หุ้นกลุ่มประกันภัย
#หุ้นประกันภัย #หุ้นประกัน #ธุรกิจประกัน
ธุรกิจประกันมันจะแบ่งออกเป็นสองอันหลักๆคือประกันชีวิตกับประกันวินาศภัย ธุรกิจที่ผมมีความเข้าใจมากหน่อยก็จะเป็นธุรกิจประกันภัยเพราะคนที่บ้านอยู่ในธุรกิจนี้
ธุรกิจนี้เค้าทำเงินจากอะไร
ไอเดียหลักๆคือบริษัทรับประกันภัยสัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่เกิดภัย (เงินที่จ่ายชดใช้ค่าเสียหายนี่เรียกว่าสินไหมทดแทน) ให้คนแลกกับการที่คนจ่ายเงินให้บริษัทประกันภัย (เงินนี่เรียกว่าเบี้ยประกันภัย) บริษัทประกันภัยคาดหวังว่าการที่รวมความเสี่ยงของคนจำนวนมากไว้ด้วยกันมันจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของบริษัทประกัน เพราะทุกคนที่ซื้อประกันก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดภัยหมด บางคนก็จะไม่เกิดภัยและบริษัทประกันก็จะไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนบางคนก็จะเกิดภัยและบริษัทต้องจ่ายชดใช้ค่าเสียหาย ตราบใดที่โดยรวมแล้วเบี้ยประกันทั้งหมดที่เก็บมาจากทุกคนรวมกันมันใหญ่กว่าค่าสินไหมทั้งหมดที่ต้องจ่ายบริษัทประกันก็จะมีกำไร ส่วนมองจากมุมของลูกค้าก็ได้ประโยชน์ด้วยเพราะมันทำให้ชีวิตมั่นคงมากขึ้น จริงอยู่บางคนซื้อไปสุดท้ายไม่เกิดภัยอาจจะไม่ได้ใช้ แต่จริงๆแล้วคือไม่มีใครรู้ว่าชีวิตจะเกิดภัยหรือเปล่าและไม่มีใครอยากให้เกิด การมีประกันภัยอยู่มันทำให้ชีวิตปลอดภัยมากขึ้นคาดเดาได้มากขึ้น
ความได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งของธุรกิจนี้คือเบี้ยประกันภัยมันจะเก็บมาก่อนที่จะต้องจ่ายค่าสินไหม ดังนั้นบริษัทก็จะมีเงินจำนวนหนึ่งอยู่ในมือที่สามารถเอาไปลงทุนได้ เงินนี่เค้าจะเรียกว่า float
โดยรวมแล้วบริษัทประกันภัยจะมีกำไรมั้ยมากหรือน้อยก็จะขึ้นอยู่กับว่ารับประกันแล้วต้องจ่ายค่าสินไหมขนาดไหน มีเหลือพอคุ้มค่าใช้จ่ายอื่นๆหรือเปล่า และระหว่างนั้นสามารถเอา float ไปลงทุนได้ดีหรือเปล่า
ธรรมชาติธุรกิจนี้
โดยคอนเซปต์มันฟังดูดีนะ ธุรกิจนี้ก็เพียงแค่ต้องดูในอดีตว่าโดยเฉลี่ยแล้วความเสียหายต่อคนหรือต่อคันหรือต่ออาคารคือเท่าไหร่ แล้วก็แค่ตั้งราคาให้มันสูงพอคุ้มค่าสินไหมบวกค่าใช้จ่ายต่างๆแค่นี้ก็กำไรละนี่ แล้วยังมีกำไรจากการเอา float ไปลงทุนอีก ธุรกิจก็ดูไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรไม่ต้องผลิตอะไรเยอะแยะ แค่พิมพ์กระดาษกรมธรรม์ออกมาแค่นั้นเอง ดูเหมือนมีแต่ได้นะ
แต่เอาจริงๆคือมันเป็นธุรกิจยาก เพราะจำนวนคู่แข่งมีเยอะ ขายสินค้าเหมือนๆกัน คนซื้อตัดสินใจก็มาจากราคาเบี้ยประกันเป็นหลัก ดังนั้นโดยส่วนใหญ่ก็จะแข่งกันด้วยราคา แล้วถ้าเกิดมีไอบ้าเจ้าไหนทำราคาต่ำจนเว่อร์อาจจะเพราะต้องการแย่งส่วนแบ่งตลาดเลยยอมขาดทุน เจ้าอื่นก็ต้องตามไม่งั้นก็ต้องยอมไม่ขาย ใครคิดอะไรใหม่ออกมาดูเข้าท่าคนอื่นก็สามารถลอกสัญญาทำสินค้าแบบเดียวกันออกมาได้แทบในทันที
นอกเหนือจากนั้นแล้วธุรกิจประกันภัยก็มักจะถูกควบคุมหรือมีกฎใหม่ๆที่มีผลกระทบออกมาโดยหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่นอย่างคปภ.ของไทยบางทีก็สั่งให้เพิ่มความคุ้มครองโดยไม่เพิ่มเบี้ย เป็นการสร้างผลงานเอื้อประโยชน์ให้ประชาชน ซึ่งก็เข้าใจได้แต่มันก็จะเป็นความซวยของบริษัทประกัน
วิธีสังเกตว่าบริษัทไหนดี
ธุรกิจนี้จะหาแบบดีกว่าคนอื่นมาๆก็จะยากนิดเพราะอย่างที่บอกว่าสินค้ามันเหมือนๆกัน แต่ก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ โดยรวมมันต้องพึ่งพาผู้บริหารที่มีสติแหละ เท่าที่ผมเคยเห็นบริษัทประกันภัยที่จะได้เปรียบก็มีเช่น
- บริษัทที่เลือกภัยได้ดีกว่าคนอื่น และพร้อมที่จะไม่รับถ้ามองว่ารับไปไม่กำไร โดยปกติพวกนี้ก็ต้องมีความสามารถในการเลือกลูกค้าที่ดีกว่า ถ้าทำได้ Loss ratio ก็จะต่ำกว่าคนอื่น จุดสังเกตก็จะเป็นตัว Loss ratio นี่แหละ ถ้าดูว่ารับประกันประเภทเดียวกันกับคู่แข่งแต่ Loss ratio ต่ำกว่าต่อเนื่อง อันนี้เป็นสัญญาณที่ดีละ และโดยปกติพวกนี้จะไม่ agressive พยายามจะโตพรวดพราดหรือแข่งราคาเพื่อแย่งตลาด
- บริษัทที่ทำประกันภัยแบบ niche จัด บางบริษัทเค้ารับประกันภัยประเภทที่มีคนสนใจซื้อน้อยตลาดแคบ ข้อดีคือคู่แข่งที่จะเข้ามาก็จะน้อยเพราะประกันมันเป็นประเภทที่ไม่ได้ขายได้เยอะ มันก็เลยทำให้พวกที่ทำ niche นี่ตั้งราคาได้มากกว่า และที่สำคัญคือถ้าบริษัทนี้เค้ารับประกัน niche มานาน เค้าจะเริ่มรู้และมีข้อมูลว่าจะเลือกภัยยังไง ความเสียหายจะประมาณเท่าไหร่ ก็จะทำให้ทำได้ดีกว่าคนอื่นเข้าไปอีก ประกันแปลกๆที่ผมเคยเห็นก็เช่นรับประกันค่ายลูกเสือ, เรือยอร์ช, งานแต่งงาน, คนสอนขี่ม้า, โรงเรียนสอนดำน้ำ ฯลฯ
- มี captive market คือมีช่องทางเอาลูกค้ามาจากไหนซักอย่างที่ได้เปรียบคนอื่น เช่นบริษัทประกันญี่ปุ่นในไทย Sompo, Tokio Marine, Mitsui Sumitomo พวกนี้ได้ลูกค้าญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ยังไงมันก็จะทำประกันกับสามเจ้านี่ ไม่ว่าจะมีเสนอราคาถูกกว่าแค่ไหนก็ตาม หรือมีช่องทางธนาคารอย่างกรุงเทพประกันภัยก็จะได้งานจากลูกค้าธนาคารที่กู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ แบบนี้ก็จะทำให้ธุรกิจได้เปรียบไประดับหนึ่งละ
- มีผลการดำเนินงานเข้มแข็งเงินสำรองเยอะ สำคัญโดยเฉพาะกับพวกที่รับประกันทรัพย์สิน บางบริษัทผู้บริหารเค้าเข้าใจธุรกิจรู้ว่าบางทีมันก็จะมีภัยใหญ่โตเกิดขึ้นได้ กรุงเทพประกันภัยนี่เป็นตัวอย่างบริษัทที่เข้าใจธุรกิจและมีเงินสำรองเยอะขนาดว่าปี 2554 น้ำท่วมใหญ่เค้ามีเงินจ่ายสินไหมได้ ในขณะที่เจ้าอื่นอาจจะต้องรอ reinsurer หรือบางบริษัทต้องระดมทุนเพิ่ม
ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ
หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂
ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/
หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg
ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/
หรือ ทดลองเรียนฟรี