้องโทรสั่งตั้งแต่กลางวัน  แล้วเกิดอยากแก้ไขคำสั่งก็ไม่ได้มาร์เก็ตติ้งไม่อยู่แล้ว

 
ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ทำไมกูรูหุ้นแต่ละคน แนะนำไม่เหมือนกัน ??

Why different stock gurus recommend differently ??

ทำไมกูรูหุ้นแต่ละคน แนะนำไม่เหมือนกัน ??

เป็นอะไรที่ก็สมควรงงอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เพิ่มเริ่มศึกษา  สาเหตุที่คนแนะนำไม่เหมือนกันไม่ใช่เพราะว่าคนนึงถูกอีกคนผิดนะ หลักๆแล้วเป็นเพราะเค้ามาจากพื้นฐานความเชื่อคนละแบบและวัตถุประสงค์ในการลงทุนไม่เหมือนกันครับ

โดยไอเดียแล้วนักลงทุนในตลาดจัดกลุ่มออกมาจะพบว่ามาจาก 3 พื้นฐานความเชื่อหลักๆครับ

  1. กลุ่มพื้นฐาน
  2. พื้นฐานความเชื่อ  หุ้นมันคือธุรกิจ  จะช้าหรือเร็วสุดท้ายราคาหุ้นในตลาดก็ขึ้นอยู่กับผลประกอบการที่ทำได้และคาดว่าจะทำได้ในอนาคตของบริษัทนั้นๆ

    กลยุทธ์คืออะไร  พยายามประมาณการผลประกอบการในอนาคตด้วยการศึกษาธุรกิจและงบการเงิน  หลังจากนั้นสรุปให้ได้ว่ามูลค่าที่มองว่าเหมาะสมของหุ้นนั้นอ้างอิงจากผลประกอบการในอนาคตที่คาดการณ์ไว้คือเท่าไหร่  แล้วซื้อหุ้นถ้าราคา ณ ปัจจุบันต่ำกว่าราคาที่มองว่าเหมาะสมพอสมควร

    เน้นดูอะไร  ธุรกิจทำอะไร, แนวโน้มธุรกิจ, หนี้สินเยอะมั้ย, อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อรายได้, ROE, P/E, มูลค่ายุติธรรม, ฯลฯ

    เป้าหมายคืออะไร  คาดหวังกำไรระยะยาวหน่อยเพราะต้องใช้เวลากว่าราคาในตลาดจะกลับมาหาราคาที่เหมาะสม  บางครั้งใช้เวลาหลายปี คาดหวังกำไรจากทั้งปันผลและราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น อาจจะถือยาวไปเรื่อยแม้ว่าราคาหุ้นกลับขึ้นมาแล้วเพราะธุรกิจถ้าทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆทั้งปันผลและราคาหุ้นก็จะดีขึ้นตาม

  3. กลุ่มเทคนิค
  4. พื้นฐานความเชื่อ  การอ่านงบการเงินไม่ช่วยอะไรเพราะคนอื่นก็อ่านได้เหมือนกัน  ราคาหุ้นมันสะท้อนข้อมูลทั้งหมดที่มีเกี่ยวกับบริษัทนั้นๆอยู่แล้ว  สุดท้ายราคาหุ้นขึ้นอยู่กับความต้องการของคนในตลาดอยู่ดี

    กลยุทธ์คืออะไร  พยายามคาดเดาพฤติกรรมของคนในตลาด  เชื่อว่าคนเรามักจะมีพฤติกรรมเป็นรูปแบบเดิมๆดังนั้นจะมีรูปแบบที่สังเกตและเอามาใช้ประโยชน์ได้  ถ้าเดาได้ว่าคนอื่นในตลาดจะทำอะไรแล้วขยับเร็วเพียงพอก็จะทำกำไรได้

    เน้นดูอะไร  การเคลื่อนไหวของราคา, ปริมาณการซื้อขาย, แนวรับ, แนวต้าน, ฯลฯ

    เป้าหมายคืออะไร  คาดหวังกำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก  ส่วนใหญ่แล้วคาดหวังผลในระยะเวลาไม่นาน ภายใน 1 วันก็มี  และส่วนใหญ่นานที่สุดก็ไม่เกิน 1 ปี จะขายเมื่อมีสัญญาณทางเทคนิคที่บ่งชี้ว่าได้เวลาขาย

     

  5. กลุ่มเฉลี่ย
  6. พื้นฐานความเชื่อ  ไม่มีใครคาดเดาตลาดได้จริงๆหรอก  ตลาดเป็น random walk ที่เห็นมีคนทำได้ดีนี่มันคือเป็นส่วนน้อยมากหรือก็คือฟลุค  และดังนั้นอย่าไปเสียเวลานั่งเดา

    กลยุทธ์คืออะไร  ลงทุนในหุ้นแบบกระจาย  ไม่พยายามเลือกหรือเดาจังหวะเข้าซื้ออะไรทั้งนั้นไม่สนใจอารมณ์ตลาด

    เน้นดูอะไร  อย่างมากคือเลือกว่าจะลงทุนแบบกระจายในหุ้นอะไรบ้าง

    เป้าหมายคืออะไร  ให้กำไรได้เท่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของหุ้นที่ลงทุนไป  ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นอย่างพวกค่าธรรมเนียม โดยปกติแล้วก็คาดหวังผลระยะยาว

 

จะเห็นว่า 3 ไอเดียนี้มันมีพื้นฐานความเชื่อไม่เหมือนกัน  ดังนั้นมันก็เลยทำให้เวลาเค้าพูดเรื่องหุ้นมันถึงฟังเหมือนแนะนำไปคนละทิศคนละทางให้เหตุผลคนละแบบ  ผมแนะนำให้เราตัดสินใจให้เรียบร้อยก่อนว่าเราลึกๆแล้วเห็นด้วยไปในทิศทางไหนก่อนไม่งั้นมันจะงงมาก

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

Security Analysis น่าซื้อมาอ่านมั้ย ??

Should you read "Security Analysis" ??

Security Analysis น่าซื้อมาอ่านมั้ย ??

รีวิวหนังสือ “Security Analysis”

เคยมีคนถามว่าหนังสือ Security Analysis น่าอ่านมั้ย

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่มีชื่อเสียงเพราะ Warren Buffett แนะนำและบอกว่าเป็นแนวทางการลงทุนที่เค้าตามมาตลอด 57 ปี  จนผมต้องไปหาซื้อมาอ่าน เพราะปกติผมก็ตามอ่านหนังสือเล่มที่เค้าบอกว่าดีและที่ผ่านมาก็ดีทุกครั้งนะครับ แต่สำหรับเล่มนี้หลังจากอ่านจบผมก็ได้ข้อสรุปว่าไม่ต้องอ่านก็ได้ครับ

พูดตามตรงคือตอนที่มีคนถามว่าควรอ่านมั้ย  ผมจำสาระเนื้อหาอะไรจากหนังสือแทบจะไม่ได้ละ  ปกติผมจะจำเนื้อหาหนังสือได้ถ้ารู้สึกว่ามันมีความเด่นหรือให้อะไรใหม่ๆกับเรา  แต่อาจจะเพราะอ่านเล่มนี้หลังอ่านเล่มอื่นไปหลายเล่มแล้วหรือเปล่าไม่รู้เลยไม่มีอะไรประทับใจผมเลย

เนื้อหาโดยรวมของหนังสือมันจะประมาณนี้

  • คอนเซปต์ของคำว่า Intrinsic value ว่ามันยากที่จะคำนวณออกมาเป็นตัวเลข  แต่บางทีเราไม่ต้องรู้เป๊ะๆก็ได้ คล้ายๆเวลาเราจะบอกว่าคนซักคนน้ำหนักเกิน  บางทีดูเฉยๆก็รู้โดยไม่ต้องวัดก็ได้
  • Intrinsic Value ส่งผลต่อราคาหุ้นในตลาด  แต่ไม่โดยตรงเพราะต้องแข่งกับปัจจัยอื่นที่มีผลต่อพฤติกรรมของคนในตลาด
  • เวลาวิเคราะห์ต้องดูทั้งปัจจัยในเชิงปริมาณตัวเลขที่เกิดขึ้นร่วมกับปัจจัยเชิงคุณภาพ
  • ต้องดูรายละเอียด  ไม่สามารถบอกได้ว่าตราสารหนี้ปลอดภัยแน่นอน  หรือบอกว่าหุ้นเสี่ยงแน่นอน
  • มีบทที่พูดถึงพวกตราสารหนี้, หุ้นบุริมสิทธิ์, หุ้นกู้แปลงสภาพ  และหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ
  • อย่าคาดการณ์เทรนด์ในอนาคตโดยการแค่ดูตัวเลขในอดีต  Law of Diminishing Returns
  • Margin of Safety
  • มีพูดถึงว่าในความเห็นเค้าเราควรเลือกบริษัทที่จ่ายปันผลหรือไม่ปันผลดี
  • วิธีพิจารณางบกำไรขาดทุน  เช่นต้องไม่นับพวกรายได้ที่เกิดครั้งเดียว  หรือสิ่งที่ต้องระวังต่างๆ
  • วิธีพิจารณางบแสดงสถานะทางการเงิน

 

หลักๆเลยสิ่งที่ผมพบเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้คือ

  1. ไม่ได้อะไรใหม่
  2. ในอดีตมันอาจจะเป็นสุดยอดแล้วเพราะไม่มีคนอื่นทำแบบนี้กันและดังนั้นเมื่ออ่านก็จะได้มุมมองใหม่ที่ต่างจากคนอื่น  แต่ปัจจุบันไอเดียของการลงทุนโดยพิจารณาธุรกิจและพิจารณาซื้อมันที่ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ประเมินได้พอสมควรมันทั่วไปมาก  และสามารถหาหนังสืออ่านที่ให้ไอเดียแบบเดียวกันแต่อ่านง่ายกว่ามีเยอะแยะ

    ดังนั้นถ้าคนที่อ่านเป็นแฟน Buffett อยู่แล้วและเชื่อในการลงทุนแบบสายพื้นฐานอยู่แล้ว  ก็เหมือนอ่านย้ำเรื่องเดิมเฉยๆ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกก็จะยังไม่เชื่อต่อไป ไม่เกิดประโยชน์อะไร

  3. เนื้อหาหลายเรื่องตกยุคไปแล้ว
  4. อย่างส่วนที่เป็นเรื่องรายการบนงบกำไรขาดทุนหลายอันที่เค้าเตือนให้ระวัง  ปัจจุบันก็ห้ามทำอยู่แล้ว

ดังนั้นสรุปโดยรวมคือผมว่าไปอ่านเล่มอื่นเถอะ  คือถ้าจะอ่านเอาความคลาสสิกมันก็โอเคนะ เหมือนคุณเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วจะไปอ่าน The Wealth of Nations น่ะครับ  แต่ถ้าจะเอาว่าอ่านแล้วเกิดประโยชน์คุ้มค่าต่อการเสียเวลาตั้งใจอ่านผมว่ามีเดี๋ยวนี้มีเล่มอื่นที่สื่อแบบเดียวกันแต่อ่านง่ายกว่าหาได้เยอะละครับ

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fgS