กลยุทธ์ในการซื้อของเราเป็นยังไง ? ซื้อกี่ไม้ ? ฯลฯ

What is Our Buying Strategy? How Much do We Buy Each Time? And more.

กลยุทธ์ในการซื้อของเราเป็นยังไง ? ซื้อกี่ไม้ ? ฯลฯ

กลยุทธ์ในการซื้อของผมเป็นยังไง ?

หัวข้อนี้มีคนถามผมอยู่หลายครั้ง  เช่นแบ่งไม้ซื้อยังไง  ถ้าซื้อแล้วราคาตกไปอีกซื้อเพิ่มไหม  มีจำกัดมั้ยว่าจะถือหุ้นไม่เกินกี่ตัว  มี Stop Loss มั้ย  ผมก็เลยว่าจะมาตอบอธิบายทั้งหมดนี้ในวีดิโอเดียวไปเลยครับ

แต่ก่อนอื่นผมพูดให้ชัดก่อนว่า  ส่วนตัวผมคิดว่ากลยุทธ์ในการซื้อไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญอะไรมาก  ใครอยากจะทำแบบไหนก็ทำเถอะ  ไอที่ผมทำอยู่ก็ไม่ได้แปลว่าดีหรือสมควรเลียนแบบหรืออะไร  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตรงที่การเลือกสิ่งที่จะซื้อมากกว่า  ถ้าเราซื้อหุ้นมาถูกต้องแล้วธุรกิจมันทำได้ดีขึ้นในอนาคต  ยังไงเราก็จะทำได้ดีไม่ว่าจะซื้อกี่ไม้ยังไง  แต่ถ้าเราพลาดแล้วธุรกิจมันผิดทำได้แย่ลงเรื่อยๆ  ซื้อท่าไหนยังไงก็ไม่ได้ช่วยล่ะครับ

 

ซื้อครั้งแรกซื้อเยอะแค่ไหน ?

ส่วนตัวผมจะขึ้นอยู่กับสองเรื่องคือระดับความไว้วางใจที่มีต่อธุุรกิจที่บริษัททำและเหตุผลที่ทำให้หุ้นมันตก  โดยรวมแล้วถ้าผมชอบลักษณะธุรกิจมากไว้ใจมากก็ซื้อเยอะหน่อย  และถ้าเหตุผลที่ทำให้หุ้นมันตกไม่เกี่ยวกับผลประกอบการของธุรกิจก็จะซื้อเยอะกว่ากรณีที่เหตุผลที่ตกเกี่ยวข้องกับผลประกอบการ

ผมซื้อโดยถือคติว่าจะซื้อครั้งแรกให้เยอะในระดับที่จะ “ไม่มานั่งเสียดายทีหลัง” ครับ  เพราะเคยซื้อแบบกั๊กๆหวังว่าจะซื้อเพิ่มเวลามันตกลงมาอีก  แล้วผลคือไม่ได้ซื้อเพิ่มซื้อได้มาแค่นิดเดียว  ก็จะมานั่งเสียดายทีหลังว่าโอกาสไม่ได้มาบ่อยๆดันซื้อมาน้อยไป  ซึ่งโดยปกติจะประมาณ 10% ของพอร์ต

 

ถ้าราคาตกลงไปอีกซื้อเพิ่มมั้ย ? ตกเท่าไหร่ถึงซื้อเพิ่ม ?

ผมซื้อเพิ่มนะ  ตราบเท่าที่ผลประกอบการของบริษัทยังทำได้ดีหรือผมเชื่อว่าบริษัทจะยังทำได้ดีขึนในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า

เพื่อไม่ให้ตื่นเต้นซื้อเยอะจนเกินไป  ปกติผมจะรอให้ตกกว่าตอนที่ซื้อมาตอนแรกซัก -15% ค่อยซื้อเพิ่ม  แต่ก็ไม่ได้ว่าเข้มงวดมาก  เคยตกลงมาเพิ่มอีก -10% ก็ซื้อเพิ่มแล้วก็มีครับ  ขึนอยู่กับว่าผมเชื่อในธุรกิจนั้นขนาดไหน  และโดยปกติแล้วมันก็ไม่ใช่ว่าซื้อมาปุ๊บ 2 วันจะราคาตกไป -15% ใช่มั้ยครับ  ส่วนใหญ่แล้วมันก็จะนานซักระยะหนึ่งและปกติเราก็จะมีข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นจากงบไตรมาสอยู่แล้วครับ

 

แล้วแบ่งไม้ซื้อยังไง ? ซื้อกี่ครั้ง ?

ปกติผมไม่ได้แบ่งไม้อะไรเป็นพิเศษ  และไม่มีจำกัดจำนวนครั้งที่ซื้อเพิ่มด้วยครับ

ส่วนตัวผมคือ  ตราบเท่าที่เรายังเชื่อว่าผลประกอบการของบริษัทยังทำได้ดีอยู่  ก็จะทำการทยอยซื้อเพิ่มตามโอกาสที่หุ้นตกลงมา  ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะไม่ได้เยอะเท่าที่ซื้อตอนแรกน่ะครับ  อาจจะแค่ครึ่งเดียวของที่ซื้อตอนแรกครับ

แต่สมมติว่าซื้อไปเยอะแค่ไหนก็แล้วแต่  แล้วมาพบว่าพลาด  บริษัทที่ซื้อมาทำได้แย่ลงแบบผิดปกติต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเกินปี  ผมก็ยอมรับความผิดพลาดและขายทิ้งทันที  ที่ว่าผิดปกติก็อย่างเช่น

  • อุตสาหกรรมก็ปกติดี คู่แข่งคนอื่นก็ทำได้ดี  มีบริษัทนี้ทำได้ยอดขายตกอยู่คนเดียวเสียส่วนแบ่งการตลาดเยอะๆต่อเนื่องและดูแล้วจะไม่ใช่อะไรชั่วคราว
  • ถ้าผลประกอบการแย่ลงเป็นกันทุกคนเพราะปัจจัยของอุตสาหกรรมนั้น แต่ผู้บริหารดันพยายามพูดให้ดูดี  แบบนี้ผมจะขายแน่นอน  ทันทีหรือรอก็แล้วแต่  แต่ขายแน่นอน

 

มี Stop Loss มั้ย ?

ไม่มีลักษณะที่ว่าตกต่ำจากราคาที่ซื้อตอนแรกกี่ % แล้วจะขาย  ล่าสุดมีหุ้นที่ตก -50% จากตอนแรกที่ซื้อผมก็ยังซื้อเพิิ่มอยู่เพราะเชื่อว่าเป็นผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวครับ  ขายก็ต่อเมื่อเชื่อว่าเข้าใจธุรกิจมันผิดคลาดเคลื่อนไปรุนแรงเท่านั้นและถ้าแบบนั้นคือขายหมดไม่สนว่าราคาตอนนั้นอะไรเท่าไหร่

 

ถ้าราคาหุ้นไม่ขึ้นเลย  จะรอไปนานมั้ย ?

ถ้าธุรกิจทำได้ดีขึ้นตามที่คาดนี่ผมสบายใจละ  แบบนี้รอไปได้นานมากเลยครับ  อย่างน้อย 5 ปีนี่เป็นอะไรที่สบายมากไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้นหรือจะนานกว่านั้นก็ได้  ขอให้ธุรกิจมันทำได้ดีขึ้นจริงๆต่อเนื่องปกติมันไม่ได้ต้องรอนานอะไรขนาดนั้นหรอกครับ  แต่ที่ต้องรอ 3-4 ปีผมก็เคยเกิดขึ้นนะ  ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด

 

ที่รอนานๆนี่คือจำเป็นต้องเป็นุหุ้นที่มีปันผลมั้ย ?

ก็ไม่ได้เกี่ยวนะครับ  คือจะมีหรือไม่มีปันผลก็รอได้  เพราะการที่มันไม่ได้มีปันผลออกมาให้เลยในระหว่างที่รอเลยไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ได้อะไรเลยนะ

ถ้าบริษัทไม่ได้ปันผลกำไรออกมาแต่เก็บเอาไว้ลงทุนอย่างอื่นต่อแล้วทำให้กำไรบริษัทเติบโตขึ้นได้  สุดท้ายมันก็จะออกมาเป็นกำไรต่อหุ้นที่ดีขึ้นและก็จะทำให้เราได้กำไรจากราคาหุ้นที่สูงขึ้น  เพราะสมมติในอนาคต P/E ของหุ้นนี้คงที่แต่กำไรต่อหุ้นที่สูงขึ้นก็จะทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้น  ดังนั้นแปลว่ากำไรที่บริษัททำได้  ไม่ว่าจะจ่ายออกมาเป็นปันผลหรือไม่ได้จ่ายแล้วเก็บไว้ลงทุนต่อทำให้กำไรดีขึ้น  มันก็จะมาถึงมือเราในที่สุดอยู่ดีครับ

 

แล้วถ้ากำไรล่ะ  ซื้อเพิ่มมั้ย ?

กำไรปกติจะไม่ได้ซื้อเพิ่มครับ  ก็มันแพงขึ้นแล้วอ่า

สรุปมันก็ประมาณนี้ครับ  จะบอกว่าที่ราคาตกแล้วซื้อเพิ่มแล้วตอนจบกำไรโคตรดีก็มี  อันที่พลาดต้องขายขาดทุน -50% ก็มี  สำคัญสุดมันขึ้นอยู่กับตัวธุรกิจนะผมว่า  ถ้าเราเดาถูกว่าบริษัทในอนาคตจะทำได้ดีทุกอย่างมันจะดีเองครับ  ซื้อ strategy ยังไงก็ได้แหละแล้วแต่คนชอบเลย

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ทำไมดอกเบี้ยต่ำ หรือ ติดลบไปนานๆ ถึงไม่ดี ??

Why Prolonged Low or Negative Interest Rate is Not Good??

ทำไมดอกเบี้ยต่ำ หรือ ติดลบไปนานๆ ถึงไม่ดี ??

อันนี้ก็เป็นคำถามที่ดีเพราะปัจจุบันหัวข้อนี้ก็ยังมีคนถกเถียงกันเยอะ  และจริงๆก็มีบางประเทศทำแล้วด้วยนะที่บอกให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ต่ำมากไว้นานๆ  ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของ ECB (European Union) อยู่ 0% เดนมาร์กอยู่ที่ -0.65%  และของญี่ปุ่นอยู่ที่ -0.1%  ของสหภาพยุโรปนี่ต่ำกว่า 0.5% มาตั้งแต่ปี 2014  เดนมาร์กอยู่แถว 0% หรือต่ำกว่ามาตั้งแต่ 2013  ส่วนญี่ปุ่นนี่ยิ่งนานไปใหญ่ 0% หรือต่ำกว่านั้นมาตั้งแต่ปี 2011

เท่าที่ดูเศรษฐกิจพวกนี้ก็ไม่ได้ดูดีเท่าไหร่นะ  จะบอกว่าโตเร็วกว่าประเทศอื่นอย่างเห็นได้ชัดเพราะนโยบายการเงินกระตุ้นก็ไม่น่าจะใช่  สหภาพยุโรปช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตของ GDP ดีกว่าเพื่อนแถวๆ 2%  เดนมาร์กอยู่แถว 2% กว่า  ส่วนญี่ปุ่นนี่แค่ประมาณน้อยกว่า 1%  แต่ดูเท่านี้จะสรุปว่านโยบายทางการเงินไม่ได้ผลก็ยากเพราะสหภาพยุโรปมันรวมหลายประเทศ  เดนมาร์กก็ไม่ได้ดีมากแต่ก็ไม่ได้ทำได้เลวร้าย  ส่วนญี่ปุ่นมันก็มีปัจจัยเรื่องประชากรที่น้อยลงและเป็นสังคมผู้สูงอายุ  หลักฐานเรื่องนี้ยังไม่ค่อยชัดเท่าไหร่  ในวีดิโอนี้เราคงคุยกันได้แค่ในระดับทฤษฎีนะ

 

การที่ดอกเบี้ยต่ำมากๆมันไม่มีข้อเสียเลยหรือ

จริงๆแล้วในทางทฤษฎีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอยู่เป็นเวลานานก็ทำผลเสียได้เหมือนกัน

  1. เงินเฟ้อที่สูงเกินไป

นึกภาพว่าในความเป็นจริงแล้วด้วยขีดความสามารถและทรัพยากรที่มีในประเทศมันก็จะสามารถผลิตสินค้าหรือบริการได้อยู่สูงสุดจำนวนหนึ่ง  ถ้าเศรษฐกิจเติบโตเร็วเกินไปแล้วบริษัทไม่สามารถผลิตไปได้มากกว่านี้แล้วแต่ยังมีความต้องการซื้ออยู่  สิ่งที่เค้าจะทำก็คือขึ้นราคาสินค้าอย่างรวดเร็วทำให้เกิดเงินเฟ้อที่สูง

  1. ความเป็นอยู่ของคนกลุ่มล่างก็จะลำบาก

ลำบากเพราะรายได้ที่ได้จะโตปรับขึ้นไม่ทันเงินเฟ้อ  ในขณะที่คนระดับบนจะเดือดร้อนน้อยกว่าเพราะราคาของทรัพย์สินอย่างอสังหาริมทรัพย์หรือหุ้นปรับสูงขึ้นตามเงินเฟ้อได้เร็วกว่ามาก

  1. ดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้คนออมเสียเปรียบ

ผลตอบแทนในเงินฝาก, พันธบัตรหรือตราสารหนี้ลดลง  ทำให้คนขยันออมเสียเปรียบ  ในเมื่อออมในสินทรัพย์ปลอดภัยผลตอบแทนน้อยก็เป็นการผลักทำให้คนต้องลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น  กองทุนเพื่อการเกษียณทั้งหลายก็จะลำบากขึ้น

  1. เอื้อให้ธุรกิจเป็นหนี้ได้มากขึ้น

บริษัทที่จริงๆไม่เข้มแข็งก็อาจจะรอดได้ง่ายขึ้นเพราะสามารถกู้ยืมเงินได้ด้วยดอกเบี้ยที่ถูกลง  ลงทุนในโปรเจคที่ผลตอบแทนต่ำได้มากขึ้นเพราะต้นทุนของเงินถูกลง  การใข้หนี้ในการลงทุนเยอะๆก็อาจเป็นฟองสบู่ได้ในอนาคต

  1. แล้วถ้าเกิดวิกฤติขึ้นธนาคารกลางก็ลดดอกเบี้ยต่อไม่ได้แล้ว

ในเมื่อดอกเบี้ยมันต่ำจน 0 หรือติดลบอยู่แล้ว  เกิดในอนาคตมีวิกฤติเศรษฐกิจอะไรเกิดขึ้นอีก  นโยบายทางการเงินก็อาจจะไม่ได้ผลแล้วเพราะปกติดอกเบี้ยมันก็ต่ำมากอยู่แล้ว  ต่ำไปกว่านี้ก็ไม่ทำให้ภาคธุรกิจอยากลงทุนอะไรมากขึ้น

 

ในความเห็นส่วนตัวผมก็คิดว่าอะไรที่มันบ้าเกินไปทางใดทางหนึ่งมันก็ไม่น่าจะดีแหละครับ  ผมยังสงสัยอยู่ว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยต่ำมากซะจนถึงขึ้นที่การถือเงินเท่ากับติดลบ  อย่างนั้นธุรกิจจะไปตามเก็บหนี้ให้ลูกค้าจ่ายเงินทำไม  สู้ปล่อยทิ้งไว้เป็นลูกหนี้การค้าจะดีกว่ามั้ยไม่ต้องมีเงินไว้ในธนาคารให้เสียดอกเบี้ย  แล้วที่อนาถที่สุดก็จะเป็นพวกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือเพื่อเกษียณต่างๆซึ่งพึ่งพาตราสารหนี้ซึ่งมันก็ไม่มีทางมีเงินพอสำหรับคนเวลาเกษียณแน่นอน  แบบนี้เศรษฐกิจมันจะเป็นยังไง  ฟังดูเพี้ยนๆนะครับผมว่า

 
ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

เลือกกองทุนรวม Step-by-Step โคตรง่าย + ไม่เยอะ

How to Pick Your Mutual Fund Investment : Step-by-Step, Easy and Simple

เลือกกองทุนรวม Step-by-Step โคตรง่าย + ไม่เยอะ

จะเลือกกองทุนยังไงดี ?

บอกตรงๆว่าไม่ใช่หัวข้อถนัดผมที่ผ่านมาเลยไม่ค่อยพูดถึงเท่าไหร่  แต่เนื่องจากคนถามเยอะเหลือเกิน  ในวีดิโอนี้ผมจะพยายามแนะนำวิธีการให้ได้มากที่สุดเท่าที่ผมนึกออกละกันครับ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจลักษณะสำคัญที่สุดของกองทุนรวมก่อนว่า  กองทุนรวมคือเราจ้างให้คนอื่นเป็นคนบริหารจัดการเงินและเลือกตัดสินใจลงทุนแทนเรา  เราสูญเสียความควบคุมแลกกับความง่ายที่ไม่ต้องตัดสินใจในรายละเอียดด้วยตัวเอง  และดังนั้นการเลือกกองทุนรวมสิ่งที่เราเลือกได้คือแค่ทิศทางภาพกว้างๆเท่านั้น  ส่วนรายละเอียดเราควบคุมไม่ได้  ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน

 

เลือกประเภททรัพย์สินก่อน

อย่างแรกเลยคือเลือกว่าจะเป็นกองทุนที่ไปลงทุนในสินทรัพย์แบบไหนก่อน  ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับเรื่องหลักคือ

  1. มันผลตอบแทนสอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตเรามั้ย
  2. สถานการณ์เรารับระดับความเสี่ยงได้ขนาดไหน

ดังนั้นผมแนะนำให้ดูก่อนว่าตัวเรามีเป้าหมายอะไรยังไงแล้วน่าจะต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนประมาณกี่ % ต่อปี  ใช้ Link ข้างล่างนี้ไปเครื่องคิดเลขเลยครับ  https://www.fncalculator.com/financialcalculator?type=tvmAdvancedCalculator

ทีนี้เมื่อได้มาแล้วว่าผลตอบแทนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายของใครของมันนี่คือกี่ %  เราก็ค่อยมาดูว่ากองทุนแบบไหนที่มันดูเป็นไปได้บ้าง  โดยไปดูเวปของ AIMC สมาคมบริษัทจัดการลงทุนเลยครับ

https://www.aimc.or.th/

ดูด้วยว่ามันสอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราหรือเปล่า

 

ต่อด้วยเรื่องค่าธรรมเนียม

ในกองทุนรวมผลตอบแทนเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนการันตีไม่ได้  แต่สิ่งที่แน่นอนคือค่าธรรมเนียม  ดังนั้นเวลาเราเลือกจึงควรเลือกเริ่มจากสิ่งที่เราควบคุมได้ก่อนนั่นคือค่าธรรมเนียมครับ  เพื่อความง่ายในการเปรียบเทียบผมแนะนำให้ดูบน www.morningstarthailand.com

ก็ไม่ได้ว่าต้องค่าธรรมเนียมถูกที่สุดก็ได้  แต่ก็ดูให้มันอยู่ในกลุ่มที่ไม่แพงไว้ก่อนละกัน

 

แล้วก็ดูเรื่องผลการดำเนินงานกองทุน

ถึงผลการดำเนินงานของกองทุนในอดีตจะไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ผลการดำเนินงานในอนาคตแต่ก็ควรจะดูไว้อยู่ดี  อย่างน้อยมันก็ไม่ควรทำได้แย่กว่าค่าเฉลี่ยนัก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าดูผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นระยะเวลานานๆ  ดูได้บน www.morningstarthailand.com อีกเช่นกัน

ไม่ได้จำเป็นต้องเลือกที่เคยทำได้ผลตอบแทนสูงสุดเพราะยังไงอนาคตก็ไม่แน่นอน  แต่ก็ดูว่าไม่ใช่ทำได้แย่กว่าค่าเฉลี่ย

 

คำแนะนำเรื่องจิปาถะอื่นๆ

ผมว่าเรื่องหลักๆเราก็ทำไปแล้ว  ที่เหลือเป็นรายละเอียดปลีกย่อยละครับ

  1. Rating ของ Morningstar
  2. เรื่องความเสี่ยง Volatility
  3. เลือกสไตล์ที่ตัวเองชอบ  เช่น Value, Growth, ESG, มีปันผลหรือไม่มีปันผล etc.
  4. ส่วนตัวแนะนำกองทุนดัชนี  และทำการซื้อแบบเฉลี่ย (Dollar Cost Averaging)
  5. อาจจะลงทุนในกองทุนมากกว่าหน่ึงกอง

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

มาพิสูจน์กัน ! ลงทุนในบริษัทนิสัยดี (ESG สูง) ให้ผลตอบแทนดีกว่าจริงเหรอ?

Let's See Some Proof! Does Investing in ESG Companies Yield Higher Return ?

มาพิสูจน์กัน ! ลงทุนในบริษัทนิสัยดี (ESG สูง) ให้ผลตอบแทนดีกว่าจริงเหรอ?

ช่วงหลังมานี้ผมเริ่มได้ยินกระแสการลงทุนในบริษัท ESG สูง  ซึ่งคือบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) บ่อยมากขึ้น  จากเดิมที่ดูเรื่องกำไรขาดทุนอย่างเดียว  ปัจจุบันเริ่มเห็นดัชนีที่เลือกบริษัทจดทะเบียนต่างๆจากคะแนน ESG หรือกองทุนรวมที่ลงทุนเน้นบริษัท ESG สูงเยอะขึ้นกว่าในอดีตมาก  และมีพี่ที่ทำงานเก่าท่านนึงเคยพูดถึงกองทุน UOBCG ว่าผลตอบแทนดีมาก

ฝ่ายที่บอก ESG สูงจะมีผลตอบแทนดีกว่าก็ให้เหตุผลประมาณว่า

  • เป็นการผลักดันให้บริษัทมองหาวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการสิ้นเปลือง
  • การที่บริษัททำดีต่อผู้คน ทำให้พนักงานในบริษัททำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น  ผลลัพธ์ดีขึ้น
  • การที่บริษัทปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม ทำให้ได้รับการเชื่อใจจากผู้บริโภคและสังคมมากขึ้น
  • บริษัทที่มีเวลาและเงินมาสนใจเรื่อง ESG ก็ต้องเป็นบริษัทที่ทำได้ดีอยู่แล้ว

ฝ่ายที่บอก ESG สูงจะมีผลตอบแทนต่ำกว่าหรือไม่เกี่ยวให้เหตุผลประมาณว่า

  • คนเห่อบริษัท ESG สูง ทำให้ราคามันสูงกว่าปกติ
  • ESG สูงเป็นค่าใช้จ่าย อย่างเช่น Environment จะให้สะอาดมันทำได้  ปัจจุบันเทคโนโลยีมันมีหมดแล้วแต่มันเป็นการเพิ่มต้นทุน
  • ผู้บริโภคปลายทางเวลาซื้อสินค้า มีใครถามเรื่อง ESG บ้าง
  • วิธีการวัด ESG ปัจจุบันไม่มีมาตรฐาน

Source: Financial Times by  Kate Allen on December 6, 2018

 

ผมเลยเกิดความอยากรู้ว่าการลงทุนในบริษัทที่มี ESG สูงผลตอบแทนดีกว่าลงทุนในบริษัทธรรมดาหรือเปล่า  เราจะมาพยายามหาหลักฐานพิสูจน์เรื่องนี้กันครับ

 

ESG มันวัดจากอะไร ?

Environment สิ่งแวดล้อม  หัวข้อนี้ก็จะให้คะแนนจากปัจจัยที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างๆเช่น

  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจก, นโยบายที่จะลดการปล่อยก๊าซ, ฯลฯ
  • การกำจัดขยะอุตสาหกรรม, ขยะเคมี, ขยะมีพิษต่างๆ และการรีไซเคิล
  • ผลกระทบต่อแหล่งน้ำ การใช้น้ำ
  • ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด
  • ใช้เทคโนโลยีที่ลดการใช้พลังงาน ออฟฟฺิศและตึกอาคารประหยัดพลังงาน
  • การให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลสิ่งแวดล้อม
  • นโยบายจิปาถะอื่นๆ เช่นสนับสนุนให้พนักงานปั่นจักรยานมาทำงาน, ฯลฯ

Social สังคม  หัวข้อนี้จะพิจารณาเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่เกี่ยวกับคน  ทั้งกับคู่ค้า, พนักงาน  และคนในสังคมเช่น

  • การตอบแทนพนักงาน
  • การพัฒนาอบรมพนักงาน
  • ความปลอดภัยในที่ทำงาน, การป้องกันเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ
  • ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของคน โอกาสความก้าวหน้าที่ไม่จำกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  ความเท่าเทียมในการปฏิบัติ
  • ไม่ใช้แรงงานเด็ก, กำกับดูแลคู่ค้าหรือ Supplier ว่าปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน, ไม่ใช้แรงงานบังคับ
  • ดูแลลูกค้าเมื่อเกิดปัญหา, การตอบสนองเวลาถูกฟ้องร้องโดยพนักงานหรือลูกค้า
  • นโยบายโดยรวมด้านสังคม

Governance การกำกับดูแล  อันนี้ก็จะดูว่าบริษัทมีการกำกับดูแลที่โปร่งใสแยกออกจากตัวผู้บริหารมั้ย  รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นมั้ยเช่น

  • การให้ตอบแทนผู้บริหารมีเกณฑ์อย่างไร สอดคล้องกับผลประกอบการระยะยาวของบริษัทมั้ย
  • มี Golden Parachute มั้ย
  • ในกลุ่มคณะกรรมการบริษัทมีคนนอกมั้ยหรือครอบครัวมิตรสหายที่มีผลประโยชน์ร่วมทั้งนั้น
  • ประธานคณะกรรมการบริษัทกับ CEO เป็นคนเดียวกันมั้ย
  • มีนโยบายที่ทำให้ยากต่อการถอดถอนกรรมการบริษัทหรือไม่
  • บริษัทมีหุ้นหลายระดับชั้นหรือเปล่า
  • การสื่อสารกับผู้ถือหุ้น, การให้ข้อมูลเวลามีกรณีฟ้องร้อง, ฯลฯ
  • การให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล

 

แล้วการลงทุนใน ESG ได้ผลตอบแทนดีกว่าหรือเปล่า ?

เท่าที่หาข้อมูลผมพบว่ามีทั้งคนสรุปว่าดีและมีคนสรุปว่าไม่เกี่ยว  ดังนั้นเพื่อความเป็นกลางและไม่สับสน  ผมจะใช้วิธีการเปรียบเทียบผลลัพธ์ระยะยาวของดัชนีที่เน้นหุ้น ESG สูงเทียบกับดัชนีที่ไม่สนใจ ESG ที่ดึงตัวอย่างบริษัทมาจากบริษัทกลุ่มเดียวกัน  ถ้า ESG สูงมีผลจริง  เราก็ควรจะเห็นผลตอบแทนระยะยาวของดัชนีที่เน้นหุ้น ESG สูงดีกว่าดัชนีที่ไม่สนใจ ESG อย่างมีนัยสำคัญ  เรามาดูผลลัพธ์ที่ผมเจอกันเลยครับ

 

เริ่มจากกลุ่มดัชนี S&P ก่อนเลย

S&P Global 1200  vs.  S&P Global 1200 ESG

ESG ชนะอยู่เฉลี่ย 0.12% ต่อปี

Source: https://eu.spindices.com

 

 

ต่อมา  มาดูดัชนีของ FTSE กันบ้าง

FTSE Developed  vs.  FTSE4Good Developed

ESG ชนะอยู่เฉลี่ย 0.03% ต่อปี

Source: FTSE Russell as of 30 August 2019

 

 

FTSE Emerging  vs.  FTSE4Good Emerging

ESG ชนะอยู่เฉลี่ย 0.53% ต่อปี

Source: FTSE Russell as of 30 August 2019

 

 

มาดูของกลุ่มดัชนี MSCI กันบ้าง

MSCI World  vs.  MSCI World ESG Universal

ESG แพ้อยู่เฉลี่ย -0.18% ต่อปี

Source: https://www.msci.com

 

 

และสุดท้ายคือกลุ่มดัชนี STOXX กันบ้าง

STOXX Global 3000  vs.  STOXX Global 3000 ESG-X

ESG ชนะอยู่เฉลี่ย 0.05% ต่อปี

 

 

เราจะเห็นว่าโดยรวมแล้วถ้าวัดกันที่ระยะเวลา 5 ปี ESG สูงเหมือนจะดีกว่าเล็กน้อยมากๆคือประมาณ 0.1% ต่อปีหรือน้อยกว่านั้น  ซึ่งถือได้ว่าไม่เป็นสาระ  ส่วนที่น่าเชื่อถือที่สุดเพราะนานกว่าคนอื่นก็มีแค่ของ MSCI ซึ่งมีข้อมูลเกือบ 10 ปี  ได้ผลว่า ESG สูงห่วยกว่าด้วยซ้ำ  แต่ก็ไม่เป็นสาระอีกเช่นกันเพราะแย่กว่าแค่ -0.18% ต่อปีเท่านั้นเอง

ดังนั้นผมสรุปจากหลักฐานได้ว่าปัจจัยเรื่อง ESG ไม่มีผลอะไรกับผลตอบแทนการลงทุน  ลงทุนเอาสบายใจได้เต็มที่เลย  เพราะไม่ได้มีผลให้ผลตอบแทนแย่ลงแต่อย่างใด  แต่แค่อย่าไปคาดหวังว่ามันจะดีกว่าเท่านั้นเองครับ

 

จะลงทุน ESG ได้ยังไง

สำหรับคนที่สนใจจะลงทุนแบบหุ้น ESG สูง  ก็ทำได้ 2 ทางคือ

  1. ลงทุนผ่านกองทุน

อันนี้น่าจะง่ายสุด  กองทุนที่มีนโยบายลงทุนแบบ ESG ผมก็ไม่ได้รู้จักอะไรเยอะเพราะส่วนตัวไม่ได้ลงทุนแนวนี้  เท่าที่ทราบก็จะมี

  • กองทุนเปิดบรรษัทภิบาลหุ้นระยะยาว (CG-LTF) ของ UOB
  • กองทุนรวมคนไทยใจดีี (BKIND) กับ กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาล (BSIRICG) ของหลักทรัพย์บัวหลวง
  • กองทุนเปิดทิสโก้ ESG หุ้นไทยยั่งยืน ของ TISCO
  1. ลงทุนเอง

ผมเจอ Link อันนึงของบริษัทที่จัดอันดับบริษัทที่เป็นผู้นำด้าน ESG ในหมวดธุรกิจต่างๆ  ในนั้นมีบริษัทไทยเราอยู่เหมือนกันนะ  เป็นอะไรที่ผมแปลกใจทีเดียวเพราะเข้าใจว่านี่คือแข่งกันทั่วโลกเลยครับ

https://www.robecosam.com/csa/csa-resources/industry-leaders.html

ส่วนอีกที่นึงคือ Thailand Sustainability Investment จัดทำโดย SET

https://www.set.or.th/sustainable_dev/en/sr/sri/files/THSI_2018_eng.pdf

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร ?? ทำไปเพื่ออะไร ??

What does "Bank of Thailand Adjusts Interest Rate" mean ?? What's the Purpose of this ??

ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร ?? ทำไปเพื่ออะไร ??

มีหลายคนงงบางทีเวลาฟังข่าวเศรษฐกิจจะได้ยินเค้าพูดถึงการตัดสินใจของ Fed (ธนาคารกลางสหรัฐ) ว่าจะทำอะไรกับอัตราดอกเบี้ย  แล้วมันจะมีผลกระทบต่อราคาหุ้นนู่นนี่นัน  แล้วไอดอกเบี้ยนโยบายนี่มันคืออะไร  มีสาระสำคัญอะไร  วันนี้เรามาพยายามอธิบายเรื่องนี้กัน

 

ดอกเบี้ยนโยบายนี่คืออะไร

เวลาได้ยินเค้าพูดถึง Fed rate นี่คือเค้าพูดถึงดอกเบี้ยนโยบายครับ  มันเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมากที่ธนาคารกลางจะปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์  ธนาคารพาณิชย์โดยปกติก็จะมีการกู้ยืมระยะสั้นเพื่อบริหารจัดการเรื่องเงินสำรองที่ต้องมีตามกฎ  จริงๆธนาคารพาณิชย์ก็กู้ยืมระหว่างกันเองเนี่ยแหละแต่ดอกเบี้ยนโยบายมันเหมือนเป็นเพดานว่าดอกเบี้ยที่คิดกันต้องไม่แพงกว่าดอกเบี้ยนโยบายไม่งั้นธนาคารก็จะไปกู้ยืืมจากธนาคารกลางแทน

 

แล้วมีความสำคัญอย่างไร

ดอกเบี้ยที่ยืมระยะสั้นนี้ก็เหมือนเป็นต้นทุนของเงินสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ใช้เป็นพื้นฐานในการคิดดอกเบี้ยปล่อยกู้ธุรกิจหรือบุคคลต่อไป  ดังนั้นดอกเบี้ยนโยบายที่สูงหรือต่ำก็จะทำให้ระดับดอกเบี้ยปล่อยกู้ในระบบเศรษฐกิจสูงหรือต่ำตามไปด้วย

ดอกเบี้ยปล่อยกู้ที่สูงหรือต่ำส่งผลต่อเศรษฐกิจได้หลายแบบ

  1. ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็ทำให้ต้นทุนทำธุรกิจสูงขึ้น  ดังนั้นคนก็จะลงทุนทำอะไรน้อยลง  จ้างงานน้อยลง  เศรษฐกิจเติบโตช้าลง  เงินเฟ้อน้อยลง  ส่วนดอกเบี้ยกู้ยืมที่ต่ำลงก็ส่งผลกลับกัน
  2. ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็ทำให้ผลตอบแทนการออมสูงขึ้น  คนก็เลยออมเยอะขึ้น  เหลือเงินซื้อของบริโภคน้อยลง  เศรษฐกิจเติบโตช้าลง  เงินเฟ้อน้อยลง  ส่วนดอกเบี้ยกู้ยืมที่ต่ำลงก็ส่งผลกลับกัน
  3. คนออมเงินเยอะขึ้น  สนใจการลงทุนในสินทรัพย์อื่นน้อยลง  ทำให้ราคาสินทรัพย์อื่นเพิ่มขึ้นน้อยลง  คนรู้สึกร่ำรวยขึ้นช้าลง  การบริโภคน้อยลง  เศรษฐกิจก็อาจจะโตช้าลง  เงินเฟ้อน้อยลง  ส่วนดอกเบี้ยกู้ยืมที่ต่ำลงก็ส่งผลกลับกัน
  4. ดอกเบี้ยที่่สูงขึ้นทำให้ส่วนต่างระหว่่างดอกเบี้ยในไทยเทียบกับต่างประเทศสูงขึ้น  ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาเพื่อลงทุนเยอะขึ้น  ความต้องการเงินบาทเยอะขึ้น  เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น  ทำให้ส่งออกสินค้าได้น้อยลงในขณะที่นำเข้าเพิ่มขึ้น  การผลิตเพือส่งออกน้อยลง  เศรษฐกิจเติบโตช้าลง  ส่วนดอกเบี้ยกู้ยืมที่ต่ำลงก็ส่งผลกลับกัน

 

สรุปว่า  อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อสภาพเศรษฐกิจ  และดังนั้นจึงจะมีผลต่อราคาหุ้น  ก็เลยเป็นเหตุผลที่คนให้ความสนใจคอยติดตามว่าธนาคารกลางจะขึ้นหรือลดดอกเบี้ยครับ

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

แล้วการตกแต่งบัญชีล่ะ ต้องกังวลมั้ย ??

Should You be Worried of Fake Accounting ??

แล้วการตกแต่งบัญชีล่ะ ต้องกังวลมั้ย ??

อันนี้ก็เป็นหัวข้อที่คนถามเยอะ  เพราะเราจะเคยได้ยินข่าวว่่าแม้แต่ในบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหุ้นและถูกตรวจสอบมากกว่าบริษัทปกติก็จะมีการตั้งใจบิดเบือนงบบัญชีโดยผู้บริหารอยู่

 

มันเป็นเรื่องน่ากังวลและสมควรระมัดระวังจริงแหละ  แต่ไม่สมควรหวาดกลัวจนทำให้เราไม่ลงทุน  เพื่อให้เห็นภาพเราอธิบายเพิ่มเติม

 

การตกแต่งบัญชีมันก็มีได้ 2 ทิศทางคือแต่งให้มันดูแย่ลงกับแต่งให้มันดูดีีขึ้น  สาเหตุที่จะแต่งให้ดูแย่ลงก็อาจจะเพื่อให้บริษัทดูไม่มีกำไรและเสียภาษีน้อยลงหรือไม่เสียภาษี  ส่วนสาเหตุที่จะแต่งให้ดูดีขึ้นก็อาจจะเพราะถูกวัดผลแล้วผลประโยชน์ขึ้นอยู่กับผลประกอบการหรือกำลังจะเสนอขายหุ้นใหม่หรืออะไรซักอย่าง  อันที่เป็นปัญหากับเราจริงๆมันคืออันที่แต่งให้ดูดีขึ้นเพราะอาจทำให้เราเผลอซื้อบริษัทที่ไม่ดีมาแพง

 

ทีนี้ปกติการตกแต่งบัญชีที่มีปัญหากับเรามันจะมีสองแบบ

  1. แบบไม่ได้ผิดกฎบัญชี  แต่ผู้บริหารมองโลกแง่ดีสุดๆ

ต้องเข้าใจก่อนว่าปกติแล้วการทำบัญชีมันไม่มีคำว่าถูกต้องแม่นยำ 100%  ต่อให้ไม่มีเจตนาจะโกงหรือบิดเบือนก็ตาม  เพราะมันจะมีรายการทางบัญชีหลายรายการที่ต้องอาศัยวิจารณญาณของผู้บริหารเป็นคนตัดสิน  เช่น  อย่างสมมติบริษัทบันทึกรายได้สุทธิไว้ 100 บาท  ถึงเวลาก็อาจจะคลาดเคลื่อนได้ถ้าเกิดลูกค้าเบี้ยวไม่จ่ายเงินขึ้นมา  การตั้งสำรองหนี้สูญก็เป็นตัวอย่างของรายการที่ต้องใช้วิจารณญาณของผู้บริหาร

และปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อผู้บริหารอาศัยรายการทางบัญชีต่างๆที่อนุญาตให้ประมาณการตามวิจารณญาณ  แล้วก็เลือกใช้ตัวเลขในทิศทางที่มันทำให้ผลประกอบการดูดีจนเกินไป  ไม่สะท้อนความเป็นความเป็นจริงของตัวบริษัท

  1. แบบฝันตัวเลขขึ้นมาเลย

พวกนี้คือผิดกฎเลย  ใช้วิธีการเสกตัวเลขโดยไม่อ้างอิงความเป็นจริงๆใดๆทั้งสิ้น

 

ปกติแบบที่ 2 ดูเหมือนน่ากลัวแต่มันจะน่ากลัวน้อยกว่าแบบที่ 1  เพราะบริษัทมหาชนต้องถูกผู้ตรวจสอบบัญชีเข้ามาตรวจสอบเลยทำให้ทำได้ยากกว่า  หายากกว่ากันเยอะมาก

 

นอกเหนือจากนั้นเรายังสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับตัวเองได้ในระดับหนึ่งโดยการ

  1. ลงทุนในธุรกิจที่ดี

ทั้งนี้เพื่อลดแนวโน้มที่ผู้บริหารจะต้องพยายามบิดเบือน  เพราะถ้าบริษัททำได้ดีอยู่แล้วจะไปพยายามแต่งตัวเลขให้ดูดีหรือเสี่ยงปั้นตัวเลขไปทำไม

  1. เรียนรู้เทคนิคการตกแต่งงบบัญชี

เพื่อให้เรารู้ว่าอะไรเป็นจุดสังเกตของงบบัญชีที่ผิดปกติ

ผมแนะนำหนังสือของ Howard Mark Schilit ชื่อว่า Financial Shenanigans: How to Detect Accounting Gimmicks % Fraud in Financial Reports

 

ดังนั้นโดยสรุปคือระมัดระวัง  แต่อย่าไปกังวลจนไม่กล้าลงทุน  เพราะส่วนหนึ่งคือถ้าเราเลือกกิจการที่ดีเป็นกลุ่มดีไว้ก่อนมันก็แทบจะไม่มีปัญหาอยู่แล้ว  บวกกับเราศึกษาวิธีการเอาไว้ป้องกันตัวเองซะ  แค่นี้โอกาสเสี่ยงเราก็แทบจะเป็นศูนย์แล้วครับ

 

อย่างผมแชร์ตรงๆเลยว่าที่ผ่านมาลงทุนมาเกิน 10 ปี  ผมไม่เคยขาดทุนหรือลงทุนพลาดกรณีตกแต่งงบบัญชีแม้แต่ครั้งเดียว  ส่วนใหญ่ที่ผมขาดทุนคือมาจากผมคิดว่าบริษัทมันจะทำได้ดีแล้วผลออกมาทำได้แย่มากกว่าครับ  ไม่เคยเกี่ยวอะไรกับการตกแต่งงบบัญชีเลย

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

EBITDA คืออะไร? แล้วมันเอาไปใช้อะไรได้?

What is EBITDA? And what are its uses?

EBITDA คืออะไร? แล้วมันเอาไปใช้อะไรได้?

หัวข้อนี้เป็นอดีตน้องที่ทำงานเป็นคนถามเพราะเค้าเห็นโบรกเกอร์พูดถึงหลายครั้ง  วันนี้ผมตอบคำถามที่เกี่ยวกับ EBITDA

สูตรคำนวณ EBITDA

EBITDA คืออะไร ?

EBITDA ย่อมาจาก Earnings before Interest, Tax, Depreciation and Amortization

หรือก็คือกำไรก่อนจะหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย, ภาษี, ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย

EBITDA ทำไมคนพูดถึงกันจัง ?

ไอเดียคือมันมาจากการที่คนมองว่า Net Income มันยังเป็นตัววัดผลการดำเนินงานที่ไม่ดีเท่าไหร่  ควรดูที่ Free Cash Flow (กระแสเงินสดที่เหลือจากการดำเนินธุรกิจและการลงทุนที่จำเป็นต่างๆ  สามารถเอาไปใช้ได้อย่างอิสระ) ดีกว่า  EBITDA โดยทั่วไปเท่าที่เห็นคือถูกเอามาใช้แทน Free Cash Flow อีกที  ไม่ใช่เพราะมันดีกว่านะ  แต่หลักๆแล้วเพราะคำนวณง่ายกว่า

ถ้าไม่รู้ว่า Free Cash Flow คืออะไรหรือคำนวณมาอย่างไร  แนะนำให้ไปดูวีดิโอเก่าเราเคยอธิบายไว้ https://youtu.be/GJwSPsFFdWg

แต่ในความเห็นของเราไม่ควรใช้แบบนั้นเพราะมันต่างกันเกินไป

  1. Free Cash Flow โดยสาระสำคัญคือกระแสเงินสดที่เหลือเอาไปทำอะไรก็ได้  ดังนั้นมันควรจะต้องเสียภาษีแล้ว  EBITDA เป็นเลขก่อนหักภาษีดังนั้นจึงไม่ใช่ Free Cash Flow แน่นอน
  2. EBITDA ไม่ได้นับเงินที่จะต้องใช้ใน Net Working Capital (สินทรัพย์หมุนเวียน) หรือ Capital Expenditure (ลงทุนในอาคาร, อุปกรณ์, ฯลฯ)  ซึ่งพวกนี้จำเป็นถ้าบริษัทจะดำเนินกิจการต่อไปในอนาคต

EBITDA เอาไปใช้ทำอะไรได้ ?

ถ้าในความเห็นเราก็เอาไปใช้คำนวณดูว่าบริษัทจะมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ได้ในช่วงสั้นๆ 1-2 ปีได้หรือไม่  แต่ใช้ได้แค่ช่วงสั้นๆเท่านั้นนะ  เพราะถ้าในระยะยาวแล้วยังไงบริษัทก็ต้องมี Capital Expenditure บ้าง  เราไม่สามารถจะบอกว่าไม่ต้องนับ Depreciation และ Capital Expenditure ไปตลอดกาลได้

สูตรที่ใช้คำนวณความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้คือ EBITDA/Interest expense ตัวเลขที่ได้ก็คือดูว่า EBITDA เป็นกี่เท่าของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ถ้าตัวเลขนี้เยอะก็แปลว่าน่าจะมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยได้มาก

โดยรวมแล้วเรามองว่า EBITDA มีประโยชน์จำกัดมาก  แม้แต่เรื่องการคำนวณความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เราก็รู้สึกว่าใช้ Operating Profit ยังจะเข้าท่ากว่า EBIT/Interest expense หรือถ้าใครบอกว่าเอาไว้เปรียบเทียบผลประกอบการของบริษัทโดยตัดความแตกต่างเรื่อง capital structure ออกไป เราก็มองว่าเทียบด้วย Operating profit (EBIT) ก็ยังเข้าท่ากว่าอยู่ดี

ข้อควรระวัง

อาจเป็นความพยายามของผู้บริหารที่จะทำให้บริษัทดูดี  เพราะโดยปกติแล้ว EBITDA มันจะเป็นตัวเลขที่ดูดีกว่า Net Income (เพราะมันเล่นไม่นับคาใช้จ่ายอะไรหลายอัน)  และบางกรณีสามารถมีตัวเลขเป็นบวกได้แม้ว่าธุรกิจจะขาดทุนก็ตาม

จะผิดปกติมากถ้าจากเดิมบริษัทไม่เคยพูดถึง EBITDA แล้วอยู่ๆก็เน้นพูดถึงขึ้นมา

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

เฮ้ย? REIT ผลตอบแทนดีกว่าหุ้น!

REIT has higher return than Stocks!!

เฮ้ย? REIT ผลตอบแทนดีกว่าหุ้น!

หัวข้อนี้ทำขึ้นด้วยความตื่นเต้นเพราะผมเพิ่งมารู้ว่า REIT ให้ Total Return เหนือกว่าหุ้น  จะบอกว่ารู้จัก REIT มานานแล้วและเข้าใจว่าเป็นการลงทุนที่เน้นรายได้ปันผลสม่ำเสมอจากการเก็บค่าเช่า  ดังนั้นเลยไม่คิดว่าผลตอบแทนจะสูงและไม่น่าจะสู้หุ้นได้  แต่ปรากฎว่ามันไม่ใช่เลย

ผมไปอ่านเจอเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในหนังสือของ CFA Level 2 ครับ  เค้าบอกว่าในอเมริกาช่วงปี 1980-2010 ระยะเวลา 30 ปี  ดัชนี FTSE NAREIT All Equity REITs Index ทำผลตอบแทนทั้งหมดได้เฉลี่ย 11.9% ต่อปี  ในขณะที่ดัชนี S&P 500 Index (เป็นตัวแทนของหุ้น) ทำได้ 10.7% ต่อปี  ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ธรรมดามาก  ผลตอบแทนห่างกัน 1.2% ต่อปีเป็นระยะเวลานาน 30 ปีนี่ไม่น้อยเลย  ที่ผ่านมาผมนึกว่าสินทรัพย์ประเภทหุ้นเป็นอะไรที่ผลตอบแทนสูงสุด  เพิ่งรู้ว่าเข้าใจผิดมาโดยตลอดครับ

และล่าสุดไปหาข้อมูลว่ามาถึงปี 2019 เป็นยังไงก็พบว่า FTSE NAREIT All Equity REITs Index ยังชนะ Russell 1000 (Large-Cap Stocks) อยู่  https://www.reit.com/what-reit

 

REIT คืออะไร  มีอะไรเด่น

เคยอธิบายไปในวีดิโอก่อนหน้านี้แล้ว  แต่เอาง่ายๆก็คิดภาพว่าเป็นบริษัทที่เอาเงินของนักลงทุนไปสร้าง, ซื้อหรือเช่าระยะยาวอสังหาริมทรัพย์แล้วก็ปล่อยเช่า  แล้วก็เก็บค่าเช่ามาจ่ายให้นักลงทุนน่ะครับ  ซึ่งไม่เหมือนบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้วขายนะ

จุดเด่นหลักของ REIT คือตัว REIT ได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล  ไม่เหมือนบริษัทจดทะเบียนปกติที่กำไรก่อนหักภาษีจะต้องถูกหักภาษีนิติบุคคลก่อนถึงจะนำกำไรสุทธิที่เหลือมาจ่ายเป็นปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้  ซึ่งจากมุมมองนักลงทุนอย่างเราก็คือทำให้มีเงินเหลือมาจ่ายเป็นปันผลเยอะขึ้น

 

REIT ที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง

เท่าที่ดู REIT ในไทยก็มีหลายกองอยู่  ถ้าแบ่งตามประเภทอสังหาริมทรัพย์ผมก็เห็นหลักๆเป็นห้างพื้นที่ค้าปลีกกับอาคารพาณิชย์ออฟฟิศสำนักงานซะเยอะ  หลากหลายอยู่

อสังหาริมทรัพย์ที่เรารู้จักก็อย่างเช่น

  • CPNCG The Offices at Central World
  • CPNREIT Central Plaza พระราม 3, พระราม 2, ปิ่นเกล้า  และอีกบางแห่ง
  • CPTGF CP Tower 1, 2, 3
  • IMPACT ศูนย์แสดงสินค้า Impact 4 อาคาร

ไปดูเองเลยว่ามีอะไรบ้างได้บนเวป

https://marketdata.set.or.th/mkt/sectorquotation.do?sector=PF%26REIT

น่าเสียดายที่ตอนนี้ผมยังหาเวปที่ให้ข้อมูลผลประกอบการของ REIT ด้วยไม่ได้  เปิดไปของตลาดหลักทรัพย์จะเห็นแค่ประวัติราคากับ Yield  ไม่มีตัวผลประกอบการเหมือนเวลาเปิดข้อมูลหุ้น  ถ้าอยากดูคงต้องไปเข้าเวปของคนออก REIT หาดูเอาเองครับ

 

แล้วลองไปศึกษาเพิ่มเติมดูนะครับ  ผมก็เพิ่งหันมาสนใจจริงจังปีนี้เอง  ดูทางเลือกการลงทุนที่ดีอยู่นะ

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ถ้าตลาดหุ้นตกแรง ใช้เวลานานมั้ยกว่าหุ้นจะฟื้น ??

How Much Time Does It Take for Stocks to Recover from an Economic Downturn ??

ถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จะใช้เวลานานมั้ยกว่าหุ้นจะฟื้น ??

ช่วงนี้เริ่มเห็นข่าวทั้งไทยและต่างประเทศพูดถึงเศรษฐกิจชะลอตัวบ่อยขึ้น บวกกับว่าเราไม่ได้มีหุ้นตกรุนแรงมาซักพักแล้วเลยเริ่มมีคนพูดกันว่าอาจจะใกล้มีวิกฤติเศรษฐกิจอะไรซักอย่างแล้ว

ซึ่งเราก็บอกทุกคนอยู่เสมอว่าเหตุการณ์ที่หุ้นตกรุนแรงเป็นโอกาสดีที่จะได้ซื้อหุ้นราคาถูกเพราะเดี๋ยวมันก็ฟื้นกลับขึ้นมา แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังกลัว วันนี้เราเลยมานำเสนอข้อมูลว่าที่ผ่านมาเวลาตลาดหุ้นตกรุนแรง มันใช้เวลานานมั้ยกว่าหุ้นจะฟื้นกลับมา

ตลาดหุ้นไทย
เริ่มจากตลาดหุ้นไทยก่อน วิธีการทำก็ไม่ยากเพราะเราสามารถหาดาวน์โหลด Excel ตัวเลขดัชนี SET รายเดือนย้อนหลังได้ถึงเมษายน 1988 จากเวปของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็คือย้อนหลัง 31 ปี 4 เดือน
หลังจากนั้นสิ่งที่ทำก็คือเอาข้อมูลมาดูว่ามีช่วงไหนบ้างที่เรียกว่าตลาดตกรุนแรง เรานับเดือนที่ SET ต่ำกว่าจุดที่สูงสุดที่เคยมีอย่างน้อย 10% เป็นจุดเริ่มต้น แล้วดูว่าเดือนไหนที่ SET กลับมาอย่างน้อยเท่ากับจุดสูงสุดในอดีตเราก็นับเดือนนั้นเป็นจุดสิ้นสุดของตลาดตก ในแต่ละช่วงเราจะดูด้วยว่าตลาดหุ้นใช้เวลากี่เดือนเป็นขาลงถึงจุดต่ำสุดและใช้เวลากี่เดือนเป็นขาขึ้นฟื้นกลับขึ้นมาจนถึงระดับก่อนตลาดตก

สิ่งที่เราสังเกตได้จากที่เราได้จากผลลัพธ์นี้คือ
1. วิกฤติต้มยำกุ้งรุนแรงมากและกินเวลานานมากซะจนการทดลองนี้แทบไม่เห็นอะไรเพราะกินช่วงเวลาไปเกือบ 23 ปี 10 เดือน จากช่วงที่เราพิจารณาทั้งหมด 31 ปี 4 เดือน ดังนั้นตัวเลขเฉลี่ยอาจจะไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่
2. จากประวัติศาสตร์ ช่วงที่เป็นขาลงที่นานที่สุดคือ 56 เดือน นี่คืออย่างมากที่เราต้องรอหลังจากนั้นตลาดจะเริ่มเข้าช่วงฟื้น
3. ดูเหมือนหุ้นจะตกถึงจุดต่ำสุดอย่างเร็ว แล้วใช้เวลานานกว่าตอนฟื้น
4. ถ้าไม่นับวิกฤติต้มยำกุ้ง หุ้นตกไม่ถึึงปีก็ถึงจุดต่ำสุดและจะเริ่มฟื้นละ
Link to ข้อมูลตลาดหุ้นไทย : https://www.set.or.th/th/market/market_statistics.html

ตลาดหุ้นอเมริกา
เรามาลองดูตลาดหุ้นต่างประเทศดูบ้าง ปกติผมจะใช้ตลาดหุ้นอเมริกาเป็นหลักเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่, มักจะหาข้อมูลง่ายและที่สำคัญมีประวัติศาสตร์นานกว่าเรา ผมเจอสองเวปที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลและตอบคำถามที่เราอยากรู้ พวกนี้ใช้ S&P 500 แทนตลาดทั้งคู่
อันแรกเป็นบทความของ CNBC เมื่อปี 2018 โดย Thomas Franck และ Kate Rooney ผมทิ้งลิ้งค์ไว้เผื่อใครไปดู https://www.cnbc.com/2018/10/26/the-stock-market-loses-13percent-in-a-correction-on-average.html
เค้าได้ข้อสรุปแบ่งเป็นการตก 2 ประเภทคือแบบที่เป็น Corrections คืือตกแบบเบาๆตั้งแต่ 10% ขึ้ไปแต่น้อยกว่า 20% จนถึงแบบ Bear Markets คือตกตั้งแต่ 20% ขึ้นไป

ส่วนอีกบทความนึงเป็นของ Towards Data Science โดย Tony Yiu https://towardsdatascience.com/the-anatomy-of-a-stock-market-downturn-6527e31406f0
คนนี้แบ่งความรุนแรงในการตกละเอียดขึ้น ผลที่ได้คือ

เท่าที่ดูถึงแม้ว่าผลลัพธ์ของทั้งสองคนนี้จะไม่เหมือนกัน ซึ่งผมคาดว่ามาจากวิธีทำอะไรซักอย่างที่นับต่างกัน แต่สาระสำคัญที่สรุปได้จากการดูผลลัพธ์ของทั้งสองคนนี้คือ
1. ยิ่งหุ้นตกรุนแรงก็ยิ่งกินเวลาฟื้นนาน ซึ่งอันนี้ก็ปกติ เป็นเหมือนหุ้นไทย
2. กรณีรุนแรงสุดของตลาดเค้าดูเหมือนใช้เวลาน้อยกว่าเรามาก เพราะตกกับฟื้นตัวรวม 77 เดือนซึ่งคือ 6 ปี 5 เดือนเอง ในขณะที่ของเราซัดไป 23 ปี 10 เดือน
3. ช่วงตกตอนขาลงของเค้านานสุด 31 เดือน (อิงตาม CNBC)
4. โดยรวมแล้วถ้าไม่นับ Bear Markets คือตลาดตกมากกว่า 20% ขึ้นไป ก็ฟื้นตัวภายในระยะเวลาปีเดียวหรืออย่างมากก็ปีนิดๆ

สรุป
ดังนั้นเราควรจะฉวยโอกาสได้ไม่ยาก ก็ดูเอาง่ายๆว่าที่ตลาดหุ้นตกนั้นเป็นเรื่องมาจากปัจจัยโดยตรงของเศรษฐกิจในประเทศเราหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็สบายใจได้ว่ามีผลไม่นานซื้อได้อย่างสบายใจและกำไรอย่างเร็วด้วย ส่วนถ้าเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในไทยเราเลยก็ไม่น่าจะไม่รู้ได้เพราะมันต้องมีข่าวธนาคารล้มหรืออะไรที่รุนแรงชัดเจน กรณีแบบนั้นเราก็ใจเย็นหน่อยไปรอช้อนซื้อธุรกิจที่น่าจะไม่ล้มละลายตอนมันตกเกิน 50% ก็ยังได้ ไม่ได้ต้องถึงกับเล็งต่ำที่สุดเราก็น่าจะกำไรเยอะมากในระยะยาว เพราะสุดท้ายเราก็เห็นว่าเศรษฐกิจมันก็จะค่อยๆฟื้นกลับมาอยู่ดั

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

เราจะลงทุนอย่างไรในสถานการณ์เศรษฐกิจขาลง ??

How do We Invest in Downturn Economy ??

เราจะลงทุนอย่างไรในสถานการณ์เศรษฐกิจขาลง ??

คำถามนี้ก็เป็นคำถามที่ดี  อันนี้ไม่ใช่สถานการณ์แค่หุ้นตกเพราะคนตกใจเฉยๆละ  อันนี้คือเศรษฐกิจแย่ลงมากๆถึงขั้นที่ GDP หดตัว (ไม่ใช่แค่โตช้าลงนะ)  เวลาแบบนี้บริษัทส่วนใหญ่ก็จะผลประกอบการแย่ลง  แม้แต่กลุ่มพวกที่ผมเรียกว่าเป็นบริษัทกลุ่มดีที่ว่ามีอำนาจในการบังคับผู้บริโภคแล้วก็หนีไม่พ้น  และแน่นอนว่าปกติถ้าเป็นช่วงแบบนั้นหุ้นก็จะราคาตกรุนแรงกันทั้งหมด

 

ผมจะบอกว่าสถานการณ์แบบนั้นคือสถานการณ์ที่ผมเฝ้ารอคอยให้เกิดเลยแหละ  และถ้าคุณเข้าใจแบบเดียวกับผมคุณก็จะชอบแบบเดียวกันแน่นอน

 

วิธีการในอุดมคติ

ถ้ามันจะดีที่สุดเลย  คือเราหลบทันจากการคาดการณ์ล่วงหน้าอย่างแม่นยำขายหุ้นทั้งหมดออกก่อนที่จะเริ่มมีข่าวเศรษฐกิจแย่ลงได้อย่างพอดี  แล้วค่อยกลับมาซื้อตอนที่ราคามันตกลงไปต่ำที่สุดได้อย่างแม่นยำ  ถ้าทำได้ตามนี้จะกำไรเละเทะแบบไม่ต้องสงสัย

แต่ในทางปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้เลยนอกจากฟลุค  เพราะเราไม่รู้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจถึงขั้นเศรษฐกิจหดตัวเมื่อไหร่  เรื่องแบบนี้ขนาดนายกหรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่รู้เลยครับ  ดังนั้นอย่าไปเสียเวลาพยายามทำการเดาเรื่องแบบนี้  ลืมไอเดียนี้ไปซะ

 

วิธีการที่เป็นผมจะทำ

โดยไอเดียคือเราต้องเข้าใจว่าสถานการณ์เศรษฐกิจขาลงโดยปกติแล้วมันเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวประเภทหนึ่ง  แต่มันไม่เหมือนหุ้นตกปกติเพราะ

  1. จะกินเวลายาวนานกว่าคือประมาณ 2-5 ปีถึงจะฟื้น  ระยะเวลาขึ้นอยู่กับว่าจุดเริ่มต้นของปัญหาเศรษฐกิจขาลงอยู่ที่ประเทศเราหรือประเทศอื่น
  2. มีผลกระทบจริงต่อผลประกอบการของบริษัท  ไม่ใช่แค่หุ้นตกเพราะความตกใจธรรมดา

 

คำแนะนำสำหรับหุ้นที่ถืออยู่แล้ว  ขึ้นอยู่กับว่าเราซื้อมันมาเพราะอะไรตั้งแต่แรก

  • ถ้าเป็นบริษัทที่เข้มแข็งและเราซื้อมาตั้งใจถือยาว ก็ไม่ต้องทำอะไรกับมัน  น่าจะรอดผ่านช่วงเศรษฐกิจขาลงไปได้  และในอนาคตก็จะกลับมาดีเหมือนเดิม
  • ถ้าเป็นบริษัทที่ไม่เข้มแข็ง (ไม่มีีอำนาจบังคับผู้บริโภค, กำไรไม่สม่ำเสมอ, มีขาดทุนเป็นระยะ) รีบขายจะดีกว่า  ยอมขาดทุนไปเถอะเพราะบริษัทอาจจะไม่รอดผ่านช่วงเศรษฐกิจขาลง  อาจปิดกิจการและเงินลงทุนเรากลายเป็น 0  ช่วงเวลาปกติบริษัทพวกนี้ก็ดีบ้างไม่ดีบ้างอยู่แล้ว  เศรษฐกิจไม่ดีนี่ไปกันใหญ่

 

ส่วนเงินลงทุนเราที่ยังอยู่ในรูปเงินสด  เราควรเห็นเหตุการณ์แบบนี้เป็นโอกาส  คิดซะว่าเรากำลังจะไปเลือกซื้อบริษัทเหมือนเลือกซื้อตัวนักกีฬาครับ  ช่วงนี้เศรษฐกิจขาลงก็เหมือนมีไข้หวัดระบาด  มันป่วยกันทุกคนแหละสภาพอาการแย่ทุกคน  เจ้าของปัจจุบันเค้าเลยขายกันราคาต่ำกว่าปกติมาก  แต่เราควรตั้งสติและซื้อเพราะเดี๋ยวไข้หวัดมันก็หายไปไงครับ  แล้วถึงเวลานั้นคนที่เป็นแชมป์ก็กลับมาเป็นแชมป์เหมือนเดิม

  • เลือกธุรกิจที่เข้มแข็งไว้ก่อน
  • หลังวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทที่อ่อนแอก็จะตายไป  ทำให้สำหรับธุรกิจที่เข้มแข็งแล้วรอดมาได้มีโอกาสเติบโตดีกว่าก่อนวิกฤติด้วยซ้ำ
  • โดยปกติเราอาจจะกำไร 100-300% หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

 

ดังนั้นโดยสรุปคืออย่าไปเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจขาลงเป็นปัญหา  จริงๆแล้วสำหรับนักลงทุนที่ใช้วิธีการแบบเรามันเป็นโอกาสนานๆทีจะเกิดที่ดีที่สุดแล้วต่างหาก  ต้องฉลองเลยครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg