หุ้นธุรกิจบริหารจัดการกองทุน
อันนี้เป็นอีกธุรกิจที่ผมมีความเข้าใจ และเป็นธุรกิจที่ผมชอบด้วยเพราะที่ผ่านมาผมพบว่าบริษัทในกลุ่มนี้กำไรดีมาก ขนาดว่าบางบริษัทที่ค่อนไปทางห่วยแล้วของกลุ่มนี้ก็ยังดูผลประกอบการดีมาก ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มธุรกิจที่เราควรรู้จักเอาไว้
ธุรกิจรายได้มาจากอะไร
บริษัทพวกนี้เป็นคนบริหารจัดการเงินลงทุนของลูกค้าที่มาลงทุนในกองทุน รายได้หลักก็จะมาจาก Management Fee ซึ่งคิดเป็น % จากจำนวนเงินที่บริหารให้ลูกค้า ดังนั้นการทำกำไรของบริษัทก็จะขึ้นอยู่กับขนาดของเงินที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการเป็นหลัก
ธรรมชาติธุรกิจนี้
ธุรกิจนี้โดยภาพรวมเป็นธุรกิจที่ economies of scale ดีมาก ยิ่งจำนวนสินทรัพย์ภายใต้การบริหารยิ่งเยอะรายได้ยิ่งเยอะ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายหลักซึ่งคือค่าจ้างพนักงานไม่ได้สูงขึ้นตาม สินทรัพย์ภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นสองเท่าก็ไม่ได้จำเป็นต้องใช้คนเพิ่มขึ้นสองเท่าตาม แปลว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นเกือบจะตกไปเป็นกำไรตรงๆได้เลย เลยเป็นเหตุผลที่ธุรกิจนี้ Margin ดีมาก Net profit margin 20% นี่หาได้ทั่วไป บางบริษัทอาจถึง 30-40%
แล้วแค่นั้นไม่พอธุรกิจนี้คู่แข่งใหม่ๆจะเข้ามาแข่งก็ยากอีก เพราะกว่าจะสร้างกองทุนซักกองมันใช้เวลา ต้องมีสะสมชื่อเสียงให้มี track record ดึงคนมาลงทุนจนมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเยอะๆมันไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่จะทำได้ในระยะเวลาสั้น บริษัทที่มี scale อยู่แล้วสามารถที่จะเริ่มสร้างกองทุนใหม่ได้ง่ายกว่ามาก และยังสามารถบีบคู่แข่งด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าได้ด้วย
ประเภทกองทุนจริงๆก็จะมีหลากหลาย แต่แบ่งกว้างๆได้เป็นกองทุน passive กับ active กอง passive คือกองที่เน้นลงทุนตามดัชนีอะไรซักอย่าง เป้าหมายคือให้ผลตอบแทนตามดัชนีนั้นให้ได้มากที่สุดไม่ได้เน้นทำได้ดีกว่าดัชนีหรืออะไร ส่วนกอง active คือกองที่ผู้บริหารกองทุนเลือกหุ้นด้วยตัวเองและพยายามทำให้ดีกว่าดัชนีหรือตัววัดบางตัว
วิธีสังเกตว่าบริษัทไหนดี
เรื่องที่สำคัญที่สุดในธุรกิจนี้คือสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร AUM (asset under management) ตัวเลขนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดีที่สุดว่าบริษัททำได้ดีขึ้นหรือแย่ลง โดยปกติแล้วในช่วงตลาดหุ้นขาขึ้น AUM มันจะเพิ่มโดยตัวมันเองอยู่แล้วเพราะมูลค่าเงินที่บริหารมันสูงขึ้น แต่สิ่งที่เราต้องสังเกตคือที่มาของ AUM ถ้าเป็นไปได้เราต้องการบริษัทที่มี Net inflows และในทางกลับกันถ้าเราเห็น Net outflows ต่อเนื่องหลายปีเราต้องสงสัยละ
นอกเหนือจาก AUM แล้วเรื่องอื่นที่แนะนำให้มองหาคือ
- เป็นผู้นำในตลาด บริษัทที่ใหญ่และเป็นผู้นำในตลาดก็อย่างที่บอกว่ามี economies of scale มีประวิติผลงานการบริหารกองทุนมายาวนานได้เปรียบมาก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เน้นกองทุน passive หรือ active การเป็นผู้นำตลาดอยู่และมี scale ยังไงก็ได้เปรียบมาก ยิ่งถ้าแบบมีชื่อเสียงเฉพาะด้านมีผลงานโดดเด่นต่อเนื่องยิ่งดี เช่นแบบดังเรื่องกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ หรือกองทุนที่ลงทุนใน distressed assets อะไรงี้ พวกกองทุนที่มันคนทำไม่เยอะปกติก็จะค่าธรรมเนียมสูงกว่า
- กองทุนควรจะมีหลากหลาย ความที่มีกองทุนหลากหลายทำให้บริษัทไม่ได้รับผลกระทบเยอะเกินเวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับซักตลาดนึง นึกภาพถ้าสมมติบริษัทมีกองทุนหุ้นอย่างเดียว เวลาตลาดหุ้นตก ลูกค้าอาจจะย้ายเงินลงทุนออกจากบริษัทไป แต่ถ้าบริษัทมีกองทุนหลากหลายลูกค้าก็อาจจะย้ายจากกองหุ้นไปกองตราสารหนี้ในบริษัทเดียวกันได้
- ประเภทลูกค้าที่ลงทุนยาว แต่ละบริษัทที่มาของลูกค้าก็ไม่เหมือนกัน บริษัทที่มีลูกค้าประเภทที่ไม่ย้ายหนีง่ายๆไม่ตกใจง่ายก็จะได้เปรียบ โดยปกติลูกค้าสถาบันหรือลูกค้าที่เป็นกองทุนบำนาญของพนักงานหรืออะไรพวกนี้ก็จะไม่ค่อยย้ายเพราะมีความสัมพันธ์กับบริษัทผู้บริหารกองทุน หรือลูกค้าพวก high-net-worth ก็เช่นกันมักจะไม่ค่อยย้ายเพราะมักจะมี wealth manager ดูแลอยู่ หรือไม่ก็กองทุนอย่าง RMF ที่โดยธรรมชาติคนลงทุนกันยาวๆไม่ขาย มีลูกค้าพวกนี้อยู่เยอะๆคือดี
โดยปกติหุ้นของบริษัทประเภทนี้จะผูกกับสภาพตลาดหุ้นมาก ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับเรา เหตุผลเพราะในเวลาที่ตลาดหุ้นตกนอกจากปัจจัยเรื่องคนตกใจแล้ว การที่หุ้นในตลาดตกก็จะทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนไม่ดีไปด้วย และก็จะมีลูกค้าบางส่วนที่ตกใจอาจจะขายออกมาหรือย้ายจากกองทุนหุ้นไปกองทุน money market ซึ่งค่าธรรมเนียมต่ำกว่ามาก ก็ยิ่งทำให้ผลประกอบการของบริษัทต่ำลง และนักลงทุนทั่วไปก็รู้ว่ามันจะเป็นแบบนี้ดังนั้นก็เลยมักจะทำให้หุ้นตกมากขึ้นไปอีก
ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ
หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂
ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/
หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg
ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/
หรือ ทดลองเรียนฟรี