หุ้นที่ผมสนใจ – Davita

As of October 21, 2017                ราคาหุ้นอยู่ $59.35

Davita เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีอำนาจมาก  เพราะนำเสนอบริการที่ลูกค้าต้องใช้  ไม่ใช้แล้วตาย  ที่ดีกว่านั้นคือช่วงที่ผ่านมาราคาตกด้วย  เลยเป็นเหตุให้ช่วงนี้ผมสนใจหุ้นนี้มากเป็นพิเศษ

davita

Davita

ลักษณะธุรกิจ

ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้ป่วยไตวาย  เป็นหนึ่งในเจ้าใหญ่ที่สุดในอเมริกา

ธุรกิจหลักคือให้บริการฟอกเลือด  เพราะผู้ป่วยไตวายไตไม่สามารถฟอกเลือดเองได้  หรือเรียกว่าฟอกไตน่ะแหละ  รายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจนี้เกินครึ่งมาจากโครงการระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลหลัก (Medicare) และบางส่วนมาจากประกันสุขภาพภาคเอกชน  โดยเมื่อสิ้นปี 2016 มีศูนย์ให้บริการฟอกไตที่อยู่ในเครือ 2,350 แห่งทั่วประเทศอเมริกา  มีทั้งศูนย์ให้บริการตั้งอยู่โดดๆ  หรือให้บริการร่วมกับโรงพยาบาล  หรือแบบไปให้บริการที่บ้าน

มีธุรกิจรองที่เป็นพวกโรงพยาบาลชุมชนหรือคลีนิคด้วย  แต่ยังไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไรเท่าไหร่

แล้วที่ผ่านมาเป็นไง

10 ปีที่ผ่านมา Davita ทำได้ดีมากทีเดียว  ทำได้ดีมานานแล้วด้วย  สาเหตุหลักๆเลยคือเพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายมีมากขึ้น  และเมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยต้องฟอกไตหรือไม่ก็ยอมเสียชีวิต

ไตวายโดยปกติมาจากเบาหวาน, ความดันสูง, มีถุงน้ำในไต  หรือการอุดตันของทางเดินปัสสาวะเป็นเวลานาน  จะเห็นว่าเป็นโรคคนแก่ทั้งนั้น  ในอเมริกาก็พอดีเลยเป็นประเทศร่ำรวยที่คนอายุยืน, มีคนเป็นเบาหวานความดันเยอะ  และมีสัดส่วนคนแก่เยอะขึ้น  โดยรวมแล้วสถิติจาก United States Renal Data System บอกว่าตั้งแต่ปี 2000 – 2014  มีผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตเพิ่มขึ้นปีละ 3.8% โดยเฉลี่ย

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไตวาย  อาการลักษณะแบบนี้พอเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้  ผู้ป่วยไม่สามารถขจัดของเสียออกจากเลือดได้ด้วยตัวเอง  การรักษามีสองทางเลือก  หนึ่งคือต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตไปเลย  แปลว่าต้องมีผู้บริจาคอวัยวะให้  หรือสองคือต้องได้รับการฟอกไตอยู่เป็นระยะๆไปตลอดชีวิต

Davita ทำศูนย์ฟอกไตมีเครือข่ายสาขาเยอะอันดับต้นๆของประเทศ  ในชุมชนเล็กบางแห่งอาจเป็นเจ้าเดียวในพื้นที่  ก็เลยมีอำนาจมากทีเดียว

ข้อเสียอย่างเดียวของบริษัทนี้คือตรงที่ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบประกันสุขภาพ Medicare ถึงแม้ว่า Medicare จะจ่ายค่าบริการให้กับผู้ป่วยทำให้บริษัทไม่มีปัญหาเรื่องเก็บเงินไม่ได้  รายได้ค่อนข้างนิ่ง  แต่โครงการ Medicare ของรัฐบาลเค้าจ่ายน้อยกว่าเอกชน  และรัฐบาลควบคุมราคาที่จะจ่ายให้ บางครั้งก็ปรับขึ้นช้ากว่าต้นทุนของบริษัทที่เพิ่มขึ้น  ทำให้อัตราส่วนกำไรสุทธิของบริษัทอาจจะถูกบีบน้อยลงในอนาคต

ทำไมตอนนี้ถึงน่าสนใจ

ช่วงที่ผ่านมาราคาตกลงมาจากแถว $70 เหลือไม่ถึง $60  เพราะโดนกระทรวงยุติธรรมสั่งสอบสวน  เรื่องเงินบริจาคให้กับมูลนิธิ American Kidney Fund ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องฟอกไต

เรื่องที่ฟ้องคือกระทรวงยุติธรรมสงสัยว่า  การบริจาคเงินจะทำให้มูลนิธิจะลำเอียงให้ความช่วยเหลือกับผู้ป่วยที่เป็นลูกค้าของ Davita มากกว่าผู้ป่วยของศูนย์ฟอกไตอื่น

นักวิเคราะห์ของ J.P. Morgan เดาว่า 60-80% ของกำไรของ Davita มาจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ American Kidney Fund

ส่วนตัวผมสนใจบริษัทนี้เพราะยังไงผู้ป่วยไม่มีทางเลือก  เรื่องการฟ้องร้องอะไรพวกนี้อาจจะสร้างปัญหากับ Davita ได้ในระยะสั้น   แต่ในระยะยาวแล้วตราบใดที่ยังไม่มีเทคโนโลยีรักษาไตใหม่ขึ้นมาทดแทน  ยังไงก็ยังต้องมีศูนย์ฟอกไต  และรัฐบาลไม่สามารถบีบราคากับ Davita ได้จนบริษัทขาดทุนแน่นอน  เพราะถ้า Davita ออกจากระบบประกันสุขภาพ  ไม่รับลูกค้าโครงการ Medicare  ประชาชนจำนวนมากจะเดือดร้อนแน่นอน

นิทานเรื่อง  เหล่าผู้ช่วยกับค่าธรรมเนียม

The Helpers

the-helpers

 

เร็วๆนี้ผมไปอ่านจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของ Warren Buffett แล้วไปเจอเรื่องนี้เข้า  เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหล่าผู้ช่วยที่มายื่นมือมาช่วยเรื่องการลงทุนให้เรา  เขียนเห็นภาพและฮาดีมาก  วันนี้เลยเดี๋ยวจะพยายามเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง  แต่เนื่องจากต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ  ดังนั้นผมจะแปลและมีการปรับพวกชื่ออะไรให้มันเกี่ยวกับเรามากขึ้น

จินตนาการว่าบริษัททุกบริษัทในไทย  มีครอบครัวเดียวเป็นเจ้าของ  ชื่อว่าครอบครัว “สยาม”  หลังจากหักภาษีแล้ว  ครอบครัวนี้ก็รวยขึ้นเรื่อยๆมาตลอดทุกรุ่นจากกำไรที่บริษัททั้งหลายทำได้  ในครอบครัวนี้ทุกคนก็รวยขึ้นเป็นสัดส่วนเท่าๆกัน   และทุกอย่างก็เรียบร้อยดี

วันหนึ่งก็มีกลุ่มผู้ช่วยพูดเก่งกลุ่มนึงมาหาครอบครัวนี้  แล้วชวนให้สมาชิกในครอบครัวพยายามทำกำไรเพิ่มขึ้นจากญาติตัวเอง  โดยการซื้อธุรกิจบางส่วนที่ญาติคนอื่นถืออยู่หรือขายธุรกิจบางส่วนที่ตัวเองถืออยู่  โดยที่แน่นอนว่ากลุ่มผู้ช่วยนี้จะเป็นคนช่วยจัดการธุรกรรมต่างๆให้และคิดค่าธรรมเนียมนิดหน่อย  ครอบครัวสยามก็ยังเป็นเจ้าของบริษัททุกบริษัทในไทยอยู่นะ  ตอนนี้แค่ว่ามีการจัดสรรกันใหม่เปลี่ยนมือไปมาเท่านั้นเอง  และตอนนี้รายได้ของครอบครัวนี้โดยภาพรวมน้อยลงละ  มาจากกำไรหลังภาษีของบริษัท  หักค่าธรรมเนียมที่จ่ายผู้ช่วย  ยิ่งคนในครอบครัวนี้ซื้อขายไปมาบ่อยเท่าไหร่  ก้อนเค้กของครอบครัวโดยรวมก็จะเล็กลงเรื่อยๆ  ส่วนที่แบ่งให้ผู้ช่วยก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  แน่นอนว่าเรื่องนี้เหล่าผู้ช่วย-โบรกเกอร์ก็รู้ดี  ยิ่งซื้อขายบ่อยเค้ายิ่งชอบ  พวกนี้เค้ามีวิธีกระตุ้นหลายวิธี

เวลาผ่านไป  เมื่อสมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่เริ่มรู้สึกตัวว่าเล่นเกม “ฉวยโอกาสจากพี่น้อง” ไม่ค่อยกำไรเท่าไหร่  ก็มีกลุ่มผู้ช่วยกลุ่มใหม่โผล่เข้ามา  ผู้ช่วยกลุ่มนี้ไปอธิบายกับสมาชิกแต่ละคนว่าด้วยตัวเขาคนเดียวไม่สามารถจะเอาชนะญาติคนอื่นในครอบครัวได้  กลุ่มผู้ช่วยเสนอทางแก้ “จ้างผู้จัดการสิ  ใช่  พวกเรานี่แหละ  ของแบบนี้มันต้องให้มืออาชีพจัดการ”  กลุ่มผู้ช่วย-ผู้จัดการนี้ก็ยังต้องใช้กลุ่มผู้ช่วย-โบรกเกอร์ในการทำธุรกรรมซื้อขาย  กลุ่มผู้จัดการบางทีก็ซื้อขายถี่ขึ้นเพื่อให้กลุ่มโบรกเกอร์กำไรมากขึ้นไปอีก  โดยภาพรวมแล้ว  ชิ้นส่วนเค้กก้อนใหญ่ขึ้นละหายไปกับการจ้างผู้ช่วยสองกลุ่มนี้

นานๆไปครอบครัวก็ยิ่งผิดหวังมากขึ้น  สมาชิกแต่ละคนตอนนี้ก็จ้างมืออาชีพของตัวเองละ  แต่โดยรวมแล้วสถานะทางการเงินของทุกคนแย่ลงกว่าเดิม  จะทำยังไงดีน่ะเหรอ  แน่นอนก็ต้องหาคนช่วยเพิ่มสิ

ความช่วยเหลือมาในรูปของที่ปรึกษาทางการเงิน  มาเพื่อช่วยสมาชิกครอบครัวสยามให้คำแนะนำการเลือกผู้ช่วย-ผู้จัดการ  สมาชิกครอบครัวที่กำลังมึนก็ยินดีที่มีคนมาช่วย  มาถึงตอนนี้สมาชิกครอบครัวรู้ละว่าพวกเขาเลือกหุ้นเองไม่ถูกและก็เลือกผู้จัดการที่มาเลือกหุ้นให้ไม่ถูกด้วย  ถ้าคนเอะใจนึกได้ก็จะถามว่าแล้วทำไมพวกเขาถึงคิดว่าจะเลือกที่ปรึกษาได้ถูกล่ะ  แต่สมาชิกครอบครัวก็ไม่มีใครเอะใจถาม  และกลุ่มผู้ช่วย-ที่ปรึกษาก็จะไม่ทักเรื่องนี้ขึ้นมาด้วย

ครอบครัวสยามตอนนี้กำลังเลี้ยงกลุ่มผู้ช่วยสามกลุ่ม  และพบว่าผลลัพธ์ที่ได้แย่ลงกว่าเดิม  ในขณะกำลังดูเหมือนไม่มีหวัง  ก็มีกลุ่มที่สี่โผล่มา  เราจะเรียกกลุ่มนี้ว่าผู้ช่วย-ไฮเปอร์  กลุ่มนี้บอกกับคนครอบครัวสยามว่าที่ผลตอบแทนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ  ก็เพราะกลุ่มผู้ช่วยสามกลุ่มเดิมโบรกเกอร์, ผู้จัดการ, ที่ปรึกษา  ไม่ได้มีแรงจูงใจมากพอจะทำผลงานให้ดี  พวกนั้นแค่ทำตามน้ำไปงั้นๆ  ผู้ช่วยกลุ่มใหม่ถามว่า “คุณจะไปคาดหวังอะไรได้จากพวกซอมบี้พวกนี้”

ผู้ช่วย-ไฮเปอร์เสนอทางแก้ที่ง่ายจนน่าตกใจ  พวกคุณแค่ต้อง “จ่ายเงินเพิ่มขึ้น” เท่านั้นเอง  ผู้ช่วยกลุ่มนี้อธิบายอย่างมั่นใจว่าการจ่ายค่าธรรมเนียมสูงๆตามผลงาน  บวกกับค่าธรรมเนียมตายตัวที่สูงด้วย  เป็นอะไรที่สมาชิกครอบครัวต้องกล้าที่จะจ่ายเพื่อให้สามารถเอาชนะญาติๆของตัวเองได้

สมาชิกครอบครัวบางคนที่ช่างสังเกตหน่อยก็จะเห็นว่า  ผู้ช่วย-ไฮเปอร์บางคนจริงๆก็คือผู้ช่วย-ผู้จัดการที่ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่มาเท่านั้นเอง  ตอนนี้ที่เสื้อจะเขียนชื่อฟังเท่ๆเช่น  Hedge fund หรือ Private Equity  ผู้ช่วยกลุ่มใหม่นี้บอกกับสมาชิกครอบครัวที่ช่างสังเกตพวกนี้ว่าการเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่มาเนี่ยสำคัญมาก  เสื้อผ้าชุดนี้เหมือนเสื้อวิเศษที่ทำให้ผู้ใส่เก่งขึ้นกว่าเดิมมาก  ประมาณว่าเหมือนคลาร์ก เค้นต์ คนธรรมดาแปลงร่างตอนเปลี่ยนมาใส่ชุดซุปเปอร์แมน  สมาชิกครอบครัวได้ยินแบบนั้นก็สบายใจ  ยอมจ่ายเงินให้ผู้ช่วย-ไฮเปอร์

และนั่นคือจุดที่เราอยู่ทุกวันนี้  กำไรจำนวนมากที่ควรจะเป็นของผู้ถือหุ้นเจ้าของบริษัทถ้าได้อยู่นิ่งๆสงบๆ  ก็กลายเป็นไปจ่ายให้กับกลุ่มผู้ช่วยที่มีจำนวนเยอะขึ้นเรื่อยๆ  โดยเฉพาะช่วงหลังมานี้จ่ายแพงเป็นพิเศษเพราะลักษณะค่าธรรมเนียมที่ทำให้ผู้ช่วยได้ส่วนแบ่งเยอะมากจากกำไรถ้าเค้าฉลาดหรือโชคดี  แต่ในกรณีที่ขาดทุนเพราะผู้ช่วยโง่หรือโชคไม่ดี  ภาระทั้งหมดก็จะถูกทิ้งไว้กับคนลงทุน  แล้วยังมีค่าธรรมเนียมคงที่ที่สูงมากซ้ำเข้าไปอีกเป็นค่าที่จ่ายให้ผู้ช่วยนี้มาช่วย

นิทานเรื่องนี้จบตรงนี้  ไม่รู้ว่าอ่านแล้วได้ข้อคิดอะไรหรือเปล่า  แต่ส่วนตัวผมว่าตลกดีนะ  และปัจจุบันนักลงทุนหลายคนก็กำลังเป็นแบบครอบครัวสยามนี้อยู่จริงๆด้วย

หุ้นที่ผมสนใจ – Equifax

Stock in my focus – Equifax

As of September 24, 2017                      ราคาหุ้นอยู่ $105.04

Equifax ตอนนี้น่าตื่นเต้นครับ  บริษัทนี้ทำธุรกิจที่มันมีความได้เปรียบมาก  นึกไม่ถึงว่าจะมีวันที่มันราคาตกรุนแรงขนาดนี้  เดี๋ยววันนี้เล่าคร่าวๆให้ฟัง

Equifax

equifax

ลักษณะธุรกิจ

แกนหลักของบริษัทนี้คือ  รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคน  แล้วขายข้อมูลนั้นให้กับลูกค้า  เช่น

ธุรกิจเครดิตบูโร  ให้บริการข้อมูลของทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเกี่ยวกับประวัติการเป็นหนี้สิน, สถานะปัจจุบันของการจ่ายหนี้, ประวัติการจ่ายหนี้, ที่อยู่    ส่วนใหญ่ลูกค้าก็จะเป็นบริษัทที่เอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ตัดสินใจต่อเช่น  บริษัทให้เงินกู้ซื้อรถ, บริษัทบัตรเครดิต, สินเชื่อบ้าน, ฯลฯ

ธุรกิจด้านการตลาด  ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพทางการเงิน, ฐานรายได้  ขายให้กับลูกค้าที่อาจเป็นบริษัทที่ต้องการขายของอะไรซักอย่าง  สามารถทำการตลาดมุ่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ตัวเองต้องการง่ายขึ้น

ธุรกิจตรวจสอบประวัติ  ให้บริการข้อมูลเรื่องอาชีพ, รายได้  ขายให้กับลูกค้าบริษัททั่วไปที่จะรับคนเข้าทำงาน  หรือบางทีก็รัฐบาลเช็คดูว่าคนที่มาเคลมเงินช่วยเหลือเวลาตกงานนี่ตกงานจริงมั้ย  หรือพวกบัตรเครดิต, สินเชื่อต่างๆเช็คดูว่าคนนี้มีอาชีพจริงมั้ยรายได้เท่าไหร่

อ่านต่อ »

หุ้นที่ผมสนใจ – Cheesecake Factory

Stock in my focus – Cheesecake Factory

As of September 2, 2017             ราคาหุ้นอยู่ $41.31

วันนี้พามาดูบริษัทร้านอาหารในอเมริกาบ้าง  ผมเคยอ่านเจอ Cheesecake Factory นี้ตั้งแต่ปี 2015 ละ  ซึ่งก็น่าสนใจอยู่  แต่ช่วงนั้นนี่ราคาแพงเหลือเกิน  ตอนนี้ราคาตกลงมาเลยเริ่มสนใจจริงจังละครับ

the-cheesecake-factory

Cheesecake Factory

ลักษณะธุรกิจ

บริษัทนี้ทำร้านอาหาร Cheesecake Factory มีเกือบ 200 สาขาในอเมริกา

และมีทำเบเกอรี่ขายเค้กในร้านตัวเอง  หรือขายเค้กผ่านร้านคนอื่นด้วย  ซึ่งก็เป็นสาระสำคัญทีเดียว  เพราะสิ่งที่ทำให้ร้านมีชื่อเสียงก็คือไอเรื่องชีสเค้กของเค้านี่แหละ  ปี 2016 ที่ผ่านมายอดขายของหวานในร้านคิดเป็น 16% ของรายได้จากร้านอาหารทีเดียว

ร้านนี้อยู่ในหมวด Casual dining  เน้นจุดเด่นเรื่องเมนูอาหารหลากหลาย (เกิน 200 รายการ), คุณภาพอาหารที่ดีปรุงสดในครัว, ชีสเค้กที่เป็นยี่ห้อของตัวเองผลิตเอง   และราคาที่กลางๆไม่แพง

ช่วงหลังมีขยายไปในต่างประเทศด้วยการให้บริษัทอื่นในต่างประเทศซื้อสิทธิ์ไปเปิด  และเริ่มมีซื้อร้านอาหารแบรนด์อื่นกับลองทำร้านแบรนด์อื่นมาลองตลาดเพิ่มขึ้น  ยี่ห้อร้านที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนอกจาก Cheesecake Factory ก็จะมี Grand Lux Cafe, Rock Sugar Pan Asian Kitchen, North Italia  และ Flower Child

อ่านต่อ »

ตื่นเต้นดีใจจนเกินเหตุ

Risk 4 : Irrational Exuberance

risk-4

“There are few things as risky as the widespread belief that there’s no risk.”

Howard Marks

ผู้ร่วมก่อตั้ง Oaktree Capital Management

ผมชอบประโยคนี้ของ  Howard Marks เป็นพิเศษ  ใจความสำคัญคือการลงทุนมีความเสี่ยงสูงมากก็ตอนที่คนจำนวนมากเชื่อว่าไม่มีความเสี่ยง

ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ  คนลงทุนก็จะมีความระมัดระวังกลัวเสียเงินอยู่  และความระวังนี้ก็จะทำให้อะไรที่ความเสี่ยงสูง  ราคามันจะต้องต่ำหน่อยไม่งั้นมันไม่มีคนซื้อ  ความเสี่ยงที่สูงก็เลยจะสัมพันธ์กับผลตอบแทนคาดหวังที่ต้องสูงตาม

แต่ทีนี้บางทีตลาดหุ้นอาจจะเข้าสู่โหมดขาดสติได้  มันจะเป็นช่วงที่คนมีความเชื่อว่าการลงทุนความเสี่ยงมันต่ำหรือเชื่อว่าไม่เสี่ยงเลย  พอเชื่อแบบนี้ปุ๊บราคาก็จะสูงขึ้นได้จนเหนือเหตุผล  โดยปกติจะมีขั้นตอนประมาณนี้

  1. เริ่มจากเรื่องจริง

เช่น

  • อินเทอร์เน็ตกำลังจะเปลี่ยนแปลงโลก
  • คนจะย้ายมาอยู่คอนโดติดรถไฟฟ้ามากขึ้น
  • เรากำลังจะเป็นสังคมสูงอายุ หุ้นกลุ่มสุขภาพต้องโต
  • เงินจะมาอยู่ในรูปของดิจิตอลมากขึ้น
  1. มีนักลงทุนรุ่นบุกเบิกทำกำไรจริง จากความต้องการของอะไรก็แล้วแต่นั้นจริงๆ

มีนักลงทุนกลุ่มแรกที่มองเห็นโอกาสเข้าไปลงทุน  แล้วทำกำไรจากปัจจัยที่มีในข้อ 1  เป็นตัวอย่างความสำเร็จทำให้เริ่มมีคนหันมามองโอกาสตรงนี้มากขึ้น

  1. เริ่มมีกระแสความนิยม มีคนสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ถึงขั้นประมาณนี้คนบางกลุ่มเริ่มมีความเชื่อ  และก็จะเริ่มมีคนเข้ามาลงทุนมากขึ้นละ  แต่คนส่วนใหญ่ก็จะยังระมัดระวังอยู่

  1. คนรุ่นต่อๆมาทำกำไรจริง จากความต้องการใช้ของสิ่งนั้นที่สูงขึ้น + ความต้องการที่มาจากการเก็งกำไร

เริ่มมีคนทำกำไรหลายคนขึ้นเรื่อยๆ  ราคาของนั้นเริ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  กำไรเริ่มมาจากการอะไรที่ไม่ใช่ความต้องการใช้จริงของตัวทรัพย์สินนั้นละ  เริ่มมาจากแรงซื้อเก็งกำไรของคนที่คาดหวังว่าราคาจะสูงขึ้นไปอีก

  1. คนหมู่มากเกิดความเชื่อ

มาถึงจุดนี้คือคนทั่วไปเชื่อละ  มาจากเหตุผลที่มีมูลจากข้อ 1 + เห็นคนนู้นคนนี้เค้ากำไรกันทุกคน  เริ่มแห่เข้าไปลงทุน  จากความระมัดระวังเปลี่ยนกลายเป็นความกลัวจะตกรถไฟพลาดโอกาส  บางคนถึงกับเริ่มกู้เงินมาลงทุน

  1. ราคาของสินทรัพย์นั้นสูงขึ้นจนเว่อร์

มาถึงจุดนี้คือมันเป็น feedback loop ละ  คนที่เข้ามาเก็งกำไรทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีก  ราคาที่สูงขึ้นทำให้คนจำนวนมากขึ้นโลภมากขึ้นแล้วกระโดดเข้ามาซื้อ  ก็เลยราคาสูงขึ้นไปอีก  แล้วก็เลยทำให้คนกลุ่มใหญ่ขึ้นเข้ามาเก็งกำไรเพิ่มขึ้น  ตรงนี้เป็นจุดที่ความเสี่ยงพุ่งขึ้นสูงมากแล้ว

  1. ปาร์ตี้เลิกตอนที่คนบ้าที่สุดคนสุดท้ายซื้อไป

มันจะมีจุดนึงที่ราคาสูงซะจนคนจำนวนมากเริ่มได้สติ  และไม่มีใครกล้าเข้าไปซื้อแล้ว

  1. คนคิดได้

หายบ้า  และส่วนใหญ่ราคาก็จะเริ่มตกกลับมาสู่สภาวะปกติ  เพราะคนส่วนใหญ่กลุ่มหลังๆที่ซื้อคือเพวกเก็งกำไร  ไม่ได้มีเจตนาต้องการใช้ทรัพย์สินนั้นตั้งแต่แรก  เช่น

  • อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงโลกจริง แต่ไม่ได้แปลว่าบริษัทที่เกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตจะกำไรทุกอัน  ความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแปลว่าวันนี้กำไรอยู่ดีๆ  พรุ่งนี้อาจมีนวัตกรรมใหม่มาแทนก็ได้
  • คนจะย้ายมาอยู่คอนโดใกล้แนวรถไฟฟ้ามากขึ้นจริง แต่คนที่จะย้ายมาอยู่คอนโดติดแนวรถไฟฟ้าก็มีจำกัด  และที่สำคัญคอนโดเกิดใหม่ที่ขึ้นมาแข่งก็มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ
  • สังคมสูงอายุทำให้ธุรกิจสุขภาพโตก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่าหุ้นโรงพยาบาลแพงแค่ไหนก็ได้
  • เงินดิจิตอลอาจจะมาจริง แต่จะรู้ได้ไงว่าอันที่ชื่อ Bitcoin มันต้องเป็นผู้ชนะ

ที่เล่าให้ฟังเป็นขั้นตอนแบบนี้  ไม่ใช่ให้เราพยายามกะจังหวะเข้าไปเก็งกำไรนะครับ  แต่ผมอยากให้เราเห็นวัฎจักร  และคอยสังเกตเหตุการณ์รอบตัวเราไม่ให้เผลอไปแห่ลงทุนกับเค้าด้วย  สังเกตเลย  เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคำพูดประมาณนี้  คุณต้องวิ่งหนีแล้ว เช่น

  • ซื้อเลยยังไงอนาคตราคาก็ขึ้น
  • ดีแน่นอน
  • มันเป็นกระแสของโลกอนาคต
  • คนอื่นที่ลงทุนเค้ากำไรกันเยอะแยะ
  • ไม่มีความเสี่ยงเลยอันนี้

และ ฯลฯ  อะไรที่คนส่วนใหญ่เชื่อประมาณว่า  ไม่ต้องคิด  ไม่ต้องกลัว  ลงทุนเลย  กำไรแน่นอน  ประมาณนี้อ่ะครับ

จำไว้ว่า  ยิ่งคนบ้าคลั่งราคายิ่งสูง  ราคายิ่งสูงความเสี่ยงยิ่งสูง  เราไม่ได้มาลงทุนเพราะเราต้องการความเสี่ยง  เรามาลงทุนต้องการกำไรที่เยอะที่สุดโดยให้เสี่ยงน้อยที่สุด

วันนี้เอาเท่านี้  รอบหน้าเราจะมาพูดถึงเหตุการณ์ผิดปกติที่ทำให้ความเสี่ยงน้อยมากๆกันบ้าง

จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไรเสี่ยงมาก วัดได้หรือไม่

Risk 3 : Recognizing The Risk

ถึงตรงนี้เราน่าจะเห็นภาพตรงกันว่า  เราไม่อยากได้ความเสี่ยงเพราะความเสี่ยงคือโอกาสจะเสียเงิน  ถ้าสมมติเกิดเราจะเลือกลงทุนในอะไรที่เสี่ยงมากขึ้น  เราต้องคาดหวังกำไรที่สูงขึ้นชดเชยเท่านั้น  เราจะไม่ยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นฟรีๆ  คำถามต่อไปคือ  แล้วความเสี่ยงนี่มันวัดได้ไหม หรือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย

เอาวัดได้ไหมก่อน

  • ความเสี่ยงมันขึ้นอยู่กับมุมมองความเห็นของแต่ละคน
  • ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานอะไรจะมาวัด
  • เหตุการณ์ทั่วไปเราอาจจะคาดเดาได้ แต่พวกเหตุการณ์ประเภทเกิดสิบปีครั้ง เช่น  น้ำท่วมกรุงเทพ  หรืออะไรพวกนั้นมันแทบไม่มีทางรู้

ในความเห็นผมคือ  ความเสี่ยง  เป็นอะไรที่วัดเป็นตัวเลขไม่ได้  และเชื่อว่าต่อให้เอานักลงทุนเก่งๆหลายคนมานั่งรวมกันในห้อง  ปรึกษากันเลยนะ  ก็ยังได้ตัวเลขออกมาไม่ตรงกันแน่นอน

แต่ถึงมันจะวัดออกมาเป็นตัวเลขเป๊ะๆไม่ได้  ผมเชื่อว่านักลงทุนที่มีฝีมือจะพอบอกได้คร่าวๆว่าหุ้นไหนเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย  โดยการพิจารณาจากว่านักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดกำลังมองโลกในแง่ดีเกินไป, ใช้ความระมัดระวังน้อยไป  และกำลังยอมจ่ายเงินแพงเกินไปเพื่อซื้อหุ้นอยู่หรือเปล่า

ว่าง่ายๆ  ความเสี่ยงที่สูง  มาจากเหตุผลหลักเลยคือ  ซื้อมาแพง

หลายคนไปเข้าใจผิดว่า  ผลตอบแทน กับ ความเสี่ยง  มันเป็นอะไรที่แยกจากกันไม่เกี่ยวกัน  แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย  ความเสี่ยงที่สูงกับผลตอบแทนคาดหวังที่ต่ำ  มันเป็นเรื่องเดียวกันครับ  มันมาด้วยกันจากการซื้อในราคาที่แพง  ความเสี่ยงเกิดขึ้น  เมื่อราคาหุ้นสูงขึ้นไปมากๆ  สูงมากซะจนแนวโน้มคือถ้าซื้อมาจะขาดทุนมากกว่าได้กำไร

ผมพูดเสมอว่า  คนซื้อหุ้นมาแพงเสียเปรียบคนซื้อมาถูกเสมอ

  1. ถ้าหุ้นขึ้น คนซื้อมาแพง  กำไรน้อยกว่า  คนซื้อมาถูก
  2. ถ้าหุ้นตก คนซื้อมาแพง  ขาดทุนหนักกว่า  คนซื้อมาถูก
  3. ได้ปันผล คนซื้อมาแพง  % ผลตอบแทนน้อยกว่า  คนซื้อมาถูก

วันนี้พอเท่านี้ก่อน  สรุปคือ  จะรู้ได้ไงว่าเสี่ยงมาก  เราสามารถกะได้คร่าวๆจากการพิจารณานักลงทุนทั่วไป  ดูว่าเค้ากำลังตื่นเต้นดีใจแล้วทำให้ราคาหุ้นพุ่งสูงหรือเปล่า

คราวหน้าเราจะมาทำความเข้าใจต่อเรื่อง  ตื่นเต้นดีใจเกินไปนี่ดูจากอะไร  และทำไมคนถึงต้องตื่นเต้นดีใจขนาดนั้นด้วย

ความเสี่ยงสูงแปลว่าผลตอบแทนสูงเสมอ?

Risk 2 : Will High Risk Always Lead to High Returns ?

risk-2

ก่อนไปเรื่องสำคัญอื่นต่อ  เราจะแวะตอบคำถามสำคัญอันนี้ซักนิดนึงนั่นคือ  ถ้าเรายอมรับความเสี่ยงที่สูงแปลว่าผลตอบแทนเราจะออกมาสูงเสมอหรือเปล่า

จากตอนที่แล้วที่เราบอกว่า  ในสถานการณ์ปกติ  คนจะยอมลงทุนในอะไรที่เสี่ยงมากขึ้น  ก็คือต้องมีโอกาสจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นมาล่อ  มันถึงจะน่าเสี่ยง  ทีนี้มันก็เลยมีกราฟอันนึงที่ได้รับความนิยมคือกราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงที่กับผลตอบแทนที่คาดหวัง

ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่อยู่ในตลาดขาขึ้นคือ  เรามักจะได้ยินคนบอกว่า  “การลงทุนที่ความเสี่ยงสูงขึ้นทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้น  ถ้าอยากทำกำไรเยอะๆ  คำตอบคือต้องเสี่ยงเยอะๆ”   คนดันไปเข้าใจผิดว่า  ความเสี่ยงสูง = ผลตอบแทนสูง   แต่ความเป็นจริงคือการลงทุนที่เสี่ยงมากขึ้นไม่ได้แปลว่าจะได้ผลตอบแทนที่สูง  เพราะถ้ามันได้ผลตอบแทนสูงแน่นอนชัวร์มันก็ต้องแปลว่ามันไม่เสี่ยงสิ

ในสถานการณ์ปกติ  การที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงจะดึงดูดเงินลงทุนได้  มันจะต้องให้ผลตอบแทนคาดหวังที่สูง  แต่มันเป็น “ผลตอบแทนคาดหวัง ไง  มันมีโอกาสที่จะผลตอบแทนสูงจริง  แต่ไม่ได้แปลว่าสุดท้ายผลตอบแทนมันจะออกมาตามนั้น

การลงทุนที่ความเสี่ยงสูงหมายความว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงมีความแน่นอนน้อยลง

  1. ผลตอบแทนเฉลี่ยที่คาดหวังสูงกว่า
  2. มีความเป็นไปได้ที่ผลตอบแทนจะต่ำ
  3. ในบางกรณี อาจถึงขั้นผลตอบแทนติดลบ

สรุปว่า  คำตอบของคำถามนี้คือ  “ไม่เสมอไป” ครับ

สรุปว่า “ความเสี่ยง” คืออะไร

Risk 1 : Understanding It

การลงทุนในหุ้น  สุดท้ายคือเรากำลังเล่นกับอนาคต  และเพราะไม่มีใครรู้อนาคต  ความเสี่ยงเลยเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ลงทุนในหุ้นแล้วกำไรไม่ยาก  บางทีซื้อมั่วยังกำไรได้เลยครับ  แต่การจะให้กำไรได้สม่ำเสมอไปนานๆมันต้องมีการจัดการความเสี่ยงที่ดี  และขั้นตอนแรกเลยคือเราต้องเข้าใจก่อนว่ามันคืออะไร

สมัยตอนผมเรียนในมหาวิทยาลัยเค้าจะสอนว่า  ความเสี่ยงวัดจากการเปลี่ยนแปลงรุนแรงของราคา  หุ้นที่ราคาเปลี่ยนแปลงรุนแรงเมื่อเทียบกับตลาดคือมีความเสี่ยงเยอะ  สำหรับคนที่เรียนไฟแนนซ์มาอันนี้ก็คือพวกเรื่อง Standard Deviation (SD) กับ  (beta) นั่นแหละ

แต่หลังลงทุนมาซักระยะผมไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้เท่าไหร่ละ  จากมุมมองผมคือนักวิชาการเค้าพยายามหาค่าอะไรซักอย่างที่วัดได้คำนวณได้มาใช้  เลยตกลงกันว่าใช้การเปลี่ยนแปลงของราคาเนื่องจากมันวัดได้  ไม่ใช่เพราะมันเท่ากับความเสี่ยงนะ  แค่ว่าความเสี่ยงจริงมันวัดยาก  ส่วนไอตัวการเปลี่ยนแปลงของราคามันวัดง่ายเฉยๆ

ปัญหาคือ  นักลงทุนส่วนใหญ่เค้าไม่ได้สนใจ  “การเปลี่ยนแปลงรุนแรงของราคา”  ผมยังไม่เคยเจอนักลงทุนคนไหนบอกว่า “เค้าจะไม่ซื้อหุ้น A นะ เพราะหุ้น A ราคาอาจจะเปลี่ยนแปลงรุนแรงกว่าตลาด”  ที่ผมเห็นคือคนจะกังวลเพราะเค้ากลัวว่าลงทุนไปแล้วจะเสียเงินมากกว่า  คนบอกว่า “เค้าจะไม่ซื้อหุ้น A นะ  เพราะดูแล้วโอกาสจะขาดทุนสูงกว่าโอกาสจะกำไร”  โดยสรุปคือคนเค้าไม่ได้กลัวเรื่อง “ราคาเปลี่ยนแปลงรุนแรง”  คนกลัวลงทุนแล้ว  “เสียเงิน” ต่างหาก

ในสถานการณ์ปกติ  นี่คือหลักการเกี่ยวกับความเสี่ยง

risk-1

อ่านต่อ »

4 เส้นทางทำกำไรในหุ้น

4 Possible Routes to Profit

เคยมีคนถามว่าอยากทำกำไรเยอะๆในหุ้น  ไม่เอาแบบได้เท่าเฉลี่ยหรือลงทุนตามดัชนี  มีวิธีอะไรบ้าง  เท่าที่นึกอออกก็มีวิธีอยู่ 4 แบบนี้ครับ

4-possible-routes-to-profit

  1. กำไรจากการเพิ่มขึ้นของความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

อันนี้หมายถึงการที่บริษัทที่เราซื้อมา  มีผลประกอบการดีขึ้นมาก  กำไรสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  ทำให้มูลค่าพื้นฐานของบริษัทสูงขึ้น

กลุ่มนี้จริงๆก็รวมถึงการลงทุนประเภท  private equity ที่ไปซื้อบริษัททั้งบริษัทเลย  แล้วมาบริหารเองพยายามพัฒนาให้ดำเนินงานได้ดีขึ้น  และรวมถึงการลงทุนซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์แล้วเอามาปรับปรุงพัฒนาเพื่อขายหรือปล่อยเช่าต่อ

ลักษณะพวกนี้ยากเป็นพิเศษคือเราต้องสามารถมองเฉียบขาดกว่าคนอื่น  อย่างถ้าเป็นซื้อหุ้น  เดาถูกเฉยๆไม่ได้  ต้องเดาถูกอยู่คนเดียวด้วย  เพราะถ้าใครๆก็คิดว่าบริษัทนี้จะทำได้ดีขึ้นมาก  ราคาหุ้นมันก็จะแพงอยู่แล้วสะท้อนแนวโน้มที่ดีของบริษัท  ซื้อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร  การที่เราจะคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าบริษัทจะทำได้ดีขึ้นแบบก้าวกระโดดอยู่คนเดียวโดยที่คนอื่นมองไม่ออกเป็นเรื่องยากมาก  ต้องขยันจริงจัง

ส่วนที่เป็นซื้อบริษัทมาพัฒนา  อันนี้จริงๆก็ดีนะ  แต่จะทำจริงก็กินเวลามาก  และต้องใช้ความสามารถในการบริหารที่ดีด้วย  ที่สำคัญยังต้องใช้เงินเยอะด้วย  ซึ่งอาจจะไม่ค่อยเกี่ยวกับเราเท่าไหร่

อ่านต่อ »

ทำความเข้าใจจิตวิทยาตลาด

Nuts Will Still Be Nuts

แน่นอนเรื่องที่ผมเน้นที่สุดคือเราต้องเข้าใจปัจจัยเรื่องมูลค่าของบริษัท  แต่วันนี้เราเปลี่ยนเรื่องคุยมาพูดถึงจิตวิทยาตลาดกัน  เรื่องนี้มันเป็นอะไรที่จับต้องได้ยาก  แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนในตลาด  ซึ่งรวมถึงเราด้วย  และหลายครั้งเพราะจิตวิทยานี่แหละที่ทำให้เราตัดสินใจตรงข้ามกับที่ควรจะทำ  ดังนั้นอย่างน้อยเพื่อป้องกันตัวเองเราต้องเข้าใจจิตวิทยาตลาด  ดีกว่านั้นคือเราเข้าใจจิตวิทยาของตลาดแล้วใช้มันให้เป็นประโยชน์

ขอให้เข้าใจว่าในระยะยาวแล้วราคาหุ้นขึ้นอยู่กับผลประกอบการของตัวกิจการแน่นอน  แต่ในช่วงสั้นแล้วปัจจัยที่มีผลหลักเลยคือจิตวิทยา

nuts-will-still-be-nuts

ในช่วงสั้นปัจจัยด้านจิตวิทยาเป็นอะไรที่มีผลพฤติกรรมนักลงทุนเยอะมาก  บางทีคนก็จะขายให้ได้ไม่สนใจว่าราคาจะตกแค่ไหน  หรือบางทีคนก็จะซื้อให้ได้โดยไม่สนใจราคาเลยเหมือนกัน  เชื่อผมเถอะครับ  ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าฉวยโอกาสซื้อของจากคนที่ยังไงจะขายให้ได้ตอนจังหวะที่เค้ายอมขายทุกราคา  และกลับกันสิ่งที่เลวร้ายสุดเลยคือตัวเราเองอยู่ในสถานการณ์โดนบังคับให้ต้องขาย  หรือขาดสติจะต้องขายให้ได้

สิ่งที่ตรงข้ามกับการลงทุนสายพื้นฐานคือ  การซื้อขายตามๆกันแบบขาดสติโดยที่ไม่สนใจราคาหรือมูลค่าเลย  ส่วนใหญ่ความบ้าแบบนี้มักจะเริ่มต้นจากเรื่องจริง  เป็นไปได้ทั้งดีใจเกินหรือตกใจเกิน  ผมยกตัวอย่างความบ้าไปทางดีใจเกินเหตุ  เช่น

อ่านต่อ »